ผ่าเส้นเลือดฝอย กทม. : น้ำท่วมก็ต้องทน ถนนเอกชน ของบฯ แก้ไม่ได้!

“50 ปี ก่อนเป็นแบบไหน ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น”

ประโยคสำคัญที่สะท้อนภาพความชินชาของปัญหาน้ำท่วมขังภายในพื้นที่ ‘ชุมชนสุวรรณนิเวศน์’ ซอยนวมินทร์ 42 เขตบึงกุ่ม ซึ่ชาวบ้านเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนในทุกครั้งที่ฝนตก ทุกแยกในซอยแห่งนี้ถูกแปรสภาพไม่ต่างจากคลอง เพราะบางซอยไม่มีท่อระบายน้ำ หรือบางซอยมีท่อ แต่ก็ไม่เคยได้รับกรขุดลอกเลย ทำให้น้ำระบายได้ยาก  

แม้ว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สำนักงานเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร แต่ทางเขตกลับไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะถนนในซอยนี้ เกือบทั้งหมด มีเจ้าของเป็น เอกชน ซึ่งชาวบ้านที่นี่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานกว่า 50 ปี และไม่เคยมีการส่งมอบให้ กทม.

The Active ชวนเจาะปัญหา ‘เส้นเลือดฝอย’ ในชุมชน กทม. ที่ถนน และซอยซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ เอกชน ที่ กทม. ไม่สามารถนำงบประมาณ เข้าไปจัดการแก้ปัญหาได้โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม

แล้วทางออกที่ควรจะเป็น พอมีความเป็นได้บ้างไหม ?

เสาวนีย์ ควรคิด ประธานชุมชนหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ พา The Active สำรวจซอยแห่งนี้ โดยเธอเองเข้ามาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่ปี 2526 โดยหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นหลังจากเอกชน สร้างบ้านจัดสรรและแบ่งที่ดินขาย รวมเนื้อที่กว่า 350 ไร่ มีทั้งหมด 29 ซอย ทุกวันนี้มีประชากรอาศัยอยู่ราว ๆ 3,000 คน ยังไม่นับรวมประชากรแฝง 

ตลอดช่วง 40 กว่าปีมานี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตบึงกุ่มสามารถเข้ามาทำนุบำรุงพื้นที่ได้ เช่น ลอกท่อระบายน้ำในชุมชน แต่หลังจากปี 2553 ระเบียบการใช้เงินของหมู่บ้านเปลี่ยนไป หากเขตใช้งบประมาณมาทำอะไรในพื้นที่จะเป็นความผิด แม้ว่าพยายามเจราจา ทำหนังสือร้องขอให้เอกชนเจ้าของถนน ส่งมอบพื้นที่เป็นสาธารณะ เพื่อให้ กทม. สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับพบการเปลี่ยนมือเจ้าของใหม่ในบางช่วง และมีหมู่บ้านใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการปรับปรุงพื้นที่แต่อย่างใด ตอนนี้ที่ดินในหมู่บ้าน เป็นเหมือนแอ่งกระทะ ที่น้ำไหลไปไหนไม่ได้ หนำซ้ำ รอบหมู่บ้านที่เคยเป็นหนองบึง ก็ถูกถมที่ ขึ้นหมู่บ้านใหม่ที่สูงกว่า  

เสาวนีย์ ควรคิด ประธานชุมชนหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์

“อยากให้ยกให้เป็นสาธารณะเพื่อจะทำการพัฒนาปรับปรุง ซึ่งได้สอบถามไปยังเจ้าของรายใหม่ เค้าตอบกลับมาว่ายังไม่มีนโยบายที่จะยกให้เป็นสาธารณะ เราคิดว่าถ้าต้องทนอยู่แบบนี้ก็ต้องทรมานกันไปแก้ปัญหาไม่จบทางเขตก็อยากช่วย พร้อมที่จะช่วย แต่ติดเรื่องของกฎระเบียบกฎหมาย ไม่สามารถนำเงินรัฐบาลมาพัฒนาส่วนตรงนี้ได้ หรือไฟดับก็ไม่สามารถให้การไฟฟ้าเข้ามาจัดการได้ต้องอาศัยรวมเงินกันเพื่อแก้ปัญหา ติดไฟแอลอีดี ติดโซล่าเซลล์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนในชุมชน”

เสาวนีย์ ควรคิด

ซอยนวมินทร์ 42 ตรงไหน ? เป็นของ ‘เอกชน’

ประธานชุมชนหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ กางแผนที่ อธิบายรายละเอียดการครอบครองที่ดิน ที่เป็นถนนของหมู่บ้าน ซึ่งมีเพียงถนนเมนหลักจากปากซอยจนถึง แยก 13 เท่านั้น ที่เป็นถนนสาธารณะ ส่วนที่เหลือเป็นของเอกชนถึง 2 ราย คือ จากปากซอยแยก 13 จนถึงแยก 27 เป็นของเอกชน ที่ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิม ซึ่งเป็นเอกชนที่เข้ามาก่อสร้างหมู่บ้านใหม่รอบหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ แต่ไม่ได้ทำนุบำรุงเลย มาตั้งแต่ก่อสร้างหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ 

“แม้สำนักงานเขตจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2553 มีการทำถนน สร้างท่อระบายน้ำ แต่จากแยก 22 ถึง 28 ส่วนซอยฝั่งเลขคี่มีแยก 15 ถึง 27 ยังมีอีกหลายแยกที่ไม่ได้รับการพัฒนา อย่างตรงซอยคู่และซอยคี่ เช่น จากซอย 2 – 20 ยังเป็นซอยเล็ก ๆ ท่อระบายระบายน้ำเล็ก มีปัญหาท่อแตก ฝาท่อแตก ท่อตัน ซึ่งเจ้าของที่ดินไม่เคยเข้ามาดูแลหรือช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ซื้อที่ดินและบ้านของเขาเลย และยังเอาที่ดินสวนถนน จากแยก 13-27 เอาไปขายอีก ยิ่งเวลาฝนตกมาซอยแยก 8 และแยก 13 มีสภาพเป็นเหมือนคลอง ส่วนแยก 22 สร้างถนนใหม่แล้วก็จริง แต่ไม่มีผิวถนนมีแต่ท่อระบายน้ำ น้ำขังอยู่เหมือนคลองเพราะผิวถนนต่ำมาก”

เสาวนีย์ ควรคิด

จ่ายภาษีเหมือนกัน แต่เข้าถึงการดูแลไม่เท่ากัน!

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่รวมตัว ลงขันเพื่อนำเงินไปจ้างคนมาลอกท่อระบายน้ำ คือ “ทุกคนจ่ายภาษีเหมือนกัน” แต่การปฏิบัติที่เกิดขึ้น ไม่คุ้มกับที่เสียภาษีไป หากเป็นไปได้อยากให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อที่จะเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เขต เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะตอนนี้เข้าใจเขตดีว่า ไม่สามารถใช้งบฯ เข้ามาดูแลได้ เจ้าหน้าที่จะมีความผิด

“เมื่อก่อนนี้ต้องรอ 3 วัน 7 วัน ให้น้ำแห้งเอง ตอนนี้ดีหน่อยที่มีเจ้าหน้าที่ เอาเครื่องสูบน้ำมาตั้งให้ เราจะตามเจ้าหน้าที่เวลามีฝนตกหนักตอนกลางคืน เพราะไม่อย่างนั้นตอนเช้าทุกคนจะไม่สามารถเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียนได้ เพราะถนนเป็นคลอง เจ้าหน้าที่ก็มากลางดึกให้ ต้องขอบคุณเขตบึงกุ่มที่คอยให้ความช่วยเหลือตรงนี้” 

เสาวนีย์ ควรคิด

ในฐานะของประธานชุมชนฯ เสาวนีย์ ยอมรับว่าเป็นทุกข์ เพราะจากอดีต ปัจจุบัน อนาคต ยังไม่มีวี่แววว่าเอกชนจะมอบที่ดินเป็นสาธารณะ ทำให้ชีวิตต้องจมปลักอยู่อย่างนี้ต่อไป 

“เราต้องจมปลักแบบนี้ จนกว่าเราจะตายจากไป เราลำบาก เด็กรุ่นหลังก็ยังมาลำบากอีก รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันควรจะเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม ควรจะมีการพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่เขต สามารถเข้ามาได้ แล้วเอางบประมาณมาใช้ ให้สมกับที่เราได้เสียภาษี เราอยากได้ตรงนี้มากที่สุด เพราะทุกบ้านจะได้มีความสุข ปลอดภัย ถ้าถนนดี มีความสะอาดเรียบร้อย ไม่ใช่ว่าเวลามีมีปัญหาถนนเป็นหลุม ท่อตัน เราต้องจ่ายเงินจ้างคนเข้ามาทำกันเอง เราเสียภาษีกันทุกบ้าน ทำไมเราต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้”

เสาวนีย์ ควรคิด

แก้กฎหมาย-ระเบียบ หยุดส่งต่อความลำบาก ‘น้ำท่วม’

หากเป็นไปได้ชาวบ้านที่นี่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อยากให้ลูกหลานมาทนลำบาก เสาวนีย์ บอกว่า ตลอดชีวิตยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ความเจริญเกิดขึ้นมาตลอด แม้แต่ในต่างจังหวัด ถนนหนทางดีกว่าในอดีตมาก แต่พอมองย้อนกลับมาที่บ้านของตัวเอง ทั้งที่อยู่ในเมืองแท้ ๆ ฝนตกมาไม่นาน น้ำก็เข้าท่วมบ้านหมดแล้ว

“อยากให้มีการแก้กฎหมาย เพราะว่าสิ่งที่เคยมีอยู่ยังใช้สอยได้ เรื่องของใช้สอยประโยชน์ร่วมกันแล้วให้เขตมาช่วยเหลือ เพราะถ้าเรารอให้เจ้าของมาจัดการ เราก็ก็คงต้องจมปลักอยู่กับปัญหาเดิม และอยากให้เจ้าของที่มอบที่ดิน แต่ทางรัฐก็คงต้องช่วยด้วย เราอยู่กันมานาน เราทุกข์ทรมาน ควรจะแก้ไขตรงนี้ให้เราได้ด้วย การแก้ปัญหาน้ำตอนนี้ คือ การพร่องน้ำในคลอง ซึ่ง กทม. เข้ามาพร่องไว้ตลอด เพื่อที่จะรองรับน้ำที่จะตกลงมาในฤดูฝน เพื่อให้น้ำมีที่อยู่ เชื่อว่าหากถนนกลายเป็นของสาธารณะ รัฐก็จะสามารถนำงบประมาณมาสร้างถนนให้ใหม่ ทำท่อระบายน้ำให้ใหม่ มันก็จะศรีวิไลย์ขึ้น แต่นี่เราเหมือนจมปลักอยู่ 50 ปีแล้วยังไงก็อย่างนั้น”

ประธานชุมชนหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ ฝากทิ้งท้าย

เปิดระเบียบ… กทม. แก้ปัญหาในที่ ‘เอกชน’ ไม่ได้!

เพื่อความชัดเจนต่อแนวทางของกฎ ระเบียบ ก็พบว่ามีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยที่ทำให้หลายพื้นที่ กทม. ไม่สามารถเข้าไปดูแล แก้ปัญหาได้ โดย ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตบึงกุ่ม เปิดเผยข้อมูลกับ The Active ว่า ในพื้นที่รับผิดชอบมีพื้นที่ลักษณะปัญหาแบบเดียวกันกับชุมชนสุวรรณนิเวศน์ อีกอย่างน้อย 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย

  1. หมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ซอยเสรีไทย 29

  2. หมู่บ้านคลองกุ่มนิเวศน์ ซอยเสรีไทย 41

  3. หมู่บ้านเสนา 88 ถนนนวลจันทร์ซอย 17 และซอยคลองลำเจียก 8

  4. หมู่บ้านเคหะธานี 2 ถนนนวลจันทร์ซอย 56

  5. หมู่บ้านปัฐวิกรณ์ 2 ซอยรามอินทรา 44

  6. หมู่บ้านศรีนคร ซอยนวมินทร์ 24

  7. หมู่บ้านธนะสิน ซอยนวมินทร์ 66 และ 68

พร้อมนำเอกสารระเบียบ กทม. ที่ทำให้ไม่สามารถทำอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย บันทึกข้อความ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565 อ้างถึง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพันาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติหลายฉบับ อาจทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน พร้อมระบุถึงแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน เอาไว้ โดยมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่หมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ ในหลายประเด็น โดยสรุป ดังนี้

  • กรณีการพัฒนาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นเพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนันทนาการ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณูปโภค เพื่อประโยชน์ด้านการระบายน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สวนชุมชน เจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องไม่หวงห้ามหรือปิดกั้น ทางเข้าออก การพัฒนานั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ โดยให้หน่วยงาน ที่ได้รับความยินยอม จากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โดยจะต้องมีการทำ ทำหนังสือสัญญายินยอมให้ดำเนินการ) จะต้องมีการตรวจสอบและบันทึกข้อความจากประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่น้อยกว่า 15 คน แล้วทำการปิดประกาศโดยเปิดเผย ก่อนดำเนินการไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องให้ประชาชน ทั่วไปทราบว่า กทม. จะเข้าไปพัฒนาทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะ

  • กรณีการพัฒนาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคภายในโครงการหมู่บ้านจัดสรร จะต้องคำนึงถึง ประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สอยกันและให้ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ ในกรณีที่โครงการจัดสรรที่ดินไม่ได้ รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ให้พิจารณาดำเนินการ เหมือนกับการพัฒนาทรัพย์สินในที่ดินของเอกชนทั่วไป และตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 การจะเข้าไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้องพิจารณาพิจารณาถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐว่ามีข้อห้ามไว้หรือไม่ และการจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกรายในโครงการ

  • กรณีโครงการจัดสรรที่ดินได้รับอนุญาตตามกฎหมายและผู้จัดสรรที่ดินยังประกอบกิจการอยู่ แต่ได้ทอดทิ้งไม่ดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในโครงการเกินกว่า 10 ปี หน้าที่ในการดูแลรักษายังคงเป็นของผู้จัดสรรที่ดิน หากหน่วยงานได้รับการร้องขอจากประชาชน ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ และให้คำแนะนำกับประชาชนในการประสาน สำนักงานที่ดินเพื่อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอบร่วมกัน พ.ศ. 2536 ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ข้อ 5 ที่ กทม.จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาทรัพย์สิน ได้ จะต้องเป็น (1) ทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกันตั้งแค่ 10 ปี ขึ้นไป (2) ทรัพย์สินที่เจ้าของได้แสดงเจตนาเป็นลายลักษ์อักษรยกให้ กทม. หรือให้เป็นสาธารณสมบัติต่อแผ่นดิน 

นอกจากนี้ยังมี บันทึกข้อความ เรื่อง แนวทางการรับโอนสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน ตามมาตรา 43 พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ให้เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ “เอกชนปล่อยพื้นที่ไว้ ไม่ส่งมอบให้สาธารณะ” เนื่องจากต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อนโอน ซึ่งนั้นหมายถึง “งบประมาณที่เอกชนต้องจ่าย” ดังนี้

  • ถนนและท่อระบายน้ำ ต้องปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย และต้องเป็นไปตามรูปแบบและมาตรฐาน ที่ กทม. กำหนดให้แล้วเสร็จก่อนการรับโอน

  • เสาไฟฟ้าและดวงโคมไฟฟ้า แสงสว่าง พร้อมอุปกรณ์ ให้ผู้โอนดำเนินการปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยต้องมีหนังสือรับรองจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้านครหลวงมีหนังสือรับที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ กทม. ให้เรียบร้อยก่อนการรับโอน

  • กรณีทรัพย์สินอื่นที่มีสภาพการใช้งานในลักษณะจำเพาะสำหรับที่อยู่อาศัยภายในโครงการหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะมีภาระผูกพันถึงค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณของกทม. ในทันทีที่รับโอน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงดูแลรักษา เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย โรงเรียนอนุบาล สนามเด็กเล่น สวนหย่อม สถานที่ออกกำลังกาย จะต้องดำเนินการ ให้สำนักงานเขตพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการระบายน้ำ สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประเมินถึงเหตุผลความจำเป็น ความคุ้มค่า ว่าสมควรรับทรัพย์สินหรือไม่ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงปัญหาและภาระด้านเงินงบประมาณที่จะผูกพันในอนาคตด้วย
เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม

นับ 1,000 หมู่บ้าน ที่ กทม. ทำอะไรไม่ได้  

สำหรับปัญหาหนักอกหนักใจคนเมือง โดยเฉพาะลูกบ้านจัดสรรอย่างกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม ยอมรับว่า เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน จากการที่ลูกบ้านไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ในช่วงแรกหลายแห่งมีนิติบุคคลดูแล แต่เมื่อเวลาผ่านไปนิติบุคคลปล่อยทิ้ง ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้ง ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟสองสว่างทางเดิน ถูกทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ๆ ซึ่งใน กทม. มีเยอะมาก คาดว่าเกิน 1,000 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่เอกชนที่ กทม. ไม่สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการดูแลได้ 

“ยุคนี้อาจจะดีกว่าเมื่อก่อน คือ เมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนขึ้นมา สำนักงานเขตในพื้นที่นั้น ๆ สามารถเข้าไปดูแลได้ แต่ไม่สามารถดูแลได้ 100% สมมติว่ามีน้ำท่วมในซอยนี้หนึ่งซอย ปัญหาเกิดจากบ่อพักน้ำตัน กทม. สามารถแก้ไขได้เฉพาะบ่อ แต่ไม่สามารถไปดำเนินการลอกท่อได้ทั้งเส้น และปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ไฟส่องสว่างทางเดิน ทุกหลังมีไฟอยู่ในบ้านตัวเอง แต่ไฟถนนที่เป็นทางเดินถ้าเป็นหมู่บ้านที่ถูกเจ้าของโครงการทิ้ง ก็จะมีปัญหาซึ่งเกิดแบบนี้ขึ้นเยอะมาก” 

เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย

แก้กฎหมาย เปิดทาง กทม. ดูแลประชาชน 

ส.ก.เขตบึงกุ่ม บอกด้วยว่า ปัจจุบัน กทม. ไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ และไม่มีงบฯ สำรวจ แต่เชื่อว่าสำนักงานเขตจะมีข้อมูลเหล่านี้ โดยปัญหาพื้นที่ของเอกชน สำนักงานเขต และ กทม. ไม่สามารถของบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะได้ เพราะหากขอไปก็จะถูกตรวจสอบ และถูกตัดงบฯ ทางออกเวลานี้คือการแก้ไขกฎหมาย โดยสภากรุงเทพมหานคร มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทำรายงานส่งไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องแก้ทั้งกฎหมายของ กทม. และกฎหมายหลัก ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเช่นกัน แต่คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลานานหลายปี

สภากรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ชื่อว่า “คณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาแก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี ซึ่งตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี มีเรื่องของความปลอดภัย และการเดินทาง หากจะแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้คือเส้นเลือดฝอย ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละเขต ทั้ง 50 เขต ขึ้นมาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง 

“กทม. ใช้กฎหมายเป็นฉบับย่อ แต่เรามีกฎหมายหลัก คือ ของกระทรวง ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ การจัดแก้กฎหมายต้องแก้ทั้ง 2 ทาง คือ แก้ของ กทม. และแก้กฎหมายใหญ่ด้วย ในสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร กทม. ต้องแก้ไขศึกษาร่วมกันร่วมกัน ตอนนี้ สภา กทม. ศึกษาเรียบร้อยแล้วส่งเรื่องให้กับผู้บริหารแล้ว ที่เหลือรอผู้บริหารศึกษาและตอบกลับมาว่าอย่างไร” 

เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย

อย่างไรก็ตาม สก.เนติภูมิ ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้จบที่ สภา กทม. แต่ต้องไปจบที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ สำหรับกฎหมายที่ต้องแก้ไขเบื้องต้น ได้แก่

  • ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน 

  • ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน

  • พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

เนติภูมิ ยังทิ้งท้ายว่า เขตบึงกุ่มเคยมีการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ โดยการขอให้เอกชนส่งมอบพื้นที่ให้ กทม. สำเร็จมาแล้ว คือ ที่บริเวณซอยเสรีไทย 29 เกิดจากการที่ชาวบ้านรวมตัว และเชิญ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กทม. และสื่อมวลชน มาเจรจาร่วมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบ


เปิดรายงานศึกษากรรมาธิการ สภา กทม.

รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สรุปปัญหาอุปสรรค ทั้ง กรณีที่ที่ดินของเอกชนทั่วไป และกรณีที่ดินจัดสรร ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 โดยมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

กรณีที่ดินของเอกชนทั่วไป

  • ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินและไม่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งเจ้าของที่ดินไม่ยอมให้ กทม. เข้าดำเนินการ เพราะกลัวว่าที่ดินจะตกเป็นของสาธารณะ

  • ไม่สามารถติดต่อเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของที่ดินตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือหาตัวไม่พบ

  • กรณีที่ที่ดินเอกชนเจ้าของที่ดินทอดทิ้งเกิน 10 ปี ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรโดยไม่มีการสงวน ไม่น้อยกว่า 10 ปี เมื่อสำนักงานเขตเข้าไปดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ กลับพบว่าเจ้าของที่ดินได้ฟ้องร้องสำนักงานเขต และ กทม. ว่ากระทำการโดยไม่มีอำนาจละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน

  • เจ้าของที่ดินได้มีการทำสัญญายินยอมใช้สอยที่ดินกับสำนักงานเขต แต่เมื่อเข้าดำเนินการแล้วมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์รายใหม่ และมีการปิดกั้นพื้นที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการนำงบประมาณของราชการเข้าไปพัฒนา

  • ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2536 เป็นกฎหมายลำดับรอง หากมีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายหลัก ก็ต้องใช้บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายหลัก

กรณีที่ที่ดินจัดสรร ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

  • ผู้จัดสรรที่ดินทิ้งร้างหรือตามตัวไม่พบ หรือล้มละลาย รวมทั้งไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคล หมู่บ้านจัดสรร ทำให้ไม่มีผู้แสดงเจตนาให้ความยินยอมให้กรุงเทพมหานครเข้าไปปรับปรุงสาธารณูปโภคในโครงการ

  • ปัญหาการตีความกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับสถานะของสาธารณูปโภค ที่ผู้จัดสรรที่ดินทอดทิ้ง และกรุงเทพมหานครเข้าไปพัฒนาว่ายังเป็นของผู้จัดสรรที่ดิน หรือตกเป็นสาธารณประโยชน์ทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้อง

  • พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับกฎหมายอื่นให้ กทม. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขต กทม. ในเรื่อง การบำรุงรักษา ทางบก ทางน้ำ ทางระบายน้ำ แม้ว่าจะมีการบัญญัติว่าให้ กทม. มีอำนาจในการดำเนินการก็ตาม แต่การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอื่น เช่น กรณีสำนักงานเขตบางเขน เคยถูกฟ้องร้องในกรณีเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภค ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งผู้จัดสรรทอดทิ้งไม่ดูแลเกินกว่า 10 ปี

ปลายทางของปัญหานี้ ทั้งชาวบ้าน และ สมาชิกสภา กทม. เสนอว่า ควรเริ่มทำการสำรวจ 50 เขต ว่า มีพื้นที่ชุมชนที่ไม่มีนิติบุคคลดูแลกี่แห่ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุม และตอบโจทย์กับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของ ผู้ว่าฯ กทม. ควบคู่กับการแก้กฎหมาย หรืออาจมีระเบียบข้อบังคับที่ใช้ในการกำกับเอกชนที่เป็นเจ้าของถนนที่ใช้งานสาธารณะประโยชน์ เช่น การจัดเก็บภาษี การเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่ดูแลให้เกิดความเรียบร้อย เป็นต้น