“สูงวัย… ขยาย(ความ)” ทำความเข้าใจ สังคมสูงวัยผ่าน ศิลปะ

"แก่ตัวไป จะมีชีวิตแบบไหน" น่าจะเป็นคำถามสำคัญของใครหลายคน เพราะวันหนึ่งเราทุกคนล้วนต้องกลายเป็นผู้สูงวัย

การเป็นคนสูงวัยที่สุขภาพดีและมีความสุข คงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง แล้วปัจจุบันชีวิตของผู้สูงวัยเป็นแบบไหน

หากมีวันว่างแล้วยังไม่มีแพลนไปไหน The Active ชวนไปหอศิลปกรุงเทพฯ เดินดูนิทรรศการศิลปะ และสื่อสร้างสรรค์ "สูงวัย...ขยาย(ความ)" ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจสังคมสูงวัยมากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ มากกว่า 12 ล้านคน ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์ ตามการนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือมีสัดส่วนผู้สูงวัย มากกว่า 20 %  และเรากำลังเดินหน้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  หากการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องท้าทาย การดูแลผู้สูงอายุที่เปราะบางก็ถือเป็นความท้าทายที่มากกว่า และ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยิ่งนับวันก็มีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง
ภาชนะเซรามิก หลากหลายรูปทรง ที่แม้จะมีร่องรอยการแตกหัก แต่ก็ถูกประสานให้กลับเป็นรูปทรงเดิมอีกครั้ง คือผลงานชื่อ "R.I.P (เกิดใหม่ในเศษ-ทราก)" ที่นำคนสองวัยมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกัน โดยใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันที่ถูกทิ้งมีร่องรอยแตกร้าว นำมาเชื่อมประสานรอยแตกบนภาชนะให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง เพื่อเยียวยาจิตใจจากความแตกสลายในชีวิต สู่การสร้างสำนึกตัวตนใหม่ของผู้สูงวัย โดยผลงานชุดนี้ทำร่วมกับผู้สูงอายุไร้บ้าน ในศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู
ภาชนะเซรามิก หลากหลายรูปทรง ที่แม้จะมีร่องรอยการแตกหัก แต่ก็ถูกประสานให้กลับเป็นรูปทรงเดิมอีกครั้ง คือผลงานชื่อ "R.I.P (เกิดใหม่ในเศษ-ทราก)" ที่นำคนสองวัยมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกัน โดยใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันที่ถูกทิ้งมีร่องรอยแตกร้าว นำมาเชื่อมประสานรอยแตกบนภาชนะให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง เพื่อเยียวยาจิตใจจากความแตกสลายในชีวิต สู่การสร้างสำนึกตัวตนใหม่ของผู้สูงวัย โดยผลงานชุดนี้ทำร่วมกับผู้สูงอายุไร้บ้าน ในศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู
นุชจำรักษ์ รุ่งโรจน์ อายุ 61 ปี กับถ้วยเซรามิกรูปดอกไม้สีฟ้า หนึ่งในผลงาน R.I.P(เกิดใหม่ในเศษ-ทราก)  งานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ ชี้ชัดว่า ผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบางมีแน้วโน้มจะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
"มหานครผลัดใบ 2566" คือชื่อผลงาน ของแดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ ซึ่งนำเสนอการสำรวจผู้สูงวัยที่เป็นคนจนเมืองในกรุงเทพฯ ผ่านภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวและบทสนทนา สะท้อนปรากฎการณ์ ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของระบบเมืองที่ซับซ้อน และสภาวะของผู้สูงวัยที่เป็นคนจนเมือง ในวิกฤต "สังคมสูงวัย" ที่สังคมต้องเผชิญร่วมกัน โดยสิ่งที่เราจะได้เห็นจากผลงานชุดนี้ คือ สภาวะของความโดดเดี่ยว การถูกลืม และไร้ความหวัง อันเป็นวังวนที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ขณะเดียวกันยังมองเห็นว่าการออกแบบเมือง และพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
"ความเปราะบาง" คือชื่อผลงาน ของนพวรรณ ศิริเวชกุล ที่นำเสนอประเด็นผู้สูงวัยที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเดียวดายและเสียชีวิตตามลำพัง โดยใช้การถักทอไหมพรมสีแดงแทนการมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกัน แต่ท่ามกลางเวลาที่ค่อย ๆ เดินไป สังขาลก็ค่อย ๆ ร่วงโรย ซึ่งถูกแทนที่ด้วยการเหี่ยวเฉาของดอกไม้สด ทั้งหมดสะท้อนถึงการพยายามมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ผลงานชุด "เวลา" ชื่อเดียวกับ วรรณกรรมรางวัลซีไรท์ประจำปี 2537 ของชาติ กอบจิตติ ที่รวบรวมหลักฐานและข้อมูลตั้งต้น จากการจดบันทึกของชาติ ในระหว่างที่เขาลงไปเฝ้าสังเกต เพื่อเก็บข้อมูลที่บ้านพักคนชรา และต้นฉบับก่อนจะมาเป็นนวนิยาย "เวลา" ที่สะท้อนภาพสังคม ความรู้ของผู้สูงอายุ รวมถึงคนหนุ่มสาวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ
 ผลงานชุดนี้ยังจัดฉายภาพยนตร์ Anatomy of Time (เวลา) ที่กำกับโดย จักรวาล นิลธำรงค์  ที่ "อุบล" ตัวเอกของเรื่อง ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงวัย และต้องอยู่กับสภาวะกดดัน ทั้งการขับถ่าย กินอาหาร และการติดตรึงกับความทรงจำในอดีต ทำให้มองเห็นว่าครอบครัวและคนดูแลผู้สูงวัย ต้องเสียสละมีจิตใจที่เข้มแข็ง
ปวีณนุช จีนอิ่ม นิสิตจุฬาฯ ปี 2 พร้อมเพื่อนเข้าชมนิทรรศการ  บอกว่า "สังคมสูงวัย" เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เห็นได้จากเรื่องการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ก็มีการถกเถียงกันในวงกว้าง  และเนื้อหาของนิทรรศการมีความน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว เพราะทุกครอบครัวล้วนมีคนแก่ ซึ่งสำหรับตัวเธอ ผลงานชุดเวลา สะท้อนถึงความยากลำบากในครอบครัวตัวเอง ที่มีผู้สูงอายุต้องดูแล และเธอคิดว่าภาครัฐ ควรมีสวัสดิการและช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ผลงานสื่อผสม "สะพานข้ามบึงบัว" เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ซับซ้อนระหว่างความทรงจำและจินตนาการ ห้องนั่งเล่นของบ้านที่สมาชิกอาศัยนอนร่วมกันบนฟูกที่คุณเย็บด้วยมือ คือการประยุกต์หัตถกรรมประจำครอบครัวร่วมกับศิลปะร่วมสมัย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองช่วงวัย เป็นการตีความคุณค่าสังคมสูงวัยที่ถ่ายทอดภูมิปัญญา และองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น
ในนิทรรศการยังมีการจัดแสดง ภาพเขียน งานประติมากรรม รวมถึงภาพยนตร์จากฝีมือของศิลปินสูงวัย
สุทิน ตันติภาสน์ วัย 63 ปี คือศิลปินสูงวัย ที่ร่วมนำเสนอผลงาน "บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม" เรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวที่วาดภาพบนผนังอาคาร ซึ่งแฝงด้วยข้อคิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทุกวันนี้สุทินยังคงทำงานศิลปะตกแต่งอาคาร และสตรีทอาร์ทในชุมชน เป็นตัวอย่างของคนสูงวัยที่ยังคงใช้ทักษะที่มี สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในนิทรรศการ ยังจัดแสดงข้อมูลอินโฟกราฟิก เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์ของผู้สูงอายุ และสังคมสูงวัย รวมถึงข้อเสนอในเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น ประเด็น Universal Design หรือ การปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ  มิติต่าง ๆ ที่นำเสนอผ่านนิทรรศการ ล้วนเป็นโจทย์ที่ผู้คนในสังคมต้องรับมือในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลาย ด้วยการมีสุขภาวะที่ดี และมีความสุขตามอัตภาพ  นิทรรศการ "สูงวัย... ขยาย(ความ)" จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม - 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปกรุงเทพฯ