‘ลัวะ’ ทวีวัฒนา คนเคลื่อนเมือง ในวันที่รอ…รับรอง ‘สัญชาติไทย’

รู้ไหม ? ว่า "บุคคลไร้สถานะทางทะเบียน" ไม่ได้มีอยู่แค่บนพื้นที่สูง ริมชายแดน หรือชายขอบป่าเท่านั้น แต่พื้นที่ชายขอบของกรุงเทพมหานคร อย่าง "เขตทวีวัฒนา" ก็ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ตั้งรกรากอยู่อาศัยมาเนิ่นนาน ด้วยข้อจำกัดด้านการทำกินในพื้นที่บ้านเกิดทางภาคเหนือ ชาวลัวะจึงตัดสินใจอพยพมาแสวงหาโอกาส สร้างเนื้อ สร้างตัว ด้วยอาชีพทำสวนกล้วยไม้ และรับจ้าง อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้

แน่นอนว่าชาวลัวะเกินครึ่ง อยู่ในฐานะ “บุคคลไร้สถานะทางทะเบียน” หรือ ยังไม่ถูกรับรองทางกฎหมายว่าเป็นคน “สัญชาติไทย” นี่คือชีวิตที่ยังไร้สิทธิ์ โดยเฉพาะลูก หลานชาวลัวะ ที่ต้องพบกับข้อจำกัดด้านสถานะทางทะเบียน และกำลังตัดโอกาสการศึกษา ความฝันของพวกเขา

มติ ครม. ที่ย้ำ “หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้กับคนที่อพยพมาในไทยเป็นเวลานาน และลูกที่เกิดในไทย” กว่า 4.8 แสนคน จึงกลายเป็นความหวังอีกครั้ง กับการสามารถมีสิทธิ์ สถานะ ไม่ต่างจากคนไทยคนหนึ่ง และในฐานะของคนที่ขับเคลื่อนเมืองมาโดยตลอด

The Active ชวนสำรวจความเป็นอยู่ ข้อจำกัด ความฝัน และโอกาส ของชาวลัวะ ที่ทวีวัฒนา ระหว่างการรอรับรองสัญชาติไทย อย่างใจจดใจจ่อ


เขตทวีวัฒนา ชายขอบกรุงเทพมหานคร ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ใกล้คลองเนินทราย เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ “ลัวะ” ผู้คนที่นี่เกินครึ่งยังเป็นบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน หรือ ยังไม่ถูกรับรองทางกฎหมายว่าเป็นคน “สัญชาติไทย”
เขตทวีวัฒนา ชายขอบกรุงเทพมหานคร ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ใกล้คลองเนินทราย เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ “ลัวะ” ผู้คนที่นี่เกินครึ่งยังเป็นบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน หรือ ยังไม่ถูกรับรองทางกฎหมายว่าเป็นคน “สัญชาติไทย”
เขตทวีวัฒนา ชายขอบกรุงเทพมหานคร ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ใกล้คลองเนินทราย เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ “ลัวะ” ผู้คนที่นี่เกินครึ่งยังเป็นบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน หรือ ยังไม่ถูกรับรองทางกฎหมายว่าเป็นคน “สัญชาติไทย”
“สาม ตามโป” ประธานศูนย์ประสานงานสมาคมลัวะทวีวัฒนา เล่าว่า เมื่อ ปี 2528 หลายครอบครัวอพยพย้ายมาจาก จ.เชียงราย เพราะไร้ที่ทำกิน จากนโยบายประกาศเขตอุทยานฯ เขตป่าสงวนฯ ส่งผลให้การทำเกษตรอย่างไร่ชา ปลูกข้าวโพด ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
นับจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาจึงต้องมองหาหนทางเพื่อเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงครอบครัว จึงเริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยคำชักชวนจากเจ้าของสวนกล้วยไม้ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามาทำงาน ซึ่งถือเป็นงานที่คนเมือง ไม่มีใครอยากทำ  และงานสวนกล้วยไม้ ก็ทำให้หลายครอบครัวลืมตาอ้าปาก จนถึงขั้นส่งลูก ส่งหลานเรียนได้จนถึงทุกวันนี้
กว่า 30 ปี วิถีชีวิตของชาติพันธุ์ลัวะ ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย มีสมาชิกในหมู่บ้านกว่า 500 คน
จนมาใน ปี 2564 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญ ของการที่จะได้ “รับรองสัญชาติไทย”
เพราะส่งผลต่อการรับบริการฉีดวัคซีน  และจากการสำรวจก็พบว่า กว่า 70% ของคนที่นี่ ยังไม่ได้การรับรองสัญชาติ
ล่าสุด มติ ครม. เมื่อ 29 ต.ค. 67 ประกาศ “หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้กับคนที่อพยพมาในไทยเป็นเวลานาน และลูกที่เกิดในไทย” จำนวน 483,626 คน  ชาวชาติพันธุ์ลัวะ ที่นี่จึงรู้สึกดีใจ และมีความหวังว่านี่ จะเป็นโอกาสให้เขาสามารถมีสิทธิ์ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
“สาม” จึงรวบรวมเอกสารข้อมูลที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมทำตามขั้นตอนทันที ที่มีความชัดเจนขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ๆ ลูกหลานชาวลัวะที่เกิด ที่ รพ. ราชพิพัฒน์ และ รพ.ศิริราช ราว 45 คน  แต่ก็ยังมีเด็ก เยาวชนอีกหลายคน ที่ต้องรอการพิสูจน์การเกิด
เด็ก ๆ ที่นี่เมื่อถึงวัยเรียน จะได้เข้าเรียนตามช่วงวัย แต่ส่วนใหญ่มักหยุดเรียนอยู่เพียงระดับมัธยมฯ ปลาย ด้วยข้อจำกัดของสถานะทางทะเบียน และกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถขอทุนการศึกษาได้
“คำ” อายุ 20 ปี และ “สาม” อายุ 19 ปี สองพี่น้องของตระกูล “คำเจริญ” พาเราไปนั่งคุยที่บ้าน ซึ่งบ้านหลังนี้พวกเขาอยู่อาศัยด้วยกันรวม 6 ชีวิต คือ พ่อ แม่ พี่สาว และ น้อง  ตอนนี้ทุกคนมีบัตร ประจำตัวเลข 0 กลุ่ม 00 เขา 2 คน และพี่สาวเกิดที่ จ.เชียงราย แต่ไม่มีหลักฐานการเกิด ก่อนพ่อแม่จะพาย้ายมาอยู่ที่นี้ตั้งแต่เล็ก ๆ
“คำ” สะท้อนว่า แม้จะมีบัตรประจำตัวเลข 0 กลุ่ม 00 แต่เขาขาดโอกาสหลายอย่าง เช่น ไม่ได้เป็นตัวแทนแข่งกีฬา, ทำงานพาร์ทไทม์กับบริษัทไม่ได้, ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาไม่ได้ ทำให้ทางเลือกชีวิตมีไม่มากนัก  ตอนนี้ทั้งคู่เรียนสายอาชีพ ในชั้น ปวช. 3 ด้วยทุนเรียนดีแต่ยากจน ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยกำหนดสาขาที่เรียน คือ คอมพิวเตอร์กราฟิก
“เรียนเพื่อให้มีอาชีพ” แม้ว่าทั้ง 2 คนจะมีความฝัน อยากเรียนสายสามัญเพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย  แต่เมื่อได้โอกาสเรียนตรงนี้มาแล้ว ก็ตั้งใจว่า จะเรียนให้จบ ทำงาน หาเงินส่งน้องคนเล็กให้ได้เรียนในแบบที่เขาต้องการ
ไม่ต่างจาก “บุญแก้ว บุญปั่น” อายุ 20 ปี เธอเองมีบัตรประจำตัวเลข 0-89 จากที่โรงเรียนทำบัตร G ให้ แต่ทั้งพ่อและแม่ถือบัตร 0 กลุ่ม 00 แม้ว่า เธอจะเกิดในไทย แต่ที่ผ่านมาหากต้องการขอสัญชาติ ก็ต้องไปพิสูจน์การเกิด
บุญแก้ว เล่าว่า โอกาสที่หายไปสำหรับเธอ คือ ไม่สามารถเข้าสอบแข่งขัน หรือชิงทุนการศึกษาได้เลย เพียงเพราะข้อกำหนดว่า ต้องเป็นบุคคล “สัญชาติไทย”  แม้วันนี้มีโอกาสได้เรียน แต่ยังติดปัญหาไม่สามารถฝึกงานได้  “ถ้าได้สัญชาติมา จะทำให้เรามีช่องทางทำงานหาเงิน เพื่อดูแลครอบครัวได้ รวมทั้งสิทธิด้านอื่น ๆ และสิทธิในการเลือกตั้ง”
“แดง นัยสาม” อายุ 44 ปี คืออีกคนที่เข้าเกณฑ์ขอรับรองสัญชาติไทยได้ เพราะอยู่ในไทยมานานเกิน 15 ปี เขาและภรรยาอพยพมาจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อ ปี 2546  ตอนที่ภรรยาท้องลูกคนแรก เขายังไม่มีเลข 13 หลัก จึงขอให้ญาติมาเป็นพ่อให้ ลูกจึงได้เลข 0-00  ต่อมาปี 2563 ช่วงโควิด มีคณะอาจารย์มาช่วยแก้ไขให้บัตรลูกตรงกับพ่อแม่ ด้วยการตรวจ ดีเอ็นเอ ทำให้ลูกได้บัตรประชาชน
เพราะเกิดในไทย และพ่อแม่อยู่ไทยมานาน  ส่วนกรณีของเขาสอบถามกรมการปกครอง แจ้งว่าต้องทำตามขั้นตอนรับรองคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวร แต่รอผ่าน ครม.
ในอีกบทบาท “แดง” ช่วยเตรียมเอกสารของเด็ก ๆ เพราะไม่มีใครมาช่วย เขาจึงต้องทำหน้าที่นี้เอง ตามการมอบหมายของประธานศูนย์ฯ  “ชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่องเอกสาร เราก็จะมาคอยดูแลให้”
หลายปีที่ชาติพันธุ์ลัวะ ย้านถิ่นฐานมาเขตทวีวัฒนา กทม. และทำงานรับจ้าง คุณภาพชีวิตของคนที่นี่ดีขึ้น หลายคนมีเงินเก็บพอที่จะสร้างบ้านได้
ประธานศูนย์ฯ บอกว่า ชาวบ้านเริ่มย้ายบ้าน จากห้องเช่า ใกล้กับ ม.กรุงเทพธนบุรี มาอยู่ที่ใหม่เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ใกล้คลองเนินทราย ซึ่งเจ้าของเป็นเอกชน ให้ทำสัญญาเช่า 50 ตารางวา เช่าเดือนละ 600 บาท มีการขอเลขที่บ้าน มีน้ำประปา-ไฟฟ้าใช้
ปัจจุบันที่นี่มีบ้านของชาวชาติพันธุ์ลัวะ รวม 53 หลังคาเรือน อยู่ระหว่างการขยายที่เพื่อสร้างเพิ่มเติมอีก 16 หลัง บ้านที่อยู่ครอบครัวเดียว จะได้พื้นที่ 50 ตารางวา ค่าเช่าเดือนละ 600 ส่วนบ้านที่ครอบครัวใหญ่ จะได้ 62 ตารางวา ค่าเช่าเดือนละ 700 บาท