นับจากวัคซีนเข็มแรก ที่ฉีดลงบนแขนของรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จนถึงวันนี้ (14 พ.ค. 2564) นับเป็นวันที่ 75 ของการฉีดวัคซีนโควิด-19
ผ่านมา 75 วัน วัคซีนทั้งของ #ซิโนแวค และ #แอสตราเซเนกา รวม 2,124,732 โดส ถูกกระจายในกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ด้วยอัตราเร่งสูงสุด ราวแสนโดสต่อวัน มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 1,416,432 คน และรับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม 708,300 คน
แต่หากเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 66 ล้านคน จะเห็นได้ว่าผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม มีอัตรา เพียง 1.07% เท่านั้น
ขณะที่จำนวนของวัคซีนที่ประเทศไทยมีทั้งหมด ณ เวลานี้ คือ แอสตราเซเนกา 117,600 โดส ซิโนแวค 3,500,000 โดส และเพิ่มเข้ามาวันนี้อีก 500,000 โดส โดยการบริจาคของประเทศจีน พร้อมมีรายงานว่าภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ องค์การเภสัชกรรม จะนำเข้ามาเองเพิ่มอีก 2,000,000 โดส
ส่วนยอดการลงทะเบียนเพื่อจองฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ 16 ล้านโดส ที่จะเริ่มฉีดเดือนมิถุนายนนี้ สะท้อนภาพความ “ไม่เชื่อมั่น” ด้วยนานาเหตุผลที่สังคมร่วมกันตั้งคำถามก่อนหน้านี้ และเห็นชัดขึ้นจากยอดของผู้ลงทะเบียนขอรับวัคซีนล็อตนี้ผ่าน ไลน์แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เมื่อวันที่ 10 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนเพียง 1,563,486 คน
แต่หลังจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และคนดัง ออกมาเชิญชวนให้ “ฉีดวัคซีน สู้โควิด เพื่อชาติ” และย้ำเตือนเรื่องความจำเป็นของการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะหากประเทศปลอดภัย ประชาชนก็ปลอดภัยเช่นเดียวกัน ทำให้ตัวเลขการลงทะเบียนเพิ่มขึ้น เป็น 3,842,755 คนในวันนี้
The Active ร่วมกับ Rocket Media Lab ชวนติดตามความคืบหน้าสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก และร่วมกันทบทวนว่า อัตราเร่งของการฉีดวัคซีนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ มีที่มาที่ไปจากเหตุผลใด และยอดการจองวัคซีนสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมได้ร่วมเสนอแนะ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทางสุขภาพ เปิดทางสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 10 พ.ค. 2564 จะพบว่า จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครบสองเข็มมากที่สุด คือ จังหวัดสมุทรสาคร 102,182 เข็ม รองลงมา คือ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร ตาก และสุราษฎร์ธานี
แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้น ๆ จะพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มมากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต 22.60% สมุทรสาคร 17.43% ตาก 4.43% สุราษฎร์ธานี 2.44 และ พังงา 1.87%
โดยจังหวัดที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ที่มีประชากรฉีดวัคซีนครบสองเข็มจำนวนมาก มักจะเป็นจังหวัดเชิงการท่องเที่ยวทางทะเล รองลงมา คือ จังหวัดแนวชายแดน
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการฉีดครบสองเข็มน้อยที่สุด คือ นครนายก 0.02% อุบลราชธานี 0.04% นครราชสีมา 0.04% บุรีรัมย์ 0.06% และศรีสะเกษ 0.06% โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน
สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้น จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกจำนวนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ภูเก็ต ตาก และชลบุรี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัดนั้น ๆ จะพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร 26.86% ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ภูเก็ต 23.61% ระนอง 7.97% ตาก 6.85% และกรุงเทพมหานคร 5.26%
ซึ่งยังคงเป็นแนวจังหวัดที่ใกล้เคียงกันกับอันดับการฉีดครบทั้งสองเข็ม
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการฉีดเข็มแรกน้อยที่สุด คือ กาฬสินธุ์ 0.35% ศรีสะเกษ 0.54% มหาสารคาม 0.58% ลำปาง 0.59% ร้อยเอ็ด 0.60% โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน
ขณะที่ภาพรวมของประเทศ การฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มอยู่ที่ 513,454 คิดเป็น 0.78% เข็มแรกอยู่ที่ 1,296,440 คิดเป็น 1.96%
กรุงเทพฯ – ลำปาง จองฉีดวัคซีนล็อต 16 ล้านโดส มากที่สุด
สำหรับการจองการฉีดวัคซีนผ่านไลน์แอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ จากข้อมูลของเพจไทยรู้สู้โควิด (10 พ.ค. 2564) พบว่า จังหวัดที่มีการจองการฉีดวัคซีนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลำปาง นนทบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่
ส่วนจังหวัดที่มียอดการจองน้อยที่สุดก็ คือ มุกดาหาร 1,177 คน ยโสธร 1,237 คน แม่ฮ่องสอน 1,368 คน สตูล 1,664 คน และ ชัยนาท 2,081 คน
ขณะที่ จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 1,108,912 คน นครราชสีมา 473,644 คน เชียงใหม่ 349,970 คน ขอนแก่น 326,053 คน และอุบลราชธานี 289,179 คน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของการฉีดวัคซีนเข็มแรก 16 ล้านโดส ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ไม่สามารถแสดงสัดส่วนผู้จองวัคซีนกับจำนวนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้ เพราะการจองการฉีดวัคซีนครั้งนี้ เป็นโควตารวม ทั้งผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ดังจะเห็นว่าในบางจังหวัด ตัวเลขการลงทะเบียนจองวัคซีนนั้นสูงกว่าตัวเลขผู้สูงอายุ เช่น ลำปาง เป็นต้น
เพจไทยรู้สู้โควิดให้ข้อมูลว่า ประเทศไทย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนรวม 11.7 ล้านคน และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน แต่ในขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังลงทะเบียนเพียง 1,563,486 คน หรือเพียง 12.61% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ และในหลายจังหวัดก็ยังมีสัดส่วนที่ยังต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรวมของประชากรสูงวัย
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพรวมและรายละเอียดรายจังหวัดที่กว้างมากขึ้น และทำให้เห็นภาพว่าการฉีควัคซีนโควิด-19 ของไทยนั้นดำเนินไปเช่นไร และควรจะทำนโยบายในด้านไหน พื้นที่ไหน อย่างไรต่อไป เพื่อให้สามารถฉีควัคซีนได้อย่างครอบคลุมและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุด
อ้างอิง
รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลการเปิดจองคิวฉีดวัคซีนโควิด 19 จากหมอพร้อม ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://tinyurl.com/covid19vaccinethdata