โบว์ขาว : อาวุธทางปัญญาของชายผู้มาจากอวกาศ | ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ภาพประชาชนปริศนา ที่ยื่นโบว์ขาวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะกำลังสลายการชุมนุมของเยาวชน บริเวณสี่แยกปทุมวัน ในวันที่ 16 ต.ค. 2563 อาจจะเป็นหนึ่งในหลายร้อยภาพที่อยู่ในความทรงจำของหลายคน ที่ได้พบเห็นผ่านการรายงานของสื่อมวลชน

ทว่าการกระทำนั้น ส่งผลให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในอีกไม่กี่นาทีต่อมา แล้วภาพชายหนุ่มคนนั้น ก็หายไปจากจอภาพการรายงานสดในทันที กระทั่งผ่านเวลาไปประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา โลกออนไลน์ถึงได้รู้ว่า เขาคือ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน หรือ “เติ้ล” บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co ผู้คลั่งไคล้จินตนาการอันไม่รู้จบของ จักรวาล

ในวันที่โลกการเมืองในสังคมไทยเหมือนจะไร้ทางออก เติ้ลกลับยืนยันว่า เรายังมี “อาวุธ” ที่ใช้สู้กับปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามาได้ ซึ่งเขาก็เคยใช้อาวุธนั้น “เอาชนะ” มันมาแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุสลายการชุมนุม และยืนยันว่าจะยังคงถืออาวุธนั้นต่อไป แม้มันอาจจะไม่ชนะทุกครั้งก็ตาม

อะไรคืออาวุธที่เขาเชื่อมั่นและจะไม่ปล่อยมือไปจากมัน เขาบอกคำตอบนั้นกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ในรายการที่นี่ ThaiPBS

The Active ขอนำคำตอบแบบเต็ม ๆ มาเผยแพร่อีกครั้ง

ยังเชื่อไหมว่าสังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่มีเหตุเลือดตกยางออกเกิดขึ้น และสังคมไทยยังมีทางออกร่วมกัน

เราเชื่อว่าด้วยบริบทสังคมปัจจุบัน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการจับตามองจากต่างประเทศทุกอย่าง มันทำให้ความรุนแรงที่ออกมา เพียงแค่การสลายการชุมนุมที่มีการฉีดน้ำ การไล่จับกุมประชาชนที่ไม่มีอาวุธ เป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จริง ๆ แล้ว ส่วนตัวมองว่า เรื่องของความรุนแรงอาจจะมีบ้าง แต่สุดท้ายรัฐเองก็ต้องพยายามไม่ให้ประชาชน จับประเทศเป็นตัวประกัน ซึ่งเป็นกลไกที่รัฐต้องมีการป้องกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่รัฐประหารหรือไม่รัฐประหารก็ตาม เราต้องไม่ให้ประชาชนจับประเทศเป็นตัวประกัน

ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็เรียกร้องให้ รัฐมีการกระทำที่นุ่มนวล ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดที่ถูกจับกุม หรือการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบธรรม ก็เป็นคำถามที่ประชาชนถามกลับไปที่รัฐ ดังนั้น เรามองว่าสองอย่างนี้ถ่วงดุลกันอยู่ ไม่ว่ารัฐจะพยายามไม่ให้ประชาชนจับประเทศเป็นตัวประกัน แล้วประชาชนก็จะไม่ยอมให้รัฐเข้ามาคุกคามประชาชน สองอย่างนี้จะบาลานซ์กันไปเรื่อย ๆ

คิดว่า ภาวะครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้ จะอยู่อีกนานแค่ไหน

ตราบใดก็ตามที่รัฐไม่ยอมถอยอย่างแท้จริง แม้ พลเอก ประยุทธ์ จะออกมาบอกว่ารัฐถอยให้แล้วหนึ่งก้าว แต่สุดท้ายภาพที่ออกมาวันนั้น ก็ยังมีนักกิจกรรมถูกจับ ยังมีการคุกคามสื่อ ทุกอย่างไม่เคยเปลี่ยน ดังนั้น เรามองว่าการที่รัฐพยายามที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้วถอยจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การออกทีวี น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์มันอ่อนลงได้พอสมควร

เติ้ลยื่นโบว์ขาวให้เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน วันที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน 16 ต.ค. 2563

โบว์ขาว ในความหมายของเติ้ล คืออะไร

เป็นเรื่องของปัญญา เรามีความเชื่อมาตลอดว่า สังคมดีได้ มันจะต้องเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” และปัญญามันเกิดจากที่เราขจัดความโง่เขลาออกไป ถ้าตามอ่านบทสัมภาษณ์จะเห็นว่าเราพูดคำนี้บ่อยมาก “ความโง่เขลา”

ความโง่เขลา ในที่นี้ไม่ได้เป็นคำด่า ไม่ได้เป็นคำประชดประชัน แต่เป็นการที่เราบอกว่า เรามีสิ่งที่ไม่รู้เต็มไปหมด มันเป็นภาวะหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับเราหิว เราก็ไปกินข้าว เราง่วงเราก็นอน ถ้าเราโง่เขลา เราก็แค่หาความรู้เพิ่ม

“เรามองว่าโบว์ขาว เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา สัญลักษณ์ของการ หาความรู้ การพยายามทำความเข้าใจบริบทแห่งสังคม เราตั้งความว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นับว่าเป็นสิ่งใหม่มาก อย่างแรก เราไม่เคยเห็นการก่อม็อบในลักษณะที่เป็นการกระจายศูนย์กลาง หรือ Decentralization มาก่อนในสังคมไทย ดังนั้น มันหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความหมายโดยนัย ที่มีการซ่อนความหมายต่าง ๆ เป็นสิ่งใหม่มาก

รวมถึงการกระทำของเราที่เอาโบว์ขาวไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมจำเป็นที่จะต้องทำ ในขณะเดียวกัน วันแรกที่เรา พยายามเอาโบว์ขาวไปยื่น การที่มีตำรวจคนแรกไม่ยอมรับโบว์ขาว คนที่สองก็ไม่ยอมรับ แต่คนที่สามกลับยอมให้เราผูกข้อมือ สิ่งนี้มันก็เป็นการก่อกวนทางความคิดเหมือนกัน แล้วเราก็มองว่ามันเป็นสิ่งใหม่มาก ๆ ที่สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มันยากนะที่เราจะรับมือกับมันได้

ภาพขณะที่เติ้ลกำลังถูกจับกุม เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน 16 ต.ค. 2563

16 ต.ค. เริ่มเกิดการสลายการชุมนุมที่สยามตั้งแต่ช่วงเกือบหนึ่งทุ่ม แต่ภาพของเติ้ลที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจประมาณ 2 ทุ่มพอดี ระหว่างช่วงเวลาจาก 1 ทุ่มไปถึง 2 ทุ่ม เติ้ลอยู่ตรงไหน แล้วทำไมไปอยู่กลางแนวตำรวจพอดี

วันนั้นไม่ได้กะไปชุมนุม วันนั้นไม่ได้มีแผนออกจากที่พักด้วยซ้ำ เรานั่งดูถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน แล้วก็เห็นมีการใช้ความรุนแรง มีการใช้รถน้ำแรงดันสูงฉีดใส่ผู้ชุมนุม เราเห็นความวุ่นวายต่าง ๆ มากมาย เพื่อนที่อยู่จุฬาฯ โทรมาบอกว่า จุฬาฯ เปิดให้ผู้ชุมนุมเข้าไปหลบภัย

“สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ เราจะไปอยู่จุฬาฯ ให้เร็วที่สุด เพราะรู้สึกว่ามีคนที่ต้องการความช่วยเหลือ วันนั้นเราหยิบแค่ร่ม ถ้าดูในคลิปจะเห็นว่าเราใส่ชุดเป็นชุดอยู่บ้าน เราหยิบไปแค่ร่มและโบว์ขาว แล้วก็ขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ไป”

แต่สุดท้ายด้วยถนนที่ปิดและด้วยความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้เราไปอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายตรงนั้น สุดท้าย เราก็เลยเลือกที่จะทำสิ่งที่เราทำมาเมื่อวันก่อนหน้า ก็คือ การที่จะพยายาม หยุดความรุนแรงด้วยโบว์ขาว ซึ่งภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจคนที่สามที่กล้ารับโบว์ขาว ก็ทำให้เราตั้งคำถามอีกครั้งหนึ่งว่า แล้วเขาจะมีท่าทีกับเราอย่างไร ก็นำมาซึ่งผลที่เราโดนจับ

หมายความว่าวันนั้นก็ไม่ได้เตรียมใจที่จะโดนควบคุมตัว?

เรามองเห็นความเป็นไปได้ แต่เราไม่ได้เตรียมใจไป แต่การที่เรามองเห็นความเป็นไปได้ มันก็ทำให้เราไม่ได้ตื่นตระหนกหรือกลัว

ไม่กลัวแม้กระทั่งช่วงที่โทรศัพท์หาย หรือติดต่อกับใครไม่ได้

เรามีความเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันจะเป็น หมุดหมาย ที่นำไปสู่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเสมอ ดังนั้น เราไม่เคยมีความคิดว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ วันนั้นเราจะไม่ออกจากบ้าน เราก็ ยังจะทำสิ่งที่เราทำ เพียงแต่ว่า ในเมื่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว เราจะทำให้ผลเป็นอย่างไร

จนถึงวันนี้ ความทรงจำที่สยามมันเปลี่ยนไปไหม

เด็กวัยรุ่น โตมากับการเดินสยาม การเดินชอปปิง การไปเรียนพิเศษ การนัดเจอกับเพื่อน ซึ่งภาพของสยามสแควร์หรือแยกปทุมวัน มัน ไม่เคยมีภาพความรุนแรง แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. เรามองว่าภาพนั้นจะ ฝังติด ในสายตาของเยาวชน วันนึงในอนาคต เขาไม่สามารถลืมภาพนี้ได้ เขาไม่สามารถลืมภาพรถฉีดน้ำแรงดันสูง กับตำรวจหลายกองร้อยที่พยายามดันเขาเข้ามา เรามองว่าภาพของสยามสำหรับเยาวชน ไม่เหมือนเดิม อีกต่อไป

เรื่องอวกาศหรือการเมืองเคยเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนก็พูดถึงข้อเรียกร้องของเยาวชน แบบนี้กลายเป็นอินเกินไปหรือเปล่า

เรารู้สึกว่าอนาคตของเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แล้วอนาคตของเขาเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนยุคก่อน เราไม่เคยมองว่า ความขัดแย้งระหว่างยุค จะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาห้ำหั่นกัน เราชอบกลอนบทหนึ่งที่อาจารย์ระวี ภาวิไล ก็นำมาแต่งด้วย เป็นเรื่องเกี่ยวกับ บุตรแห่งชีวิต

“เขาบอกว่า ลูกของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ แต่เขาเป็นบุตรแห่งชีวิต คุณอาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่เขาได้ แต่คุณไม่อาจให้ที่อยู่อาศัยแก่จิตวิญญาณของเขาได้ เพราะจิตวิญญาณของเขาอยู่ใน บ้านของวันพรุ่งนี้ ที่คุณไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้แม้กระทั่งในความฝัน”

เราก็คิดอย่างนี้เหมือนกันว่า แม้เขาจะกักขังร่างกายของเราได้ แม้เขาจะจับเราเข้าคุกได้ แต่ความฝันของเรา สิ่งที่เราเป็นอยู่จริง ๆ มันอยู่ในบ้านของวันพรุ่งนี้ ที่คุณไม่สามารถไปเยี่ยมเยียนได้

แล้วความฝันสูงสุดของเติ้ลคืออะไร

ดาราศาสตร์ สิ่งที่เราทำ การศึกษาอวกาศ การศึกษาจักรวาล สอนให้เรามี ความอ่อนน้อมถ่อมตน หลายคนอาจจะสงสัยว่า เด็กที่ออกไปแสดงออกที่ดูเหมือนจะเป็นความรุนแรง ดูเหมือนจะเป็นความห้าวหาญ ดูเหมือนจะเป็นความกล้า บ้าบิ่น หรืออะไรก็ตามที่คนจะนิยาม แล้วมันคือความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร

สำหรับเรามองว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนในที่นี้ ไม่ใช่การก้มหน้า แล้วรับฟัง แต่มันคือ ความกล้า ที่จะเผชิญ ความจริง มันคือการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ และความจริงที่ว่า เราเกิดมาบนโลกนี้ มันไม่มีอะไร เราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในจักรวาล ที่เรามีโอกาสที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

“มีโอกาสที่จะกำหนดว่า เราจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกแบบไหน เราต้องการความขัดแย้งหรือเปล่า เราต้องการสงครามหรือเปล่า เราต้องการที่จะให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากแค่ไหน เราเลือกได้ ดาราศาสตร์สอนสิ่งนี้ให้เรา”

เราก็เลยรู้สึกว่า การที่เด็กและเยาวชนออกมาเรียกร้อง มันคือการที่เขา มองโลกตามแบบที่มันเป็นจริง ๆ ไม่ใช่โลกตามแบบคนรุ่นก่อนหน้า ด้วยแนวคิดแบบมตินิยม หรือ Dogmatism พยายามจะบอกว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเขาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

บริบทสังคมปัจจุบันทำให้เยาวชนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เขาเข้า Wikipedia เข้า Internet ฟังงานเสวนา อ่านหนังสือ ดูบทความ อ่านงานวิจัยต่าง ๆ มันทำให้พวกเขา มีความคิด ทำให้พวกเขา ไม่จมอยู่กับโลกเดิม นี่คือสิ่งที่เราเองยังรู้สึกว่า มันน่าทึ่งสำหรับเยาวชนในยุคปัจจุบัน

ท้ายที่สุดแล้ว เติ้ลพยายามที่จะสื่อสารและบอกมาตลอดว่า เราไปชุมนุมก็จริง แต่เราไม่ใช่แกนนำการชุมนุม เราคือนักสื่อสาร แล้วอะไรเป็นสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารจริง

สิ่งที่อยากจะสื่อสาร คือ การที่จะให้สังคมไทย มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีงานวิจัย ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีงานที่ส่งขึ้นไปอวกาศ หรือเป็นงานวิจัยที่เราอาจจะมองเห็นได้ทั่วไปเวลาที่พูดคำว่า วิทยาศาสตร์

“แต่วิทยาศาสตร์ในที่นี้ คือ สังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ สังคมที่มีการ ตั้งคำถาม สังคมที่เราสามารถ วิพากษ์วิจารณ์ และมองเห็นความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ได้ใน แบบที่มันเป็นจริง ๆ แล้วเรามีการใช้เหตุและผลมากกว่าใช้ความรู้สึก นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เป็น และก็เป็นเป้าหมายของ Spaceth มาตลอด”

เวลาที่เราลงเนื้อหาต่าง ๆ เรามองว่าตัวเนื้อหามันเป็นเพียงแค่น้ำ แต่เนื้อของมัน คือ กระบวนการคิด แบบวิทยาศาสตร์ การตั้งสมมติฐาน การสังเกต การหาข้อสรุป และการเสนอแนะว่าในอนาคตเราจะทำอย่างไร ให้เราสามารถอธิบายโลกหรือสังคมได้ในแบบที่มันเป็นจริง ๆ และใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น

“สุดท้ายมันนำมาซึ่งสิ่งเดียวกัน คือ เราต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์และใช้เหตุและผลในการพูดคุยกัน มากกว่าการใช้ความรู้สึก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active