ประชาชนได้อะไร เมื่อปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่เคยถูก คสช. “ดอง” เอาไว้นานเกือบ 7 ปี ได้ถูกปลดล็อกเป็นครั้งแรก ด้วยการเริ่มต้นให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ ย่อมสร้างความคาดหวังให้แก่ผู้ที่ต้องการจะเห็น “การกระจายอำนาจ” เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เพราะการกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี “การปกครองส่วนท้องถิ่น”

อะไรคือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากการเลือกตั้ง อบจ. ฟังคำอธิบายจาก “รองศาสตราจารย์ อรทัย ก๊กผล” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

ผลกระทบจาก คสช. : กระจายอำนาจถดถอย

รศ.อรทัย กล่าวว่า การเว้นวรรคเลือกตั้งท้องถิ่น อันเป็นผลจากคำสั่ง คสช. ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ ครอบคลุมตั้งแต่มิติทางการเมือง นโยบายและกฎหมาย การคลังและงบประมาณ ไปจนถึงมิติทางการบริหาร

มิติการเมือง มีการดองการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ ทำให้การเมืองท้องถิ่นอยู่ในสภาวะนิ่ง ไม่มีการรณรงค์หรือการเสนอนโยบายที่ชัดเจน และยังมีคำถาม กรณีที่ คสช. มีคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นบางพื้นที่ กลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่ในช่วงใกล้เลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2554 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น คสช. มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

ผลกระทบใน มิตินโยบายและกฎหมาย พบว่า การพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายการกระจายอำนาจ ทั้งเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หรือท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมทั้งไม่มีกฎหมายใหม่ ๆ ที่ควรขับเคลื่อนในทิศทางกระจายอำนาจมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เงียบหายไปตลอดระยะเวลาที่ คสช. เข้ามามีอำนาจ

ผลกระทบใน มิติคลังและงบประมาณ ทั้งเรื่องสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น ก็ไม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการออกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีปัญหาต่อรายได้ท้องถิ่น และที่สำคัญพบว่าท้องถิ่นยังไม่มีอิสระทางการเงินการคลังเท่าที่ควร

ใน มิติการบริหาร พบว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะมักดำเนินการผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังพยายามลดบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทดแทนด้วยกลไกของตำบลและหมู่บ้านแทน

ประชาชนได้อะไร จากการปลดล็อกท้องถิ่น

การเว้นว่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่นไปเกือบ 7 ปี ที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้ รศ.อรทัย เห็นว่า การกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ในเดือนธันวาคมนี้ ถือเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน

ข้อแรกจะเป็นโอกาสที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสม ได้เห็นช่องทางทางนโยบายใหม่ ๆ เป็นช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความรู้สึกต่อประเด็นทางการเมืองหรือพรรคการเมืองในปัจจุบัน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประชาธิปไตยฐานราก

“ให้การเมืองท้องถิ่นเป็นจุดเคลื่อน เป็นจุดหมุนของประชาธิปไตย ให้เกิดเป็นพลังเหวี่ยงในการเมืองระดับชาติ และคาดหวังว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ไม่อย่างนั้นประเทศดูไร้ความหวัง”

โดยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ด้านหนึ่งก็มาจากการถอดบทเรียนผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่า ได้ช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่า การกระจายอำนาจเป็นกลไกสำคัญที่ใช้รับมือความเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันได้ และยังพบว่าหากเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่สามารถทนดูปัญหาได้อย่างนิ่งดูดาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหาของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย

ประเด็นน่าสนใจ ในการเลือกตั้ง อบจ. 2563

รศ.อรทัย กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ ยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่เกิดบรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น โดยมีหลายพื้นที่เป็นสมรภูมิรบระหว่างตระกูลใหญ่ ๆ ทางการเมือง เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย และหลายพื้นที่ยังเป็นการแข่งขันระหว่างนายก อบจ. ชุดเดิมกับคนใหม่ เช่น พื้นที่ จ.ปทุมธานี

การตระหนักในบทบาทและความสำคัญของ อบจ. ที่จะสะท้อนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องที่ต้องดูว่าจะมีคนกลับไปใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องเดินทางกลับไปภูมิลำเนา ไม่สามารถเลือกตั้งนอกสถานที่หรือเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างการเลือกตั้งระดับชาติได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่น เช่น หลายพรรคการเมืองมีการเปิดตัวว่าสนับสนุนและส่งผู้สมัครในนามพรรค จากเดิมที่เคยหลีกเลี่ยงการส่งผู้สมัครในนามพรรค เพราะเกรงว่าผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะส่งผลต่อฐานเสียงและคะแนนนิยมของพรรคในพื้นที่ จึงน่าจับตามองบทบาทของพรรคการเมืองระดับชาติในสนามท้องถิ่น การดำรงอยู่ของตระกูลการเมืองทั้งจากระดับชาติสู่ท้องถิ่น และจากท้องถิ่นสู่ชาติ ปัจจัยการเมืองในภาพใหญ่ต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร และการที่ อบจ. ถือเป็นฐานเสียงของการเมืองระดับชาติ ทั้งในเรื่องงบประมาณและความใกล้ชิดกับประชาชน

“สิ่งที่ทำให้สงครามการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ดูหนักหนาสาหัส เพราะคนชนะในสงครามนี้จะได้อะไรเยอะมาก เช่น ถ้าเป็น ส.ส. จะไม่สามารถมีงบประมาณพัฒนาพื้นที่ แต่ถ้ามีตัวแทนท้องถิ่นอยู่ในมือ ก็จะได้งบฯ พัฒนาท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ เช่น อบจ.ชลบุรี มีรายได้มากถึงเกือบ 4 พันล้านบาท ซึ่งทำให้สามารถทำผลงานได้ และถ้ายิ่งอยู่ครบวาระ 4 ปี ก็เท่ากับได้บริหารงบประมาณในหลักหมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังเป็นสนามแรกของ First Time Voters หรือคนอายุระหว่าง 18 – 24 ปี รวมทั้งการวินิจฉัย ตีความ และรับรองผลการเลือกตั้งที่น่าจะต้องติดตาม เพราะกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีกติกาใหม่ และมีรายละเอียดมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีการร้องเรียนหลังเลือกตั้งตามมาอีกมากเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์