อนาคต ‘การอ่าน’ ของ เด็กเล็กใน ‘เมืองหนังสือโลก’

ยูเนสโกยกให้ กทม. เป็นเมืองหนังสือโลก แต่สวนทางกับจำนวนเด็กเล็กทั่วไทยที่ยังเข้าไม่ถึงหนังสือ 1.1 ล้านครัวเรือน

 

ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ การจะต้องเลือกระหว่าง ซื้อ “ข้าว” กับ ​”หนังสือ” สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ไปวัน ๆ คงต้องเลือกให้ลูกได้อิ่มท้องก่อนเป็นอย่างแรก

การเข้าถึงหนังสือดูจะเป็นแค่ความหวังเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ  โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด

เช่นในชุมชนทรัพย์สินเก่าเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชุมชนบุกรุกที่หลวง ซึ่งไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกไล่รื้อ เช่นเดียวกับความไม่มั่นคง​ในชีวิตของเด็ก ๆ ที่กำหลังถูกท้าทายอย่างมากในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน 

แต่สำหรับ “เครือวัลย์​ เหมือนเพ็ชร” เธอมุ่งมั่นที่จะอ่านนิทานให้หลานสาววัย​ 1​ ขวบฟัง วันละอย่างน้อย 10-15 นาที 

เครือวัลย์ เหมือนเพช็ร กับหลานสาววัย 1 ปี

หนังสือนิทานที่เครือวัลย์อ่านให้หลานฟัง ได้มาจาก เครือข่ายรักการอ่าน บ้านครูส้ม ที่แจกไว้​ ทีแรกเธอมองว่าการเลี้ยงเด็กให้กินอิ่มและนอนหลับก็เพียงพอแล้ว หนำซ้ำยังเป็นเรื่องยากด้วยซ้ำ เพราะลำพังแค่การหาเช้ากินค่ำก็ต้องดิ้นรนบนรายได้ที่ไม่ไม่แน่นอน ขณะที่มีรายจ่ายสูงพอตัว ล้วนแต่ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

ไม่ต้องพูดถึงการอ่านหนังสือ ซึ่งแม้แต่เธอเองก็ยังไม่อ่าน แต่เพราะอยากให้หลานเติบโตไปมีอนาคตที่ดี มีพัฒนาการที่พร้อมจะได้รับการศึกษาในโรงเรียนอย่างเต็มที่ ​เป็นรากฐานไปสู่อนาคตที่ดีไปด้วย ขณะเดียวกัน ประสบการณ์จากการเลี้ยงหลานคนก่อน ที่พ่อแม่​ปล่อยให้อยู่กับสมาร์ทโฟน​ ทำให้สังเกตว่าเด็กมีสมาธิสั้น และก้าวร้าว

“รู้ว่าชีวิตมีข้อจำกัดแต่ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้หลานได้ดีการอ่านหนังสือให้ฟังอย่างที่ครูส้มแนะนำ ทำให้หลานคนนี้เลี้ยงง่ายและพูดรู้เรื่อง“

เครือวัลย์​ เหมือนเพ็ชร

ท่ามกลางชุมชนแออัด แต่กลางซอยทรัพย์สินเก่า มีบ้านรับเลี้ยงเด็กครูส้ม ที่เปิดมาแล้ว 17 ปี กลายเป็นสถานที่ที่ช่วยประคับประคองอนาคตของเด็กในชุมชนแห่งนี้​ ด้วยค่าเลี้ยงดูเพียง 50 บาทต่อวัน จนถึงวัยที่ต้องส่งเข้าโรงเรียน 

บ้านรับเลี้ยงเด็กครูส้ม ที่อยู่กลางซอยทรัพย์สินเก่า ดูจากภายนอกแทบไม่รู้ว่ามีบ้านรับเลี้ยงเด็ก

“คณิตา โสมภีร์” หรือ “ครูส้ม” เข้าร่วมกับเครือข่ายรักการอ่าน ของสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ​และขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งหนังสือนิทานจากเครือข่ายให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงการอ่านหนังสือ ​ 

ครูส้มใช้จิตวิญญาณของความเป็นครูที่วัดเป็นมูลค่าไม่ได้ เพราะการจัดเก็บค่าเลี้ยงดูเพียง 50 บาทถือว่าน้อยมาก แต่ก็เป็นราคาที่เข้าถึงได้สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย และพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ฝากลูกไว้ที่นี่จนค่ำ ในระหว่างวัน เรานั่งดูครูส้มทำกิจกรรมกับเด็กๆในบ้านหลังเล็กๆ 

“เดินไปหยิบโต๊ะมาระบายสีกันดีกว่าลูก”

“หนูทำน้ำหก หนูต้องไปหยิบผ้ามาเช็ดนะคะ”

“เอาขวดนมไปเก็บที่เดิมนะคะ”

“หยิบสีเทียนสีแดงมาให้ครูได้ไหมคะ”

ประโยคที่ ครูส้ม พูดคุยกับเด็ก ๆ แม้จะอายุไม่ถึง 3 ขวบ แต่ทุกคนก็ฟังที่คุณส้มพูด แล้วก็ทำตามรู้เรื่อง เมื่อถึงช่วงเวลาที่ครูส้มจะอ่านหนังสือนิทาน เด็กๆจะเข้ามาล้อมวงดูภาพในหนังสือที่เต็มไปด้วยสีสัน พร้อมกับการเล่าอย่างสนุกสนานด้วยน้ำเสียงไพเราะของครู เด็ก ๆ ที่นั่งอยู่ต่างจินตนาการกันเอาเอง เด็กบางคนก็พูดตามครู

ครูส้มกำลังอ่านนิทานให้เด็ก ๆ ฟัง

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็กช่วงวัยที่กำลังพัฒนาเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส หากเลยช่วงนี้ไปก็อาจสายไป ครูส้มบอกว่าเด็กทุกคนที่ไปเข้าโรงเรียนแล้ว จะอ่านออกเขียนได้เร็ว และเรียนรู้ทันเพื่อน  

สมองของเด็กจะได้รับการพัฒนามากที่สุดก็ช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี โดยสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการอย่างมาก แม้จะเป็นวัยที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่หนังสือก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการหลายด้าน โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ หรือเล่านิทานให้เด็กฟัง แพทย์ยืนยันว่ามีส่วนช่วยแก้ปัญหาเด็กพัฒนาการช้าได้ 

“เน้นย้ำกับผู้ปกครองของเด็กๆ เสมอว่ากลับบ้านไปอย่างน้อยต้องมีเวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง 5 นาทีก็ยังดีที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและกระตุ้นจินตนาการ” 

คณิตา โสมภีร์ หรือ “ครูส้ม” 

อาจกล่าวได้ว่าอนาคตของเด็กๆ คือแรงผลักดันที่ทำให้ครูส้มยังคงทำงานในชุมชนเชิงรุกไปพร้อมกัน เพื่อจะให้บ้านของเด็กเล็กในชุมชนได้เข้าถึงหนังสือนิทาน

เดินหน้าสวัสดิการหนังสือเด็กเล็ก

แต่ทว่าไม่ใช่เด็กเล็กในทุกชุมชนของกรุงเทพมหานคร จะเข้าถึงหนังสือได้ผ่านบ้านเลี้ยงเด็กแบบเดียวกับ “ชุมชนทรัพย์สินเก่า” เพราะ กทม. มีชุมชนทั้งหมด 2,071 ชุมชน แต่มีเพียง 10 ชุมชน ที่มี “เครือข่ายรักการอ่าน” อยู่ในพื้นที่

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าหลังเผชิญกับการระบาดของโควิด- 19 ในปี 2565 พบว่ามีเด็กเล็กที่อายุ 0-6 จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน ที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือได้ และ มากที่สุดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนอาจทำให้มีพัฒนาการล่าช้า และเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย 

ขณะที่กรุงเทพมหานครที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนังสือโลก มีสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดของกรุงเทพมหานคร ย้อนหลัง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เช่น รถห้องสมุด บ้านหนังสือและศูนย์เยาวชน ห้องสมุดโรงเรียน หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ระบบเครือข่ายและระบบห้องสมุดวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าในแต่ละปีหลักสิบล้านบาทขึ้นไป สูงสุดคือปี 2563 วงเงินสูงถึง 106 ล้านบาท และต่ำสุด ปี 2565 อยู่ที่ 37 ล้านบาท 

มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนถึง 297 แห่ง แต่รับเฉพาะเด็กที่อายุสองขวบครึ่งขึ้นไป มีห้องสมุดภายใต้การดูแลของ กทม. 36 แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่อีก 7 คัน และบ้านหนังสือในชุมชน แต่ก็ยังมีบทบาท ส่งเสริมการอ่านเชิงรุกในระดับเด็กเล็กอายุแรกเกิดถึง 6 ปีไม่มากนัก

จึงนำมาสู่ ข้อเสนอจากเครือข่ายการศึกษา และสุขภาพ “สุดใจ พรหมเกิด” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ระบุว่าต้องเพิ่มเครือข่ายรักการอ่านให้เพียงพอ พัฒนาบุคคลากรของกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องส่งเสริมผ่านกิจกรรมรักการอ่านในชุมชน เพื่อให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกผ่านการอ่านได้ เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการอ่านใน กทม. ไม่ทำงานเชิงรุกลงไปในพื้นที่ อยู่ในที่ตั้งที่รอให้ผู้ปกครองเดินเข้าหาอย่างเดียว 

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอบรับนโยบายสวัสดิการหนังสือ โดยประกาศเจตจำนงให้เด็กเล็กทุกคนต้องเข้าถึงหนังสือ 3-5 เล่มต่อ 1 บ้าน และสามารถแลกเปลี่ยนหมุนเวียนหนังสือที่ศูนย์ หรือหอสมุดได้  พร้อมมีจิตอาสาหมุนเวียนมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ถือเป็นการที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ สร้างเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาการที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในชีวิตและสังคมไทย 

“ผมบอกว่าเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากมากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพราะถ้าเกิดเรามีโครงสร้างพื้นฐานไปแต่ว่าประชากรไม่มีคุณภาพไปก็เท่านั้น” 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

การให้ความสำคัญกับเด็กเล็กของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนนี้ ไม่เหนือความคาดหมายเพราะอย่างที่ทราบกันว่าลูกชายของเขา มีปัญหาด้านการได้ยินแต่กำเนิด และการอ่านหนังสือให้ฟัง ประกอบกับความพยายามสื่อสารพูดคุยตั้งแต่เล็ก เป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกชาย พัฒนาไปได้ไม่ต่างจากเด็กวัยเดียวกัน 

ชัชชาติ และ แสนดี facebook live จาก University of Washington ในงานรับปริญญาของลูกชาย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565

เมื่อท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร นำร่องส่งเสริมการอ่านกับเด็กเล็ก ​นี่อาจเป็นโมเดลให้กับท้องถิ่น ๆ อื่นทั่วประเทศ ขณะที่ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาและสุขภาพ เร่งระดมข้อเสนอต่างๆ เพื่อเดินหน้า ผลักดันนโยบายสวัสดิการหนังสือเด็กเล็ก เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จนสามารถลดจำนวนเด็กที่จะมีพัฒนาการล่าช้าในประเทศได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS