‘แสง’ สร้างเมือง ส่องอนาคตเกาะรัตนโกสินทร์

แสงสว่างที่ดีสำหรับทุกคน คือความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง

ในวันที่มนุษย์สามารถคิดค้นวิธีการสร้างแสงด้วยตัวเอง โลกนี้ก็ไม่มืดมิดอีกต่อไป ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับสังคม อีกด้านหนึ่ง “แสงในเมือง” ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสะท้อนความศิวิไลซ์ ความเจริญ และความปลอดภัยของผู้คน

The Active ชวนไปสำรวจแนวคิด “แสงสร้างเมือง” ภายใต้คอนเซปต์ Urban Lighting กับการพัฒนาเมืองที่เริ่มต้นจากแนวคิดว่าแสงสว่างที่ดีสำหรับทุกคน คือความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นแสงในซอย ถนน สวน ทางเดิน ทางจักรยาน ท่าเรือ หรือจุดเชื่อมต่อการโดยสารสาธารณะ รถ ราง เรือ ต้องที่มีคุณภาพ ปลอดภัย แสงยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัยในเมือง ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

‘ชุมชนเมือง’ ในหลายประเทศได้นำการออกแบบแสงเข้าช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมเมืองให้มีแสงสว่างที่เพียงพอเหมาะสม เพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุและอาชญากรรมยามค่ำคืน อีกทั้งยังสามารถจัดแสงไฟสร้างบรรยากาศความรื่นรมย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้งดงามในยามค่ำคืน ผสมผสานกับวิถีชุมชนและผู้คนได้อย่างลงตัว

แต่ใประเทศไทยเองพบว่ายังขาดการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบ และวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญพัฒนาเมืองเก่า และเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยามค่ำคืน

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC – Lighting Research and Innovation Center) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ESIC – ESIC Edutainment & Socio-Interaction Computing LAB  คณะวิศวกรรมศาสตร์ Creative and Learning Society Research Cluster มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำ โครงการการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์ยามค่ำคืนของชุมชนเมืองเก่าแบบมีส่วนร่วมกรณีศึกษาย่านเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเมืองเก่าและเมืองท่องเที่ยว

นำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการส่องสว่าง ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ร่วมกับหลักทางวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง Internet of Thing (IoT) ที่สามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และเสริมสมรรถนะความฉลาดล้ำรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Internet of Things – IoT) หวังส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองเก่าและย่านให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสวยงาม ปลอดภัย และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่สนใจวิถีชีวิตศิลปะวัฒนธรรม

พร้อมมองแนวทางการจัดเทศกาล Light art festivals งานเทศกาลศิลปะ รวมถึงงานพัฒนาพื้นที่ในมุมเมืองต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างศักยภาพในของชุมชนให้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เมือง และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนเมืองในการที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพใหญ่ได้อย่างยั่งยืน

“ถ้าอยากจะรู้ว่าเมืองไหนมีการใช้ lighting ที่ดีหรือไม่ดี ก็ให้ดูว่าคนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะหรือเปล่า สำหรับการจัดการเรื่องแสง อย่างแรกเมืองต้องเข้าใจ และตระหนักว่าแสงที่ดีเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมือง ตอนนี้อาจจะมีคนร้องเรียนเรื่องแสงมากมาย ในแง่ของความปลอดภัย แต่จริง ๆ ไม่ใช่มีความสว่างแล้วมันจะปลอดภัย แต่ต้องมีการออกแบบแสงเพื่อสร้างความปลอดภัยได้จริงๆ ด้วย รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ต้องให้คนเข้ามามีส่วนร่วมออกความคิดเห็นและทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนเห็นพ้อง”

Emeritus Professor Warren Julian
Sydney School of Architecture, Design and Planning, THE UNIVERSITY OF SYDNEY

แสงส่องทาง สู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผศ.ดร. จรรยาพร สไตเลอร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า คนมากรุงเทพฯ ยังไงก็ต้องมาเกาะรัตนโกสินทร์ หากมีเวลาก็ต้องมาลงเรือ เราเห็นศักยภาพในพื้นที่ แต่พบว่าการออกแบบแสงสว่างยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ แลนด์มาร์คสำคัญ หลายจุดตกแต่งด้วย หลอดไฟ LED ซึ่งอันที่จริงแล้วสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกมาก อีกสิ่งที่น่าเสียดายคือในเมืองไทยก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของอาชีพนักออกแบบแสง หรือ lighting designer ไม่ใช่ว่าสาขาวิชาชีพนี้ไม่มีความสามารถ แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะไม่มีการออกแบบโดยการมีส่วนร่วมของนักออกแบบแสงโดยตรง หากจะมีก็น้อยมาก

“ที่เราพูดว่ารัฐอยากจะมีเป้าหมาย อยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และถ้านักท่องเที่ยวอยู่เพิ่มอีกเพียงหนึ่งคืน เงินจะเพิ่มเข้ามาในกระเป๋าคนไทย มหาศาล หากมีการออกแบบแสงที่ดีเมืองน่าอยู่ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยวชัดเจน อย่างที่สองคือคนที่อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เอง ก็มีวีถีชีวิตของเขา ถ้าเราอยากผลักดันให้คนเดินมากขึ้น ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การมีแสงสว่างทำให้คนรู้สึกว่าเดินได้และในระหว่างทางมีอะไรสวยงามให้ดู ร้านค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ริมถนน ก็จะได้ประโยชน์ด้วย ก็จะช่วยเศรษฐกิจชุมชน ภาพใหญ่ และภาพลักษณ์ของเมืองไทยก็จะดูดี

ผศ.ดร. จรรยาพร หวังว่า ปลายทางของโครงการนี้จะนำไปสู่การตกผลึกให้เห็นกระบวนการของการพัฒนาเรื่องการออกแบบติดตั้งแสงในเมืองเก่า เพราะฉะนั้นจะไม่จบแค่เกาะรัตนโกสินทร์ แต่หมายถึงการนำบทเรียนและวิธีการไปใช้พัฒนากายภาพของเมืองอื่น ๆ ได้

ออกแบบและจัดการแสง ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม

ผศ.ดร.ปริยกร ปุสวิโร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศและดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าห้องวิจัยการประมวลผลความบันเทิงและปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม (Edutainment & Socio-Interaction Computing) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การออกแบบแสงในชุมชนเมือง บ่อยครั้งที่เราเห็นการเอาแสงมาใช้ในงานเทศกาล หรือพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งมีผลช่วยดึงคนให้เข้าสู่พื้นที่กิจกรรม แต่การออกแบบแสงที่ดีและการติดตั้งอย่างทั่วถึงยังสามารถช่วยให้พื้นที่ในชุมชนมีความสว่าง และผู้คนมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งไฟในพื้นที่ชุมชน จุดเชื่อมต่อระบบคมนาคม ทางเท้าต่างๆ โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยทำให้แสงเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ให้ความสว่างและปลอดภัยให้กับผู้คนได้

แต่ในมิติของความรู้สึกปลอดภัย มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับการออกแบบ เพราะบางครั้งความสว่างอาจไม่ได้ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยก็ได้ ดังนั้นจึงต้องออกแบบและใช้เทคนิควิธีการต่างๆ ที่จะทำให้พื้นที่สว่าง ปลอดภัยโดยกายภาพ และทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยด้วย

“ยกตัวอย่างในบางพื้นที่ ที่มีแสงสว่าง แต่ไม่ทั่วถึง สว่างเพียงบางจุด หรือสว่างแต่ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าทางที่เดิน มีหลุมบ่อหรือไม่ หรือสว่างแนวดิ่งทำให้มองไม่เห็นใบหน้าของคนที่เดินสวนมา ก็ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกว่าปลอดภัยต่อการเดิน ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต แม้ว่าจุดนั้นอาจไม่ได้มีเหตุก็ได้แต่เป็นเรื่องความรู้สึก หรือสว่างจัดจนกลายเป็นแยงตา และรบกวนสิ่งรอบข้าง แบบนี้ก็เรียกว่ามลพิษทางแสง จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนในการออกแบบแสงในเมือง”

ผศ.ดร.ปริยกร อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในมุมของวิศวกรยังสามารถติดตั้งไฟโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เช่น IoT การใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมแสงอัตโนมัติ การมีเซนเซอร์กำกับ เมื่อพระอาทิตย์ตก ไฟจะต้องสว่าง เมื่อจุดไหนมืดให้ไฟเปิดได้ หรือแม้แต่การควบคุมระดับของความสว่างให้เหมาะสม ผ่านการเลือกใช้อุปกรณ์ให้แสงสว่าง ความสามารถในการประเมินค่าใช้จ่ายทางพลังงานได้ดีมากขึ้น รวมถึงทางเลือกในการใช้พลังงานที่หลากหลาย เช่น การใช้โซลาร์เซลล์ การใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน

“วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรพลังงาน วิศวกรคอมพิวเตอร์ สามารถทำงานร่วมกันกับนักออกแบบแสง หรือ lighting designer เมื่อมีความสว่าง ไม่ว่าจะตามถนน ซอกซอย ชุมชนเก่าก็ตาม ผลพวงที่มันจะได้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ก็สามารถทำให้พื้นที่นั้น ๆ มีความสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เฉพาะหากมีการจัดงานกิจกรรมเชิงพื้นที่ โดยใช้แสงเป็นสิ่งนำทาง ก็จะทำให้พื้นที่นั้นเกิดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์มากขึ้น”

เมืองต้องการ แผนแม่บทในการจัดแสงที่ดีและทั่วถึง

ฐะนียา ยุกตะทัต Lighting Designer ประเมินกายภาพของการติดตั้งไฟในเกาะรัตนโกสินทร์ ว่า โดยรวมเป็นการออกแบบแยกส่วนพื้นที่ จุดที่มีการติดตั้งดีเหมาะสม เช่น พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง แต่ยังขาดจุดเชื่อมต่อ หรือแผนการติดตั้งไฟในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ ติดตั้ง จัดแสดงไฟที่ดี

“เท่าที่เห็นมีการออกแบบแยกกันในแต่ละจุด เช่น ถ้าเราไปถ่ายรูปมันก็จะสวยเป็นมุม ๆ ถนนสวยเป็นช่วงๆ แต่ว่าในแง่ของเมือง ความต่อเนื่องในการจัดแสดงหรือติดตั้งไฟ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ทั้งที่ ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกมากในเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรืออาคารเก่า การออกแบบที่ดีจะต้องมีการวางแผน ว่าจุดไหนจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่วน ส่วนรองลงมาตามลำดับ เพื่อให้ไปทำหน้าที่แสดงความสำคัญ”

ยังมีโอกาสอีกเยอะมากในการพัฒนาแผนการติดตั้งไฟในเกาะรัตนโกสินทร์ หรือ urban lighting design อย่างตัวเองเป็นนักออกแบบแสง ก็อยากให้มีไกด์ไลน์ว่า พื้นที่นี้ควรจะออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับความเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้อาคารหรือสถานที่ทั้งรัฐและเอกชนมีแนวทางตั้งต้นในการทำงานเรื่องแสง และอยากให้มีนักออกแบบแสงทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง

“เกาะรัตนโกสินทร์มีเรื่องราวบริบทของพื้นที่ และองค์ประกอบสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมมหาราชวัง ที่ยังไม่มีการออกแบบภาพรวม อาจจะมีการดีไซน์ภาพย่อย แต่ยังไม่มีภาพรวมที่ทำให้เห็นว่าควรจะเป็นยังไง ไกด์ไลน์ แนวทางการใช้สี การติดตั้งแสงของพื้นที่ เช่น ใช้สีอุ่น สีแดง หรือสีอะไรปนกัน อาจจะมีให้เห็นเหมือน ๆ กันอยู่บ้าง”


ฐะนียา มองว่า หากจะทำ master plan lighting หรือแผนการจัดแสดงไฟในเกาะรัตนโกสินทร์จะต้องเริ่มจากการศึกษาปัญหาที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ความต้องการแก้ไข และลักษณะทางกายภาพ เพื่อวางเป็นโครงร่างของ master plan lighting

การควบคุมแสงเป็นหน้าที่ของใคร ?

ชัยรัตน์ จงเจริญสุข นักวิเคราะห์ผังเมืองปฏิบัติการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร บอกว่า เรื่องแสงสว่างที่มักมีข้อร้องเรียนและข้อเสนอในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของแสงสว่างที่จ้าเกินไปจนรบกวนทัศนียภาพ หรือการใช้ชีวิต และการขอให้มีไฟส่องสว่างทั่วถึง ซึ่งส่วนของไฟส่องสว่างในถนนเล็ก ตรอกซอกซอย สำนักงานเขตในพื้นที่ดูแล

ถ้าเป็นไฟทางหลัก ไฟขนาดใหญ่ สำนักการโยธา และอีกหลายหน่วยงาน เช่น ทางถนนอาจจะมีกรมทางหลวงดูแล การติดตั้งไฟต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะมีมาตรฐานเรื่องสี แสง ตามข้อกำหนดของหน่วยงานราชการอยู่แล้ว ส่วนเรื่องไฟอาคารจะเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของพื้นที่จะสามารถจัดหาติดตั้งโดยการพิจารณาด้วยตนเอง เรื่องแสงสว่างอาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสำนักผังเมืองโดยตรง จะดูแลเพียงพื้นที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ฯ โบราณสถานบางส่วนที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกรมศิลปากรอีกทีหนึ่ง ส่วนราชการบางพื้นที่

“เช่น วัดอรุณฯ จะเป็นส่วนที่สำนักผังเมือง ดูแลร่วมกับกรมศิลปากรในฐานะที่เป็นโบราณสถาน แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องแสงโดยตรง แต่ในเบื้องต้นข้อเสนอเรื่องการวางแผนภาพรวม ทำแสงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ในทัศนียภาพยามค่ำคืน สามารถทำได้ผ่านแผนแม่บทการควบคุมแสง อาจจะออกเป็นข้อบัญญัติของกรุงเทพฯ โดยให้สภากทม. เป็นผู้พิจารณา ก็อาจจะช่วยได้ในเรื่องการควบคุมแสงได้อีกทาง หรืออย่างป้ายโฆษณาเองก็ต้องมีการควบคุมเรื่องระดับความสว่างด้วยไม่ให้จ้าเกินไป”

ชัยรัตน์ มองว่า หากจะขับเคลื่อนข้อเสนอเรื่องแผนการจัดแสงในภาพใหญ่ของเกาะรัตนโกสินทร์ ในอีกทางหนึ่งคือการขอความร่วมมือจาก สำนักงานนโยบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนสำคัญของคณะกรรมกรอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในฐานะหน่วยงานสำคัญอีกหน่วยที่ดูแลพื้นที่

แสงแห่งการเริ่มต้น

เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาแสงในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โครงการการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์ยามค่ำคืนของชุมชนเมืองเก่าแบบมีส่วนร่วมกรณีศึกษาย่านเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ ได้เตรียมจัดทำแผนแม่บท ด้านแสงสว่างสำหรับพื้นที่กรณีศึกษา ได้แก่ ย่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า ย่านปากคลองตลาด และ ย่านบางลำพู เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. รวมทั้งจัดแสดงให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมในย่านบางลำพู ร่วมเดินสัมผัสเสน่ห์ของย่าน และเก็บประสบการณ์ร่วมกันในกิจกรรมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ โครงการวิจัยจะสิ้นสุดในช่วงเดือนตุลาคม คณะทำงานจะแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการแปลกเปลี่ยนและพัฒนาแนวคิดให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ของเกาะรัตนโกสินทร์ และย่านเมืองเก่าในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์