“รอมฎอนสันติ” แค่บททดสอบเฉพาะหน้า?

ปี 2566 นี้ คณะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ไม่มีประกาศ “รอมฎอนสันติ” เป็นบททดสอบ และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการฝ่ายเดียวลดความรุนแรงช่วงรอมฎอน? แปลความด้านลบ คือ บรรยากาศพูดคุยสันติภาพอาจกลับไปสู่สภาพซึมเซาอีกครั้ง เมื่อกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่พร้อมพบปะพูดคุยในเชิงเทคนิคที่มาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยมีรายงานข่าวระบุว่า การที่คณะรัฐบาลไทยต้องส่งเรื่องผ่านผู้อำนวยความสะดวก ทางบีอาร์เอ็นแจ้งผ่านมาทาง ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยคนใหม่ว่า ยังไม่พร้อมคุยเรื่องดังกล่าวในเวลานี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าบีอาร์เอ็นต้องการรอโอกาสในการพูดคุยภายใต้การเมืองใหม่ เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

และเอาเข้าจริงที่ตลอด 10 ปี ของกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา, มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่ประกาศ “ริเริ่มรอมฎอนสันติ” หรือ “การทดสอบหยุดยิงชั่วคราว” หรือ “การทดสอบลดความรุนแรง” อย่างเป็นทางการ เพื่อวัดความเชื่อใจระหว่างคณะพูดคุยสันติภาพของรัฐไทยและขบวนการการปลอด ปล่อยปาตานี “บีอาร์เอ็น” ครั้งแรก คือ ปี 2556 เมื่อริเริ่มการพูดคุยอย่าง ‘เป็นทางการ’ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครั้งที่สอง เมื่อ “บีอาร์เอ็น” กลับเข้าสู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยพลเอก วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย “ความริเริ่มรอมฎอนสันติ” (Peaceful Ramadan Initiative) ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565 ประมาณ 40 วันของปีที่แล้ว ก็อยู่ในฐานะเครื่องหมายความสำเร็จ 2 ประการคือ (1) การบรรลุและรับรองเอกสาร “หลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Principle of the Peace Dialogue Process) ของคู่พูดคุยทั้งสอง ว่าทั้งสองฝ่ายจักมุ่งแสวงหาทางออกที่สอดคล้องกับเจตจำนงของชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ […]  และ (2) การพาหนึ่งในปีกการทหารของบีอาร์เอ็น ‘เด็ง อะแวจิ’ เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเป็นครั้งแรก บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงศักยภาพของบีอาร์เอ็นในการควบคุมปฏิบัติการทหารในพื้นที่ได้

แม้ 10 ปีของการพูดคุยสันติภาพจะมีความคืบหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะอย่างน้อยสามารถตกลงร่วมกันว่า (ก) มีสารัตถะ 3 กรอบพูดคุยที่จะต้องลงรายละเอียดและมีคณะทำงานร่วมกันคือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกร่วมกัน ล่าสุด เมื่อเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ของประเทศมาเลเซีย เป็น ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ ทิศทางของการพูดคุยก็ดูชัดเจนมากขึ้น เมื่อคู่พูดคุยตกลงจะทำ (ข) “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบครอบคลุม” (Join Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นแผนที่นำทาง (roadmap) สำหรับการพูดคุยสันติภาพในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2566-2567

พูดให้ง่าย, คู่ขัดแย้งใช้เวลาสร้างความไว้วางใจกันถึง 10 ปี เพื่อวางกรอบประเด็นและกรอบเวลาในการพูดคุยที่ชัดเจนระหว่างกัน ก่อนจะนำไปสู่ข้อตกลงที่พอจะยอมรับร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดที่น่าจับตาคือ ขณะนี้เกิดอะไรขึ้นภายในของคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น

บททดสอบ “รอมฎอนสันติ” เรียนรู้อะไรบ้าง?

กระบวนการพูดคุยสันติภาพนั้น เป็นเรื่องเทคนิคเป็นเรื่องการหยั่งเชิงทางการทูต เป็นการชิงไหวชิงพริบระหว่างคู่ขัดแย้ง เช่น กรณี “รอมฎอนสันติ” เป็นเพียงบททดสอบของ (ก) ความมุ่งมั่นในการเข้าสู่พื้นที่การเมือง การพูดคุยสันติภาพ (ข) ทดสอบว่าคนที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยสามารถคุมสนามของปฏิบัติการทางทหารได้? หรือ “เป็นตัวจริง” “คุยถูกคน” หรือไม่ รวมทั้งความอดทนอดกลั้นของคนในสนามรบ เมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามยั่วยุ ไม่รักษาสัญญา (ค) พิสูจน์ความเป็นเอกภาพของทั้งสองฝ่ายคู่ขัดแย้ง เพราะ “คณะพูดคุยสันติภาพ” ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น เป็น “ฝ่ายการเมือง” มาด้วยคำสั่งทางการเมือง ไม่มีอำนาจในการสั่งการฝ่ายทหารของตนเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากว่า ฝ่ายทหารจะเห็นร่วมกับเหตุผลและเป้าหมายทางการเมืองด้วย ซึ่งฝ่ายทหารของทั้งสองฝ่าย ก็ยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลและขั้นตอนทั้งหมดของการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา

          (1) ความล้มเหลวคือบทเรียน ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบอย่าทำ:

ย้อนที่มา, การประกาศข้อตกลง “ความเข้าใจร่วมกัน: การริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2556” (Common Understanding: Ramadan Peace Initiative) ในทางสาธารณะรับรู้กันว่า เป็นเสียงเรียกร้องจากผู้นำศาสนาจำนวนหนึ่ง แต่สำหรับฝ่ายปาร์ตี้ บี ‘อาบูฮาฟิซ อัลฮากึม’ โฆษกของมารา ปาตานี และฝ่ายขบวนการฯ หลายคนจดจำว่า ไอเดียแรกที่มีการบอกว่าให้ยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนมาจากการที่ พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร (อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมช.) หัวหน้าคณะพูดคุยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับผู้นำศาสนาที่จังหวัดยะลา และเกิดแนวคิดรอมฎอนสันติ ยุติความรุนแรงจากนั้นฝ่ายปาร์ตี้ เอ หรือฝ่ายไทยขอให้ขบวนการบีอาร์เอ็นลดระดับความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน

ทว่า หลังจากนั้น (24 มิถุนายน 2556) ‘อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ’ หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายขบวนการฯ  แถลงผ่านยูทูบโดยไม่ส่งสารผ่านผู้อำนวยความสะดวกว่า บีอาร์เอ็นมีมติ “ยุติการปฏิบัติการ” ไม่ใช่เพียงแค่ “ลดการปฏิบัติการ” ทางการทหารแต่มีข้อเรียกร้องให้รัฐไทยทำตามเงื่อนไข 7 ประการ คือ 1) ต้องถอนกำลังทหารและทหารพรานจากภาคอื่น ๆ และตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกไปจากปาตานี 2) แม่ทัพภาค 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านและให้กลับไปอยู่ในค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย 3) รัฐสยามต้องถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากหมู่บ้าน 4) อนุญาตให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ที่เป็นมุสลิมลาหยุดตลอดเดือนรอมฎอน เพื่อให้พวกเขาได้ปฏิบัติศาสนกิจและใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ 5) หยุดการโจมตี การสกัดจับ และควบคุมตัวโดยเด็ดขาด 6) หยุดการจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน และ 7) ให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศยอมรับเงื่อนไขนี้ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

แหล่งข่าวบางกระแสมองว่า ที่จริงแล้วปาร์ตี้ บี ไม่ได้หวังให้รัฐบาลไทยยอมทำตาม แต่พวกเขาไม่สามารถโน้มน้าวให้ปีกทหารของบีอาร์เอ็นหยุดยิงได้เลยต้องเสนอเงื่อนไขที่เชื่อว่ารัฐบาลไทยคงไม่ยอมปฏิบัติตามแน่ ๆ

ในขณะที่ความหวังจะเห็นการลดเหตุความรุนแรงน้อยลงเรื่อย ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกินขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 สองวันก่อนเริ่มเข้าเดือนถือศีลอด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้เข้าพบ Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี และหลังจากนั้นทางองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ได้ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการลดความรุนแรง” ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานทางการทูตในช่วงเวลาที่เหมาะสมของรัฐบาลไทย หากขบวนการฯ ​เพิกเฉยต่อคำพูดของโอไอซีก็มีโอกาสที่จะถูกมองว่าเป็น “เด็กดื้อ” และอาจสูญเสียเสียงสนับสนุนจากโลกมุสลิมได้

หลังจากนั้น เพียงไม่กี่วัน ผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซีย โดยสำนักเลขานุการของคณะทำงานงร่วมเรื่องกระบวนการสันติภาพ (Joint Working Group – Peace Dialogue Process, JWS-PDP) มีประกาศข้อตกลง “ความเข้าใจร่วมกัน: การริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2556” ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 สองวันหลังเดือนละศีลอดได้เริ่มต้นขึ้นว่าฝ่ายปาร์ตี้ เอ และปาร์ตี้ บี ตกลงที่จะ “ทำงานหนักเพื่อทำให้เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่ปราศจากความรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจ พันธกิจ และความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน”

แต่สังคมไทยและคนในพื้นที่ชายแดนใต้จึงได้สัมผัสบรรยากาศของ “สันติภาพ” เพียง 8 วันเท่านั้น อุสตาซฮัสซัน ก็ทำหนังสือประท้วงต่อ ‘ดาโต๊ะ ซัมซามิน ฮาซิม’ อ้างไทยผิดสัญญา “ข้อตกลงยุติความรุนแรง” ช่วงเดือนรอมฎอน ที่ได้ตกลงกันไว้ 100% ทางแกนนำอ้างว่า การที่ครูตาดีกา ผู้นำศาสนา คนที่มีคดีติดตัวและคนอื่น ๆ หลายคนถูกฆ่าเสียชีวิต ทำให้ประชาชนและนักรบในพื้นที่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพที่ตกลงกันไว้ เป็นเหตุให้ทางคนของบีอาร์เอ็นหรือกองกำลัง RKK ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ และเขาขอถอนตัวในฐานะหัวหน้าทีมเจรจากับฝ่ายไทย อ้างว่า “นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว” ทั้งบ่อนทำลาย โกหก และยังคงเผยแพร่ใส่ร้ายกับชาวปาตานี

‘ฮาซัน ตอยิบ’ ระบุกับสื่อมวลชนหลายครั้ง “ฝ่ายรัฐบาลต้องการลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะยุติ ความรุนแรงโดยมีเงื่อนไข 7 ข้อที่เราได้เสนอไปแล้ว แต่ฝ่ายรัฐไม่รับเงื่อนไขเหล่านี้ ในเขตพื้นที่ชนบทก็ยังมีทหารอยู่เต็มและยังมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ก็มีการสกัดถนน การโจมตี การล้อมบ้าน การค้นบ้าน ฯลฯ แต่เราใช้ความอดทน เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงรอมฎอนนั้น คือคำเตือนต่อฝ่ายรัฐไทย ไม่ใช่การแก้แค้น เพราถ้าเป็นการโต้กลับ ถ้าคนของเราตายหนึ่ง คนของเขาต้องตายสิบ”

ความพยายามจะลดความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอนครั้งแรกจึงล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แต่การที่ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกก็สะท้อนความจริงบางอย่างว่า บีอาร์เอ็นสามารถควบคุมสั่งการฝ่ายปฏิบัติการท่ีอยู่ในพื้นที่ได้ แม้กระนั้น ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศบางคนก็ระบุว่า การหยุดยิงในครั้งนี้ไม่มีความหมาย ทั้งมีการก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ ‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แย้งและให้บันทึกไว้หน้าประวัติศาสตร์ เดือนกรกฎาคม 2556 เป็นเดือนที่สร้างประวัติการบันทึกเหตุการณ์ความไม่สงบที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และมีการสูญเสียชีวิตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้ การโจมตีเป้าหมาย อ่อนแอหรือผู้บริสุทธิ์ (soft target) ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีระดับต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบสิบปีด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในปี 2557 รัฐบาลทหารยังยืนยันเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อ แต่ต้องอยู่ภายใต้การ “กุมสภาพ” ของฝ่ายรัฐให้จำกัดวงเป็นแค่การ ‘พูดคุยสันติสุข’ เท่านั้น และมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทย หรือ ปาร์ตี้ เอ คือ ‘พลเอก อักษรา เกิดผล’ ขณะที่ปาร์ตี้ บี เปลี่ยนเป็น “มารา ปาตานี” องค์กรร่มของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม (ได้แก่ กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (Pulo) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามปาตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปาตานี (GMIP) และบีอาร์เอ็น) ซึ่งมี ‘สุกรี ฮารี’ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย

การเมืองแบบเดิมยังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจากฝ่ายไทย หรือ ปาร์ตี้ เอ โดย ‘พลเอก อักษรา เกิดผล’ เรียกร้องให้ฝ่ายปาร์ตี้ บี ร่วมเห็นชอบการยุติหยุดยิงในเดือนรอมฎอนอีกครั้ง แต่ฝ่าย ปาร์ตี้ บี ‘สุกรี ฮารี’ ระบุว่า การหยุดยิงหรือหยุดใช้ความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน เป็นเรื่องเร็วเกินกว่าที่จะพูด “เพราะการหยุดยิงต้องเป็นผลมาจาก การทำข้อตกลงจากการเจรจาสันติภาพ เวลานี้ทั้งสองฝ่ายเพียงเริ่มต้นด้วยการพยายามสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเท่านั้น”

และทาง ‘มารา ปาตานี’ ก็ยืนยันเรื่องนี้หลายครั้ง เพราะพวกเขาเคยได้รับบทเรียนมาแล้ว ‘อาบูฮาฟิช อัลฮากิม’ เขาระบุในปาฐกถา “การเดินทางสู่สันติภาพ ระยะที่ 2” ในวันสื่อสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ตอนหนึ่งว่า กระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งปีต้องถูกทดสอบอย่างฉุกละหุกด้วย ‘ข้อตกลงริเริ่มสันติภาพ รอมฎอน’ ที่ล้มเหลวกลางคัน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมเต็มที่ สำหรับข้อตกลงแบบนั้น อีกทั้งยังมะงุมมะงาหราในความมืดเพื่อพยายามสร้างความเข้าใจและเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายควรมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตกลงเกี่ยวกับมาตรการเชิงปฏิบัติ เพื่อลดปฏิบัติการความรุนแรงและการปะทะกันด้วยอาวุธ ตามด้วย ‘ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว’ หรือจำกัดขอบเขต โดยมีการแต่งตั้งคณะเฝ้าะวังและตรวจสอบที่ได้รับการยอม รับจากทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงหยุดยิงถาวรจะบรรลุได้ด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ตามด้วยการนำรายละเอียดของข้อตกลงและคำแนะนำในข้อตกลงนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผล

ดังนั้น ในสมัยการพูดคุยยุคที่ 2 จึงไม่มีการเอ่ยถึง “รอมฎอนสันติในฐานะบททดสอบ” เชิงเวลาอย่างเปิดเผยอีก แต่มุ่งมั่นพัฒนาการจัดตั้งและกลไกของ “พื้นที่ปลอดภัย” (safety zone) ให้เป็นรูปธรรมแทน และแม้จะมีการพูดถึงบ้างก็เป็นข้อตกลงอย่างลับ ๆ เช่น ครั้งหนึ่งในปี 2559 ‘พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง’ เลขาธิการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เปิดโรดแมปของฝ่ายความมั่นคงไทยที่มี 10 ขั้นตอนให้องค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งทราบ ระบุว่า รัฐบาลไทยเดินมาถึงขั้นที่ 4 ในการทดสอบความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มีการพูดคุยทางลับว่าขอให้เดือนรอมฎอนปี 2558 เป็นเดือนแห่งการประกอบศาสนกิจ ผลออกมาปรากฏว่าเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547-2559 แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ้าง แต่ถือเป็น “บททดสอบที่ผ่าน” และด้วยบุคลิกตรงไปตรงมาของ พล.ท. นักรบ นี้เอง ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาคณะพูดคุยฯ และหัวหน้าคณะทำงานทางเทคนิคของฝ่ายไทยในเวลาต่อมา

อนึ่ง โรดแมปของฝ่ายความมั่นคงไทย 10 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การสร้างความสัมพันธ์กับมาเลเซีย ขั้นที่ 2 จัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐจำนวน 32 คนที่อยู่ประเทศมาเลเซีย ขั้นที่ 3 การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ขั้นที่ 4 ทดสอบเบื้องต้น ขั้นที่ 5 ตั้งคณะทำงานเทคนิคร่วม ขั้นที่ 6 การจัดทำกรอบกติกาทางธุรการในการพูดคุย ขั้นที่ 7 การทดสอบขั้นก้าวหน้า คือการขยับพูดคุยเรื่องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน (safety zone) ซึ่งต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสามฝ่ายคือ รัฐ ประชาชน และกลุ่มผู้เห็นต่าง ขั้นที่ 8 การพูดคุยเรื่องปัญหา ขั้นตอนที่ 9 การประเมินและทบทวน และขั้นตอนที่ 10 การจัดทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์

และการเมืองเชิงการทูตของฝ่ายไทยยังดำเนินต่อเนื่อง เมื่อคณะพูดคุยสันติสุขสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อเสนอถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ร่วมมือ “สร้างบรรยากาศที่ดีและปราศจากความรุนแรง” ในช่วงรอมฎอนที่เพิ่งเริ่ม ข้อเสนอ ดังกล่าวถูกส่งผ่านไปทางผู้อำนวยความสะดวกคือ ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ โดยที่คณะพูดคุยของรัฐบาลได้เดินทางไปมาเลเซียเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา    

คณะพูดคุยสันติสุขเปิดเผยเรื่องนี้ใน “สาร” ที่ออกมาเมื่อค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2566 หลังจากเข้าสู่เดือนถือศีลอดหนึ่งวัน ถึงชุมชนมุสลิมเนื่องในโอกาสรอมฎอน ในสารแสดงความยินดีกับการเข้าสู่เดือนแห่งการถือศีลอด พร้อมระบุว่า เพื่อให้ประชาชนสามารถปฎิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัยจึงได้สื่อสารเจตนารมย์เรื่องการสร้างบรรยากาศที่ปราศจาก ความรุนแรงโดยเชิญชวนกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ร่วมมือกัน และว่าปีนี้เดือนรอมฎอนยังตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย นับเป็นโอกาสอันดี โดยคณะของรัฐบาลส่งผ่านเรื่องนี้กับผู้อำนวยความสะดวกไปยังกลุ่มบีอาร์เอ็น

ในสารของคณะพูดคุยสันติสุขยังระบุว่า คณะพูดคุยฯ หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหารือมาร่วมกันจัดทำรายละเอียดข้อตกลงเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงตามโรดแมปสันติภาพหรือ JCPP เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยสันติ ที่ได้ตกลงกันไว้แล้วในการประชุมร่วมหนสุดท้าย นับว่าเป็นถ้อยแถลงที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจนบัดนี้ยังไม่มีการทำงานร่วมกันของคณะทำงานของสองฝ่ายเพื่อจะจัดทำรายละเอียด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยความสะดวกให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ช่วงนี้คือเวลาของการทำงานร่วมกันและคาดว่าจะสามารถจัดวางรายละเอียดในโรดแมปได้ภายในเวลาสองเดือน หรืออย่างมากภายในเดือนมิถุนายนนี้

สำนักข่าว Patani NOTES รายงานเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ผลของการเดินทางไปมาเลเซียหนหลังสุดของฝ่ายคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่ไม่ได้พบกับบีอาร์เอ็นเท่ากับว่ากระบวนการสันติภาพเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความไม่ชัดเจนอีกครั้ง หลังจากที่คึกคักกันขึ้นมาได้ไม่นานเมื่อ ตันศรีอะบีดีน แถลงข่าวการพบปะหนสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเดินทางไปภาคใต้ของไทยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางบีอาร์เอ็นยังไม่ตอบสนอง และราย งานข่าวยังระบุว่ามีความเป็นไปได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลอาจจะใช้มาตรการลดความรุนแรงฝ่ายเดียวในช่วงเดือนถือศีลอด โดยกำลังมีการพิจารณาเรื่องนี้กันอยู่

          (2) ต้องมีฝ่ายที่สาม “ภาคประชาสังคม” ร่วมตรวจสอบเพื่อความชอบธรรม

“บทเรียน” การประกาศหยุดยิงชั่วคราวหรือมาตรการลดความรุนแรงเชิงเวลาในช่วง “รอมฎอนสันติ” ไม่ใช่ของปาร์ตี้ เอ และบี หรือฝ่าย มาเลเซียเท่านั้น แต่ยังเป็นพันธกิจที่เอาการเอางานของภาคประชาสังคมที่ใส่ใจ และติดตามกระบวนการสันติภาพอย่างใกล้ชิด กอปรกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงมาก แต่ในปี 2564 เป็นต้นมา กลุ่มด้วยใจรายงานว่า ความรุนแรงเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นหลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดจากการตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลไทยที่ส่งผลให้กองกำลังติดอาวุธของขบวนการปลดปล่อยปาตานีเสียชีวิตจำนวน 56 ราย จากการปะทะ สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) อัปเดตล่าสุดจาก 4 มกราคม 2547 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 ช่วงเวลาครบรอบ 19 ปีไฟใต้ และในวาระครบรอบ 10 ปีกระบวนการพูดคุย

สันติภาพชายแดนใต้ พบว่า มีแนวโน้มที่ควรต้องจับตาและเฝ้าระวังจากทุกฝ่าย กล่าวคือ ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มของจำนวนเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บล้มตายที่กระดกสูงขึ้นเป็นปีที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นทิศทางของสถิติลดน้อยลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 การกระดกสูงขึ้นสวนแนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณที่หลายฝ่ายควรต้องประเมินและพิจารณาอย่างใกล้ชิด

และเอาเข้าจริง, การประกาศ “ความริเริ่มรอมฎอนสันติ” ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากวงในของคณะทำงานร่วม JWS-PDP ระบุว่า ประเด็นเกี่ยวกับการลดความรุนแรงนั้นไม่อาจหาข้อสรุปที่เห็นพ้องกันได้ และการดำเนินตามประกาศรอมฎอนสันตินั้นก็ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานร่วมในการติดตามตรวจสอบอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากมีความเห็นไม่ลงรอยตรงกันในหลักการและรายละเอียดบางอย่าง อย่างไรก็ตาม แต่ละฝ่ายได้แต่งตั้งผู้ประสานงาน (contact person) สำหรับฝ่ายไทยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการกระทำฝ่ายเดียว โดยมี ‘พล.ต. วรเดช เดชรักษา’ ผบ.พล.5 เลขานุการคณะพูดคุยฝ่ายไทย เป็นประธาน ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น ไม่แน่ชัดว่ามีคณะทำงานติดตามหรือไม่อย่างไร แต่มีข้อมูลว่าผู้ประสานงานที่รับผิดชอบคือ ‘มูฮัมหมัด ซัมซู’

ดังนั้น การประกาศเช่นนี้ไม่ต่างจากครั้งที่ผ่านมา “เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้พูดคุยลงรายละเอียดเชิงลึกถึงกลไกต่าง ๆ ไม่มีกระบวนการใดรองรับ” อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจระบุ

แต่ความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นมา กลับอยู่ที่ “ฝ่ายที่สาม” มีการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างไม่เป็นทางการ 5 องค์กร คือ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) กลุ่มด้วยใจ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สำนักสื่อ Wartani และ The Motive จัดตั้ง “คณะทำงานติดตามตรวจสอบการลดระดับความเป็นปรปักษ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น” ในนาม “Independent Monitoring Team (IMT)” หรือ “ไอเอ็มที” โดยรับข้อมูลจากภาคประชาชน สื่อกระแสหลัก การลงพื้นที่ตรวจสอบและจากเครือข่าย

การริเริ่มของ “ไอเอ็มที” มีสถานะเป็น “ฝ่ายที่สาม” ในสนามความขัดแย้งวางอยู่บนหลักการไม่ฝักใ่ฝ่ฝ่ายใด มองว่า “การดำเนินการในลักษณะหยุดยิงหรือลดปฏิบัติการความรุนแรงนั้นจำเป็นต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์และตรวจสอบผลการปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับสถานภาพใด ๆ อย่างเป็นทางการจากคู่กรณีและผู้อำนวยความสะดวกก็ตาม แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวมีความชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันในการทำให้การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างจริงจังและมีความหมาย” รายงานของ “ไอเอ็มที” ระบุ

เมื่อคณะทำงานร่วม JWS-PDP ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานร่วมในการติดตามตรวจสอบ การลดปฏิบัติการทางทหารช่วงรอมฎอนสันติอย่างเป็นทางการได้  “ไอเอ็มที” ได้สรุปข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ว่าคู่พูดคุยจะปฏิบัติอย่างไรระหว่างห้วงเวลาสำคัญนั้น ได้ดังต่อไปนี้

แนวทางที่แต่ละฝ่ายจะปฏิบัติในความริเริ่มรอมฎอนสันติ 2022

รัฐบาลไทยบีอาร์เอ็น
– รัฐบาลไทยจะลดปฏิบัติการเชิงรุก โดยจะไม่มีการปิดล้อมตรวจค้น การดำเนินการจับกุม การควบคุมตัว และโจมตีเป้าหมาย

– รัฐบาลไทยจะเปลี่ยนการทำงานที่ด่านตรวจให้เป็นจุดอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งรวมถึงการปลดป้ายหมายจับผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงตามด่านตรวจ

– รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยให้กับสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ประสงค์จะเดินทางกลับบ้านช่วงเวลาที่กำหนดไว้

– รัฐบาลไทยจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามและคุ้มครองสมาชิกของบีอาร์เอ็นที่กลับบ้านดังกล่าว
– กองกำลังทหารของบีอาร์เอ็นในพื้นที่จะไม่มีการถืออาวุธและไม่มีปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ในช่วงเวลาที่กำหนด

– กองกำลังบีอาร์เอ็นในพื้นที่ที่ตัดสินใจกลับบ้านจะไม่มีปฏิบัติการทางทหารและใช้ความรุนแรง

– สมาชิกบีอาร์เอ็นที่อาศัยในประเทศมาเลเซียและต้องการกลับเข้ามาในพื้นที่จะแจ้งให้ผู้อำนวยความสะดวกและคณะพูดคุยฝ่ายทางการไทยทราบก่อน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ



แม้จะเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของภาคประชาสังคม แต่การทำงานของ “ไอเอ็มที” ก็มีระบบและขั้นตอน อย่างเป็นวิชาการรองรับ ประกอบไปด้วย 8 ขั้นตอน คือ (1) การวางแผนการติดตามข้อตกลงการลดปฏิบัติการทางทหาร (2) การกำหนดประเภทเหตุการณ์ในการติดตามข้อตกลง (3) การพัฒนาตัวชี้วัดของข้อตกลง (4) การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ข้อมูลทางสื่ออนไลน์ การร้องเรียนต่อเครือข่าย และองค์กรร่วมติดตามแหล่งข่าวจากพื้นที่ (5) การวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ (6) การวางแผนการสื่อสารผลการติดตามข้อตกลงฯ (7) การสื่อสารต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและการสื่อสารสาธารณะ และ (8) ทบทวนประเมินผลการดำเนินการติดตามข้อตกลงฯ ก่อนที่จะปรับปรุงกระบวนการและวางแผนใหม่อีกครั้ง

แม้ช่วงเวลา 40 วัน ทั้งสองฝ่ายคู่ขัดแย้งพยายามจะรักษาข้อตกลงความริเริ่มรอมฎอนสันติไว้ ทว่า ก็มีความรุนแรงอยู่บ้าง หรือแม้บางเหตุการณ์จะไม่สามารถระบุสาเหตุได้ก็ตาม และที่ต้องหมายเหตุไว้ ช่วงเวลาดังกล่าว มีเหตุ ความรุนแรงจากระเบิดที่อำเภอสายบุรี 2 ครั้ง มีประกาศแสดงความรับผิดชอบจาก ‘กัสตูรี มะโกตา’ ผ่านทาง Facebook ซึ่ง ‘กัสตูรี’ เป็นประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) และ “ไอเอ็มที” พบว่ามีใบปลิวที่มีภาพเสือซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นกลุ่มทหารของพูโลอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยในช่วงเวลาตามข้อตกลงไม่ปรากฎเหตุการณ์ที่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากการกระทำของ บีอาร์เอ็นอย่างชัดเจน

 หลังการติดตามข้อตกลงรอมฎอนสันติครั้งล่าสุด,  “ไอเอ็มที” ถอดบทเรียนแล้วพบว่า แม้ทีมจะเป็นอิสระ ไม่ฝักฝ่ายใด และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง โดยใช้ต้นทุนทางสังคม ประสบการณ์และองค์ความรู้ของแต่ละองค์กร ร่วมกับการประสานงานกับอาสาสมัครในพื้นที่เป็นหลัก แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งใดเป็นหลัก โดยเฉพาะจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งการรับรองอย่างเป็นทาง การไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น หรือทางการมาเลเซียก็ตาม ด้วยเหตุนี้ “ไอเอ็มที” จึงไม่สามารถ ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 40 วันดังกล่าว ทำให้ข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอจะตัดสินว่าเกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งหรือไม่ จึงสรุปสาเหตุที่ “ไม่ชัดเจน” หลายกรณี

ภาพใบปลิวรูปเสือและสัญลักษณ์ G5 ประกาศแสดงความรับผิดชอบเหตุความรุนแรงของขบวนการพูโล

สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น, ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจและติดตามใกล้ชิด “ไอเอ็มที” เห็นการนำเสนอข้อมูลและภาพทางออนไลน์ถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มากขึ้น ยังมีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงรอมฎอนสันติและนำเสนอในเพจ Berita Melayu Patani เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนได้ให้ข้อมูลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และข้อมูลเหตุการณ์ต่อเครือข่ายคณะทำงานของ “ไอเอ็มที” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและส่วนสำคัญในกระบวนการติดตามการลดปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายคู่ขัดแย้งได้ นี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญจากการริเริ่มของภาคประชาสังคมในฐานะ “ฝ่ายที่สาม” ในสนามความขัดแย้งอย่างมีความหมาย

สิ่งที่น่าสนใจคือการตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ หลัง “รอมฎอนสันติ” ประสบความสำเร็จด้วยดี มีแต่เสียงแซ่ซ้อง และความท้าทายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หลังเดือนรอมฎอนก็พุ่งสูงขึ้นมาอีกครั้ง มีเหตุแทรกซ้อน ที่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการที่ไม่ใช่บีอาร์เอ็น ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น และยังวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยถี่ขึ้น ดังนั้น ตัวแทนกลุ่มชาวพุทธรักสันติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยื่นข้อเรียกร้อง “เข้าพรรษาสันติ” ขอให้ทุกฝ่าย ทั้งทหารไทย บีอาร์เอ็น และขบวนการพูโลลดปฏิบัติการทางทหารให้ยาวนานเพิ่มขึ้นอีก 3 เดือนต่อเนื่อง (ระหว่างวันที่ 14 กรก ฎาคม – 10 ตุลาคม 2565) ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าเป็นช่วงเวลาในการปฏิบัติศาสนกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธและความปลอดภัยของทุกศาสนิก ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ คณะทำงานเทคนิคของฝ่ายไทยรับข้อเสนอที่จะส่งต่อให้โต๊ะพูดคุยสันติภาพ ทว่า ไม่มีสัญญาณตอบกลับมาให้คนไทยพุทธในพื้นที่ และข้อเรียกร้องเดิมนี้ ถูกเรียกร้องซ้ำอีกครั้งในปี 2566 ในเวทีสมัชชาสันติภาพ “พื้นที่กลางใหม่” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งเหตุผล คณะทำงานร่วม JWS-PDP ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานร่วมในการติดตามตรวจสอบการลดปฏิบัติการทางทหารหรือลดความรุนแรงอย่างเป็นทางการได้ หรือ การไม่สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มคนไทยพุทธ ที่อาจดูเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติได้ก็ตาม นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ปี 2566 ไม่มีการประกาศรอมฎอนสันติ “อย่างเป็นทางการ”

แต่กระนั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และนักสันติวิธีจำนวนหนึ่งที่ติดตามสถานการณ์กระบวนการสันติภาพอย่างใกล้ชิด เริ่มกังกวลกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา “รอมฏอนสันติ” มีความหมายในแง่บทบทสอบความจริงใจการเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในฐานะ “ปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อออกจากความขัดแย้ง” การปรากฏของข้อเรียกร้อง “เข้าพรรษาสันติ” ต่อจาก “รอมฎอนสันติ” นั้น จะทำให้ความหมายทางการเมืองแปรเปลี่ยนเป็นการแข่งขันทางอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อฝ่ายมุสลิมเสนอได้ ฝ่ายไทยพุทธก็ย่อมเสนอได้ และหากรับข้อเสนอจากฝ่ายใดโดยไม่รับจากอีกฝ่ายหนึ่งก็จะสร้างความกระอักกระอ่วนใจของผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่ออีกชาติพันธุ์หนึ่งในพื้นที่ ยิ่งจะเพิ่มรอยร้าวของความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งประเด็นแหลมคมนี้ยังมีข้อถกเถียงไม่สิ้นสุด หรือคนที่เกี่ยวข้องพยายามเลี่ยงบทสนทนากันไป

สถานการณ์เฉพาะหน้า หาก ‘ไม่มี’ รอมฎอนสันติ (อีกแล้ว)!

แม้จะมี “สาร” จากคณะพูดคุยสันติสุขสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข้อเสนอถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ร่วมมือ “สร้างบรรยากาศที่ดีและปราศจากความรุนแรง” ในช่วงรอมฎอนที่เพิ่งเริ่มขึ้น ‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ให้รายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น ทำไมปี 2566 ไม่มีข้อตกลงรอมฎอนสันติว่า เท่าที่ทราบจากคำอธิบายของพลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ อยากทำให้เป็นการหยุดยิงอย่างถาวรเลย ไม่ใช่การหยุดยิงเฉพาะหน้าเหมือนที่ผ่านมา โดยทำเป็นแผนงานมีโครงสร้าง มีระบบติดตาม เฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ

แต่เขามีข้อสังเกตว่า เหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ต้องระวังด้วย โดยเฉพาะช่วงรอมฎอน หากไม่ระมัดระวังให้ดีมักจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นและอาจจะกระทบกับภาพใหญ่ของกระบวนการสันติภาพได้  ซึ่งจุดท้าทายนี้ อย่างน้อยน่าจะมีการมอนิเตอร์ความรุนแรงจาก ‘ฝ่ายที่สาม’ ทำกันโดยไม่ได้ต้องประกาศอย่างเป็นทางการก็ได้ ทำให้ดีขึ้นจากครั้งที่ผ่านมา ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่มีแผนสำเร็จรูป ต้องทดลองหาโมเดลและถอดบทเรียนการหยุดยิงให้เจอก่อนที่จะมีการประกาศหยุดยิงถาวร เพื่อเป็นการทำงานเชิงรุกของภาคประชาสังคมอย่างมีความหมาย

ด้าน ‘อัญชนา หีมมิหน๊ะ’ กลุ่มด้วยใจ หนึ่งในทีม “เอ็มไอที” ระบุว่า ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคยร่วมเป็นคณะทำงานกำลังคุยกันอยู่ถึงการติดตามการลดปฏิบัติการทางทหารของคู่ขัดแย้งในช่วงเวลาสำคัญทั้งรอมฎอนและการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง สำหรับกลุ่มด้วยใจนั้น มีแผนมอนิเตอร์ความรุนแรง 3 ส่วน คือ (1) มอนิเตอร์รายเดือนที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว (2) มอนิเตอร์ในช่วงเดือนรอมฎอน และ (3) มอนิเตอร์ความรุนแรงช่วงของการเลือกตั้ง ตั้งแต่การประกาศยุบสภา – หลังการประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้งเลย โดยพยายามแยกแยะจากกลุ่มเป้าหมายความรุนแรงว่าเกิดจากสาเหตุความมั่นคงหรือเกี่ยวกับการเมือง จะเป็นความรุนแรงที่ลดลง หรือมากขึ้น หรือเป็นความรุนแรงที่ทับซ้อนเกี่ยวข้องระหว่างกันอย่างไร

โดยส่วนตัว, อัญชนา วิเคราะห์สถานการณ์สถานการณ์หรือบรรยากาศกระบวนการสันติภาพดู “ไม่ค่อยดี” นัก ประเมินจากการดำเนินคดีกับชาวบ้านสองอำเภอ สองหมู่บ้านที่สุไหงปาดี และบ้านดาฮง จ.นราธิวาส จากกรณีชาวบ้านขวางเจ้าหน้าที่ขุดศพผู้ต้องสงสัยมาตรวจดีเอ็นเอ กับกรณีชาวบ้านขึ้นเขาไปรายงานสดกรณีวิสามัญฯ หรือการที่ดีเอสไอออกหมายค้นบ้าน ‘ซาฮารี เจ๊ะหลง’ บรรณาธิการของสำนักข่าว The Motive  และทำเป็นคดีพิเศษกรณีการเปิดบัญชีพ่อบ้านใจกล้ารับบริจาคช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อที่ถูกวิสามัญฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งการที่ทหารไปปล่อยลูกโป่งรณรงค์รอมฎอนสันติที่มัสยิดกลางปัตตานี เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา

“เป็นการย้อนแย้งทำให้เห็นภาพว่าทิศทางของสันติภาพอยู่ภายใต้ทหารและกลายเป็นสันติภาพเชิงลบหรือไม่เพราะการกดทับยังเกิดขึ้น และขณะนี้ ‘เกิดวงรอบของวงจรความรุนแรง’ แล้ว เช่น มีวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย หรือคนที่มีหมายจับ ก็มีการประท้วงไปเอาศพโดยเร็ว มีการฝังศพแล้วตะโกนเรียกร้องเอกราช มีการดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมเหตุการณ์เพิ่มขึ้น และเมื่อมีการดำเนินคดีก็ต้องมีคนหลบหนีหมายจับ หลบหนีหมายเรียกเข้าป่า ก็จะมีการปิดล้อม เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงก็ใช้ความรุนแรงและจบที่การวิสามัญ นี่คือวงจรความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น”

เธอเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวล บางกรณีไม่ต้องถึงกับดำเนินคดีก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่เลือกใช้วิธีการเจรจา หรือแม้แต่คณะพูดคุยสันติภาพก็ไม่พยายามคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เป็นลักษณะของมวลชน กลายเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐอีกต่อไป เป็นภาพชัดมากขึ้นว่ารัฐไม่ต้องทำความเข้าใจกับมวลชน แต่รัฐต้องการกดปราบมวลชนเป็นหลักโดยการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้รอมฎอนนี้ไม่น่าจะสันติสุข

ดังนั้น การมอนิเตอร์ความรุนแรงช่วงรอมฎอนจนถึงการเสร็จเลือกตั้งจึงสำคัญ เพื่อแยกแยะสาเหตุของความรุนแรง และฉายภาพให้เห็นว่าในสถานการณ์ซ้อนทับเช่นนี้ ศักยภาพขององค์กรและภาคประชาสังคมสามารถติดตามตรวจสอบและประเมินความรุนแรงได้แค่ไหน อย่างน้อยก็เป็นการฝึกการตรวจสอบเพื่อเข้าสู่สถานการณ์เมื่อมีการประกาศการหยุดยิงอย่างเป็นถาวรในภายหลังด้วย เพราะเป็นเรื่องใหม่ของภาคประชาสังคมอยู่เหมือนกัน ค่อย ๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ของทุกฝ่ายขึ้นมา ที่สำคัญคือ สร้างการตื่นตัวของสาธารณชนด้วยว่าการตรวจสอบความรุนแรงแต่ละครั้งมีความจำเป็นอย่างไรกับสภาพปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพที่จะเดินหน้าต่อไป


อ้างอิง

  • ตัวแทนมาราปาตานีกับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้. ประชาไท. 22 มิถุนายน 2559.
  • รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี. สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2558.
  • ฮาซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยสถานีวิทยาร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) สำนักข่าวประชาไท โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และสื่อจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่มาเลเซีย.
  • สันติภาพภาคใต้: ทีมเจรจามารา ปาตานีชี้คุยกับทหารเป็นบททดสอบแนวทางการเมืองกับรัฐไทย. บีบีซี ไทย. วันที่ 28 สิงหาคม 2558.
  • “การเดินทางสู่สันติภาพ ระยะที่ 2” โดยอาบูฮาฟิช อัลฮากิม. บทแปลการปาฐกถาจากเวที “ดุลยปาฐกว่าด้วย ‘ภาพ’ การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ในวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558.
  • พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง: กางแผนพูดคุยสันติสุข. โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 15 เมษายน 2559.
  • รายงานผลการติดตามข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565. โดย Independent Monitoring Team (IMT).

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง