เปิดโรงงานรถไฟมักกะสัน ชมรถไฟเก่า เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ฟังเรื่องเล่า “ขนหัวลุก”

ครั้งแรกของการเปิดพื้นที่โรงงานมักกะสัน จัดกิจกรรมในรอบ 112 ปี อวดโฉมอาคารอู่ซ่อมรถไฟเก่าแก่ รวมการจัดแสดงหัวรถจักรไอน้ำอายุนับร้อยปี พร้อมบรรยายองค์ความรู้ระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทยในอดีต ให้คนเมืองที่คุ้นชินกับรถไฟฟ้า ได้ใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์รถไฟมากขึ้น

พร้อมเปิดเปิดพื้นที่ นำ Soft Power ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วน สร้างกิจกรรมใหม่ ๆ ให้คนเมือง นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับการชูแนวคิดรักษาคุณค่าพื้นที่เดิมของการรถไฟไทย เข้าชมงานได้ตั้งแต่ ​ 27-29 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00-22.00 น.
โรงงานมักกะสัน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2450 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2453 เคยถูกระเบิดสร้างความเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายส่วนเสียหาย และเสื่อมโทรม ภายหลังได้รับการดูแลซ่อมแซม เช่น ประตูบานใหญ่ด้านหน้า
::
นับเป็นอู่ซ่อมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อ 50 ปีก่อน ที่นี่คือโรงรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทำหน้าที่ทั้งซ่อมรถไฟ และผลิตส่วนประกอบต่างๆ ของรถไฟ จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าด้านคมนาคมของไทยในอดีต
หัวรถไฟและโบกี้ ที่ปลดระวางแล้ว หลายขบวนตั้งอยู่อย่างเดิม สะท้อนความเก่าจากการใช้งานล่วงเวลาได้อย่างชัดเจน จัดแสดงประกอบแสงสีชวนขนลุก
::
คู่ขนานกับรถไฟดีเซลรางมือสอง ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าเฟิร์สคลาส สามารถรับชมได้ระยะใกล้ และจองตั๋วเดินทางได้ภายในงาน
อนุสรณ์หัวรถจักรไอน้ำ เลขที่ 7 อายุนับร้อยปี เริ่มใช้งานเมื่อ พ.ศ.2438 และเลิกใช้งานเมื่อ พ.ศ.2508 สร้างโดย บริษัท โรเบิร์ตฮัดสัน เคยใช้การในแขวง นครราชสีมา 
::
ปัจจุบันบางขบวนยังคงวิ่งได้ ใช้เป็นหัวรถจักรเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ปีละ 6 ครั้ง โดยมีการซ่อมทำนุบำรุงอยู่เสมอ 
::
โซนนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากการรถไฟ เจ้าของเพจ “นั่งรถไฟไปกับนายแฮมมึน” แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย บรรยายความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
ทางเข้างาน เทศกาลขนหัวลุก มักกะสัน 2565 โดยความร่วมมือของการรถไฟแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงานเพื่อสร้างพื้นที่กิจกรรมภายในเมือง หวังให้เกิดกระแส Soft Power และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่เก่าไม่ได้ใช้งาน มีการประเมินว่า ผู้คนจะมาร่วมงานวันละ 3,000-10,000 คน ซึ่งในวันแรกเป็นไปตามเป้าหมาย
รถไฟหัวจักรไอน้ำ หมายเลข 733 เป็นรถไฟเก่าแก่ อายุกว่า 70 ปี ที่เหลือไม่ถึง 10 คันในประเทศไทย ได้รับฉายาว่าเป็น “รถจักรไอน้ำรุ่นคุณทวด” และ “บรรพบุรุษรถไฟ”
“ทางผีผ่าน” 33 เมตร วัดใจสุดสยอง คล้ายๆ กับบ้านผีสิง เดินทีละ 3 คน แต่ถ้าใครกล้าเดินคนเดียวจนสุดทางได้รางวัลกลับบ้านไปครอง 
::
นอกจากน้ี โซนกิจกรรม “สายสยอง” ยังมีการสาธิตเล่นผีถ้วยแก้ว ใกล้ๆ กับต้นตะเคียนทองของจริง แต่บริเวณเดียวกันก็มีศาลาพระนาคปรกให้ความคุ้มครองอยู่
เวทีกลาง มีการแสดงโชว์ดนตรีไทย-สากล ต่อเนื่อง ในบริเวณโดยรอบจัดแสดงนิทรรศการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของไทย 5 ภูมิภาค กิจกรรมดูดวงไพ่ยิปซีกับหมอดู เหมาะกับ “สายมู” “สายบูชา”
ใต้ทางด่วนที่เคยรกร้าง ไร้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ทางด่วนพาดผ่าน กลายเป็นพื้นที่สร้างโอกาสแห่งใหม่ โดยกิจกรรม เทศกาลขนหัวลุก ในครั้งนี้ จะเป็นการทดลองว่า อนาคตควรจะมีการอนุรักษ์พื้นที่ควบคู่กับการทำพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างไร
โรงจัดแสดงหัวรถจักรไอน้ำ จำนวนมากรวมไว้ในที่เดียว และยังมีหัวรถไฟนำเข้าจากญี่ปุ่นหาชมได้ยากอีกมากมาย พร้อมกับจุดขายของที่ระลึกจากมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ ที่ยกแผงมาจาก พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง
จุดจัดแสดงของเก่าของเก็บจากพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย เป็นของใช้โบราณที่เคยใช้งานจริงในสถานีรถไฟแต่ละแห่ง ไม่มีให้ชมแล้วในปัจจุบัน พร้อม QR-code ให้ข้อมูลรายละเอียดผ่านระบบออนไลน์ เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจการรถไฟของไทย
ผ้าสามสีที่ใหญ่ที่สุด ศิลปะการจัดแสดง ที่ทำให้เสาคอนกรีตใต้ทางด่วนมีเรื่องราว สะท้อนภาพความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รอบตัว 
::
ในบริเวณนี้ยังมี จุดสักการะ ท้าวเวสวัณ หรือท้าวเวสสุวรรณ ที่เชื่อกันว่าเป็น เทพเจ้าแห่งยักษ์ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ ปกป้องวิญญาณชั่วร้าย และ แม่ย่านางเรือ ผู้ปกป้องรักษาต้นไม้ภายในป่า ในฐานะที่โรงงานมักกะสันเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมือง
“ชิงช้าสวรรค์” หนึ่งในกิจกรรมโซน “สายเพลิน” ชวนผู้คนสนุกสนานกับกิจกรรมงานวัดแบบดั้งเดิม เช่น ยิงปืนจุกน้ำปลา ปาลูกโป่ง สาวน้อยตกน้ำ
ความพิเศษ คือ “แต่งผี ฟรีเครื่องเล่น” ใครแต่งตัวเป็นผี ผีอะไรก็ได้ (ไม่ใช่แค่หน้ากากผี) ได้ตั๋วเล่นกิจกรรมฟรี 120 บาท
กิจกรรมพิเศษ ฟังเรื่องเล่าผีๆ ในอุตสาหกรรมรถไฟไทย กับ พิธีกรรายการ The Shock แบ่งปันความเพลิดเพลิง แล้วแต่จะเชื่อไม่เชื่อ ตามวิจารณญาณ
ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เล่าว่า พื้นที่โรงงานมักกันสันเป็นพื้นที่เก่าแก่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่คนรถไฟต่างหวงแหน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดงานในวันนี้ขึ้น โดยหวังว่าหลังจากนี้จะมีโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ควบคู่กับการรักษาคุณค่าเดิมเอาไว้
บรรยากาศผู้คนหลั่งไหลเข้ามาภายในงาน แม้กำหนดเวลาปิด 22.00 น. แต่ก็ยังพบผู้คนพลุกพล่านจนนาทีสุดท้าย เป็นโอกาสที่รถไฟซึ่งดูเหมือนจะห่างไกลจากวิถีคนเมือง ได้เข้ามาใกล้กันเพื่อเรียนรู้ รักษามรดกคมนาคมเก่าแก่ของไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชาลี คงเปี่ยม

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์