เสียงชาวประมงพื้นบ้าน: เมื่อทรัพยากรใกล้หมดจากทะเล

ใกล้ถึงกำหนดตามเป้าหมายกับการล่องเรือจากทะเลอ่าวไทย จ.ปัตตานี ถึงเจ้าพระยา กับกิจกรรมรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน ที่กลุ่มคนต้นทาง ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ได้ร่วมกันส่งเสียงถึงชาวประมงด้วยกัน รวมถึงตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง ผู้บริโภค และรัฐบาล ให้สนับสนุนยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

เพราะจำนวนสัตว์น้ำเค็มลดลงต่อเนื่อง โดยมีงานวิจัยชี้วัดชัดเจน โดยเฉพาะจำนวนปลาทู ที่นับวันจับกันได้ลดลง สาเหตุสำคัญมาจากการจับลูกปลาทูและลูกสัตว์ทะเลอื่น ๆ ไปขายในตลาด รวมถึงเรือประมงบางประเภทที่ใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง กวาดต้อนสัตว์ทะเลไปขายเป็นปลาเป็ด เข้าโรงงานอาหารสัตว์

ไม่ใช่แค่ผลวิจัย แต่วันนี้ชาวประมงกลุ่มหนึ่งเห็นถึงผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล

The Active ชานฟังเสียงสะท้อนพวกเขา ผ่านอัลบั้มภาพ เมื่อทรัพยากรใกล้หมดจากทะเล
'สะมะแอ เจ๊ะมูดอ' อดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ฝากความหวังว่าการกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนจะเกิดขึ้นจริง เพราะถึงแม้ตอนนี้ชาวประมงพื้นบ้านใน ต.ปะนาเระ ช่วยกันทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรผ่านโรงเรียนชาวเล แต่อาจไม่ได้ผลเต็มร้อย หากรัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมการทำประมงทำลายล้าง และการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน
กิจกรรมส่งกำลังใจไปเจ้าพระยา
ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ และพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมประทับมือ ในกิจกรรมส่งไม้ต่อ ส่งความหวัง และกำลังใจไปเจ้าพระยา ยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน
ชาวประมงพื้นบ้านปะนาเระ ร่วมกันตากปลา ทำปลาหวาน เตรียมเสบียงให้กับตัวแทน สำหรับการเดินทางครั้งนี้
'ปลาหลังเขียว' คือหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชนปะนาเระ แต่ปัจจุบันจำนวนลดน้อยลง เช่นเดียวกับสัตว์น้ำเค็มอื่น ๆ เพราะยังมีประมงบางส่วนใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย จับสัตว์น้ำวัยอ่อนไปขาย ผู้บริโภคบางส่วนไม่รู้ ยังนิยมบริโภค ปลา ปู สัตว์ทะเลตัวเล็ก
บรรยากาศขบวนเรือกอและ ล่องจากหาดสวนกง จ.สงขลา โดยมีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ร่วมส่งขบวนเรือ
ระหว่างล่องเรือในทะเลสงขลา มุ่งหน้าเกาะหนูและเกาะแมว พบฝูงโลมาโชว์ตัวรอบขบวนเรือ ห่างจากฝั่งไม่ถึง 2 กิโลเมตร คนบนเรือรณรงค์ต่างตื่นเต้น เพราะไม่ใช่จะมีโอกาสได้เห็นกันบ่อย ๆ และคิดตรงกันว่าฝูงโลมามาร่วมส่งให้กำลังใจขบวนรณรงค์ เพื่อยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะปลาเล็กปลาน้อยล้วนเป็นอาหารของโลมา ตามวัฏจักรห่วงโซ่อาหาร
'รุ่งโรจน์ เบ็ญหมูด' ชาวประมงพื้นบ้านหาดยาวเจ้าไหม จ.ตรัง เพาะหญ้าทะเล เพิ่มพื้นที่อาหารให้พะยูนสัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ เขาบอกว่าตอนนี้หญ้าทะเลลดน้อยลงมาก หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือยังมีการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น อวนรุน หรืออวนตาถี่ ที่ไม่ใช่แค่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่เครื่องมือประมงนี้ ยังทำให้หญ้าทะเลตาย และเป็นอันตรายทำให้พะยูนบาดเจ็บล้มตายด้วย
ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง บอกว่า ปลูกหญ้าทะเล พันธุ์ใบหญ้าคานำไปก่อน แล้วสายพันธุ์อื่นที่เป็นอาหารของพะยูนจะเกิดขึ้นตาม หญ้าทะเลยังเป็นบ้านปลา หรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วย
“ปลาทูอ่าวไทย ใกล้หมดแล้ว" เสียงสะท้อนของ 'นรงค์ ม่วงทองคำ' ชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ้านท่าเสม็ด  อ.ปะทิว จ.ชุมพร จากประสบการณ์ทำประมงมากว่า 60 ปี เขาบอกว่าทะเลอ่าวไทยโซนชุมพร เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ปลาทูจะมาวางไข่  เมื่อ 40 ปีก่อนปลาทูเยอะมาก เป็นหย่อมหรือกลุ่มใหญ่ จับได้กันเป็นร้อย ๆ กิโลกรัม แต่ปัจจุบันหากวันไหนได้ถึง 10 กิโลกรัมก็ดีใจแล้ว ตอนนี้หายากมาก สะท้อนชัดว่าปลาทูน้อยลง เป็นตัวชี้วัดทรัพยากรไม่สมบูรณ์เช่นเดิม
'เบ็ดไอ้โง้ง' เครื่องมือประมงใช้ตกปลาทู ชาวประมงพื้นบ้านมีข้อตกลง ใช้เบ็ด หรือไอ้โง้ง ตกปลาทูได้ แต่ห้ามใช้อวนล้อมจับในเขตพื้นที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ อย่างซั้งกอ หรือบ้านปลา แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเค็ม
ปลาทูที่จับได้บริเวณที่ชาวบ้านทำการอนุรักษ์ วางซั้งกอ หรือบ้านปลา สะท้อนความพยายามในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล แต่หากไม่มีกลไกหนุนเสริมในการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน และการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน สิ่งที่ชาวประมงพื้นบ้านพยายามทุ่มเทช่วยกันรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อาจสูญเปล่าไม่สำเร็จเต็มร้อย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วาสนา ไซประเสริฐ

ฝึกฝนการเป็นนักเดินทาง ทั้งการเดินทางภายในและภายนอก... ออกไปเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเห็นตัวเองเล็กลง