โรงงานปิด ชีวิตป่วน…ถามหาหลักประกัน ในวันที่ ‘ตกงาน’

ความไม่แน่นอนของชีวิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น… แต่ในความเป็นจริงผู้คนจำนวนมหาศาลกำลังดิ้นรนในวันที่ชีวิตเดินมาถึงทางตันจากความไม่มั่นคงทางอาชีพ

ตกงาน คือ ภาวะอันเลวร้ายสำหรับมนุษย์เงินเดือน คนขายแรงงาน เป็นอีกช่วงเวลาที่สะเทือนชีวิตท่ามกลางค่าครองชีพ และภาระหน้าที่ที่แต่ละคนก็แบกรับไม่เท่ากัน ยังไม่นับอีกหลายชีวิตที่ต้องได้รับผลกระทบจากผลพวงการตกงาน

ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน ตลอดครึ่งปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมไทย ตกอยู่ในสภาวะที่แย่ไม่น้อย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้ว เฉลี่ย 113 แห่งต่อเดือน มีคนงานถูกเลิกจ้าง 15,342 คน เทียบกับเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน เพิ่มขึ้นมา 2 เท่าตัว สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย

โรงงานปิดตัว แรงงานตกงาน สร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักให้กับทุกชีวิต แรงงานขาดรายได้ หลุดออกจากงานที่บางคนทำมานานหลายสิบปี บางคนต้องหันไปทำอาชีพใหม่ แต่ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น คือ การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก ๆ ในครั้งเดียว ก็ส่งผลกระทบต่อตัวแรงงาน สำหรับแรงงาน ลูกจ้างบางคน ยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างหลังถูกเลิกจ้างกระทันหันเสียด้วยซ้ำ

หลายต่อหลายครั้งภาพการออกมาเรียกร้องของแรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ แต่ในมุมกลับกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจฝ่ายนายจ้างก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย จึงเป็นข้อถกเถียงกันในเชิงกฎหมาย

เมื่อเหตุการณ์การเลิกจ้างเกิดขึ้น หลายชีวิตก็ต้องปรับตัวใหม่เพื่อเดินต่อ… 

อาภาภรณ์ อังวะ อดีตแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

‘ตกงาน’ ครั้งเดียว…ชีวิตเปลี่ยน

กว่า 27 ปี กับบทบาทลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง จนเชื่อว่านี่คืออาชีพที่มั่นคง แต่แล้วชีวิตของ อาภาภรณ์ อังวะ ในวัย 53 ปี กลับต้องพลิกผัน ปลายปี 2566 เธอกับสามี และเพื่อนพนักงานอีกหลายคนถูกเลิกจ้างอย่างไม่ทันตั้งตัว

นายจ้าง อ้างเหตุผลจากภัยสงครามกระทบให้โรงงานต้องลดต้นทุน นำมาสู่การตัดสินใจเลิกจ้าง แน่นอนสำหรับชีวิตพนักงานแล้ว คงไม่ยุติธรรมนัก

ผ่านมาเกือบครึ่งปีที่ชีวิตไม่ได้อยู่บนเส้นทางมนุษย์เงินเดือน ปัจจุบันนี้เธอผันตัวเองมารับจ้างขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี ที่ทำงานแห่งใหม่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก ทุกเช้า อาภาภรณ์ เลือกเดินมาทำงาน เพื่อไม่ต้องเสียค่ารถ แลกกับค่าแรงวันละ 450 บาท

แม้มีงาน มีรายได้ให้พอจุนเจือครอบครัวหลังถูกเลิกจ้างแบบฟ้าผ่า แต่ชีวิตครอบครัวกลับมาพบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อสามีที่ถูกเลิกจ้างพร้อมกัน ตอนนี้จำเป็นแยกกันอยู่ เพื่อไปหางานใหม่ทำ ท่ามกลางผลกระทบทางจิตใจ จนเกิดภาวะความเครียด

อาภากรณ์ อาศัยอยู่กับลูกอีก 2 คน ซึ่งผลพวงจากการถูกเลิกจ้างครั้งนั้น ทำให้ลูก ๆ ต้องหยุดแผนการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เอาไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวไม่เหมือนเดิม ประเมินแล้วว่าคงจะสู้ค่าเล่าเรียนของลูก ๆ ไม่ไหว ลูกสาวต้องเปลี่ยนมาเรียนระดับ ปวส. แทน และทำงานพาร์ทไทม์หารายได้เสริมช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ไปด้วย ส่วนลูกชายอีกคนพับแผนเรียนต่อไปก่อน ออกมาทำงานช่วยแม่ หาเลี้ยงครอบครัว

แม้จะได้เงินชดเชยอย่างถูกต้องตามสิทธิ์มาก้อนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนภาระข้างหลังที่ต้องใช้จ่าย ทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูก เธอบอกว่า เมื่อก่อนช่วยกันหาเงิน 2 คนกับสามีก็ยังไม่ค่อยจะพอ แต่ตอนนี้ขาดรายได้ไปมาก ทุกอย่างในชีวิตก็ต้องปรับใหม่หมด

อาภาภรณ์ อังวะ อดีตแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

“อายุมากขึ้นทุกวัน ไปสมัครงานที่ไหนก็คงไม่มีใครรับ ด้านจิตใจ ก็กังวลเช่นกันว่า ตัวเองจะป่วย หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เพราะบางครั้งรู้สึกเศร้ากับชีวิต ไม่รู้จะเดินไปทางไหน”

อาภาภรณ์ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

เธอ ยังมองว่า นายจ้างอาจจะไม่ได้คิดในมุมของลูกจ้างว่าการถูกเลิกจ้างหลังทำงานมายาวนาน จะส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง ค่าชดเชยที่ได้รับมาอาจไม่คุ้ม เพราะถ้าเธอยังทำงานจนถึงเกษียณอาจทำให้ลูก ๆ มีโอกาสเรียนจนจบ

ประสบการณ์ชีวิตของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่าง อาภาภรณ์ อาจเรียกได้ว่ายังโชคดีกว่าเพื่อนพนักงาน และลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่ยังรอคอยเงินชดเชยจากนายจ้าง อีกทั้งยังต้องพึ่งกระบวนการทางกฎหมายแรงงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากสำหรับลุกจ้างหลาย ๆ คน ที่ต้องมาต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างต่อศาล

เลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความด้านสิทธิแรงงาน บอกกับ The Active ว่า ประเด็นการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ นายจ้างจะอ้างว่าขาดทุนสะสม ขาดทุนต่อเนื่อง ขาดสภาพคล่อง ไม่มีคำสั่งซื้อ แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องปิดกิจการ ซึ่งไม่ใช่กรณีการเลิกจ้างที่ลูกจ้างกระทำความผิดตามกฎหมาย ฉะนั้นหน้าที่ของนายจ้างคือ “ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า” 

ถ้าลูกจ้างเห็นว่าข้ออ้างของนายจ้างต่อกรณีที่เลิกจ้างนั้นอาจไม่เป็นจริง หรือยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้าง กฎหมายเรียกว่า “เหตุผลยังไม่สมควรถึงขนาดที่ต้องเลิกจ้าง” ประเด็นนี้ ลูกจ้างมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลจะพิจารณาพิพากษา

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความด้านสิทธิแรงงาน

ถ้าศาลเห็นว่านายจ้างยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ หรือยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างมากมายขนาดนั้น ศาลก็จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายได้ ซึ่งเกณฑ์พื้นฐานที่ศาลสั่งให้ตอนนี้ อาจจะเรียกว่า เงินเยียวยา โดยลูกจ้างสามารถฟ้องศาล เรียกค่าเสียหายให้เท่ากับค่าจ้างตามอายุงาน แต่ลูกจ้างต้องชนะคดี ส่วนใครเสียหาย เดือดร้อนเป็นพิเศษ หรือมากกว่าเกณฑ์ที่ศาลให้ปกติ ศาลก็จะพิจารณาส่วนนั้นไป กฎหมายมีเพียงเท่านี้

แต่ทนายความด้านสิทธิแรงงาน ย้ำว่า กฎหมายเยียวยาด้วยเหตุผลการเลิกจ้างโดยเศรษฐกิจในไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเยียวยาการเลิกจ้างโดยทั่วไปเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วควรมี ?

นอกจากนี้คดีด้านแรงงาน ถือว่า เป็นคดีที่ซับซ้อน ลูกจ้างก็ต้องมีทนายความ มีผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะมีรายละเอียดเยอะ จนกลายเป็นภาระของลูกจ้างถ้าจะลุกขึ้นสู้

“ถ้าเราเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมกับเรา เรามีสิทธิ์ฟ้องศาลเพื่อขอรับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ก็อาจจะถือเป็นการเยียวยาก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องฟ้อง และชนะคดี”

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน กล่าวย้ำ

ชฤทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีเลิกจ้างโดยเหตุผลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เท่าที่ดูภาพรวมจะแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  • ส่วนแรก เหตุที่นายจ้างอ้างนั้นเป็นความจริง แต่นายจ้างก็ไม่มีเงินเหลือต่อการรับผิดชอบสิทธิพื้นฐานของลูกจ้าง กลายเป็นลูกจ้างไม่ได้ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ซึ่งก็เป็นความผิดของนายจ้าง แต่ในทางกฎหมายนายจ้างไม่ได้มีเจตนาที่จะโกงเงิน ซึ่งก็พิสูจน์ได้ว่าไม่มีให้จริง ๆ กรณีแบบนี้ลูกจ้างหลายรายก็เดือดร้อนหนัก

  • ส่วนที่สอง คือความก้ำกึ่ง โดยมีเหตุว่าโรงงานหรือบริษัทขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ เช่น คำสั่งซื้อลดลง ก็ต้องมาดูว่าเหตุนั้นถึงสมควรพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ แต่ปรากฎว่านายจ้างก็เลือกที่จะเลิกจ้างไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระ จึงเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ๆ  กรณีนี้เป็นปัญหาว่าถ้าลูกจ้างต้องการความเป็นธรรมในส่วนนี้ ก็ต้องไปใช้สิทธิ์ร้องต่อศาลอย่างเดียว ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะในแง่การเจรจาต่อรองน่าจะยาก

  • ส่วนที่สาม นายจ้างอาจไม่ได้ประสบปัญหาหนักขนาดนั้น แต่ก็ขอเลิกจ้างในจังหวะ สถานการณ์ ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทนายความด้านสิทธิแรงงาน บอกว่า เวลาประเทศประสบภาวะวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ หรือภาวะทางสังคม มักจะมีภาพการเลิกจ้างลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เหตุการณ์ตอนเลิกจ้างแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างต้องไปดิ้นรนร้องเรียนตามกระทรวงแรงงาน ร้องพนักงานตรวจ ร้องศาลแรงงาน บางส่วนก็เลิกใช้สิทธิ์แล้วไปหาทางทำมาหากิน แก้ปัญหาของตัวเอง

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน จึงเห็นว่า รัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่เข้าไปดูแล ช่วยเหลือหรือสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อธุรกิจเริ่มทำท่าจะมีปัญหา ควรจะมีกลไก มาตรการ ที่รัฐเข้าไปจัดการตรงนี้ อย่างน้อยก็ทำให้ลดทอน บรรเทา เบาบางลงได้

โดยรัฐมักมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา เมื่อมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ๆ ระดับวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบทั่วโลก แล้วก็มากระทบถึงไทย เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 หรือในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ตอนนี้ยังไม่เห็นว่า รัฐมีมาตรการต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

กฎหมาย สร้างหลักประกันเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

“กฎหมายเขียนเป็นสิทธิ์ไว้ ถ้านายจ้างไม่จ่าย ลูกจ้างก็ต้องไปฟ้อง ซึ่งลองคิดดูว่าถูกเลิกจ้าง โรงงานปิด แล้วตกงานกระทันหัน ใครจะมีแรงไปฟ้องร้องดำเนินคดี ในขณะที่ต้องกินต้องใช้ ฉะนั้น แรงงานส่วนใหญ่ก็จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพ รายได้ของตัวเองไปก่อน คือมุ่งหางานทำเพื่อมาเลี้ยงครอบครัว นี่คือความเป็นจริงที่รัฐไม่ควรมองข้าม”

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน สะท้อนความเป็นจริง

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ แรงงานในโรงงาน ในสถานประกอบการต่าง ๆ พอถูกเลิกจ้างกระทันหัน ถ้าโชคดีก็ไปหางานใหม่ แต่สภาพความเป็นจริงที่เห็น ในฐานะของทนายความ มองว่า ตอนนี้ยากมาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีอายุมากแล้ว ก็มีความลำบากแน่ ๆ ซึ่งแรงงานก็จะมีทางเลือกแค่ ประกอบอาชีพอิสระ หรืออาชีพที่ไม่มีนายจ้าง เช่น ขับวินรับจ้าง เป็นไรเดอร์ ทำงานอะไรก็ได้ที่รับจ้างทั่วไป ยิ่งไม่มีหลักประกันเข้าไปใหญ่ 

ชฤทธิ์ บอกว่า แรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบมีความเชื่อมกัน แรงงานที่ตกงาน และไปอยู่ในภาคของแรงงานนอกระบบ ซึ่งก็ได้ยินมาว่ากระทรวงแรงงาน รัฐบาลก็พยายามจะผลักดัน กฎหมายเพื่อคุ้มครองดูแลของแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานอิสระ ซึ่งก็ไม่เห็นว่าในด้านกฎหมายจะมีมาตรการในเชิงนี้ เชิงที่จะประสานแรงงานในระบบที่ตกงาน แล้วจะมาฝึกอาชีพอย่างไร มีงานใหม่รองรับหรือไม่ จะไปทางไหนได้บ้าง ซึ่งจริง ๆ ก็ควรมี “กฎหมายที่เยียวยาการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ” 

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ไปดิ้นรนหางานทำ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองเป็นหลัก เพราะไม่มีกำลัง ความเดือดร้อนกองอยู่ข้างหน้าจึงต้องแก้ไขตรงนั้น ไม่มีแรงมาขวนขวายเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่จะมีลูกจ้างอยู่บางส่วนที่มีความคิด มีความตระหนักหรือมีความตื่นตัว มีความหวงแหนในสิทธิ์ของตัวเอง ลูกจ้างส่วนนี้ก็จะมาดำเนินการหรือลูกจ้างที่เขามีองค์กร รู้จักองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎกมาย หรือองค์กรของแรงงงานที่รวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงานต่าง ๆ โอกาสที่แรงงานจะไปใช้สิทธิ์ตามกฎหมายก็มีสูง”

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน ขยายความ

เขาเสนอว่า สิ่งที่ควรทำ คือ ต้องหาทางดูแลแรงงานให้ได้รับสิทธิ์ความเป็นธรรมในส่วนนี้ ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ที่ลูกจ้างต้องไปเรียกร้องสิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ยังมี มาตรการทางบัญชี หรือ มาตรการทางการเงิน ที่ให้ธุรกิจต้องคำนวณสิทธิประโยชน์ระยะยาวของลูกจ้างเอาไว้ คำนวณไว้ว่ามีลูกจ้างอยู่กี่คน เผื่อสมมติอีก 10 ปี ข้างหน้าต้องสิ้นสุดการจ้าง หรือต้องเลิกจ้าง จะต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างเท่าไร เป็นการคำนวณวงเงินไว้ และต้องมีมาตรฐานทางบัญชี

เขายังสะท้อนว่าปัญหาที่ผ่านมา ก็คือมีแต่ตัวเลข ก็สามารถใช้จ่ายไปได้ตามปกติ พอถึงเวลาที่ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง กลายเป็นไม่มีเงินก้อนนี้สำหรับประกันสิทธิ์ลูกจ้าง 

รัฐควรใช้มาตรฐานทางบัญชีนี้ มาทำให้ธุรกิจมีหลักประกันสำหรับสิทธิพื้นฐานที่ต้องจ่ายให้กับลูกจ้าง ฉะนั้นก็จะไม่มีเรื่องเบี้ยวการจ่ายค่าชดเชย เพราะสามารถตรวจสอบได้ 

หลักประกัน ‘ตกงาน’ รัฐต้องคิดต่อ…

สำหรับกรณีที่นายจ้างปิดกิจการ ไม่ว่าจะปิดจริงหรือไม่ ในทางกฎหมายก็เป็นปัญหา เพราะถือว่าถ้าปิดกิจการแล้ว การเลิกจ้างนั้นก็เป็นธรรม 

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน ย้ำว่าเป็นโจทย์ของรัฐที่จะต้องคิด ต้องทำการบ้าน ว่า กรณีแบบนี้จะทำอย่างไร เพราะการปิดกิจการหนียังมีให้ได้เห็นกันอยู่ การปล่อยให้เลิกจ้างแบบนี้ แล้วมาแก้ปัญหาทีหลัง คิดว่าเสี่ยงกับทุกฝ่ายไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด ดังนั้น ควรมีมาตรการเชิงรุก เชิงป้องกัน เพื่อจะแก้ตรงนี้

“ไม่ค่อยมีใครพูดถึง หรือไปดูชีวิตของพวกเขา ไม่ใครเก็บข้อมูล คนที่ถูกเลิกจ้างว่าต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ผมคิดว่าเราก็พอจะจินตนาการได้ว่าเขาลำบากอย่างไร เพราะบ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ ลูกต้องไปโรงเรียน มีคนท้อง มีเด็กอ่อน มีคนแก่ คนพิการ ที่แรงงานต้องดูแล อันนี้ก็เป็นความเดือดร้อน”

ในมุมของการทำงานเป็นทนายความด้นสิทธิแรงงาน เขาก็มองว่า ในแง่ของการบริหารต่าง ๆ ก็อาจจะมีการเยียวยาบ้าง แต่ยังไม่มีความชัดเจน ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ แต่มาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า บรรเทาความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยังจำเป็นต้องทำอยู่ ถ้ามองกลับไปที่ต้นเหตุ ก่อนเกิดการเลิกจ้าง น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด…

ปี 2567 ผ่านครึ่งปีแรกมาอย่างหนักหน่วง กระทรวงแรงงาน อาจจะต้องวางมาตรการสำหรับสถานประกอบการที่ประสบปัญหาเหล่านี้ แล้วถ้าจำเป็นจะต้องเลิกจ้างพนักงาน คิดว่าต้องมีข้อกำหนด มีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำอะไรบ้าง

สหภาพแรงงาน กับ สถานประกอบการควรมีแนวทางในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่า ถ้านายจ้างต้องเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง อย่างน้อยการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่แค่ 15 วัน ถึง 1 เดือน เพราะลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน ฉะนั้น อาจจะต้องมีระยะเวลาพอสมควรมากกว่านี้ รวมถึงหลักเกณฑ์ว่าใครควรออก ใครควรควรอยู่ ต้องคำนึงถึงผลกระทบและภาระของลูกจ้างด้วย

ทนายความด้านสิทธิแรงงาน ทิ้งท้ายว่า โรงงานที่ประสบปัญหาอาจมีช่องทางที่จะแนะนำลูกจ้างให้ไปทำงานที่อื่นได้ ต้องทำเป็นแผนใหญ่ รัฐเองก็ต้องคิดมาตรการที่ระบุว่า ถ้าบริษัท ธุรกิจประสบปัญหา รัฐต้องยื่นมือเข้าไป เพราะก็มีนายจ้างหลายส่วนที่ประสบปัญหาจริง ๆ โดยที่ดูแลลูกจ้างอย่างดีมาตลอด ต้องหาทางช่วยกันเพื่อให้เขาเดินต่อได้หรือมีทางเลือก ทางออก อาจเป็นเรื่องของกองทุนสินเชื่อต่าง ๆ ที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ ส่วนใครที่ฉวยโอกาส รัฐก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เคร่งครัดเพื่อให้เขาต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

การวิเคราะห์ในมุมกฎหมายนี้อาจสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคม เมื่อในความเป็นจริงการเยียวยา ไม่ได้สอดคล้องกับสิทธิพื้นฐาน หรือตัวบทกฎหมาย ซึ่งมีความซับซ้อน

แน่นอนว่าการได้รับการเยียวยาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อชีวิตแรงงานตัวเล็ก ๆ ที่หลุดออกจากระบบอุตสหกรรม แต่ยังมีแรงงานอีกหลายกรณีที่ตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้น มาตรการที่ชัดเจน และการยื่นมือเข้ามาของรัฐเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้ก็ควรทำให้เป็นที่ประจักษ์ และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะไม่ควรมีใครต้องออกมาเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ… เพื่อชดเชยแรงกายที่ได้ทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี