ย้อนไปเกือบ 2 เดือนก่อน เช้าวันที่ 23 กันยายน 2567 เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าถล่ม ชุมชนชาติพันธุ์ “ห้วยหินลาดใน” ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กลายเป็นจุดสนใจของสังคม ภาพความรุนแรงของน้ำป่า ไม่เพียงความห่วงกังวลของผู้คนที่แสดงความรู้สึกต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ
.
แต่อีกด้านน้ำป่า ก็พัดพาเอาคำถาม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถาโถมเข้าใส่ชุมชนเล็ก ๆ กลางผืนป่า โดยเฉพาะคำกล่าวโทษ ว่า น้ำป่ารุนแรง เป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่าด้วยน้ำมือของชาวบ้าน และนี่…คือบทลงโทษจากธรรมชาติ ?
.
ท่ามกลางวิกฤต ความโกลาหล และการเดินหน้าจัดการ ฟื้นฟูชุมชนของชาวบ้านที่นั่น จนเวลาผ่านมาถึงวันนี้ เป็นโอกาสที่ศักยภาพของชุมชนชาติพันธุ์จะได้ถูกสื่อสาร เพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และลดอคติที่มีต่อชุมชนชาติพันธุ์ ผ่านความพยายามใช้ภูมิปัญญา องค์ความรู้ คนกับป่า เรียนรู้ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ นี่คือคำตอบว่า ทำไม ? ภัยพิบัติรุนแรงครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี จึงไม่เกิดความสูญเสีย
.
The Active ชวนเดินทางไปยังชุมชนชาติพันธุ์ บ้านห้วยหินลาดใน ในวันที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหลังเกิดภัย เพื่อหาคำตอบจากปากคำของชาวบ้านคนแรกที่เห็นเหตุการณ์น้ำป่าครั้งรุนแรง อะไร ? ทำให้ชาวบ้านอยู่รอด และแนวทางนับจากนี้ จะไปสู่การรับมือป้องกันภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างไร ? ชวนทำความเข้าใจไปพร้อมกัน