เส้นทางกว่าจะเป็นคนไทย ของ “ผู้เฒ่าชาติพันธุ์”

คุณทำบัตรประชาชนครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่ ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่อาจทำบัตรประชาชนตั้งแต่อายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ หรือหลายคนก็ทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปีเมื่อเปลี่ยนคำหน้านามจาก ดช. ดญ. เป็น นายและนางสาว แต่สำหรับกลุ่มผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้น กลุ่มนี้ พวกเขาเพิ่งจะได้ทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก

การไม่มีบัตรประชาชน เท่ากับไม่ใช่คนไทย แม้อยู่บนแผ่นดินไทยสร้างบ้านแปลงเมืองมาเนิ่นนาน ทำให้ต้องเสียสิทธิ์หลายอย่างในวัยที่อายุมากขึ้น สิ่งที่ควรได้รับมี ทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการรักษาพยาบาลจากบัตรทอง สิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และที่สำคัญไปมากกว่าทุกสิ่งคือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

The Active ชวนถอดบทเรียน ภายหลังจากที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ขับเคลื่อนเรื่องการแปลงสัญชาติของชนกลุ่มน้อยมาเป็นเวลายาวนานหลาย 10 ปี วันนี้มีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้สัญชาติไทย และทำบัตรประชาชนแล้วจำนวน 14 คน ท่ามกลางกลุ่มผู้เฒ่าอีกกว่าแสนคนที่ยังรอสัญชาติไทย
“บูเหม่ หม่อปอกู่” และ “อาเท่อ หม่อปอกู่” สองสามีภรรยาชาติพันธุ์อาข่าในวัย 77 และ 79 ปีเพิ่งได้ทำบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มขั้น พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากเชียงตุง ก่อนมาลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มาเป็นเวลากว่า 50 ปี ลูกหลานของพวกเขามีสัญชาติไทยกันหมดแล้ว ขณะที่การขอสัญชาติของคนทั้งคู่ ต้องใช้เวลายาวนานจนเพื่อนในวัยเดียวกันเสียชีวิตไปก่อน ไม่ทันได้ทำบัตรประชาชน เป็นคนไทยสมบูรณ์แบบ
รูปถ่ายของ “บูเหม่ หม่อปอกู่” ขณะกำลังทำพิธีกรรมตามความเชื่อของชาติพันธุ์อาข่า ครอบครัวของเธอสืบเชื้อสายสายผู้นำทางจิตวิญญาณที่สามารถติดต่อผีบรรพชนได้ หากครอบครัวใดมีเกิดเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ จะขอให้เธอช่วยทำพิธีกรรมบางอย่างที่คล้ายๆกับการสะเดาะเคราะห์
“บูเหม่ หม่อปอกู่” มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและความดัน ปัจจุบันได้รับยาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้วด้วยการเบิกค่ารักษา ผ่านกองทุนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ฯ แต่หลังจากที่ได้บัตรประชาชน เธอต้องการใช้สิทธิ์บัตรทองไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลสักครั้ง ซึ่งสิทธิบัตรทองครอบคลุมการรักษาได้มากกว่า เธอบอกว่าอยากมีอายุยืนยาวต่อไปอีก หลังจากที่ได้ถือบัตรประชาชน เป็นคนไทย
สภาพบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบนดอยแม่สลองในปัจจุบัน เปลี่ยนจากบ้านไม้เป็นบ้านปูนมากขึ้น ภายหลังจากลูกหลานซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ได้ไปเป็นแรงงานในต่างประเทศซึ่งได้ค่าแรงสูงเช่น ประเทศเกาหลี และไต้หวัน ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวสร้างบ้านที่มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ผู้เฒ่าจากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้รับสัญชาติแล้ว 14 คน ภายหลัง “เตือนใจ ดีเทศน์” กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี ในอดีตการได้รับสัญชาติของผู้เฒ่าชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มักติดขัดเงื่อนไขกฎเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องพูดภาษาได้ และต้องตรวจประวัติอาชญากร ต่อมาภายหลังทางมูลนิธิฯ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงมีการออกหนังสือเวียนโดยอาศัยดุลพินิจของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวกับผู้เฒ่าไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 นำมาสู่การทำกรณีศึกษาในพื้นที่
จังหวัดเชียงรายได้นำคำร้องผู้เฒ่าจากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ 22 คนมาพิจารณา เบื้องต้นได้รับสัญชาติ 15 คน ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.สัญชาติ เสียชีวิตไป 1 คนเหลือ 14 คน จนได้รับพระบรมราชานุญาตให้สัญชาติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ประกาศรายชื่อในราชกิจจาเบกษา และทำบัตรประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาดำเนินการตามกรอบ 750 วัน หรือกว่า 2 ปี ซึ่งนับว่าได้รับสัญชาติเร็วที่สุดหลังยื่นเรื่องไป
ข้อมูลจากกรมการปกครองระบุ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่ยังไร้สัญชาติมี 4 แสนกว่าคน เกิดในไทย 1 แสนคน ที่เหลืออีก 3 แสนคนอพยพย้ายเข้ามา กำลังเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติ แต่ “พิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร” (ชายคนกลาง)  ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง บอกว่าต้องมาดูกันอีกชั้นหนึ่งว่าจะได้สัญชาติครบทุกคนหรือเปล่า  โดยการแปลงสัญชาติจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่มีพนักงานเจ้าหน้าฝ่ายปกครองอำเภอ จังหวัด เป็นผู้รับคำร้องเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มต่างด้าวทั่วไป เช่น “ตู้ห่าว” ผู้รับคำร้องจะเป็นตำรวจสันติบาล หรือภูธรจังหวัด แต่กระบวนคล้ายกัน
กำนันตำบลแม่สลองนอกมอบหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย โดยข้อความบางส่วนระบุว่า หนังสือสำคัญแสดงฉบับนี้ให้ไว้เพื่อแสดงว่านาง... ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว
วงเสวนา การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ถอดบทเรียน กรณีศึกษาผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธ์ที่ได้รับสัญชาติ 14 คน ยังพบว่า 
1. การขอสัญชาติมีความซับซ้อน มีข้อเสนอให้ลดขั้นตอนลง  2. ในกรณีอื่น ๆ กรอบระยะเวลา 2 ปี ตามกรอบ 750 วันควรทำได้เช่นเดียวกัน และ 3. ควรเปิดให้มีการติดตามขั้นตอน ความคืบหน้าของผ่านระบบออนไลน์
เด็กชายสัญชาติไทยคนนี้ ยังมีปู่เป็นคนไร้สัญชาติ ผู้เฒ่าที่นั่งอยู่ข้างเด็กชายคนนี้ยังรอการพิสูจน์เพื่อแปลงสัญชาติแม้ว่าจะมีผู้เฒ่าที่นำร่องได้สัญชาติไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว 14 คน นี่เป็นที่มาของข้อเสนอการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติระยะยาวควรแยกกฎหมายการแปลงสัญชาติแก่คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์