ห้วยตองก๊อ พื้นที่ความหวังอันไกลโพ้นนน…

ผลักดันความหวังด้วยทรัพยากรที่มี เพราะความหวังคืออนาคต

ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีเรามาปรากฎตัวอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทย  เราวางแผนการเดินทางครั้งนี้เพื่อมาตามหาคนที่ยังมีความหวังในสังคมที่แทบจะมองไม่เห็นความหวัง  โดยเดินทางไปกับ Return Hopeland Trip ของกลุ่ม อาสาคืนถิ่น ที่พาเราเดินทางผ่านคดโค้งมากมายจากเมืองกรุงมุ่งสู่เมืองสามหมอก

ไปในดินแดนที่ถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่แห่งความหวังของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน  และที่นั่นคือ ชุมชนห้วยตองก๊อ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้ การเดินทางผ่านถนนคดโค้งตามไหล่เขาที่ลาดชันท่ามกลางภูเขาเขียวครึ้ม

อะไรคือความหวัง ? เราตั้งคำถามกับสิ่งนี้เพื่อที่จะเดินทางไปหาคำตอบ กับ พะฉู่-กิตติพันธ์ กอแก้ว คนรุ่นใหม่ที่ยังเชื่อว่าชุมชนที่อยู่ หรือบ้านเกิด เป็น Hopeland สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังมีหวังกับชุมชนของตัวเองอยู่ แม้จะสวนทางกับระบบอุตสาหกรรมแรงงาน หรือสังคมปัจจุบันก็ตาม

ป๊อก แป๊ก… ป๊อก แป๊ก… ป๊อก แป๊ก…  เสียงน้ำค้างในเช้าตรู่หล่นกระทบหลังคาบ้านที่มุงด้วยใบตองก๊อเป็นจังหวะ แทรกขึ้นด้วยเสียงนกและไก่ขัน ดังขึ้นกลางหุบเขาที่สลับซับซ้อน อากาศหนาวสัมผัสร่างกายอย่างไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าตอนนี้กี่องศา สิ่งหนึ่งที่พอจะชวนทุกคนเห็นภาพร่วมคือควันที่ออกจากปาก แสงแรกแย้มผ่านทิวเขาสูง และหมอกบาง ที่ลอยขึ้นตามไหล่เขาเคลื่อนไปอย่าง ช้า ๆ เป็นสัญญานที่กำลังจะบอกว่า ยินดีต้อนรับสู่เช้าวันใหม่

ที่นี่คือชุมชนห้วยตองก๊อ ชุมชนเล็กกลางเขา ที่ไร้ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์ หลังจากนี้เราจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดีที่เราจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติในพื้นที่แห่งความหวัง  พร้อมกับการสนทนาเพื่อหาคำตอบอย่างเต็มที่ 

ชุมชนห้วยตองก๊อเป็นชุมชนขนาดเล็ก จากการบอกเล่าของ พะฉู่ ที่นี่ มี 26 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนมากทำเกษตรกรรมการปลูกข้าวไร่  รองลงมาคือการทำโฮมสเตย์ถึง 16 หลังคาเรือน และมีการทอผ้าและปลูกกาแฟเสริม ซึ่งส่วนมากคนที่อยู่ในชุมชนตอนนี้เป็นช่วงวัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ขณะที่เด็กและคนรุ่นใหม่จำต้องออกไปเรียน และทำงานข้างนอก ยิ่งทำให้ชุมชนที่มีคนน้อยอยู่แล้ว น้อยลงไปอีกโดยเฉพาะวัยแรงงานที่มีความรู้

แต่ พะฉู่ เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจอยู่ในชุมชน หลังจากเรียนจบครู ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เขาตัดสินใจพับเก็บใบปริญญา แล้วตั้งหน้าทำงานกับเยาวชนรวมถึงชาวบ้านเพื่อที่จะสร้างงานและรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ หวังให้เป็นสิ่งหนึ่งที่จะดึงลูกหลานของคนที่นี่กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง

เขาเห็นแล้วว่า คนรุ่นใหม่ เริ่มที่จะออกไปข้างนอก เหตุผลแรกแน่นอนคือการออกไปเพื่อที่จะเรียนหนังสือ แต่พอเรียนจบก็ต้องหางานต่อที่นั่น บางคนกลับมาเป็นครั้งคราว กลับมาเที่ยวบ้าง อาจจะเป็นปีละครั้ง ในช่วงปีใหม่ หรือสงกรานต์ แต่น้อยมากที่จะกลับมาเพื่ออยู่ที่บ้าน   

“มันทำให้ผมเห็นว่า ด้วยสังคม และทุนนิยมต่าง ๆ มันก็ขับคนรุ่นใหม่ออกไปข้างนอก ออกไปทำงานหาเงินใช้หนี้ต่าง ๆ ทำให้หมู่บ้านเราจากที่เคยใหญ่กว่านี้ เริ่มเล็กลง เริ่มมีประชากรเด็กที่น้อยลง แต่ก่อนเด็กเยอะกว่านี้ แล้วประชากรที่อยู่ในชุมชนตอนนี้คือวัยกลางคน กับคนชรา”  

เขามองว่าเมื่อคนแก่รุ่นปัจจุบันหมดไป คนแก่รุ่นต่อไปคือกลุ่มวัยกลางคน ณ ตอนนี้  ดังนั้นก็จะเกิดเป็น สังคมของผู้สูงอายุ  แล้วหลังจากนั้นผู้สูงอายุเหล่านี้จะอยู่ จะดำรงชีวิตกันแบบไหนหากไม่มีคนรุ่นใหม่อยู่ด้วย 

ตั้งต้นแรกเริ่มเขามุ่งมั่นทำงานกับเยาวชน พยายามคิดกิจกรรมมากมายเพื่อที่อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เยาวชนรู้สึกหวงแหนหรือเข้าใจบ้านเกิดจากการเรียนรู้วิถีชีวิต แต่ทำได้ไม่นานเขาพบว่าปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่า ต้องมีกิจกรรมในชุมชนหรือว่าต้องปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ให้รักบ้านเกิด แต่ “ปัญหาจริง ๆ คือเรื่องเศรษฐกิจของชุมชน” ซึ่งเป็นปัญหาหลักของชุมชนที่นี่  ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากกลับบ้าน คนรุ่นใหม่เขาไม่เห็นว่าทุนที่ชุมชนมีจะสร้างมูลค่าได้เป็นตัวเงินจริง ๆ  ทั้งที่นั่นคือมูลค่าที่คนข้างนอกเข้ามาเห็น ไม่ว่าจะเป็นทัวร์หรือกลุ่มที่เข้ามาจัดกิจกรรมในชุมชน 

“ผมเลยมองว่าปัญหาจริง ๆ คือเราไม่มีระบบฐานเศรษฐกิจในชุมชน ไม่มีอาชีพที่เขาคิดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้”

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ทำให้พะฉู่ อยากกลับมาบ้าน เพื่อช่วยงานและเพิ่มมูลค่าให้ทุน หรือทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่าเป็นฐานเศรษฐกิจเลยไหม?  เขาเล่าว่า อยากสร้างสิ่งนี้ให้มีในชุมชน ถ้าจะให้ทำตอนนี้มันค่อนข้างไวไป  เพราะต้องเข้าใจกลไกระบบต่าง ๆ เรื่องเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างคืออาชีพ หรือ ทักษะที่หลากหลายที่สามารถดึงคนรุ่นใหม่กลับมา ในชุมชนได้ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าชุมชนมีความหลากหลาย ในวันหนึ่งที่คนรุ่นใหม่เขารู้สึกว่าเบื่องานประจำในเมืองกรุง เขาอยากกลับมาพักผ่อน อยากกลับมีชีวิตชีวา พอเขากลับมาบ้านแล้วเห็นความหลากหลาย

การพยายามทำ ‘ทางเลือกของอาชีพ’ ที่หลากหลายก็หวังจะดึงคนรุ่นใหม่กลับมาอยู่ในชุมชน มาพัฒนาและออกแบบชุมชนว่าทำอย่างไร อีก 30-40 ปีข้างหน้า ตองก๊อ ยังมีความเป็นตองก๊ออยู่ ยังคงความเป็นวิถีชีวิตของปกาเกอะญออยู่ อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือไม่ใช่ทุกคนที่อยากกลับมาอยู่ที่บ้านหรือชุมชน  

“ต้องยอมรับว่าบ้านนอก เทคโนโลยีก็ไม่มีแล้วเราจะทำอย่างไรกับคนรุ่นใหม่อยากกลับมา เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้กับคนทุกคน แต่เราทำกับคนที่สนใจ อาจจะมีบางคนที่เขารู้สึกว่ายังอยู่ข้างนอก แต่ก็อยากจะช่วยชุมชนอยู่ ด้วยการเปิดเพจ เป็นแอดมินเพื่อดึงผู้คนเข้ามา” 

หากมองย้อนกลับไปที่ตัวของพะฉู่เอง เขาจะกลับมาอยู่ตองก๊อเลยไหม ณ ตอนนี้อาจจะใช่ แต่อีกสัก 2-3 ปี ข้างหน้า พะฉู่อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตองก๊อแล้ว พะฉู่อาจจะอยู่ในตัวเมือง และอาจกลับมาบ้าง การที่ต้องไปอยู่ในเมืองก็เพื่อทำให้ตัวเองเป็นกลไกหนึ่งที่จะเป็นตัวเชื่อมการหาผู้คน หากอยู่แต่ในชุมชน การสร้างกลไกทางเศรษฐกิจในชุมชนก็จะเป็นแบบเดิม ที่เป็นระบบชาวบ้าน แต่การมีคอนเน็กชัน มีความเป็น Global มากขึ้น ตรงนี้จะเป็นวิธีการดึงดูดคนเข้ามาศึกษาวิถีชีวิต ปกาเกอะญอ และเข้ามากระจายรายได้อีกทาง

การกลับมาทำงานกับชุมชนจริง ๆ และได้ถอดบทเรียนเพื่อที่จะตั้งลำใหม่ ทำให้พะฉู่เอง เห็นปัญหาต่าง ๆ  ที่ลึกกว่าที่ว่ามาก่อนหน้านั้น จึงอยากกลับมาจริงจังกับชุมชนสัก 2- 3 ปี ว่าจะเกิดผลอย่างที่คาดหวังไหม ชุมชนจะสามารถเปลี่ยนแปลง อยู่กับโลกที่เป็นยุคเทคโนโลยี  หรือยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด กระทั่งความเจริญที่กระจุกตัว แล้วเป็นแม่เหล็กดึงคนออกจากพื้นที่เพื่อไปตามหาความหวังและความมั่นคงข้างนอก 

ปัญหาอีกหนึ่งอย่างที่พะฉู่ แบ่งปันให้เราฟังนั่นคือ เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน โดยอธิบายขยายความต่อว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่มีใบยืนยันสิทธิว่าที่ดินที่นั่นเป็นที่ของเขาตามกฎหมาย ทำให้ไม่ได้มีความมั่นใจว่าถ้าหมดช่วงของพ่อแม่ไป ที่ตรงนี้จะโดนยึดหรือเปล่า  แล้วที่สำคัญคือเขาไม่รู้เลยว่า ที่ดินที่เขามี สามารถทำอะไรเป็นรูปเป็นร่าง จริง ๆ ได้หรือเปล่า 

“สมมุติว่าทำแล้ว ไม่มีสิทธิในการถือครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ สักวันหนึ่ง ผมปลูกกาแฟ หน่วยงานมาเจอแล้วบอกว่าผมบุกรุกพื้นที่แล้วไม่มีใบยืนยันสิทธิอะไรสักอย่าง  ทั้งที่ พื้นที่นี้ทำมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว ด้วยความเป็นมนุษย์ประชาชนธรรมดาที่ไม่สิทธิ  เขาไม่ได้สนใจคุณหรอก  เขาสามารถขับเราออกไปแน่นอนอย่างหลาย ๆ พื้นที่ ๆ กำลังมีปัญหา  

เขาเล่าว่า ถ้าตามกฎหมายจริง ๆ ที่ดินตรงนี้เป็นของป่าสงวนกับกรมอุทยาน  เรื่องนี้เป็นปัญหาทับซ้อน และมีมานานมาก หากจะแก้ปัญหาก็คงยาก เพราะคนที่จะแก้เรื่องนี้ต้องเป็นรัฐ  แม้ในเชิงปฏิบัติอาจจะประนีประนอมได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายอย่างไรพื้นที่นั้นก็ยังคงต้องเป็นของรัฐ แม้จะมีข้อมูลว่าชาวบ้านมาอยู่ก่อนแล้วก็ตาม  

ที่ผ่านมาพะฉู่และคนที่นี้จึงต้องต่อสู้มาตลอด อุปสรรคทางสิ่งแวดล้อมมากมายล้วนเป็นสาเหตุและแรงเสริมให้ชุมชนนี้เข้มแข็ง เราในฐานะผู้มาเยี่ยมเห็นอุปสรรคตั้งแต่การเดินทางเข้ามาแค่ครั้งเดียว คำบอกเล่าของพะฉู่พูดขึ้นเชิงให้กำลังใจ แต่เมื่อบทสนทนาเริ่มขยายความ มันก็ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ตลกร้ายได้เช่นกัน ในหนึ่งเดือนพะฉู่ต้องเดินทางขึ้น-ลงจากดอย ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เนื่องจากต้องติดต่อกับเครือข่ายและองค์กรมากมาย

อีกทั้งเรื่องการติดต่อสื่อสารที่ยากมาก ๆ การเดินทางลงไปในตัวเมืองแต่ละครั้ง เขาจึงต้องมีความชัดเจน และทำให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อไรที่กลับมาบ้านทุกอย่างไม่สามารถติดต่อได้แล้ว เพราะตองก๊อ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีสัญญาณ

“อุปสรรคอีกอย่างน่าจะเป็นเรื่อง หน่วยงาน หากมีองค์กรอิสระ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าใจชุมชนว่าชุมชนอยากพัฒนาอะไร การขับเคลื่อนงานน่าจะเร็วกว่านี้ แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจเรื่องที่ชุมชนจะทำ หรือพัฒนา ก็ยาก เพราะทุกอย่างงานที่ทำต้องผ่านเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าโครงการอะไรเขาต้องรับรู้รับทราบ องค์กรเหล่านี้เป็นผู้นำ สมมุติวางนโยบายตรงตามความต้องการชุมชน ซึ่งยังพัฒนาคนได้ สามารถพัฒนาอาชีพได้ไม่ต้องพัฒนาวัตถุ” 

พะฉู่ขอเพียงอย่างน้อย ๆ คืองานด้านอุปโภคบริโภค คือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนา เพราะทุกวันนี้น้ำจะกินก็แทบไม่พอในบางหมู่บ้าน น้ำ 

ตั้งต้นจากสิ่งที่ชอบ ต่อยอดจากสิ่งที่มี 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกได้จากชุมชนเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในป่าอันกว้างใหญ่นี้ คือความแข็งแรงของวิถี วัฒนธรรมปกาเกอะญอ แม้จะมี ผู้คนเข้ามาจากโครงการท่องเที่ยว แต่ชุมชนยังคงความดั่งเดิมของวิถีอยู่อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการทำไร่หมุนเวียน การทอผ้าแบบดั้งเดิม การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติที่ได้จากต้นไม้รอบ ๆ ชุมชน การตีมีด และอาจมีพืชเกษตรใหม่อย่างการปลูกกาแฟ เพิ่มเข้ามาแต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้วิถีที่นี่อ่อนแอลง พะฉู่จึงหยิบความดั่งเดิมที่แข็งแรง มาพัฒนาคู่ไปกับสิ่งใหม่ที่เข้ามาเพราะรู้สึกว่านี่แหละ คือโอกาส 

“ตอนนั้นตั้งต้นจากที่ผมเองชอบกาแฟ ผมเลยเลือกที่จะใช้กาแฟในการตั้งต้น และหยิบเอาผ้าทอ ที่มีในชุมชนมาต่อยอด มันมีภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นลุงของผมคือการที่พวกเขา มีความรู้มีทักษะเขาหารายได้ได้ แต่นั่นก็เป็นรายได้ที่พอต่อตัวเขาและเพียงพอกับการส่งลูกเรียน”

การที่พวกเขาสามารถส่งลูกเรียนให้จบได้ สำหรับคนในชุมชน ถือว่าเยอะแล้ว แต่หากตัวชุมชนอยากให้คนรุ่นใหม่กลับไปในชุมชน จะมีเพียงแค่นั้นไม่ได้ พะฉู่มองเห็นว่า จะต้องสร้างงานและสร้างระบบที่ดีให้กับชุมชนเพื่อที่จะดึงคนรุ่นใหม่กลับมาทำงาน

ต้องบอกว่าชุมชนห้วยตองก๊อ เขาสร้างฐานมาดี  เขามีกลุ่ม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเรากลับมาต่อยอด  เราว่ามันง่าย เพราะทุกคนเข้าใจเรื่องการทำงาน 

เขามองว่านี่อาจเป็นหวังที่มากเกินไป ถามว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จยัง เขาเล่าอย่างถ่อมตนว่า เป็นการประสบความสำเร็จขั้นแรกคือตัวชุมชนตื่นตัวแล้ว ตื่นที่จะพัฒนาตัวเองพยายามปรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การสร้างอาชีพ เขาพยายามปรับตัวเอง นี่คือสิ่งที่เป็นภาพความคาดหวังที่เริ่มเป็นรูปร่างว่ามันประสบผลสำเร็จ แต่เขาก็รู้สึกว่า มันยังไม่พอ ที่จะให้คนรุ่นใหม่กลับมา 

“สิ่งที่ผมหวังก็คืออยากให้คนรุ่นใหม่กลับมาออกแบบชุมชนห้วยตองก๊อ  และอยากเห็นคนรุ่นใหม่กลับมาอยู่กับครอบครัว  แต่ว่ายังทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่ากิเลสของมนุษย์เรา จะต้องอยากมีความมั่นคงทางสังคม มีบ้าน มีรถ แล้วเราจะตอบกิเลสของมนุษย์ได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ของผม”

การอยากเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ คือสิ่งที่ตัวเขาอยากมี แต่ว่าในชีวิตจริงกลับทำไม่ได้ ทุกอย่างกลับบีบ และขับ ว่าคุณต้องเหนื่อยก่อนนะคุณถึงจะอยู่ในจุดนั้นได้ 

ตะวันเริ่มคล้อย อากาศเย็น ๆ เริ่มสัมผัสร่างกายนั่นคือสัญญาณที่กำลังจะบอกว่า ใกล้จะหมดเวลาของวัน พอดีกับ ณ ช่วงเวลานั้น เราจบบทสนทนากับ พะฉู่  ด้วยแววตา และการเผยถ้อยคำของความหวังเขา

ก่อนที่เขาจะแนะนำให้เรา รู้จักกับ จอวา-อนุพงษ์  เดชไพรพนา ที่เป็นรุ่นน้องของเขา ซึ่งจอวาเป็นคนชุมชนห้วยตองก๊อโดยกำเนิด เดินทางไปเรียนและทำงานมาหลายที่ จนตอนนี้เขากลับมาตั้งหลักที่บ้าน ณ ที่นี้เราจึงตัดสินใจดึงตัวเขามาสนทนา ก่อนที่ตะวันจะลับท้องฟ้าภายในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า 

จากการสนทนาเบื้องต้น หลังจากจบ ม.3 จอวา ได้ลงไปเรียนต่อในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จบ ม. 6 แล้วตัดสินใจไกลบ้านออกไปด้วยการไปทำงานเชียงใหม่ ในตำแหน่งผู้ช่วยไกด์ ทำได้ไม่นานจังหวะเดียวกับโควิดระบาด เขาจึงต้องกลับมาอยู่ที่บ้านและหางานทำใกล้ ๆ ด้วยการเป็นเป็นพนักงานแฟลชส่งของ ทำได้ปีกว่า ยังไม่ทันจะตั้งหลัก เขาจับได้ใบแดงเป็นทหารอยู่ 1 ปี  หลังจากปลดประจำการก็กลับมาอยู่บ้าน ถ้านับเวลาตอนนี้ได้ประมาณ 2 เดือน 

จอวาเล่าว่าตอนนี้ กลับมาช่วยงานที่บ้าน ทำงานบ้าน ทำไร่ ทำนา และไม่ได้วางแผนในอนาคต แต่กำลังหาตัวตนตัวเองอยู่ว่าชอบอะไร ณ ตอนที่กลับมาอยู่ที่บ้าน ก็เรียนรู้ทุกอย่างที่อยู่ในชุมชนไปก่อน อย่าง ตีมีด จักสาน ทำไร่ ทำสวน เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกว่าสนุกที่สุดคือการที่เขาได้ ปลูกกาแฟ และดริปกาแฟ  ซึ่งก็ได้เรียนรู้จาก พะฉู่ที่เป็นรุ่นพี่ การสนทนาความคาดหวังของจอวาตรงกันกับพะฉู่ เขาเองอยากให้คนกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน อยากให้รายได้เข้ามาในหมู่บ้านโดยที่ไม่ต้องออกไปหาข้างนอก เพราะมองว่าหากทุกคนจะต้องออกไปหางานและเงินข้างนอกหมดแล้วใครจะอยู่ที่บ้าน 

“บ้านเราถ้าเราไม่อยู่แล้วใครจะอยู่ มันก็ต้องหารายได้เข้ามาในหมู่บ้านเรา เพื่อให้คนที่ออกไปข้างนอกเห็นว่าเราอยู่ในหมู่บ้านเราก็มีรายได้แล้วเขากลับเข้ามาอยู่ที่บ้าน อยู่บ้านไม่มีเงินก็อยู่ได้  เรามีข้าว หรืออย่างตอนที่เราไปไร่หมุนเวียนก็จะเห็นว่าเราถืออะไรออกมาเต็มเลย มีของกินตลอด”

การที่ชุมชนไม่ได้มีงานและเม็ดเงินที่มากมาย เลยตัดสินใจออกไปข้างนอกกัน คือสิ่งที่จอวาสะท้อนออกมา เขากังวลว่าหากเป็นเช่นนี้จะไม่เหลือใคร เหลือแต่พ่อแม่ ในหมู่บ้านก็จะเหลือแต่คนแก่  บ้านที่อยู่กันมาตั้งแต่เด็ก มีความผูกพันกับบ้าน ถ้าเกิดซักวันนึงไม่มีความเป็นปกาเกอะญอ ไม่มีชุมชนตองก๊อ ก็น่าใจหาย  

คำตอบที่ได้จากจอวา ชัดเจนเลยว่า ที่ที่คนรุ่นใหม่อย่างพะฉู่กลับมา ปลูกกาแฟ หรือการพัฒนาชุมชนในบางส่วน กำลังสร้างเม็ดพันธุ์ให้เกิดได้ แม้ไม่อาจเดาอนาคตได้เลยว่า เม็ดพันธุ์นี้จะงอกงามและแต่หน่อในพื้นที่ แห่งนี้ได้หรือไม่ และเราจะทำให้คนอื่นที่ตัดสินใจลงไปทำงานในเมือง เชื่อมั่นในตัวพวกเขาขนาดไหนว่าถ้าเขากลับมาแล้วเขาจะมีรายได้ จอวา เล่าว่า ต้องเริ่มทำไปก่อน

“ผมมีความหวังว่ามันต้องเป็นไปได้ เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาก็ยังอยู่ช่วยส่งเสริมเรา ถ้าเราไม่รู้เราก็ถามเขา เพราะเขายังอยู่ Support เราเรื่อย ๆ ถ้าเราทำได้ก็มีความหวังว่าคนเหล่านั้นจะกลับมาอยู่ที่บ้าน”

เขาหวังอยากให้ชุมชนที่เขาเกิด วัฒนธรรมที่เขามี อยู่ไปเรื่อย ๆ  มีรายได้เข้ามา รวมถึงคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาอยู่บ้าน คงอยู่ไปเรื่อย ๆ  ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ก็คงต้องเป็นคนรุ่นใหม่  ที่ต้องช่วยกัน เขาต้องกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเพราะตอนนี้ก็ไม่ค่อยจะเหลือแล้ว

บทสนทนาที่เราคุยกับจอวาสิ้นสุดพร้อมกับพระอาทิตย์ที่ลับฟ้าไป 

จาการพูดคุยกับ คนรุ่นใหม่ทั้งสองเห็นได้ชัดเจนถึงความหวัง และความตั้งใจที่เหมือนกันอาจเป็นไปได้ว่าเขาทั้งสองมีอายุใกล้เคียงกัน อาจจะมีความคิดที่เหมือนกัน แต่มากไปกว่านั้นการพยายามดึงคนให้กลับมาอยู่ในชุมชน หรือการผลักดันชุมชนให้มีรายได้ที่มั่นคง กลับเคยมีคนที่พยายามทำมาก่อนแล้ว นั่นคือ พะตี่(ลุง) ทินกร เล่อกา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนห้วยตองก๊อ เล่าว่า การออกไปทำงานข้างนอกของคนรุ่นใหม่ถือเป็นปัญหาครอบครัวที่ฝังรากลึก หลายครอบครัวมีแนวความคิดที่ว่าเมื่อลูกเรียนจบมาจะต้องไปเป็นหมอเป็นข้าราชการ ปัญหาหลักอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของหนี้สินที่เพราะส่วนใหญ่พี่ไปเรียนก็ต้องยืม กยศ. ที่จริงตัวเด็กหรือเยาวชนเองก็อยากจะกลับมาแต่ปัญหา ของปัญหาคือหนี้ พวกเขาต้องใช้หนี้ให้หมดก่อน 

และน่าจะเกิดขึ้นกับหลายที่ ส่วนใหญ่หมู่บ้านเกือบจะร้าง จะมีแต่คนแก่ปัญหาที่ตามมาคือบางคนไปทำงานแล้วได้ลูกมาก็ส่งกลับมาให้พ่อแม่ที่อยู่ในหมู่บ้านเลี้ยงจากที่แก่ตัวแล้วต้องทำเกษตรอีกทั้งต้องดูแลหลานเลยมีแนวคิดว่า น่าจะต้องเอาคนกลุ่มนี้กลับมา

แรกเริ่มเดิมที ชุมชนห้วยตองก๊อ ก็ไม่ได้มีคนเยอะเพราะว่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่มีประมาณ 24 หลังคาเรือน แต่ขณะเดียวกันเด็กไม่เยอะส่วนใหญ่ก็จะออกไปเรียนข้างนอก บางคนเรียนจบแล้วก็ทำงานที่บริษัท หรือทำงานราชการคนเหล่านั้นก็จะไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่ช่วงหลังหลังพะตี ทำเรื่องการท่องเที่ยวและส่งเสริมเรื่องของ คนรุ่นใหม่ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เขา เพื่อที่จะไปต่อยอดเรื่องของอาชีพ เพื่อให้เกิดรายได้กับตัวเองและเขาอาจจะกลับมาอยู่ที่บ้าน 

ล่าสุดก็มีพะฉู่เข้ามา และก็ยังมีเยาวชนอีกหลายคน เราดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาเรียนรู้เรื่องของกาแฟ ตั้งแต่สมัย 40 ปีที่แล้วนะ แต่เข้ามาส่งเสริมโดยที่ไม่ได้เข้ามาต่อเนื่อง เขาเอาต้นกล้ามาให้ แต่กระบวนการตั้งแต่ปลูกจนคั่วเขาไม่ได้มาสอนตรงนี้เลย ก็เลยมีแนวคิดที่ว่าเรามาสร้างกระบวนการตั้งแต่ปลูก ว่าเราจะปลูกอย่างไรแล้วเอาพันธุ์ไหนดี หลังจากนั้นเริ่มมีความหวัง ก็เอามาส่งเสริมให้คนในชุมชนเป็นคนปลูก ตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่เน้นเรื่องของปริมาณแต่จะเน้นเรื่องของคุณภาพ เพราะว่าราคาจะได้มาตรฐานและมีความมั่นคงระยะยาว 

พะตี่ทินกรเล่าว่า มีความหวังในกลับมาของคนรุ่นใหม่ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ตัวของพะตี่เริ่มอายุมากขึ้น ฉะนั้นก็ต้องสร้างความหวังให้กับเด็กและต้องเป็นแรงเสริม อย่างเรื่องของภูมิปัญญา หรือทุนทางสังคม ทุนทางธรรมชาติมีอยู่แล้ว แล้วก็ต้องส่งเสริม ว่าเรามาอยู่เราก็ต้องอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ เพื่อจะเป็นต้นทุนในการสร้างรายได้สร้างความมั่นคง ด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงด้านอื่น ๆ 

ความหวังคือต้องมองไปถึงเรื่องคนรุ่นใหม่ เราอาจจะส่งกลุ่มคนเรานี้ไปเรียนเรื่องของการชงกาแฟ บาริสตา เพราะ ถ้าดูจริง ๆ ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ทำเรื่องนี้เรายังเห็นไม่มาก เราก็มีการไปศึกษาจากหลายพื้นที่อย่างเช่นของเชียงใหม่ เราก็พบว่ามีคนที่ต่อสู้เรื่องของกาแฟมาหลายปีเหมือนกัน ในส่วนของพื้นที่เรายังคงมีป่าอยู่ คิดว่าการส่งเสริมในเรื่องนี้น่าจะดี อันนี้มองในมุมคนรุ่นใหม่แต่ถ้ารุ่นของพะตี อาจจะไม่ไหวแล้ว

“คนรุ่นใหม่ไฟจะแรง แต่อย่ามองข้ามคนรุ่นเก่า เพราะว่าอย่างบางอย่างของการทำเกษตรคนรุ่นเก่า เขาไม่ได้เรียนแต่เค้าปฏิบัติจริง เขาทำกันมาเป็น 10 ปี เขารู้  บางคนเขาคุยได้ดีกว่าคนรุ่นใหม่มากเรื่องของการปลูกพืช จึงมองว่าคนรุ่นใหม่อาจจะต้องศึกษาเรื่องนี้ด้วย ที่สำคัญอาจจะมองในเรื่องของการตลาดด้วย หากทำในเชิงของธุรกิจแต่ว่าคุณภาพ ก็ต้องเป็น ORGANIC ไม่ใช้สารเคมี คิดว่ากาแฟน่าจะให้โอกาสได้เยอะถ้าทำอย่างจริงจัง แต่ว่าก็ต้องควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย” 

ท่ามกลางภูเขาเขียวครึ้มมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นสลับกันเป็นผืนป่า ยังมีชุมชนและผู้คน ที่ยังเชื่อว่าพื้นที่ ที่เขาอยู่ หรือบ้านที่เขาเกิดยังมีความหวังการสวนกระแสแรงงานของโครงสร้างสังคมนี้ เหมือนเป็นการเสี่ยงทาย  50/50 เลย จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านภายใต้การรองรับอาชีพที่สังคมไทยเป็นแต่คนเหล่านี้เขากำลังค้นหา ว่าตัวของชุมชนมีต้นทุนอะไรบ้าง ตัวบุคคล ทรัพยากร ประเด็นที่เป็นฐานอาชีพที่สามารถจะรองรับ คนรุ่นใหม่กลับบ้านหรือคนที่อยู่ในชุมชนให้เขาเกิดรายได้ ในการต่อยอดระดับชุมชนของตัวเอง  

 สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมไม่ใช่ว่ากลับบ้าน  3-6 เดือน จะเห็นผลทันที เพราะว่าความเป็นชุมชนยังมีปัญหาคลาสสิกเยอะ อาทิ เรื่องของระบบการศึกษา ค่านิยม แล้วคิดของผู้ใหญ่ เช่น การเรียนจบสูงต้องเป็นเจ้าคนนายคน มันยังมีปัญหาที่เป็นความคลาสสิคตรงนี้อยู่ ซึ่งมันแก้ยาก ถ้าเราจะไปเปลี่ยนเข้าจริง ๆ มันอาจจะเกิดความขัดแย้ง เลยจำเป็นต้องมีคนที่อยู่ตรงกลางที่คอยสื่อสารหรือทำงานระหว่างเจนเนอเรชันด้วย 

นราธิป ใจเด็จ ผู้ประสานงานโครงการอาสาคืนถิ่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ผู้ร่วมทริปครั้งนี้ บอกกับเราก่อนที่จะเก็บกระเป๋าขึ้นโฟร์วีลเพื่อกลับมาเมืองกรุง ตามแรงดึงดูดของแม่เหล็กเศษฐกิจ ตัวเขามีความเชื่อว่ากระบวนการที่นำผู้คนเหล่านี้มาเจอกันจะเกิดการสร้างเครือข่ายสร้างพื้นที่ชีวิตให้คนเหล่านี้ได้แบ่งปันได้แชร์ความรู้และเติบโตไปด้วยกัน ผ่านการที่เขาอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่แม้จะพูดมาหลายปีก็ยังไม่หายสักที การแก้ปัญหาคือมันต้องร้อยเรื่องราวร้อยกลไกลต่าง ๆ ต้องช่วยกัน เรื่องของการทำงานร่วมกับชุมชนหรือการพัฒนาที่อยู่บนฐานของชุมชนเลยยากมาก ก็ย้อนกลับไปว่ามันคือความคลาสสิกที่สังคมไทยอยากจะให้เป็น 

“อาสาคืนถิ่นไม่ได้ทำแค่ประเทศไทย เราพาตัวของอาสาคืนถิ่น ไปและเปลี่ยน เรียนรู้ กับเพื่อนต่างถิ่น เช่นฟิลิปปินส์ จีน เพราะรู้สึกว่าจริง ๆ การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่มันมีทั่วโลกไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยแต่มันคือกระแสโลก ซึ่งมันสวนทางกับอุตสาหกรรมใหญ่ที่ต้องป้อนให้เข้าไปแต่ก็มีคนทวนน้ำกลับมาอยู่” 

เมื่อคุยกับพะฉู่ พบว่าสิ่งหนึ่งที่เขา อยากจะเห็นมันเกิดขึ้นหลังจากนี้คือเรื่องของการสื่อสาร เพราะมันสำคัญกับที่นี่ ที่นี่ไม่มีสัญญาณ ไม่มีไฟฟ้าระบบน้ำเป็นน้ำประปาภูเขา ซึ่งถ้าการสื่อสารสามารถยิงเข้ามาในชุมชนนี้ได้ มันน่าจะช่วยเขาได้เยอะกว่านี้ 

Hopeland ในที่นี้ จึงเป็นพื้นที่รองรับความหวังของคนทุกรุ่นที่อยู่บ้าน มีความหวังกับชุมชนที่เขาอยู่  อาจจะเป็นชุมชนที่ เขาไม่ได้เกิด หรือเป็นชุมชนบ้านเกิดของเขา พื้นที่นั้นอาจทำให้เห็นอะไรบางอย่างที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม จับดินขึ้นมาก็เห็นเป็นรูปธรรมอะไรบางอย่างแล้ว เป็นความหวังที่อาจจะพูดลอย ๆ แต่พอมาอยู่จริง ๆ กลับมีภาพของความพยายามของคนในชุมชนที่ผลักดันความหวังนั้นด้วยทรัพยากรที่มี นั่นอาจเพราะความหวังคืออนาคตของเขา และหากแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรที่ดี พื้นที่ตรงนั้น ก็อาจจะสามารถสร้างมูลค่าอะไรบางอย่างให้กับผู้คนจนเกิดคุณภาพในชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ