แรงงานแพลตฟอร์ม เปราะบางความหวัง

คุณยอมจ่ายเงินเท่าไร เพื่อซื้อเวลาในชีวิตกลับคืนมา …

เราไม่ได้พูดถึงภาพยนตร์ไซไฟ หรือนิยายวิทยาศาสตร์ แต่หมายความถึง การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบัน ที่มีแทบทุกบริการเท่าที่เราจะนึกจินตนาการถึง เพียงกดปุ่มจ่าย ก็มีผู้รับงานซื้ออาหารมาส่งถึงมือ นำเอกสารไปส่งให้ถึงที่ มาทำความสะอาดให้ถึงบ้าน แค่จ่ายเงินก็ได้เวลาในชีวิตคืนมาอย่างมหาศาล จะกล่าวว่าธุรกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิงก็ไม่ผิดนัก 

แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดที่ควรจะกล่าว เพราะธุรกิจที่ทำเงินนับหมื่นล้านต่อปีเหล่านี้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยผู้คนนับหมื่นนับแสนที่ยอมขายเวลาแลกกับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม เดิมพันความฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกับโอกาสที่อาจเจ็บไข้ พิการ เสียชีวิตโดยไร้สวัสดิการใดดูแล

ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร ในเมื่อแต่ละวันที่เราต่างมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ต้นทุนในชีวิตมากน้อยแตกต่างกัน 

สู้กับความไม่แน่นอน

‘แหวว’ – ‘ไพวัล เหล่าจั่น’ หญิงชาวอีสานผู้เข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ มากว่า 30 ปีแล้ว ยึดอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดหาเลี้ยงครอบครัว จวบจนวันนี้ อายุ 46 ปี จากการเป็นพนักงานประจำก็ตกงาน เธอจึงผันตัวมาเป็น แม่บ้านรับจ้างออนไลน์ รับงานทำความสะอาดผ่านหลายบริษัทแพลตฟอร์มสลับกันไป เคยมีรายได้ต่อเดือนมากถึง 25,000 – 30,000 บาท แต่หลังจากโควิด 19 ระบาดยืดเยื้อนานนับปี เศรษฐกิจทุกระนาบหยุดชะงัก แหววรับค่าตอบแทนที่พออยู่ได้กับสามี ซึ่งทำงานเป็นคนงานรายวันประจำรถส่งของ

โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ขาดไม่ได้สำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้ให้บริการ โดยปกติแล้ว แหววจะตื่นแต่เช้ามานั่งรองานที่จะแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่หน้าบ้านเช่าในชุมชนบ้านกล้วย ย่านคลองเตย แต่ 3 เดือนมาแล้ว เธอไม่ได้ออกไปทำงาน เพราะในละแวกใกล้เคียงมีโควิด 19 ระบาดหนัก ทำให้แหววและสามีก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน

“ตอนที่แฟนบอกว่าติดเชื้อ โอ้โห…ขาอ่อนเลย มันพูดไม่ออกเลย” 

“เรารีบไปตรวจ พอรู้ผลว่าตัวเองติดเชื้อ โทรไปหาแม่บอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว จะฆ่าตัวตาย”

“แม่บอกมึงฆ่าตัวตายไม่ได้ ถ้าเป็นอะไรไปแล้วใครจะดูลูก” 

“เราก็ติดเชื้อ แฟนก็ติด ทำงานไม่ได้ทั้งคู่ นาทีนั้นชีวิตตันไปหมด” 

สุดท้าย  แหววก็เลือกกัดฟันมีชีวิตอยู่ต่อไป หลังจากเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามกว่า 1 เดือนจนหายดี สามีกลับไปทำงานแบกหามในตลาดแลกเงินค่าจ้างรายวัน วันละ 400 บาท แต่แหววก็ยังไม่มีงานทำ 

“เจ้าของบ้านเขาไม่ลดค่าเช่าให้เลย เราไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงินจ่าย พอหายออกมาก็ต้องทยอยผ่อนเอา ผ่อนทีละ 200 ถึง 300 บาท เครียดมากเลย เป็นหนี้ร้อยละ 20 อยู่ 5,000 บาท ส่งดอกเบี้ยเดือนละพัน ตอนนี้ก็ยังไม่มีให้เขา ช่วงนี้กินประหยัดมีอะไรก็กินไปก่อน ชุมชนเขาบริจาคข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เราก็เก็บไว้กินบรรเทาไปก่อน” 

Platform workers

โดย “สถานะของการขายแรงออนไลน์” จะเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม หรือเป็นพาร์ตเนอร์ของแฟลตฟอร์ม หรือจะนับว่าเป็นการรับจ้างทำของรายชิ้นหรือไม่ และถือเป็น “แรงงานนอกระบบ” หรือไม่ ก็ยังคลุมเครือเป็นคำถามอยู่

ปลายปี 2564 แรงงานนอกระบบในประเทศไทยถึง 20 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งประเทศ 38 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวกว่า 9 ล้านคน เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ทำอาชีพค้าปลีกและบริการด้านอาหาร อาทิ พ่อค้าแม่ค้าตามร้านขายของชำ ร้านค้าออนไลน์ หาบเร่แผงลอย และพนักงานบริการในร้านอาหาร ซึ่งกว่า 60% มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีการศึกษาต่ำกว่าหรือเท่ากับระดับมัธยมศึกษา จึงทำให้การปรับเปลี่ยนอาชีพทำได้อย่างจำกัด 

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งจากรายได้ที่ต่ำและไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง ออมเงินได้น้อยและมีปัญหาหนี้สิน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จึงได้รับผลกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่น การแพร่ระบาดระลอกสองและอื่น ๆ ของโควิด 19 ทำให้ความเป็นอยู่ที่กำลังฟื้นตัวกลับแย่ลงกว่าเดิม 

ข้อความแจ้งเตือนจากแอปลิเคชันแพลตฟอร์มแม่บ้านปรากฏขึ้น นับเป็นงานแรกของแหววหลังการกักตัวครบกำหนด เธอรีบเร่งหอบอุปกรณ์ทำความสะอาดฝ่าสายฝนไปรอรถเมล์อย่างมีความหวัง ฝนตกแดดออกก็ต้องไปทำมาหากิน 

“ถ้าลูกค้าต้องการดูดฝุ่น เราก็ต้องหิ้วขึ้นรถเมล์ ทั้งเครื่องดูดฝุ่น ทั้งถัง ทั้งไม้ถู ลำบากยังไงก็ทนก็สู้ เพื่อครอบครัว” 

“เคยถามลูกค้าว่าเขาจ่ายบริษัทไปเท่าไหร่ เขาบอกว่า จ่ายไปทั้งหมด 650 บาท แต่แม่บ้านได้แค่ 350 บาท ต่อมาจะเหลือแค่ 300 บาท” 

“เราไม่มีสิทธิ์ต่อรองกับทางบริษัทได้เลย พูดไม่ได้เพราะว่าเรายังต้องทำงานกับเขาอยู่” แหววขยายความต่อถึงเงื่อนไขการทำงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม บางเจ้าโอนเงินให้ในวันรุ่งขึ้นหลังจากทำงานแล้ว บางเจ้าโอนภายในวันเดียวกัน ซึ่งแหววจำเป็นต้องลงทะเบียนไว้มากกว่า 1 แพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในแต่ละวัน 

อุปกรณ์ทั้งหมดของแหวว – แม่บ้านออนไลน์ต้องลงทุนเอง รวมทั้งการพาตัวเองไปเกาะเกี่ยวกับทุกบริษัทแพลตฟอร์มความพยายามเหล่านี้ ก็ยังไม่มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำและหลักประกันทางการเงินให้เธอได้สะสมทุน นำไปสู่การค่ำประกันเงินกู้ต่อยอด

ช่างเปราะบางความฝันและความหวัง…

“เคยนึกนะ ทำงานไปเมื่อไหร่กูจะรวยสักที เมื่อไหร่กูจะมีบ้าน เราทำงาน เราสู้ชีวิตไปเรื่อย ๆ อยากจะทำบ้านก่อน เพราะถ้าเกิดว่าทำงานไม่ได้แล้วก็ต้องกลับไปอยู่บ้าน ปีหน้า ถ้ามีงานเยอะขึ้นพี่ก็จะมีทยอยเก็บเงินไปทำบ้าน”

พี่แหววบรรยายถึงฟ้าหลังฝนที่เธอเฝ้าฝันว่าจะมาถึง 

Platform workers

สู้ท่ามกลางความเสี่ยง

ค่ำมืดแล้ว แต่บ้านหลังหนึ่งยังมีเด็กสองคนอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง แม่ของพวกเขายังไม่กลับบ้าน ยังคงติดภารกิจส่งอาหารมื้อเย็นให้ผู้คนในเมืองใหญ่ยังไม่เสร็จสิ้น เด็กทั้งสองคนจึงต้องคุยกับแม่ผ่านกล้องวงจรปิดไปพลางก่อน 

“พอช่วงเย็นเด็กเขาจะเริ่มงอแง อยากออกไปขี่จักรยาน ออกไปเล่นกับเพื่อน เราเป็นห่วง ไม่อยากให้ออกไป มีหลายอย่างที่ต้องระวัง เพราะว่าคนรอบข้างเราไม่ใช่คนรู้จัก”

Platform workers

‘มุก’ หรือ ‘มณฑิตา ประดิษฐพล’ แม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสองคน เธอหันมายึดอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารอย่างเต็มตัว หลังจากเคยเป็นแม่ค้าในตลาดสด แต่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด 19 จนทำให้ต้องปิดกิจการ 

“เผอิญเพิ่งออกมอเตอร์ไซค์มา ลองวิ่งงานควบคู่กันกับการขายของ เช้าวิ่งงาน เย็นก็ขายของ เจอโควิดรอบแรกก็เจ๊ง เริ่มขายของไม่ได้ จึงหันมาวิ่งงานเต็มตัว” 

นอกจากรถมอเตอร์ไซค์และน้ำมันเป็นต้นทุนรายวันที่ต้องจ่ายเองเพื่อเข้าสู่อาชีพนี้ ทุกแพลตฟอร์มส่งอาหารยังกำหนดให้ลูกค้าต้อง “ซื้อ” เครื่องแบบและอุปกรณ์ด้วย ในมุมมองของมุข

“จริง ๆ บริษัทบังคับให้ต้องใส่เสื้อของแพลตฟอร์ม แต่อย่างหนูไม่ได้เก็บ intensive โบนัส ก้อนเพชร หรือพวกเงินพิเศษ ก็เลยเลือกไม่ใส่ เพราะว่าต้องเสียเงินซื้อตัวหนึ่งราคา 6-700 บาทก็ถือว่าแพง ไม่นับว่าต้องมีประเป๋าสำหรับรับและส่งอาหารให้ลูกค้า ก็ต้องเสียเงินซื้อมา อย่างหนูใช้ใบเล็กก็ราคาเริ่มต้น 400 บาท”

Rocket Media Lab สำรวจไรเดอร์ส่งอาหารในประเด็นต่าง ๆ ทั้งข้อมูลส่วนตัว การทำงาน สวัสดิการที่ต้องการ ฯลฯ ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2564 ในพื้นกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัด ศรีสะเกษ เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา รวมทั้งหมด 1,136 คน พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีไรเดอร์ที่เพิ่งเริ่มทำงานอาชีพนี้เป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี มากที่สุด คิดเป็น 40.92% คาดว่าเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนตกงานและพลัดหลงมาประกอบอาชีพไรเดอร์จำนวนมากขึ้น 

โดยไรเดอร์ที่ทำงานส่งอาหารเป็นอาชีพหลักสูงถึง 59.44% และเป็นอาชีพเสริม 40.56% 

ขณะเดียวกัน เกือบครึ่งของไรเดอร์มีรายได้ต่อเดือนราว 10,001 – 15,000 บาท 

ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนมีเพียง 4.5% เท่านั้น

มุกเล่าถึงวิถีชีวิตในแต่ละวันที่ต้องดูแลลูกขณะเรียนออนไลน์ช่วงเช้า แล้วออกไปทำงานช่วงบ่าย วันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง หารายได้แข่งกับเวลาหรือที่เรียกกันว่า “ทำรอบ” โดยเปิดรับงานแบบอัตโนมัติ รับหมดทุกงาน ไม่เลือกว่าใกล้หรือไกล 

“ถ้าเราบิดรถออกไปพร้อมงานก็เท่ากับว่าเราได้เงินแล้วตอนที่เราบิดรถออกไป” 

บางครั้งบางที สมาร์ตโฟนก็ร้อนจัดจนต้องหยุดพัก เนื่องจากเปิดใช้งานกลางแดดต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทั้งแอปพลิเคชันสำหรับรับงาน สลับกับแอปพลิเคชันกล้องวงจรปิดคอยสอดส่องดูแลลูกที่บ้าน 

รายได้ที่เธอได้รับจากการออกไปทำงานในแต่ละวัน เมื่อก่อนได้ราคาดีกว่าปัจจุบัน จาก 20 กิโลเมตร ได้เงิน 200 บาท แต่ทุกวันนี้ได้เพียง 150-160 บาท เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่มากขึ้น “บริษัทอื่นมีโปรโมชั่นลดราคา บริษัทเราก็ต้องลด ไม่งั้นลูกค้าก็ไปใช้บริษัทอื่น แต่ผลกระทบตกอยู่ที่ไรเดอร์ ค่ารอบเริ่มต้นจาก 60 บาท ลดมาเหลือ 50 บาท ลดอีกเป็น 40 บาท”

แต่ความไม่แน่นอนของรายได้ยังไม่เท่ากับความเสี่ยงบนท้องถนนซึ่งทำให้เสาหลักของบ้านอย่างมุกต้องห่วงหน้าพะวงหลังทุกครั้งที่ออกจากบ้าน สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Rocket Media Lab แสดงให้เห็นว่า สวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด 26.06% คือ ‘เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ’ เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มกำหนดเกณฑ์ที่จะทำให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิประกันอุบัติเหตุต่างกันไป ผ่านการกำหนดอายุงานและจำนวนรอบในการทำงาน ไรเดอร์หน้าใหม่ที่ประสบอุบัติเหตุจึงอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งที่ยังไม่สามารถตั้งตัวได้ 

“ไรเดอร์เป็นอะไรที่หาเงินง่ายที่สุดแล้ว แต่ก็เสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ” 

“หนูวิ่งงานสองสามเดือนแรกก็รถชน ต้องเย็บที่ปาก ใส่เฝือกอ่อนที่แขน หยุดงานไปเป็นเดือน ทางบริษัทบอกว่า เราต้องรับค่าชดเชยจากประกันของรถยนต์ก่อนถึงจะมาใช้สิทธิ์ประกันของบริษัทต่อได้ ต้องสำรองเงินออกไปก่อนแล้วค่อยมาเบิกกับทางบริษัท แต่เราไม่มีเงินที่จะสำรองเยอะขนาดนั้น” มุกเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการทำงาน

ดังนั้น สวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการรองลงมาคิดเป็น 16.19% ก็คือเป็นลูกจ้างแทนการเป็นพาร์ทเนอร์ซึ่งหมายถึงสวัสดิการที่มากขึ้นและการคุ้มครองสิทธิต่างๆตามกฎหมายตามมาด้วยประกันสุขภาพ 13.38% ประกันรายได้ขั้นต่ำรายวัน 12.06% 

“อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง อยากมีรถยนต์เป็นของตัวเอง โดยที่ชีวิตเราไม่ต้องมาดิ้นรนเหนื่อยขนาดนี้ ไม่ต้องมาแบบทำงาน 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมงแล้วต้องกลับบ้านไปเลี้ยงลูกอย่างนี้ ความรู้สึกหนู ก็เหมือนคนจนทั่วไปเลยค่ะ เมื่อไหร่กูจะถูกรางวัลที่ 1 สักที เมื่อไหร่จะได้เงินก้อนนี้สักที” 

ถึงจุดนี้ มุกเสียงสั่นเครือเล่าว่า บ้านหลังนี้เป็นของน้องสาวที่ยอมให้มาอยู่ด้วย เธอพยายามจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน แต่อาชีพแรงงานแพลตฟอร์ม ‘ไม่มั่นคง’ ไม่มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ บริษัทไม่มีเอกสารยืนยันสถานะการทำงาน ให้เป็นหลักฐานการเงินเพื่อค้ำยันการกู้เงินหรือทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เลย

มุกย้ำว่าต่อให้บางวันไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ หรือมีรายได้ไม่พอ อย่างน้อยที่สุด ขอแค่กลับบ้านไปเจอหน้าลูกทุกวัน 

“การมีบ้านของตัวเองก็ยังเป็นความฝัน เราถึงได้เรียกร้องขอสวัสดิการ อย่างน้อยถ้าเราตาย หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ มีเงินสักก้อนหนึ่งรองรับลูกเรา หรือตัวเรา ให้ไม่ลำบากไปสักช่วงเวลาหนึ่ง” 

สู้เพื่อสิทธิพึงมีพึงได้

แม้แรงงานแพลตฟอร์มจะเป็นแรงงานแห่งอนาคต แต่เปราะบางความฝันและความหวังยิ่งนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าตลอดปี 2564 ในประเทศไทยมีการสั่งอาหารดิลิเวอรีไม่ต่ำกว่า 120 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท เติบโต 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดโควิด 19 เกิดแพลตฟอร์มดิลิเวอรีเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ขึ้นมากมายทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น ทว่า ภาพรวมที่เติบโตขึ้นกลับไม่ทำให้พนักงานส่งอาหารเหล่านั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย 

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้คนตกงานอย่างกะทันหันต้องเร่งหางานใหม่มาจุนเจือครอบครัว ทำให้จำนวนไรเดอร์เพิ่มมากขึ้นจนแพลตฟอร์มไม่ต้องกังวลเรื่องการเอาใจแรงงาน เพราะเมื่อมีคนไม่พอใจ หรือลุกขึ้นมาเรียกร้อง ก็สามารถปิดระบบ แล้วเปิดรับคนใหม่ได้ทันที ประกอบกับการมุ่งแข่งขันเรื่องค่าบริการที่ถูกลง ทำให้ค่าตอบแทนของไรเดอร์ลดลง และอาจมีการลงโทษไรเดอร์กรณีแย่งกันรับงานหรือปฏิเสธการรับงาน หรือส่งงานไม่เรียบร้อย โดยไม่อาจโต้เถียงได้

วันที่ 3 ธันวาคม 2563 ‘พรเทพ ชัชวาลอมรกุล’ ตัวแทนกลุ่ม “ไรเดอร์” เข้าพบคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องสวัสดิการที่เป็นธรรม ของแรงงานแพลตฟอร์มที่ปราศจากการดูและและคุ้มครองที่เป็นธรรมในทางกฎหมาย 

แต่ความเคลื่อนไหวของเหล่าไรเดอร์ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะในปี 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจที่ชื่อว่า “สหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union)” รายงานการหยุดงานประท้วงของไรเดอร์ส่งอาหารในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมและสวัสดิการที่พวกเขาคิดว่าควรจะได้รับจากแพลตฟอร์มที่ทำเงินปีละหลายหมื่นล้าน

จากปัญหาตั้งต้นคือความไม่ชัดเจนเรื่องสถานะ สู่ปัญหาเรื่องค่าแรง หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ และสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงานที่กล่าวมา ‘เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร’ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labour Institute; JELI) เสนอทางออกที่ควรจะเป็น คือ การสร้างกรอบกฎหมายแบบใหม่และดุลอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ขึ้นใหม่ ในเมื่อกฎหมายเดิมก่อนที่โลกจะถูก Disrupt ด้วยธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่อาจรองรับความซับซ้อนและยืดหยุ่นของระบบแรงงานในโลกยุคใหม่ รวมถึงรายละเอียดของงานในแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งแตกต่างกัน ไรเดอร์ส่งอาหาร ไรเดอร์ส่งเอกสาร ช่างซ่อมอุปกรณ์ภายในบ้าน แม่บ้านทำความสะอาด ฯลฯ ล้วนแต่มีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน บางรูปแบบอาจยืดหยุ่นทำงานได้กับหลายแพลตฟอร์มมากกว่าอีกรูปแบบ ความรับผิดชอบที่แพลตฟอร์มจะต้องมีต่อคนงานก็อาจไม่จำเป็นต้องเท่ากัน 

แต่แน่นอนว่าจะต้องเป็นธรรมต่อคนทำงานทุกคน 

ในแวดวงวิชาการ มีข้อถกเถียงกันหลายปี ว่า Gig Economy มีหลายประเภท และการทำงานครั้งเดียวแล้วจบ มักถูกบอกว่าเป็นอาชีพอิสระ จึงไม่มีข้อตกลงการจ้างงาน ดังนั้น ความสัมพันธ์กับบริษัทแพลตฟอร์มกับคนทำงาน จะถือว่าเป็นนายจ้าง – ลูกจ้างหรือไม่ หรือจะยอมรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ดังที่บริษัทพยายามกำหนดให้เป็นพาร์ทเนอร์ “หุ้นส่วน” ระหว่างกัน แต่ความสัมพันธ์เช่นนี้เท่าเทียม เป็นธรรม และคนทำงานต่อรองกับแพลตฟอร์ม ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหรือไม่ ประสบการณ์ของ “แหวว” และ “มุข” สะท้อนให้เห็น 

“วิธีคิดแบบ Gig Economy เป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มาที่คนตัวเล็กตัวน้อย ถ้าสังเกตดี ๆ กลายเป็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นแรงงานขับรถขนส่ง หรือผู้ให้บริการกลุ่มอื่น ๆ ทั้งที่จริงแล้ว แรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนลงทุนเองหมดเลย โดยบริษัทแพลตฟอร์มไม่ได้ทำส่วนนี้ แต่ทำหน้าที่เป็นแค่ ‘จัดการ’ (Provider) ช่องทางการสื่อสารเท่านั้น” 

“แรงงานแพลตฟอร์มจะเป็นอาชีพอิสระได้อย่างไร ในเมื่อบริษัทเข้าไปจัดการกระบวนการทำงานกำหนดต้องใส่ชุดฟอร์ม และสามารถลงโทษคนทำงานได้”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์’ นักวิชาการอิสระด้านแรงงานและที่ปรึกษา กรรมาธิการแรงงาน ตั้งข้อสังเกตและยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนี่หน่วยงานราชการ – กระทรวงแรงงานพยายามปฏิเสธการเข้ามามีบทบาทคานอำนาจการจ้างงานใหม่ให้เป็นธรรม เขาเห็นปัญหานี้มาไม่น้อยกว่า 4 ปี

“กลายเป็นว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอะไร ในแง่ของความที่เป็นรูปประธรรมเลย และพยายามจะผลักดันออกไปว่า แรงงานแพลตฟอร์มเป็นการรับจ้างทำของ อย่างเช่น คนขับรถขนส่ง มองเขาเป็นรับจ้างทำของเพื่อที่จะไม่เข้ากับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ผลักให้ไปเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือการผลักภาระความรับผิดชอบให้เป็นแรงงานแพลตฟอร์มเป็น Informal worker หรือ ‘แรงงานนอกระบบ’” 

นั่นหมายความมว่า คนงานจะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตามมาตรา 33 , 39, 40 โดยบริษัทและรัฐไม่ต้องรับผิดชอบพวกเขา และผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงเช่นกัน และทางกระทรวงแรงงานพยายามผลักดันเรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ซึ่งผ่าน ครม. รอบแรกแล้ว พยายามให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในแรงงานนอกระบบ คือทางภาครัฐไม่ยอมใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ที่มีความซับซ้อนในการจ้างงาน

ศักดินา ฉัตรกุล’ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายส่วนใหญ่ของไทยขณะนี้อิงอยู่กับสภาพการจ้างงานของโลกในยุค 2.0 ที่ยังมองว่าคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสายพานการผลิต ทว่า สภาพบริบทสังคมไทยที่เป็นจริงอยู่ในยุค 4.0 แล้ว คนผละออกจากสายพานการผลิต มีลักษณะการทำงานเป็นการรับจ้างเหมาช่วง หรือ Outsource หลากหลายรูปแบบการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งสภาพการจ้างงานเหล่านี้ ไม่ถูกพิจารณาในการร่างกฎหมายใหม่ และกฎหมายเก่าก็ไม่ได้ถูกทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ทำให้คนทำงานจำนวนมาก ทั้ง ‘พลัดหลง’ และ ‘หลุดรอด’ จากการคุ้มครองทางกฎหมาย 

“เรามีกฎหมายแรงงานเพื่ออะไร?” หากไม่ใช่หลักประกันทางสังคมขั้นต่ำสุดให้กับคนงาน

ต้นปี 2564 ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรมีมติให้คนขับรถของอูเบอร์ (Uber) ไม่ใช่พาร์ตเนอร์หรือลูกจ้างอิสระ มีสถานะเป็น “พนักงานบริษัท” (worker)  เทียบเท่ากับพนักงานของบริษัท และมีสิทธิ์ในสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน บริษัทต้องประกาศจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการบำนาญ และจ่ายเงินวันลาให้แก่คนขับอูเบอร์ทั่วประเทศ กว่าจะได้ข้อยุตินี้ใช้เวลาต่อสู้กินเวลา 5 ปี รวมทั้งสเปน อิตาลี และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย พยายามต่อสู้เรื่องนี้ให้แรงงานแพลตฟอร์ม โดยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาคุ้มครอง

“สำหรับประเทศไทย กฎหมายแรงงาน รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งกระทบกับคนจำนวนมาก แต่กระบวนการร่างกฎหมายมักกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อย เช่น ข้าราชการ ซึ่งเขามีความเข้าใจกับปัญหาที่ค่อนข้างจำกัด แต่การที่ให้คนที่เป็นเจ้าของปัญหาเข้ามา ‘มีส่วนร่วม’ ในการยกร่างกฎหมายด้วย ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก”

และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากศักดินา คือ “ให้เป็นการจ้างงานที่ทำให้คนได้ประโยชน์เป็นการจ้างงานที่ดีมีความยุติธรรมที่สามารถที่จะทำให้ชีวิตของคนงานเป็นไปได้แล้วก็กิจการต่างๆสามารถไปได้ผู้ประกอบการไปได้เศรษฐกิจโดยรวมไปได้” 

พร้อมยกตัวอย่างข้อเสนอ “Fair Work” ที่ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาข้อเสนอนี้กับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford) มีกรอบในการพิจารณา 5 ด้าน คือ

  • Fair Pay การได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  • Fair Condition การมีความปลอดภัยในสวัสดิการ หรือเงื่อนไขสภาพการจ้างที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน มีสวัสดิการ 
  • Fair Agreement มีข้อตกลงที่เป็นธรรมกับคนทำงานทั้ง 2 ส่วน ทั้งนายจ้างและส่วนที่รับจ้างทำ 
  • Fair Management การบริหารจัดการที่มีความยุติธรรม ขณะนี้ บริษัทแพลตฟอร์ม เริ่มใช้ AI มาเป็นตัวบริหารจัดการ ซึ่งพบว่า นอกจากไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งยังทำให้คนต้องทำงานอย่างหนัก 
  • Fair Representation การที่ให้คนมีสิทธิ์มีเสียงรวมตัวได้ เจรจาต่อรองได้ เหมือนกับส่วนอื่น ๆ  

ศักดินา ย้ำว่า ประเทศไทยยังไม่ใช่รัฐสวัสดิการ และไม่ให้อำนาจในการรวมกลุ่มของคนงาน ก็ต้องมีกฎหมายที่มีคุณภาพเป็นหลักประกันทางสังคมขั้นต่ำสุด อย่ายอมให้รัฐมากำหนดว่าเป็นแรงงานนอกระบบ

มิฉะนั้น แรงงานแพลตฟอร์ม ที่คนพลัดหลงเข้ามาด้วยความหวังว่าจะเป็นแรงงานแห่งอนาคต

แรงงานแพลตฟอร์มจะเปราะบางความฝันและความหวังมากกว่าใคร


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active