แมว(จร)วัดโพธิ์…เราโตมากับพระ

“วัด” กับ “หมา-แมวจรจัด” กลายเป็นของคู่กันไปแล้ว แม้จะถูกเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ของวัดและชุมชน แต่อีกด้านก็กำลังสะท้อนถึงการเอาปัญหาไปไว้ในวัด จากสัตว์ที่เคยเลี้ยง เมื่อหมดรักก็ไปทิ้งให้วัดต้องแบกรับภาระเลี้ยงดู

แน่นอนการแก้ปัญหา หมา-แมวจรจัดในวัด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ไปจนถึงการดูแลปัญหาในเชิงโครงสร้าง พร้อมทั้งต้องอาศัยการทำงานอย่างเข้าใจจากหลายฝ่ายเข้ามาโอบอุ้มดูแล

แม้ต้องอยู่ท่ามกลางปัญหา แต่ในอีกบทบาทหนึ่งของวัด ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือ เกื้อกูลสังคม ไม่เว้นแม้แต่สรรพสัตว์ นั่นทำให้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ได้กลายเป็นบ้านอันแสนอบอุ่นของแมวจรหลายร้อยชีวิต

The Active สนทนากับ พระมหานรินทร์ อภิฉนฺโท ผู้เป็นกำลังสำคัญดูแลแมวจรจัดในวัดโพธิ์ ที่เต็มไปด้วยแมวจร ทั้งที่เคยมีเจ้าของ เคยมีบ้าน แต่วันนี้พวกมันมีชีวิตใหม่ ภายใต้การดูแลอย่างเข้าอกเข้าใจของพระ และจิตอาสาในวัด แม้กลายเป็นว่าเวลานี้ “แมววัด” ดูจะมีความสุขที่สุด แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น วัดก็ไม่ใช่สถานที่รับภาระจากความละเลย ความไม่พร้อมของผู้คนอีกต่อไป


พระมหานรินทร์ อภิฉนฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นผู้ดูแลหลักเหล่าแมวจรจัดภายในวัด ร่วมกับทีมงาน และจิตอาสา
ยืนสนทนากับ พระมหานรินทร์ ไม่นาน แมวในวัดก็ค่อย ๆ ปรากฏตัวขึ้น แมวลายสลิดขี้อ้อนตัวนี้ มันชื่อ “ชมพู่” เป็นตัวแรกที่ได้พบ มันคอยยืนคลอเคลียพระมหานรินทร์ไม่ห่าง
เมื่อพระมหานรินทร์ เดินมา "ปุยฝ้าย" - "นมสด" - "เก๊กฮวย" ก็ออกจากที่ซ่อน และเดินเข้ามาขออาหารโดยปกติแล้วพระมหานรินทร์ จะให้อาหารแมว 2 ครั้งต่อวัน คือ เช้าและเย็นหลังจากเสร็จสิ้นกิจของสงฆ์
ไปไหนมาไหนภายในวัด พระมหานรินทร์ ก็พกอาหารเม็ดติดตัวตลอด เผื่อไว้ให้แมวจรที่อาจเจอระหว่างทาง โดยจะให้อาหารเม็ดสำหรับแมวเท่านั้น และให้อาหารผสม ไม่ได้ให้กินแบบเดิมตลอด เพื่อลดความเสี่ยงโรคนิ่ว โรคไต ให้กับพวกมัน ส่วนแมวที่มีอายุมาก ก็จะให้เป็นอาหารเม็ดขนาดเล็ก และเคี้ยวง่าย
หลังจากที่อิ่มท้องแล้ว “เก๊กฮวย” ก็กระโดดขึ้นไปฝนเล็บที่ต้นไม้ เพื่อคลายเครียด และประกาศอาณาเขต “เก๊กฮวย” เป็นหนึ่งในแมวที่เกิดในวัด และมันก็ใช้ชีวิตในวัดมาตั้งแต่เล็ก ๆ
เดินคุยกันอยู่สักพัก “กล้วยหอม” แมวส้มช่างพูด สมาชิกแมวจรอีกตัวของวัดก็เดินออกมาทักทายเรา และมันก็ร้องเรียกพระมหานรินทร์ตลอดทางไม่หยุดหย่อน
“ช่อฟ้า” แมวจรที่นิสัยเป็นมิตร และต้องการความรักมากกว่าใคร ๆ พระมหานรินทร์ เล่าว่า ถ้า “ช่อฟ้า” เห็นท่านเล่นกับแมวตัวไหน จะรีบวิ่งออกมาหาเพื่ออ้อนทันที
ช่วงบ่าย ๆ ก็ได้เวลาพักผ่อนของพลพรรคแมวจรวัดโพธิ์ พวกมันเลือกนอนตามจุดซอกมุมต่าง ๆ ของวัด โดยที่ “ใบตอง” อดีตแมวบ้านก็จองพื้นที่ริมหน้าต่างพระอุโบสถนอนเล่นแบบเพลิน ๆ
พวกมันมีพื้นที่พักผ่อนของตัวเอง แทบทุกซอกมุมต่าง ๆ ของวัด จึงพบเห็นแมวนอนหลบซ่อนอยู่
“เขามอ” หรือ ภูเขาจำลองในวัดที่เป็นเหมือนสวนสุขภาพ เพราะตกแต่งไปด้วยรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน กลายเป็นอีกจุดพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของแมวจรที่นี่ “พิซซ่า” แมวส้มขี้อาย ก็รีบหลบเข้าไปในเขามอทันที เมื่อพวกเราเดินไปเจอ
พระมหานรินทร์ บอกว่า แมวในวัดไม่ค่อยทะเลาะกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นกลุ่มตามแต่ละพื้นที่ และจะไม่เข้าไปในเขตของกันและกัน
แมวในวัดทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีน และผ่าตัดทำหมัน เพื่อลดการขยายพันธุ์ ซึ่งไม่เพียงแต่แมวในพื้นที่ของวัดเท่านั้น พระมหานรินทร์ ยังบอกว่า แมวในบริเวณรอบ ๆ วัดแถวท่าเตียน ปากคลองตลาด และบ้านหม้อก็ได้รับการทำหมันเช่นกัน เพราะหากทำหมันเฉพาะแมวภายในวัด สุดท้ายแมวที่เกิดใหม่จากข้างนอกก็จะทะลักเข้ามาในวัดอยู่ดี
แมวในวัดทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีน และผ่าตัดทำหมัน เพื่อลดการขยายพันธุ์ ซึ่งไม่เพียงแต่แมวในพื้นที่ของวัดเท่านั้น พระมหานรินทร์ ยังบอกว่า แมวในบริเวณรอบ ๆ วัดแถวท่าเตียน ปากคลองตลาด และบ้านหม้อก็ได้รับการทำหมันเช่นกัน เพราะหากทำหมันเฉพาะแมวภายในวัด สุดท้ายแมวที่เกิดใหม่จากข้างนอกก็จะทะลักเข้ามาในวัดอยู่ดี
พระมหานรินทร์ บอกอีกว่า แรก ๆ ที่ดูแลแมวจรก็ไม่ได้มีความรู้อะไรมากนัก อาศัยการฟังคำแนะนำจากทีมจิตอาสา พร้อมสังเกตพฤติกรรมของแมวแต่ละตัว และเรียนรู้ว่า หากแมวเจ็บป่วยจะต้องจัดการ และทำอย่างไร
“ห้องน้ำแมว” ที่แนบเนียนไปกับสถาปัตยกรรมของวัด คือ ความตั้งใจของ พระมหานรินทร์ ที่ต้องการให้แมวจรในวัดได้ขับถ่ายอย่างเป็นที่เป็นทาง ไม่เลอะเทอะ และไม่เกะกะนักท่องเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่วัดจะคอยทำความสะอาดอยู่เสมอ
การดูแลแมวจึงเป็นงานที่ต้องใช้ความใส่ใจ และความเข้าใจนิสัยใจคอของพวกมัน พระมหานรินทร์ สะท้อนว่า “ใครก็ตามที่คิดจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัว จะต้องสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนว่าพร้อมดูแลอีกหนึ่งชีวิตมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เลี้ยงตามกระแส”
การดูแลแมวจึงเป็นงานที่ต้องใช้ความใส่ใจ และความเข้าใจนิสัยใจคอของพวกมัน พระมหานรินทร์ สะท้อนว่า “ใครก็ตามที่คิดจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัว จะต้องสำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนว่าพร้อมดูแลอีกหนึ่งชีวิตมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เลี้ยงตามกระแส”
“วัดเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ส่วนที่เราช่วยเหลือสังคม และแบ่งเบาภาระได้ เราก็ช่วยได้ตามความเหมาะสมกับสถานที่ของเรา แต่อย่าเอาแมวมาปล่อยวัดเพิ่มเลย เพราะจะจัดการได้ยากขึ้น และปัญหาแมวจรจะยิ่งเพิ่มขึ้น” พระมหานรินทร์ ฝากทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย