ยามเย็นของเมืองเชียงใหม่ที่เคยหลับใหลต่อเนื่องมานานเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เริ่มมีนักท่องเที่ยวบ้างแล้ว
เศรษฐกิจอาจจะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็สายเกินไปสำหรับเด็กสาวชาวอาข่า ที่ต้องออกจากโรงเรียน
‘กระต่าย’ อรทัย มาเยอะ เด็กสาวชาวอาข่าวัย 18 ปี เธอขี่มอเตอร์ไซค์จากโรงงานในอำเภอสารภีกลับบ้าน เป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรทุกวัน
วันนี้ โรงงานเป็นสถานที่ที่ ‘กระต่าย’ ใช้ชีวิตแทนโรงเรียน เธอเพิ่งเรียนจบชั้น ปวช. แม่ขาดรายได้เพราะเชียงใหม่ไม่มีนักท่องเที่ยว เด็กสาวอายุ 18 ปี ต้องทำงานแลกค่าแรงขั้นต่ำรายวัน เลี้ยงแม่และน้อง ๆ
“เพิ่งเรียนจบ ปวช. 3 พาณิชยการเชียงใหม่ เกรดเฉลี่ย 3.79 ค่ะ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เพราะว่าเราไม่มีเงินส่งตัวเองเรียน เพราะว่าเกินลิมิตเรา เตรียมใจไว้แล้ว คงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ แต่เห็นเพื่อนไปโรงเรียน เราก็อยากไป”
กระต่าย พูดเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า เมื่อความฝันที่จะเรียนจนจบปริญญาตรี ต้องหยุดชะงักลง
ในอดีต คลองแม่ข่าไหลจากมาจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อำเภอแม่ริม ถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำจากคลอง รวมทั้งสามารถจับปลาและปูที่อยู่ในคลองมาบริโภคได้
ชัยภูมิคลองแม่ขาเป็นคูเมืองโอบเมืองชั้นนอก จึงทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรด้วย แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีชุมชนแออัดผุดขึ้น รวมทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
บ้านของกระต่ายอยู่ในชุมชนกำแพงงาม แม้จะอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ก็เป็นชุมชนแออัดที่ปลูกขึ้นอย่างง่าย ๆ ติดกันริมแนวคลองแม่ข่า มีชนเผ่าอาข่าจากดอยสูงอพยพมาอาศัยอยู่รวมกันหลายสิบหลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเดินขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว บางส่วนเป็นแรงงานก่อสร้าง เมื่อการท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างยาวนาน จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของพวกเขาอย่างรุนแรง
หญิงชาวอาข่าใช้ขวานคมผ่าไม้ฟืนในครัว ค่อย ๆ ก่อเตาไฟอย่างคุ้นชิน หันกลับมาตอกไข่ ใส่ผักกาดผสมลงไป และทอดให้ขึ้นฟู เพียงไม่นานนักก็มีกับข้าว 2 อย่างทยอยออกมา ทุกอย่างดูชำนาญเป็นธรรมชาติ
“แก๊สหมดยังไม่ได้ไปซื้อใหม่ รอเงินเดือนลูกสาวออกก่อน ถึงจะไปเติมแก๊สได้ ถ้าขายของได้ก็คงไม่ต้องรอ”
“อามือหาเองไม่ได้ตอนนี้ ก่อนที่จะมีโควิดนี่…ก็พออยู่ได้นะคะ เพราะว่ามีคนเยอะ มีนักท่องเที่ยว ลูกค้าก็พอมี”
เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งใหญ่อีกครั้ง ก่อนจะส่งเสียงเรียกลูกน้อยที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้นัก กับแม่วัยชรามาตั้งสำรับกินข้าวพร้อมหน้ากัน
‘อามือ มาเยอะ’ เธอเป็นแม่ของกระต่าย ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 3 เพราะสามีของเธอติดคุกจากคดีเสพยาเสพติด จึงพาครอบครัวอพยพจากดอยถิ่นเกิด มาอาศัยเช่าบ้านไม้ในชุมชนกำแพงงาม เดือนละ 3,000 บาท อยู่กับแม่และลูกสาวอีกสามคน จากที่เคยเลี้ยงดูลูกด้วยรายได้จากการขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ มากว่า 20 ปี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา งานที่เคยมี เงินที่เธอเคยได้ก็หายวับไป
“ตั้งแต่โควิดเข้ามาลูกค้าก็ไม่มีแล้ว ไปขายของก็ไม่ได้ ไนท์บาร์ซ่าร้างเหมือนป่าช้า ไม่มีใครอยู่เลย”
“เมื่อก่อนยังมีรายได้ เย็บหมวกเย็บเสื้อส่ง แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย”
“อยู่บ้านอย่างเดียว ตอนนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง” อามือ เล่าถึงชีวิตอันพลิกผัน จากที่เคยมีรายได้คืนละกว่าพันบาท ต้องคอยพึ่งพารายได้จากกระต่าย ลูกสาวคนโต เพื่อให้พอได้จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ เดือนละ 5,000 บาท
บ้านเกิดของอามือ อยู่บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เพราะคิดว่าชีวิตแบบคนเมืองจะสบายกว่า เธอจึงหอบลูกลงมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ รายได้จากการขายของให้นักท่องเที่ยว ทำให้มีเงินใช้จ่าย แต่เธอก็ต้องเธอกู้เงินนอกระบบมาเลี้ยงดูลูก เพราะเชื่อว่าในอนาคต ถ้าลูกได้เรียนสูง ๆ จะมีชีวิตที่ดีขึ้น…
แต่ความหวังนั้นก็ยากเกินกว่าจะเป็นจริงได้ สำหรับครอบครัวยากจนและเปราะบาง
“เขาขอว่าแม่หนูขอเรียนต่อได้ไหม 2 ปี เขาอยากจะเรียนต่อ เขาจะทำงานหาเงินเรียนเอง ถ้าไม่มีโควิดแม่ก็จะให้เรียนต่อได้”
“แต่ว่ามีโควิด แล้วแม่ก็มีลูกน้อย ก็เลยให้เรียนไม่ได้ ให้เขาออก ไม่ต้องเรียนต่อแล้ว ทำงานช่วยแม่เถอะ”
“กระต่ายเรียนก็เก่งอยู่ เพื่อนเขาได้เรียน เพราะว่าพ่อแม่เขาไม่ได้ลำบากเหมือนหนู เพื่อน ๆ เขาก็ได้เรียนต่อกันทุกคน”
อามือ เสียงสั่นเครือไม่ปกปิดและปัดความเสียใจกับการตัดสินใจให้ลูกสาวเลิกเรียนกลางคัน และยังต้องลำบากกับชีวิตการทำงาน
“เขาบอกว่าเหนื่อยมาก ไม่อยากไป เพราะมันต้องไปไกลถึง อำเภอสารภี ออกตั้งแต่ ตี 4 ตี 5 เขาอยากทำงานใกล้ ๆ แต่ช่วงนี้มีโควิด เลือกงานไม่ได้”
“งานที่กระต่ายทำก็ได้เงินน้อย แค่วันละ 325 บาท ก็ต้องเอาไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ ส่วนค่ากินแม่ก็พยายามหา แม่ก็พยายามช่วยตายแต่แม่ก็ทำได้แค่นี้”
เกือบปีที่ผ่านมา อามือและลูก ๆ ต้องไปต่อแถวรอรับของบริจาคที่มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคี รับอาหาร ขนม น้ำ ที่มีผู้นำมาแจกรายสัปดาห์ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่าย วันไหนที่ทั้งบ้านมาพร้อมหน้ากันก็จะตุนอาหารไว้ได้หลายมื้อ แต่เราต่างรู้ดีว่าการรอรับบริจาคเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ อามือจึงพยายามดิ้นรนหารายได้เพิ่ม ด้วยการปลูกผักขาย และหาอาหารมาเลี้ยงชีวิต
สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ คือ ความหวังของเธอ
แนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารกําเนิดขึ้นในราวทศวรรษที่ 1970s ในขณะที่สถานการณ์วิกฤตด้านราคาอาหารและพลังงานกําลังลุกลามไปทั่วโลก คำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” มีการใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 ในการประชุมอาหารโลก นําไปสู่แนวคิดที่ว่า “อาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”
แต่ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านี้
ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง ตามรายงานของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานสถิติแห่งขาติ ซึ่งเมื่อเทียบกับการประเมินของสากลซึ่งจัดทำขึ้นมาโดย The Economist Intelligence เมื่อปี 2019 คะแนนความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอยู่ที่ 65.1 จาก 100 คะแนน และอยู่ในอันดับ 52 จากทั้งหมด 113 ประเทศที่มีการประเมิน
แต่ไม่ใช่ทุกคนบนแผ่นดินไทยที่จะมีอาหารการกินอิ่มท้องทุกมื้อ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ปิดเมืองจากโควิดระบาดยืดเยื้อยาวนาน ผู้คนต่างได้รับผลกระทบประสบชะตากรรมต่าง ๆ นานา
ชีวิตของ ‘อาชุม’ หรือ ‘ประทุม มายิ’ แม่เลี้ยงเดี่ยว ชาวอาข่า ลูก 7 คน ไม่ต่างจากอามือที่เคยตระเวนขายของระลึกในเมืองเชียงใหม่หาเงินพอดูแลครอบครัวได้ เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด รายได้หลักหายไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาจากทั่วโลก อาชุมก็ต้องหาหนทางต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดกำลัง มาต่อแถวรอรับอาหารบริจาคเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเช่นเดียวกัน
เมื่อรายได้ต่อวันไม่มี หลายครอบครัวที่อาศัยในพื้นที่ริมคลองแม่ข่า จึงพยายามปลูกผักบริเวณที่มีสภาพน้ำเน่าเสียและไม่เอื้อต่อการบริโภค บริษัทสถาปนิก ใจบ้านสตูดิโอ เข้าไปพูดคุยกับพี่น้องผู้ที่อยู่ในบริเวณชุมชนริมคลองแม่ข่า พบว่าพวกเขาส่วนใหญ่เริ่มตกงานมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 รายจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนคือค่าอาหารเลี้ยงชีพ จึงได้ไอเดียติดต่อขอเทศบาลเมืองเชียงใหม่ใช้พื้นที่ขนาด 2.5 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนประชาสัมพันธ์ ติดกับสุสานช้างคลาน เดิมเป็นกองขยะ 5,000 พันตันที่ถูกทิ้งมานานกว่า 2 ทศวรรษ
หากมองในเชิงพื้นที่ ด้านหนึ่งของ “สวนผักคนเมือง เชียงใหม่” จะติดกับย่านช้างคลานที่เป็นพื้นที่ธุรกิจ ไนท์บาร์ซ่า โรงแรมห้าดาว โรงเรียนเอกชนต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐที่ค่อนข้างแออัดติดคลองแม่ข่า ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานภาคบริการให้กับเมือง นี่คือภาพของขั้วความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำของเมือง ดังนั้น สวนผักฯ จึงจะเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อพื้นที่สองส่วนนี้เข้าด้วยกันเพราะมันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึง เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
“ผักอาจจะเป็นผลลัพธ์ปลายทาง แต่เราต้องการให้พื้นที่สาธารณะถูกใช้เพื่อประชาชน อันนี้เป็นความตั้งใจในภาพใหญ่ เมืองของเราไม่มี master plan เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม เมืองของเราถูกออกแบบให้มีแต่การป้องกัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงมีแต่มาตรการป้องกันห้ามทำสิ่งต่าง ๆ เราจึงต้องการให้เมืองมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นกับคนในเมือง”
มากกว่านั้น สวนผักเป็นเครื่องมือในการสร้าง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในย่านนั้น ๆ เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก Greening the Ghetto ที่เป็นเรื่องราวของ ‘มาจอรา คาร์เตอร์’ (Majora Carter) ผู้หญิงผิวสีที่ลุกขึ้นมาทำ urban farm บนพื้นที่รกร้างในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งสุดท้ายได้ทำให้คนได้เข้ามาทำความรู้จักกัน เป็นจุดที่ถักทอความสัมพันธ์ และลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ความรวย-ความจน เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันเพื่อสานความสัมพันธ์ในสังคม จนเป็นกระแสรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่กระเพื่อมไปถึงเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น เมืองดีทรอยต์เป็นต้น
“ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญ หลายคนที่อยู่ตามคอนโด อพาร์ทเมนท์ หอพัก เขาไม่มีพื้นที่ แต่เรามีพื้นที่ แล้วถ้าเรามีแรงงานที่เขาสูญเสียอาชีพจากการท่องเที่ยว โดยนำคนสองกลุ่มนี้มาเจอกัน คนที่ไม่มีพื้นที่เขาก็ได้มีแปลงของตัวเอง มาลงแรงปลูก พาลูกมาเล่น เราได้มีความรู้สึกร่วมกันเจอหน้าค่าตากัน”
‘ตี๋’ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จาก ใจบ้านสตูดิโอ หนึ่งในคณะก่อการสวนผักคนเมือง เล่าถึงที่มาของแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างกลางเมืองนี้ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่คนในชุมชนใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วมเก็บเกี่ยว เก็บพืชผลกินได้ โดยเขาอธิบายว่าเป้าหมายของพื้นที่นี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ
“เรื่องแรกเป็นการจัดการพื้นที่สาธารณะ เอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน มาสร้างระบบการจัดการ ที่ไม่ใช่มีแต่รัฐอย่างเดียว ทว่า มีอำนาจมีความเห็นของประชาชนเข้ามาด้วย เรื่องที่สอง เกษตรกรรมในเมือง ทั้งเรียนรู้แล้วก็ทดลอง ปลูกจริง สร้างระบบแบ่งปันจริง ๆ เรื่องที่สาม อยากให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจน ต่างอาชีพต่างวัฒนธรรมก็รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เราไม่เคยมีพื้นที่สาธารณะในเมืองแบบนี้เลย พื้นที่แบบนี้จำเป็นกับเมือง”
จากตะกร้าที่เคยสะพายใส่ของที่ระลึกไปเดินขายแก่นักท่องเที่ยวยามค่ำคืน กลายมาเป็นตะกร้าผักสดที่อามือและอาชุมปลูกเองในพื้นที่เล็ก ๆ ของสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เมื่อเหลือกินก็จะเก็บไปขายที่ตลาดให้พอมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มขึ้น อามือและอาชุมใช้ความรู้พื้นฐานด้านเกษตรกรรมจากบนดอย มาประยุกต์เข้ากับนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ที่นักวิชาการมาสอนให้ตั้งแต่โควิด 19 ระบาดรอบแรกในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสวนผักคนเมือง เชียงใหม่
ปัจจุบันเทศบาลเมืองเชียงใหม่จ่ายเงินค่าแรงให้อาชุมวันละ 325 บาท เพื่อให้ปลูกผัก ผลิตอาหารปลอดภัยไปเลี้ยงคนในชุมชนที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ
ระหว่างที่อาชุมใช้มือหนึ่งปาดเหงื่อเม็ดเล็ก ๆ บนใบหน้า แต่อีกมือหนึ่งสาละวนกับการเก็บผักอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เธอเล่าให้ฟังเสียงมีความสุขขึ้นมากจากวันก่อน “ถ้าไม่ทำแบนนี้ หนูก็ไม่ได้กิน”
“ตอนนั้นมีโควิด แล้วเขาให้ปลูกผักกิน แล้วก็ขายผักทุกวันศุกร์ ถ้าเหลือจากที่ขาย หนูก็ได้กิน เพราะตกลงกันไว้เดือนหนึ่งจะแจกชุมชน 3 ครั้ง วันไหนได้แจกผักให้กับชุมชน หนูมีความสุขค่ะ แบ่งปันให้เขากิน เพราะหนูไม่รวยเงินทองไงค่ะ แต่ผักนี้หนูไปแจกได้ หนูปลูกเองได้”
หากเทียบกับ 2 ปีก่อน ชีวิตของอาชุมเผชิญความทุกข์แสนสาหัส โควิดระลอกแรก เธอไม่มีเงิน ไม่มีอาหารให้ลูกกิน ต้องส่งลูกชายไปอยู่โรงเรียนประจำที่เป็นสถานสงเคราะห์ การพลัดพรากจากลูกที่ยังเล็ก คือความเจ็บปวดที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้
แต่วันนี้ ที่ดินกองขยะร้าง พลิกชีวิตของอาชุมและลูก
“ดีใจ ตั้งแต่ได้ทำงานที่สวนผักคนเมือง ก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ค่าแรงครึ่งวัน 150 บาท หนูก็ได้จ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่ต้องซื้อผัก ไข่ไก่ก็ได้จากสวนผักคนเมืองอาทิตย์ละ 20 ฟอง ก็ประหยัดไปได้ มีความสุขมากค่ะที่ลูกได้มาอยู่ด้วยกัน” อาชุมกล่าวอย่างเต็มตื้น เมื่อได้เห็นน้ำพักน้ำแรงของตนเองงอกเงยเป็นอาหารในจาน เป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน
กว่า 2 ปีที่อาชุมเก็บหอมรอมริบ จนมีเงินมากพอที่รับลูกชายคนเดียวกลับสู่อ้อมอกแม่ “ถ้าหากเทียบกับเมื่อก่อนตอนนี้มีความสุขมากค่ะ ดีขึ้นมาก เป็นเพราะว่าได้อยู่กับลูก แล้วก็ได้ทำงานสวนผักแบบนี้ ชีวิตของหนูก็มีกิน พอกินพอใช้”
ทุกอาทิตย์ผลิตผลไข่ไก่สดใหม่จากสวนผักคนเมือง เชียงใหม่ และผักสวนครัวปลอดสารพิษจะถูกเก็บรวบรวมเพื่อส่งต่อผลผลิตไปจำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้กลุ่มเปราะบางในชุมชนแออัดเข้าถึงอาหารราคาย่อมเยาได้
“หนูได้ปลูกผักให้คนอื่นกิน หนูก็มีความสุขค่ะ เป็นผักปลอดสารพิษด้วยเพราะว่าหนูไม่ได้ใช้ยาอะไรเลย อยากให้เขาได้กินผักที่ปลอดสารพิษ ปลูกผักกินแบบนี้หนูชอบค่ะ เพราะว่าตอนที่อยู่บนดอยหนูก็ได้ปลูกผักปลูกพืชกินแบบนี้แหละ ค้าขายหนูก็ชอบ วันศุกร์ หนูเอาไปขาย ถ้าเหลือจากที่ขายหนูก็ได้กิน เพราะตกลงกันไว้เดือนหนึ่งจะแจกชุมชน 3 ครั้ง แบ่งปันให้เขากิน เพราะหนูไม่รวยเงินทอง แต่ผักนี้หนูไปแจกได้ หนูปลูกเองได้”
อาชุมเล่าถึงความสุขรูปแบบใหม่ในชีวิตที่เธอได้ค้นพบ
แผงผักยังไม่ทันจัดวางเสร็จเรียบร้อย ไข่ไก่สดคุณภาพดีที่ขายถูกกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัวก็มีชาวบ้านมาแย่งกันซื้อ ผักนานาชนิดที่อาชุม อามือ และคนในชุมชนใกล้เคียงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยกันดูแล ก็ขายในราคาถูกแบบลดแลกแจกแถมด้วย เพราะเป้าหมายหลักของสวนผักคนเมือง เชียงใหม่ ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องกำไรขาดทุน แต่มุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้คนในชุมชนใกล้เคียงได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยในราคาย่อมเยา
สวนผักคนเมืองไม่เพียงเป็นโอกาสใหม่ในชีวิตของพวกเธอ แต่ช่วยสร้างตาข่ายทางสังคมรองรับไว้ไม่ให้ใครต้องร่วงหล่นจนเจ็บตัวยามเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ในเมืองเชียงใหม่
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ชุมชนกำแพงงามมีผู้ติดเชื้อครั้งแรก 18 คน และในจำนวนนั้น มีผู้ติดเชื้อ 3 คนอยู่ในบ้านของอามือ ทำให้ทุกคนที่อยู่ร่วมกันต้องกักตัว 14 วัน รวมทั้ง ‘กระต่าย’ ที่เป็นเสาหลักไม่สามารถออกไปทำงานได้เหมือนเคย แต่ก็ยังมีอาชุมคอยส่งอาหารการกินที่เก็บได้จากสวนผักคนเมือง นำไปส่งให้ถึงหน้าบ้าน
“อาชุมเอากับข้าวมาให้ มีไข่ มีข้าวโพด ผักอย่างละนิดอย่างละหน่อย เขาบอกว่าขาดเหลืออะไรก็บอกมาจะไปหามาให้ ถ้าหาได้” อามือเล่าถึงน้ำใจของเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้ ในยามที่วิกฤตยังไม่ผ่านพ้นไป
การสร้างพื้นที่แบบสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ นอกจากจะเป็นการกระชับสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังมอบโอกาสใหม่ ๆ ให้ใครหลายคนอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่คนไร้บ้านอย่าง ‘อาหมี่’ – ‘หมี่เต๊อะ ยือบ้อ’ และสามีที่ตกงานเพราะร้านอาหาร โรงแรมในเชียงใหม่ต่างหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงานแทบทั้งหมด ทั้งคู่อาศัยสวนผักคนเมือง เชียงใหม่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ไข่ไก่สดที่อาหมี่เลี้ยงเองกับมือ ใช้เป็นอาหารหลักประคับประคองชีวิต ช่วยต่อลมหายใจ
“มาทำที่นี่นานปีกว่าแล้ว เมื่อก่อนเป็นคนไร้บ้าน พักที่นี่ แต่ตอนนี้ออกไปเช่าอยู่ข้างนอก มีแม่อยู่บนดอย แต่ก็กลับดอยไม่ได้ เขาไม่ให้กลับเพราะกลัวติดโควิด ก็เลยต้องอยู่ตรงนี้ ไม่อยากออกไปไหนเลย ผักเราก็มี ไข่ก็มี ถ้าเราไม่ทำที่นี่ก็ไม่มีอะไรแล้ว ถ้าไม่ได้ทำที่นี่ก็ไม่มีข้าวกิน จะไปทำที่ไหนเขาก็ไม่จ้างแล้ว ผักก็ไม่หวง ปลูกเอง ไปขายในชุมชนก็ขายบ้างแจกบ้าง”
อาหมี่รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลสวนผักคนเมืองเช่นเดียวกับอาชุม รับค่าแรงวันละ 150 บาท พอได้จ่ายค่าเช่าห้องพัก และค่าน้ำค่าไฟแต่ละเดือน
นอกจากจะให้ชีวิตใหม่แก่กลุ่มเปราะบางในสังคมแล้ว ยังเชื่อมต่อชุมชนเข้ากับธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองให้เกาะเกี่ยวเป็นห่วงโซ่เดียวกันด้วย ไข่ไก่ที่อาชุม อามือ และอาหมี่เฝ้าประคบประหงม จะถูกลำเลียงส่งต่อไปเป็นอาหารจานหรูในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ตาม MOU ที่ทางโรงแรมทำไว้กับสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เป็นแนวทางตัวอย่างที่ผู้คนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ (Participatory Place-Making) ก่อเกิดเป็นชีวิตชีวาในเมือง ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม ให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่นยั่งยืนต่อไป
“ผมรู้สึกว่านี่คือการพัฒนา ให้คนที่มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง ไม่ต้องถูกกักขังกับความจนความกลัว ออกมาจากสถานการณ์ที่เขารู้สึกว่าเขาจะไปไหนไม่ได้ ได้เห็นคนตัวเล็ก ๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ เราก็ได้เรียนรู้จากเขาเหมือนกัน มาที่นี่แล้วมีพลังครับ”
ตี๋กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง
จริงอยู่ ‘สวนผักคนเมือง’ ทำหน้าที่เป็นแปลงทดลองช่วยช้อนให้คนเปราะบางทั้งคนไร้บ้าน และแรงงานชาติพันธุ์คนจนเมืองกลุ่มใหม่เพียง 3-4 ครอบครัวให้บรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตในชีวิตชั่วคราว คุณค่าที่มากกว่ามูลค่าถูกพิสูจน์จากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัวอามือ อาชุม และอาหมี่ ดังนั้น ‘โมเดลสวนผักคนเมือง’ ควรถูกขยายความและขยายผลโดยภาครัฐให้เป็นกลไกสร้างหลักประกันทางสังคม
โดยเฉพาะคนจนเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีสูตรสำเร็จ “ความยากจนซ้ำซ้อน” ผลจากการขาดที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นแรงงานอพยพต่างถิ่น เข้าไม่ถึงทรัพยากร สิทธิ และสวัสดิการสังคม ยิ่งเมื่อหลุดจากระบบการศึกษา ทำให้การเข้าถึงอาชีพและรายได้ยากลำบากมากขึ้น รายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย และไม่มีหลักประกันการเงินให้เข้าถึงกองทุนต่าง ๆ ต้องกู้หนี้นอกระบบ กลายเป็นการส่งต่อความจนข้ามรุ่นวนเวียนไม่รู้จบ
‘กระต่าย’ เด็กสาววัย 18 ปี เชื่อว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของ และเปลี่ยนทัศนคติที่คนอื่นที่มองเห็นแต่ “ความเป็นอื่น” ทว่า ความหวังนั้นก็ดับลง เธอต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพราะวิกฤตโควิด
“หนูเสียใจ เพราะเพื่อนที่เป็นคนไทยได้เรียนต่อกัน”
“ครอบครัวก็ลำบากยากจน ยิ่งถ้าเราไม่มีการศึกษาก็จะถูกคนดูถูกว่าเรียนจบแค่นี้จะมีปัญญาไปทำอะไรได้ ก็เลยรู้สึกว่าอยากเรียนให้สูง เพราะอย่างน้อยก็จะได้มีใบประกาศนียบัตรเพื่อเป็นใบเบิกทาง”
มากกว่านั้น “คนอื่น …ที่ไม่ใช่ชนเผ่า มักจะเหยียดเรา เขาก็มองคนชนเผ่าว่า เป็นคนระดับล่างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งมีน้อยคนที่เรียนสูงและมีงานที่ดีทำ”
“… เคยถูก bully ค่ะ แบบว่าเราเด็กดอย ก็เคยมีครูที่พูดว่า ถ้าทำไม่ได้ก็กลับไปอยู่ดอยไปเลย กลับไปอยู่หลังเขาไปเลย”
“เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาต้องแบ่งแยกเพราะเรากับเขาก็คนเหมือนกัน หนูไม่ได้รู้สึกว่าการที่หนูเกิดมาเป็นคนชนเผ่าแล้วแตกต่างอะไรจากเขา ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาเหยียดเรา มาปฏิบัติต่างกัน มาเลือกปฏิบัติ”
“หนูเราพยายามจะเรียนให้สูงเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าเรามีการศึกษาที่สูงแล้ว เรามีหน้าที่การงานที่ดีที่มั่นคง ก็จะทำให้เราสามารถลบคำสบประมาทตรงนั้นได้”
แต่วันนี้ กระต่ายหลุดจากระบบการศึกษาแล้ว ต้องทำงานที่เลือกไม่ได้ กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กักตัวที่บ้านนาน 14 วัน ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะถูกให้ออกจากงานหรือไม่
ใครจะช่วยเธอ “ฉีกกฎ” ชนเผ่าของความยากจนได้
อ้างอิง
- ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์. คุยกับ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร: สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กับการก่อร่างฝันบนความยั่งยืน. โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563.
- ธนิดา หรินทรานนท์, สพญ. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security). สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์. 2563.
- ปัญชัช. พลังประชาชนที่เปลี่ยน “กองขยะ” สู่ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่”. บ้านและสวน. เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564.
- ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร กับ เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’. ซิตี้แครกเกอร์. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564.
- สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ – Chiangmai Urban Farm. เฟซบุ๊ก. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564.
- สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. รายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาเพื่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์: กรณีชุมชนกะเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตก ปีที่ 1. 2556.
- สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน). ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเพียงพอ.