ยอมแลก ? ทำลายหินขวางทางน้ำไหล ลดน้ำป่าหลาก

ยอมแลก ? แก้ต้นเหตุทางธรรมชาติ ทุบหินขวางคลอง ชาวบ้านทับขอน ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ร่วมหาสาเหตุ ทำน้ำป่าไหลหลากซ้ำซาก

หลังเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากครั้งล่าสุด ช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 นำมาสู่การวิเคราะห์ พบว่า “ก้อนหินขนาดใหญ่” ขวางกลางลำคลอง ซึ่งเป็นจุดโค้งพอดี ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน นำมาสู่การหาแนวทาง นำหินออก

The Active ชวนดูภาพจากพื้นที่ พร้อมคำบอกเล่าของชาวบ้านและผู้นำชุมชน
หลังบ้านมีธารน้ำใส ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ นี่คือภาพในยามปกติของ “บ้านทับขอน” ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ที่ใครเห็นเป็นต้องอิจฉา
แต่ความสดชื่น สบายตาเหล่านี้ ต้องแลกมาด้วยความ “หวาดผวา” ในฤดูมรสุม เพราะคนที่นี่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ “น้ำป่าไหลหลาก” ท่วมบ้านเรือนทุกปี และเมื่อ 16 ก.ย. 2567 นับเป็นอีกครั้งที่น้ำป่าไหลหลากมากกว่าที่ผ่านมา
ผู้ใหญ่บ้าน “ชัยวัฒน์ พันธ์พฤกษ์” ผู้นำของคนที่นี่พาไปสำรวจก้อนหินกลางลำธาร เล่าว่า ลำธารสาธารณะนี้ คนเรียกกันว่า “คลองทับขอน” เป็นน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำ คือ น้ำตกทับขอน และน้ำตกเหวตาเอียง
ผู้ใหญ่ชัยวัฒน์ บอกอีกว่า น้ำป่ามักจะมาช่วง เดือน ต.ค. ถึง พ.ย. เป็นปัญหาซ้ำซาก ที่ชาวบ้านคิดหาทางออกกันมานาน
ก่อนหน้านี้เคยคิดขยายหรือขุดลอก ให้ลึกและกว้างขึ้น เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีหินจำนวนมาก รอบข้างเป็นที่ดินเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน จึงทำได้เพียง ใช้รถแบ็คโฮตักหินในลำธารมากองไว้ริมธารเท่านั้น
และนี่คือภาพที่ชาวบ้านบันทึกไว้ หลังน้ำลดลง วันที่ 16 ก.ย. 2567 แม้จะแจ้งเตือนกันตั้งแต่เช้ามืด ก็ยังมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบราว 24 หลังคาเรือน โดยเฉพาะปัญหาดินโคลนที่มากับน้ำ
หลังเหตุการณ์คลี่คลาย 'วิทยา สุวรรณสิทธิ์' นายอำเภอพะโต๊ะ นำทีมลงสำรวจพื้นที่ และร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน จนได้ข้อสรุปว่า “ก้อนหินกลางลำธาร” ที่มีขนาดใหญ่ขวางกลางลำธาร คือ สาเหตุที่ทำให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ เนื่องจากหินอยู่บริเวณทางโค้งรูปตัวแอล (L) เมื่อน้ำป่าไหลมาเยอะ ไม่มีทางไป จึงไหลเข้าชุมชน ถ้าเอาออก จะช่วยใหญ่น้ำไหลผ่านได้ดี
นายอำเภอพะโต๊ะ บอกว่าอุปสรรคสำคัญ คือ หินมีขนาดใหญ่มาก และอาจลงลึกไปด้านล่างอีก จึงต้องประสานขอให้จังหวัดชุมพร มาดำเนินการให้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่จะเอาหินออก หากแก้ปัญหาได้จริงในระยะยาว
แต่อาจต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ จากการนำหินขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติออกไป
'วีระพา ยีกระเส็ง' ชาวบ้านพา The Active ดูรอบบ้าน เพื่อยืนยันอีกเสียงว่า น้ำป่าที่ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน มาจากจุดที่หินก้อนใหญ่ขวางทางน้ำ เพราะน้ำที่ท่วมเข้ามาทางหน้าบ้าน ขณะที่น้ำในคลองทับขอนหลังบ้านเป็นสีแดง แต่ก็ยังไม่สูงในระดับที่จะท่วมเข้าบ้านได้
เธอบอกว่า ตั้งใจมาปลูกบ้านอยู่กับสามีที่นี่ เพราะอยากอยู่กับธรรมชาติและความเงียบสงบ แต่ยอมรับว่า ต้องสร้างผนังขึ้นมาเพื่อกั้นน้ำเข้าบ้าน เพราะหากจะสร้างบ้านมีใต้ถุนให้น้ำลอดผ่าน ก็มีพื้นที่จำกัด  “มีปรึกษาเพื่อนบ้านเคยบอกว่ามีน้ำป่าไหลหลาก แต่ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้”
รูปแบบการสร้างบ้าน ที่นิยมสร้างแบบชั้นเดียว ไม่มีใต้ถุน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ว่ามีส่วนทำให้เกิดความเสียหายหนัก เพราะในอดีตบรรพบุรุษที่นี่จะสร้างบ้านใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย และเพื่อหนีน้ำป่า
ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า เรื่องนี้อาจทำได้เพียงขอความร่วมมือ เพราะไม่สามารถบังคับชาวบ้านได้ เพราะทุกคนมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องงบประมาณ และพื้นที่
แม้จะยังไร้ข้อสรุป ว่าจะแก้ปัญหาผลกระทบน้ำป่าไหลหลากด้วยวิธีไหน แต่อย่างน้อยผู้คนบ้านทับขอน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องมองเห็น “สาเหตุ” ตรงกัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ทางออกในที่สุด
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เข้ามาสำรวจเบื้องต้น ระบุว่า หินมีขนาดใหญ่มากและขวางทางน้ำจริง แนวทางที่พอจะทำได้ อาจจะทุบหินด้านบนออก และทำแนวกั้นริมตลิ่งด้วยก้อนหิน เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ชุมชน