สุขบั้นปลาย… ‘วาระท้าย’ ออกแบบได้ที่บ้าน

คุณ...ออกแบบวาระสุดท้ายของชีวิตไว้แบบไหน ? เมื่อเวลาชีวิตใกล้สิ้นสุดลง ทุกเสี้ยววินาทีจึงล้วนมีคุณค่า มีความหมาย

ผู้ป่วยหลายรายปรารถนาจะมีอิสระจากพันธนาการบนเตียงโรงพยาบาล หวังให้ชีวิตบั้นปลาย รายรอบไปด้วยคนที่รักในครอบครัว ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างไม่เจ็บปวด ปราศจากความทุกข์ทรมานกาย ใจ และจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี

ความต้องการสุดท้ายของมนุษย์ที่จะ “ตายดี” เช่นนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยความเข้าใจ ความช่วยเหลือจากครอบครัว ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์แบบประคับประคอง

The Active ชวนเปิดมุมมอง และเหตุผลว่าทำไม ? เราจึงควรกลับมาทบทวน รวมทั้งให้ความสำคัญกับแนวทางการดูแลแบบประคับประคองในช่วงชีวิตระยะท้าย

พร้อมติดตามทีมแพทย์ พยาบาล ศูนย์การุณรักษ์ (Palliative Care Center) รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ในภารกิจเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะท้าย ที่ขอกลับไปตายที่บ้านตามเจตจำนง เพื่อให้ได้ใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ไปกับครอบครัวและคนที่รัก จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต
ทีมแพทย์ พยาบาล "ศูนย์การุณรักษ์" (Palliative Care Center) รพ. ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น เตรียมตัวลงเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในรัศมี 40 กิโลเมตรจาก รพ.ศรีนครินทร์ ในทีมมีแพทย์ 5 คน, พยาบาล 2 คน และเภสัชกรหมุนเวียนกันแต่ละเดือน
หลายครั้งที่คนไข้ระยะท้าย ต้องจัดการอาการเร่งด่วน ทีมเยี่ยมบ้านต้องเดินทางไปถึงให้เร็วที่สุด  เมื่อก่อนทีมจะใช้รถแท็กซี่ เพราะคล่องตัว แต่ตอนนี้คนไข้เยอะขึ้น เป็นหลักพันคนต่อปี แถมประชาชนในเขตเมืองก็มีเยอะขึ้น การเดินทางเยี่ยมบ้านจึงไม่สะดวกนัก  จนเมื่อ 10 ปีก่อน คนไข้มะเร็งท่อน้ำดีที่มีโอกาสได้ดูแล เห็นถึงความลำบากของการเดินทาง เมื่อเขาเสียชีวิต จึงบริจาครถยนต์ให้กับทีมเยียมบ้าน กลายเป็นรถเยี่ยมบ้านคันเล็กกะทัดรัดที่ได้ใช้จนถึงทุกวันนี้
เวลาไปเยี่ยมบ้าน จะมีกระเป๋าใบใหญ่ เป็นกระเป๋าหัตถการสำหรับบรรเทาอาการ โดยมีหมอประเมินเป็นหลักและพยาบาลปฏิบัติ  วันแรกที่คนไข้เริ่มเข้าสู่โปรแกรมการดูแลแบบประคับประคอง คนไข้จะมีสมุดประจำตัวคนละเล่ม บันทึกประวัติการรักษา ประวัติการให้ยา  หน้าที่ของเราคือไปดูแลความไม่สุขสบายของผู้ป่วยแต่ละบ้าน ตั้งแต่ความเป็นอยู่ทั่วไป วัดไข้ วัดความดัน ให้ยาแก้ปวด หากท้องผูกก็สวนถ่าย หากหอบเหนื่อยก็ฉีดยาลดอาการ ทำแผล พลิกตะแคงตัว ใส่สายสวนปัสสาวะ สื่อสารวิธีการดูแลให้ครอบครัว ส่งเสริมให้เขาอยู่ที่บ้านได้ และมีชีวิตช่วงท้ายอย่างที่ดีที่สุด
“แพงพรรณ ศรีบุญลือ” พยาบาลหัวหน้าทีมเยี่ยมบ้าน บอกว่า ส่วนมาก เมื่อคนไข้เข้าสู่ระยะท้าย จะสื่อสารไม่ได้ ทีมประคับประคองจึงต้องสื่อสาร ให้ข้อมูลกับเขาและครอบครัวมาตั้งแต่แรกเป็นระยะ เพื่อปูพื้นฐาน เพราะเมื่อถึงเวลาจากไปจริง ๆ ข้อมูลจำนวนมากที่ประเดประดังเข้ามาจะทำให้เขารับไม่ได้  “และเมื่อคนไข้ใกล้เดินมาถึงเวลาที่จะจากไปจริง ๆ เราจะบอกเขาว่านี่ถึงจุดที่เราเคยคุยกันไว้แล้วนะ เพื่อให้เตรียมตัว เตรียมใจ อำลา ปลดปล่อยเรื่องที่ค้างคา โอบกออดคนที่รัก หรือทำอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ ส่วนทีมเราจะคอยเป็นตัวช่วยเหลือให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ”
The Active ที่ได้ติดตามทีมเยี่ยมบ้าน ไปพบกับครอบครัวของคุณยาย “รัตน์ ระจินดา” วัย 87 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในวันที่ทราบผลการวินิจฉัย คุณยายบนเตียงผู้ป่วยยังคงมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และเลือกที่จะแสดงเจตจำนง “ขอไม่ยื้อชีวิต” ต่อหน้าลูกหลานและทีมแพทย์ พร้อมทั้งขอกลับไปรักษาตัวที่บ้านกับครอบครัวแทน  พี่อ้อย ลูกสาวของคุณยายรัตน์ เล่าว่า “4 ปีก่อน แม่ตรวจเจอโรคไตวายเรื้อรังระยะท้าย ครอบครัวดูแลและควบคุมอาหารแต่ก็มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด จนวันหนึ่ง อยู่ ๆ คุณยายก็มีเลือดออกเวลาขับถ่าย ตอนแรกพวกเราคิดว่าคงเป็นริดสีดวง แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่”  “ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผล CT Scan ออกมาว่าแม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ครอบครัวตกใจและยังไม่เคยมีการวางแผนล่วงหน้า แต่ตอนนั้นมีทีมแพทย์ประคับประคองเข้ามาพูดคุยทันที เขาอธิบายถึงเส้นทางของคุณยายจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะมีขั้นตอนอย่างไรในการรักษา”  “ตอนนั้นลูกหลานอยู่รอบเตียงหมดเลย รวมถึงทีมหมอ พยาบาล เภสัชกรทีมประคับประคองด้วย แม่เป็นคนสุขภาพจิตดีมาก และไม่มีท่าทีโศกเศร้าเลย แม่ประกาศออกมาตอนนั้นเลยว่าอยากกลับบ้าน และประสงค์ไม่ขอยื้อชีวิตท่ามกลางทุกคนเป็นสักขีพยาน จากนั้นพวกเราก็พาแม่กลับบ้านทันที”
พี่อ้อย ยังบอกอีกว่า “หลายปีก่อน พ่อก็เสียชีวิตไปด้วยโรคไตเหมือนกัน พ่อฟอกไตมาโดยตลอดการรักษา จนในที่สุดก็เสียชีวิตคาเครื่องฟอกท่ามกลางการดูแลของแม่อย่างใกล้ชิด พวกเราและแม่เห็นความทรมานของพ่อในการพยายามรักษาแบบยื้อชีวิต จึงมาคุยกันว่า สุดท้ายความสุขของแม่คืออะไร ? และเจอว่า ท่านไม่อยากทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายเหมือนพ่อ  พวกเราเลือกที่จะเอาความสุขของท่านเป็นที่ตั้ง จึงทำให้ลูกหลานทุกคนไม่มีใครเห็นขัดแย้งกับเจตนำนงของแม่เลย
พี่อ้อย บอกด้วยว่า “ช่วงหลังมานี้ แม่เริ่มกินข้าวได้น้อยลง แทบไม่ดื่มน้ำ และเริ่มเพ้อ เราปรึกษาทีมแพทย์ประคับประคองตลอดเพื่อให้ท่านได้อยู่สุขสบายมากที่สุด และคุยกันเองในครอบครัวไว้เรียบร้อยว่าจะเตรียมส่งแม่เดินทางอย่างไร เพื่อว่าเมื่อถึงวันนั้นจะไม่ฉุกละหุก  “ตอนนี้ แม่มีเพื่อนเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกันมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจตลอด และมีลูกหลานดูแลเองใกล้ชิด พวกเราเองก็เข้าใจสภาพโรคดีและพยายามทำความข้าใจมันมาตลอด จึงไม่ฟูมฟายเลย เราบอกท่านตลอดว่า สิ่งที่แม่เผชิญอยู่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แม่จะเหมือนคนนอนหลับไปตามปกติเท่านั้นเอง พวกเราดีใจว่า สุดท้ายแล้ว เราจะส่งท่านให้จากไปได้อย่างหมดห่วงและไม่เจ็บปวดทรมาน”  ** ก่อนเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ The Active ได้รับแจ้งจากครอบครัวว่า คุณยายรัตน์ จากโลกนี้ไปอย่างสงบแล้ว **
เช่นกันกับ คุณยายสุภาพ หนูหงส์ วัย 82 ปี ซึ่งหลานสาว เล่าให้ฟังว่า ยายป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ และนอนติดเตียง ก่อนหน้านี้คุณยายรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีนครินทร์ เมื่อ 2 เดือนก่อน เมื่อรู้ว่า ยายเข้าสู่ระยะท้าย ก็เลยพากลับมารักษาตัวต่อที่บ้านแล้วดูแลกันเอง พอกลับมาบ้าน คุณยายก็ดูสบายตัวมากขึ้น เจอลูกหลานก็คุยเก่ง ร้องเพลงได้ กินข้าวได้วันละถ้วยทุกมื้อ ครอบครัวเราตัดสินใจจะดูแลยายไปแบบนี้ตลอดไปให้ดีที่สุด  ** ก่อนเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ The Active ได้รับแจ้งจากครอบครัวว่า คุณยายสุภาพ จากโลกนี้ไปอย่างสงบแล้ว **
คุณตา “​แก้ว​ ปรีมาโนชญ์”​ เล่าให้เราฟังว่า ปีนี้ตนอายุ 92 ปีแล้ว เคยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาก่อน แต่ตอนนี้ได้กลับมาอยู่ที่บ้าน รู้สึกดีกว่ามาก ส่วนตัว สะดวก และได้ทำในสิ่งที่อยากทำหลายอย่าง แถมยังมีลูกสาวคอยดูแลใกล้ ๆ  “เวลามีทีมเยี่ยมประคับประคองมาที่บ้าน ผมดีใจมาก ตัวลอย มันเป็นกำลังใจเลย ทุกวันนี้ผมมีเป้าหมายคือหัดเดินให้ได้ทุกวัน และมีพลังเข้มแข็งขึ้นก็พอ”
พยาบาลหัวหน้าทีมเยี่ยมบ้าน
บอกว่า คนไข้ระยะท้ายที่เลือกเสียชีวิตที่บ้านต่างกับการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้าน มีลูกหลานดูแล เขาได้มีสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย อยากทำอะไรก็ได้เต็มที่ ครอบครัวมาเยี่ยมได้ทุกเวลา ทำให้เขามีโอกาสได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายทีมีความหมายกับเขาจริง ๆ  “เราเคยได้คุยกับคนไข้ระยะท้ายหลายราย ว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคืออะไร ทุกคนตอบเหมือนกันว่าให้ทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และได้อยู่ใกล้ครอบครัวกับคนที่เขารัก ทั้งหมดมันเป็นความต้องการที่เบสิคมากของมนุษย์ มันก็เท่านี้เอง”
พยาบาลหัวหน้าทีมเยี่ยมบ้าน
บอกว่า คนไข้ระยะท้ายที่เลือกเสียชีวิตที่บ้านต่างกับการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้าน มีลูกหลานดูแล เขาได้มีสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย อยากทำอะไรก็ได้เต็มที่ ครอบครัวมาเยี่ยมได้ทุกเวลา ทำให้เขามีโอกาสได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายทีมีความหมายกับเขาจริง ๆ  “เราเคยได้คุยกับคนไข้ระยะท้ายหลายราย ว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคืออะไร ทุกคนตอบเหมือนกันว่าให้ทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และได้อยู่ใกล้ครอบครัวกับคนที่เขารัก ทั้งหมดมันเป็นความต้องการที่เบสิคมากของมนุษย์ มันก็เท่านี้เอง”