กฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
ก้าวสำคัญสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย
- ปัญหาการกล่าวถึงประชาชนในภูมิภาคอีสาน นัยหนึ่งสะท้อนปัญหาความไม่เข้าใจความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย พลเมืองไทยในทุกภูมิภาค ล้วนมีประวัติศาสตร์ของการดำรงอยู่ ที่แตกต่างกันออกไป แต่การสร้างรัฐชาติ ได้พยายามหล่อหลอม กลืนกิน ความหลากหลายของผู้คนให้กลายเป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่ใช่ว่าทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์จะละทิ้งวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
- ข้อมูลทางมานุษยวิทยา ระบุว่า ปัจจุบัน บนผืนแผ่นดินไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงวิถีดั้งเดิมไม่ต่ำกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และในความเป็นจริง “เราทุกคน” ล้วนมีความเป็นชาติพันธุ์อยู่
- การลดอคติทางชาติพันธุ์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการยอมรับและเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยในทุกมิติ แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ ความพยายามผลักดัน “ร่างกฎหมายชาติพันธุ์” จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองคนกลุ่มนี้ ที่ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “พวกเรา” ที่จะได้ประโยชน์ “ร่วมกัน”
อภินันท์ ธรรมเสนา นักมานุษยวิทยา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ชวนทำความเข้าใจเรื่อง “ชาติพันธุ์” อีกครั้ง พร้อมสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่หลายฝ่ายพยายามร่วมผลักดัน เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ปัญหา “กลุ่มชาติพันธุ์” ไม่ใช่เรื่อง “คนอื่น“ เพราะทุกคนต่างมีความเป็นชาติพันธุ์
คำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” อาจเป็นคำที่คุ้นชินในสังคมไทย แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ที่หมายถึง กลุ่มคนที่มีสำนึกทางวัฒนธรรมร่วมกัน โดยแสดงออกผ่านรูปแบบวิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญาและจารีตประเพณีร่วมกัน
และคนในสังคมไทยจะรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า มากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยสามารถแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ตามการตั้งถิ่นฐานได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า เช่น มานิ มลาบรี, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอบู่บนพื้นที่สูง เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ เช่น ไทดำ ไทลื้อ ภูไท ชอง กูย กะเลิง และ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะแก่งและชายฝั่ง เช่น อูรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน
ขณะที่จำนวนประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำรวจไว้ในปี 2545 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศ แต่ความไม่เข้าใจของสังคม ที่เกิดจากการสร้างมายาคติว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีความแปลกประหลาด เป็นพวกอื่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นพวกค้ายาเสพติด รวมถึงเป็นพวกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เรามองเรื่องชาติพันธุ์เป็นเรื่องไกลตัวและเห็นว่าปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องของ “คนอื่น” ไม่ใช่ “เรื่องของเรา”
ทั้งที่จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน จนกล่าวได้ว่าทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นก็มีความเป็นชาติพันธุ์อยู่
มากไปกว่านั้น สังคมไทยยังใช้ “ความเป็นชาติพันธุ์” แสวงหาผลประโยชน์ตลอดมา เช่น ในยุคที่ต้องต่อสู้กับภัยความมั่นคง “ความเป็นชาติพันธุ์” ถูกใช้แทน “ความเป็นอื่น” ที่ต้องควบคุม เราจึงเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ปัญหาเรื่องสัญชาติ ปัญหาเรื่องที่ดิน ไปจนถึงปัญหาเชิงอคติทางวัฒนธรรม
เมื่อถึงยุคส่งเสริมการท่องเที่ยว “ความเป็นชาติพันธุ์” ถูกใช้แทน “ความงดงามทางวัฒนธรรม” ที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ แต่คำถามก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ได้อะไรจากการแสวงหาประโยชน์จาก “ความเป็นชาติพันธุ์” ดังกล่าว เพราะจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ยังประสบปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ ทั้งปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกิน หรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย ไม่มีสัญชาติ ไปจนถึงปัญหาในเชิงวัฒนธรรมที่หลายกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษาเริ่มสูญหายไป พร้อม ๆ กับความรู้และภูมิปัญญาของตน ความสามารถพึ่งพาตนเองก็ถูกลดทอนลงไป กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐ
เปลี่ยนมุมมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็น “ปัญหา” แทนด้วยการมองว่าเป็น “พลัง”
เป็นความท้าทายของสังคมไทย ที่ต้องหันมาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการชาติพันธุ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากเดิมที่เน้นการบริหารจัดการภายใต้กระบวนทัศน์แบบรัฐเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้เห็นแล้วว่า นอกจากไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้แล้ว กลับสร้างปัญหาและเงื่อนไขใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จนปัจจุบัน ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในหลายพื้นที่ มาสู่แนวทางการบริหารจัดการภายใต้กระบวนทัศนใหม่ที่เชื่อมั่นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเคารพในหลักสิทธิทางวัฒนธรรม ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และต้องเปลี่ยนมุมมอง มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็น “ปัญหา” มาเป็นการมองว่า กลุ่มชาติพันธุ์เป็น “พลัง” สำคัญในการพัฒนาประเทศ
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 เราได้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ความรู้และมรดกภูมิปัญญาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน ที่ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาของตนเอง แต่ยังสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่น ๆ ในสังคมได้ด้วย ภาพการระดมข้าวปลาอาหารของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำช่วยเหลือพี่น้องชาติพันธุ์ด้วยกันเอง และคนจนเมือง เป็นประจักษ์พยานที่เห็นถึง “พลัง” ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รัฐควรต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางการจัดการชาติพันธุ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย
กฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ก้าวสำคัญสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย
การสนับสนุนให้มีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ดำเนินการจัดทำ “(ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….” เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายให้ความคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ บนหลักการสำคัญ 3 ประการ
คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม คือ ให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ มีสิทธิในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตนโดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติ จนก่อให้เกิดปัญหาอคติทางวัฒนธรรมที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานความรุนแรงในสังคมไทย การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมจึงถือเป็นการรักษาดุลยภาพทางสังคม
เสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองบนฐานวัฒนธรรม เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จาก “การสงเคราะห์” ที่ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเอง มาเป็น “การเสริมศักยภาพ” ที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และเชื่อมั่นในความรู้และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็น “พลัง” ที่จะใช้ในการพึ่งพาตนเองและยังเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ของชาติที่ใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม คือ สร้างความเสมอภาคให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของชาติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สร้างความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากฐานให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทย
กฎหมายชาติพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “พวกเรา” คนไทยทุกคนที่จะได้ประโยชน์ “ร่วมกัน”
การมีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คงไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ทั้งในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย เกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ช่วยลดอคติทางวัฒนธรรม สร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดปัญหาความขัดแย้ง และเป็นการวางรากฐานให้สังคมไทยมีความ “มั่นคง”
ที่สำคัญการคุ้มครองวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะ “ทุนทางวัฒนธรรม” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะเดียวเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์มี “ทุนทางวัฒนธรรม” ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณที่ต้องให้ความช่วยเหลือและสามารถนำเอางบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งก็เป็นการสร้างความ “มั่งคั่ง” ให้กับประเทศ
นอกจากนี้เมื่อเชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานก็จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมเป็น “พลัง” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน กระนั้นก็ดีการผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยจะหันมายอมรับการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่เคารพในความหลากหลาย มองความแตกต่างอย่างเท่าทัน “อคติทางวัฒนธรรม” ที่แฝงฝังอยู่ในความคิด
การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นเรื่องของ “พวกเรา” คนไทยทุกคน ที่จะได้ประโยชน์ “ร่วมกัน” เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ปัจจุบันนอกจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) เสนอ ยังมีการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านหลายกลไก โดยในการขับเคลื่อนผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์อีก 4 ฉบับ รวมเป็น 5 ฉบับ
- (ร่าง) พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งสภาชนเผ่าพื้นเมืองได้เข้าชื่อกัน 13,020 รายชื่อ เสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นในระบบออนไลน์ของสภาผู้แทนราษฎร
- (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล กลุ่ม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นในระบบออนไลน์ของสภาผู้แทนราษฎร
- (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นในระบบออนไลน์ของสภาผู้แทนราษฎร
- (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เสนอโดยขบวนการภาคประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มีสถานะเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างระดมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ
- (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) มีสถานะเป็นร่างกฏหมายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูปประเทศ และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ระบุไว้ในเอกสารคำแถลงนโยบายว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องตราขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี