คลอดลูกฝั่งไทย หนีภัยสงคราม

หลังรัฐประหารในเมียนมาครั้งล่าสุด ปี 2564 สถานการณ์การสู้รบระหว่าง “รัฐบาลทหาร” และ “กลุ่มต่อต้าน“ รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยสงครามที่ยืดเยื้อ มีการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมทั่วประเทศ เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวเมียนมาครั้งใหญ่

หญิงใกล้คลอดจำนวนมากตัดสินเดินทางข้ามมาคลอดลูกที่ “แม่ตาวคลินิก” ฝั่งไทย แม้จะยากลำบากแต่เมื่อมาถึงที่นี่แล้วพวกเขาก็อุ่นใจได้ว่า ทั้งลูกที่กำลังจะเกิดมา และตัวเอง จะปลอดภัยมากกว่าคลอดที่เมียนมาที่ยังเต็มไปด้วยสงคราม
“พญ.ซินเธีย” ทักทายผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่มาหาหมอ ในแผนกกุมารเวช ทั้งหมดเป็นชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยเพื่อหางานทำ หรือหนีภัยการสู้รบ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มเปราะบางที่หมอเป็นห่วงมากที่สุด พวกเขาพลาดโอกาสการรับวัคซีน จากระบบสาธารณสุขเมียนมาที่ล่มสลาย
“แม่ตาวคลินิก” มีผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า โดยจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์และคลอดบุตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องเปิดหน่วยให้คำปรึกษาทางใจ เพราะหลายคนป่วยจิตเวช หลังพลัดพรากจากครอบครัว หรือ ถูกเผาบ้านและทรัพย์สิน
ชายชาวเมียนมาอุ้มลูกน้อยวัยเพียงไม่กี่เดือน นั่งอยู่บนพื้น ท่ามกลางผู้ป่วยที่มาหาหมอที่แม่ตาวคลินิก ซึ่งความสามารถในการรองรับผู้ป่วยนอก (OPD) ต่อวันรับได้อย่างเต็มที่มากสุด 350 คน แต่บางวันมีผู้ป่วยนอกที่เข้ามาใช้บริการมากถึง 400 คน ขณะที่มีหมอ 20 คน เป็นหมอที่รักษาจริง ๆ 10 คน
ทารกเพศชายคลอดออกมาอย่างปลอดภัยในดินแดนของประเทศไทย ขณะที่พ่อแม่ชาวเมียนมาหลายคนตัดสินใจเดินทางมาที่ “แม่ตาวคลินิก” เพื่อฝากครรภ์และคลอดลูกที่นี่ นอกจากลูกจะปลอดภัยแล้วคนในครอบครัวก็ปลอดภัยไปด้วย แต่พวกเขายังไม่รู้อนาคตหลังจากนี้ว่า จะต้องอยู่ในสภาพของผู้ลี้ภัยอีกนานแค่ไหน กว่าสงครามจะจบลง
หญิงคนนี้มาจากจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา อุ้มลูกน้อยที่เพิ่งคลอดมาไม่กี่วัน ยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นในแม่ตาวคลินิก แพทย์หญิงซินเธีย กล่าวให้กำลังใจ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ ให้ความเชื่อมั่นว่าที่นี่เป็นที่ที่ปลอดภัย
“แม่ตาวคลินิก” มีหน่วยจัดทำข้อมูลเด็กทารกทุกคนที่เกิดในฝั่งไทย แต่ยังไม่ถึงกับได้สัญชาติไทย หากพ่อแม่ถือสัญชาติเมียนมา หรือเป็นคนไร้สถานะ แต่การเกิดในฝั่งไทยก็เป็นจุดเริ่มต้นของ การขอสัญชาติได้ในอนาคต หากเติบโตและได้ศึกษาต่อที่ประเทศไทย
หญิงคนครรภ์ 9 เดือนคนนี้นอนฟุ๊บอยู่บนเตียง หมอบอกว่าเธอกำลังใกล้คลอด สามีก็รีบพาเธอมาที่คลินิกฯ บนความเจ็บปวดของหญิงใกล้คลอด แต่ส่วนหนึ่งของหัวใจเธออุ่นใจว่า การคลอดลูกที่นี่ จะทำให้ทั้งเธอและลูกปลอดภัยกว่าคลองที่เมียนมา
ชาวเมียนมา และผู้ไร้สถานะ มารักษาที่  “แม่ตาวคลินิก” ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคลินิกเมื่อ 35 ปีที่แล้ว โดยคลินิกฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ  และเป็นเครือข่ายในระบบสาธารณสุขชายแดน ของไทย โดยมีโรงพยาบาลแม่สอดเป็นแม่ข่ายรับส่งต่อ
“แม่ตาวคลินิก” มีเตียงผู้ป่วยใน (IPD) มีจำนวน 140 เตียง ยังเพียงพอรองรับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องแอดมิดอยู่ในหอผู้ป่วยในของ “แม่ตาวคลินิก” ส่วนใหญ่เป็นหญิงหลังคลอด และกลุ่มผู้สูงอายุ  ส่วนกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบเพียงเล็กน้อยก็มีบ้างประปราย แต่หากเจ็บบาดสาหัสมาก และหญิงที่ต้องผ่าคลอด จะถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลแม่สอด
ที่นี่น่าจะเป็นสถานพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่แจกจ่ายอาหารให้กับญาติที่เข้ามาเฝ้าไข้ผู้ป่วย โดยไม่คิดเงิน
ญาติผู้ป่วยที่ติดตามผู้ป่วยมาอยู่ที่แม่ตาวคลินิกรู้สึกอุ่นใจ และไม่อดตาย เพราะที่นี่แจกจ่ายอาหาร ฟรีทุกมื้อ แต่นั่นก็ทำให้คลินิกฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงเปิดรับบริจาคโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินเท่านั้น แต่สามารถบริจาคได้ทั้งข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มาที่คลินิกได้โดยตรง เพื่อช่วยพยุงสถานการณ์ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
“พญ.ซินเธีย” เจ้าของรางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546 ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัย และชาวเมนมาที่อพยพมาอยู่ฝั่งไทยต่อไป แม้จะยอมรับว่าตอนนี้รายจ่ายติดลบมา 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังพยายามแสวงหาความร่วมมือจากองค์กร และสื่อสารกับองค์กรผู้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม เธอเชื่อว่าสาธารณสุขคือ “พื้นที่ด้านมนุษยธรรม” ที่เป็นหลังพิงสุดท้าย ให้กับผู้ลี้ภัยสงคราม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS