แก้ปัญหาสัญชาติ – สถานะบุคคล เรื่องด่วน! ในวันที่ยัง…ไร้สิทธิ์ ?

“ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี 2548 โดยข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจน ถึงสิทธิ์ที่จะมีสัญชาติ  โดยมนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในสัญชาติหนึ่ง หรือต้องมีหนึ่งสัญชาติ ดังนั้นคําว่า การมีสัญชาติ จึงเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิ์โดยธรรมชาติ”

คือสิ่งที่ ครูแดง – เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ครูแดง มองว่า การที่ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรหรือลูกหลานที่เกิดในราชอาณาจักร ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ จึงสะท้อนว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ ที่ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก

เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยส่วนตัวมองว่า สมช. ไม่เพียงมองความมั่นคงของของประเทศชาติ แต่ยังมองถึงความเป็นมนุษย์ และเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นการที่ สมช. เสนอเรื่องของการพัฒนาสถานะบุคคล ให้กับกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยมานาน และได้รับการสํารวจ ทําทะเบียนประวัติตามนโยบายของรัฐในอดีตมาแล้ว รวมถึงการให้สัญชาติกับบุตร หรือลูกของกลุ่มนี้ที่เกิดในประเทศไทย จึงไม่ควรเป็นประเด็นทางการเมือง

“การเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ ขอย้ำว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมือง และจากกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ นี่จึงเป็นความทันสมัย ความใจกว้างของรัฐบาลและไม่ว่ารัฐบาลไหน ถ้ายอมรับสิ่งนี้ ก็ต้องชื่นชมว่าเป็นรัฐบาลที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม เป็นเรื่องดีที่สังคมมีการจับตาถกเถียงในประเด็นนี้ แต่อยากให้เป็นการจับตาที่เป็นการตรวจสอบ หรือการเร่งรัดการดำเนินการให้สิทธิต่อคนกลุ่มนี้ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการทุจริต ไม่ควรเป็นประเด็นทางการเมือง ที่มากระทบสิทธิอันพึงมี ของผู้ที่จะได้รับสถานะบุคคล และบุตรที่จะได้รับสัญชาติ ดังนั้นการให้สถานะบุคคล และสัญชาติแก่บุตร ผู้อพยพและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ในไทยมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดการดำเนินการที่ค้างคามานาน 30-40 ปี“

ครูแดง – เตือนใจ ดีเทศน์

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ยืนยันอีกเสียง ว่า มติ ครม. นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เป็นการไปลดขั้นตอนในการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชน กลุ่มคนดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม ที่อาศัยในประเทศไทยมายาวนาน แต่ตกหล่นเข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนของรัฐ เมื่อ 30-40 ปีก่อนได้เข้าถึงสิทธิ

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

“ย้ำ ว่าพวกเขามีสิทธิ์อยู่แล้ว เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา แต่พวกเขาตกหล่นจากการดําเนินการที่ล่าช้า จึงต้องได้รับการดําเนินการที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งคนที่ได้จะเป็นคนดั้งเดิม เป็นชนกลุ่มน้อย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่รัฐทําทะเบียนเอาไว้แล้วเมื่อ 30-40 ปีก่อน ไม่ใช่คนกลุ่มใหม่ และคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนต่างด้าว”

สุรพงษ์ กองจันทึก

ส่วนที่มีกระแสว่า จะเป็นการให้สัญชาติคนต่างด้าว และคนที่เข้ามาใหม่ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันเป็นไปไม่ได้ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องเป็นคนที่ไร้สัญชาติ ถ้าพบว่าเป็นผู้มีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งอยู่แล้ว รัฐก็จะไม่ดําเนินการเลือกหรือให้สัญชาติแน่นอน เพราะว่าเขามีต้นทางที่ดูแลเขาอยู่แล้ว

แต่สำหรับกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยมาเนิ่นนาน ก็จะให้ถิ่นที่อยู่ถาวรเท่านั้น ไม่ได้ให้สัญชาติไทย ส่วนลูกของคนกลุ่มนี้รัฐก็ให้สัญชาติ เพราะว่าเขาเกิดในประเทศไทย เขาก็มีสิทธิ์ได้อยู่แล้ว เป็นไปตามหลักดินแดน เฉพาะคนที่เกิดจากชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ใครมาเกิดในประเทศไทยแล้วจะได้หมด

ส่วนตัวเลขที่รัฐยกมาประมาณราว ๆ 480,000 คนนั้น อาจจะดูเยอะ สาเหตุที่ดูเยอะ ก็เพราะว่าการดำเนินการล่าช้าของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคั่งค้างมานาน 30-40 ปี เป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิมที่ทำไว้ต่อเนื่องมาหลายสิบปี ปัจจุบันเชื่อว่ามีส่วนหนึ่ง ที่อาจจะไม่ได้อยู่ประเทศไทยแล้ว ส่วนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนที่เหลือก็ต้องมาแสดงตัวและได้สิทธิ์เหล่านี้ ซึ่งตัวเลขอาจจะไม่ถึง 400,000 แล้ว ส่วนจะเป็นยอดเท่าไร ก็ต้องดูตามความเป็นจริงว่าปัจจุบันคนเหล่านี้เหลืออยู่ในประเทศไทยเท่าไร

“ต้องยอมรับ มันเป็นปัญหาดินพอกหางหมูมาเรื่อย ๆ แล้วการพอกหางหมูเป็นโดยใคร ก็เป็นโดยเจ้าที่รัฐทั้งนั้นเลย และที่ผ่านมาที่เราพบคือบางส่วนถูกกลุ่มทุจริตเอารัดเอาเปรียบเรียกเงิน พอไม่มีการจ่ายเงิน ก็เลยไม่เดินเรื่องให้อะไรทํานองนี้ครับ ดังนั้นมติ ครม.ที่ออกมาล่าสุดเรื่องนี้ จึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้“

สุรพงษ์ กองจันทึก

พวกเขา คือใคร ? ทำไม ? ยังไร้สิทธิ์

สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่มีสถานบุคคล หรือคนไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน ทาง ภาคเหนือ พบที่ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก ภาคกลาง และ ภาคตะวันตก อย่าง จ.กาญจนบุรี, ราชบุรี แล้วทาง ภาคใต้ ที่ จ.ระนอง, ประจวบคีรีขันธ์, ภูเก็ต, สตูล  ส่วนในกรุงเทพมหานครก็มีไม่น้อย

นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ยอมรับว่า ในอดีตกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย กลุ่มเหล่านี้อยู่ในไทยมาตั้งนานนานแล้ว แต่ว่าเขาอยู่ห่างไกล ไม่เคยติดต่อรัฐ พอเกิดสึนามิต้องรับรองผู้ประสบภัย ก็พบว่าคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีเอกสารบุคคล หน่วยงานก็เลยทําบัตรรับรองเป็นกลุ่มที่ 19 กลุ่มสุดท้ายเอาไว้ให้เขาได้สิทธิชั่วคราวก่อน

“จริงจริงแล้วเนี่ยต้องเรียนว่า คนเหล่าเนี้ยจํานวนมาก เขาเป็นคนไทยดั้งเดิม แต่ว่าการพิสูจน์มันอาจจะยาก เขาก็พูดภาษาไทยไม่ได้ทั้งนั้น ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านรับรอง เพื่อดำเนินการต่อให้ได้สิทธิ์ถิ่นที่อยู่ถาวร“

สุรพงษ์ กองจันทึก

นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน บอกอีกว่า ในยุคก่อนไทยมีคนจีนอพยพหนีความตายจากความยากลําบากเข้ามาจํานวนมาก รัฐก็ออกถิ่นที่อยู่ถาวรไห้ คนเหล่านี้มีลูกเกิดทั้งในไทยก็ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน พอได้สัญชาติไทย ลูกก็เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ลูกบางคนก็สามารถใช้สิทธิ์ทุกอย่างเหมือนกับคนไทยได้ เช่น ในสมัยก่อน อดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ถูกฝ่ายค้านตั้งคำถาม ว่า เป็นนายกฯ ได้อย่างไร เพราะพ่อยังถือใบต่างด้าว หรือไม่มีถิ่นอยู่ถาวรอยู่เลย สมัยก่อนเราเรียกใบพวกนี้ว่าใบต่างด้าว เรียกง่าย ๆ ทั้งที่พ่อของอดีตนายกฯ บรรหาร มาขอสัญชาติไทยก็ได้ แต่ท่านไม่เห็นความจําเป็น เพราะอายุก็มากแล้ว ก็เลยไม่ได้ขอ แต่คุณบรรหาร เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนเป็นคนไทยโดยการเกิด  ดังนั้นก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้

และเอาเข้าจริง ๆ แทบจะไม่พบเลยว่า มีคนไทยคนไหนที่ยืนยันได้ว่าบรรพบุรุษเขาอยู่ในไทยตลอดมา มีคนหลากหลายที่เข้ามาอยู่ในยุคก่อน และคนหลากหลายที่เข้ามาอยู่ ก็ถือเป็นคนไทยทั้งหมด

สรุปคือ เป็นกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลานาน กลุ่มเป้าหมาย ยังคงตามหลักเกณฑ์เดิมตามมติ ครม. เมื่อ 26 ม.ค. 64 ประกอบด้วย

  • บุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีตจนถึงปี 2542 (เลขประจำตัวประเภท 6) และที่สำรวจเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลระหว่างปี พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 89)
  • บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายในปี 2542 เด็กและบุคคลที่กำลังเรียนหรือจบการศึกษาแล้ว คนไร้รากเหง้า และคนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตจนถึงปี 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 00)

กลุ่มย่อย

  • กลุ่มที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน (ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม)
  • กลุ่มเด็กและบุคคลที่ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร และกำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษา หรือจบการศึกษาแล้ว แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • กลุ่มบุคคลไร้รากเหง้า
  • กลุ่มบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่

‘คนหมุนเมือง’ กับโอกาสมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

ในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษชน  ครูแดง ยังย้ำด้วยว่า พี่น้องชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม เขาอยู่มานานแล้ว มาทําอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจให้สังคมไทย การที่ให้เขามีสถานะต่างด้าวเข้ามาถูกกฎหมาย มีถิ่นอาศัยถาวร ก็ทําให้เขาสามารถที่จะทําอาชีพอะไรก็ได้ทั่วประเทศที่เป็นประโยชน์  ไม่ใช่อาชีพที่เป็นโทษต่อประเทศ เพราะว่าเขาก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายไทยอยู่ดี

“ตรงกันข้ามถ้าเราไม่มีสิทธิถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร บางครั้งเขาถูกกดค่าแรง เพราะว่าออกไปทํางานข้ามเขตไม่ได้ หรือว่า ลูกของเขาที่เกิดในประเทศไทย เขาก็ควรจะได้สิทธิ์ในการรับรองสัญชาติไทย เพราะว่าเขาก็เกิดเติบโตมาแล้วก็ไม่มีจุดก่อเกี่ยวกับประเทศต้นทาง ไม่สามารถจะกลับไปประเทศต้นทางนี่เป็นเงื่อนไขเลย ไม่เคยถือสัญชาติใดมาก่อน บางคนอพยพเข้ามาไม่น้อยกว่า 15 ปี บางคนอยู่มา 60 ปีแล้ว ก็ควรจะได้สถานะบุคคล“

ครูแดง – เตือนใจ ดีเทศน์

ครูแดง ยังยกตัวอย่าง กรณีหนึ่งที่เตรียมไปสอบนายสิบ แต่สอบไม่ได้เพราะว่ายังไม่มีสัญชาติ หรือว่าจบมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านวิศวะ จะไปทํางานเป็นวิศวกร ก็ทําไม่ได้ เพราะยังไม่มีสัญชาติ ก็เป็นได้แค่แรงงาน ซึ่งก็ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง แล้วก็เสียโอกาสของประเทศ และเสียโอกาสของเยาวชนเหล่านั้นด้วย  

“ที่เขาไม่ได้ใช้ศักยภาพเขาเต็มที่ อันเกิดจากเหตุของการเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้ง ๆ ที่เกิดในประเทศไทย ดังนั้นมติ ครม. นี้ จะมาช่วยปลดล็อกปัญหาดังกล่าว”

ครูแดง – เตือนใจ ดีเทศน์

เปลี่ยนจากการจับผิด เป็นร่วมจับจ้อง ป้องกันทุจริต
เอาเปรียบประชาชน ที่ควรได้รับสิทธิ์ที่พึงมี

สิ่งสำคัญในมติ ครม. นี้ คือการเร่งรัดการดำเนินการ จากที่ต้องใช้เวลาในการขึ้นทะเบียนรับรอง 272 วัน ซึ่งเดิมก็ถือว่าอย่างเร็วที่สุดแล้ว เพราะในความเป็นจริงล่าช้าไป 2 – 3 ปี หลายคนเป็น 10 ปี 20 ปีก็มี  จึงเป็นเรื่องดีที่มติ ครม.นี้ มาแก้ไขข้อจำกัด สามารถที่จะดําเนินการได้ โดยลดระยะเวลาเหลือเพียง 5 วัน

กรณีที่มีการตั้งคำถามว่า หลักเกณฑ์การดำเนินการรับรอง ผู้ที่ขอขึ้นทะเบียน สามารถรับรองตนเองได้เลย โดยไม่ต้องผู้ใหญ่บ้านหรือใครมารับรองให้ แล้วจะเปิดช่องการสวมสิทธิหรือไม่นั้น เรื่องนี้ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า โดยหลักการสวมไม่ได้ เพราะว่า มีระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว การจะเอาคนใหม่มาบอกว่าเป็นคนเดียวกับคนนี้ เมื่อดูข้อมูลภาพเก่าดูลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งลายพิมพ์นิ้วมือไม่สามารถจะมาแทนกันได้ เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ไม่เหมือนกันเลยสวมไม่ได้ อันนี้ก็ให้ยืนยันว่าถ้าเกิดเราเชื่อมั่นในการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมาทําเรื่องของบัตรบรรจุคนไทย ซึ่งก็ทํามาไม่มีปัญหา อย่างแจ้งเกิดลูก ทําบัตรของตัวเองก็ไม่มีปัญหา ก็ใช้ระบบเดียวกัน ก็ไม่ควรจะมีปัญหา

ในข้อดี ยังมีข้อกังวลที่ต้องจับตา

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ย้ำว่า กรณีที่มอบอํานาจนายอำเภอ ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจ อนุมัติทั้งเรื่องของการได้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย แล้วก็การได้สัญชาติของบุตรที่เกิดในประเทศไทย อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้นายอําเภอมากไป เพราะเท่าที่เห็นมาตลอด นายอําเภอ ต้องรับงานของกระทรวงต่าง ๆ มากมาย

แต่เมื่อไปมอบภาระให้นายอำเภอต้องรับผิดชอบในการพิจารณาอนุมัติสถานะบุคคลและสัญชาติ ก็จะเป็นภาระหนักของนายอําเภอ มาก ๆ เหมือนกับว่านายอําเภอ ไม่ต้องไปทํางานอื่น ทำแต่งานด้านสถานะบุคคลและงานต่างชาติ สิ่งนี้เป็นข้อที่ควรพิจารณา แต่เท่าที่ฟังกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า จะมีการจัดหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปด้วย คือ เข้าไปในอําเภอที่มีกลุ่มเป้าหมายจํานวนมาก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนายอําเภอ แล้วก็ป้องกันการมีอํานาจเบ็ดเสร็จของนายอําเภอแต่ฝ่ายเดียว

อีกประเด็น คือ กรอบเวลา 5 วัน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน เห็นว่า อาจจะต้องยืดหยุ่น คือ ไม่ได้มีกฎหมายที่จะลงโทษ เพียงแต่ว่ากําหนดกรอบเวลา เพื่อเร่งรัด หรือสร้างแรงบันดาลใจ ให้นายอําเภอต้องทําให้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ส่วนเรื่องการรับรองตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ และไม่ต้องถูกตรวจสอบประวัติและความประพฤติ โดยใช้แนวคิดว่า ให้ก่อนถอนทีหลัง ก็อาจจะมีคําถามของสังคมเหมือนกันว่า ถ้าเขาได้รับการรับรองสัญชาติไทยไปแล้ว จะไปถอนเขาทีหลัง อาจทำให้เกิดการฟ้องร้อง แต่ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งก็ต้องช่วยกันมองว่า แนวคิดที่ปฏิบัติจะต้องทำโดยสุจริตโปร่งใส ไม่มีการให้ หรือรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันจับตามอง

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ยังชี้ว่า มติ ครม. นี้ ยังไม่ได้สามารถจะใช้ได้เลยในตอนนี้ ต้องให้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกําลังเตรียมยกร่างตามกรอบเวลาที่จะต้องเสร็จภายใน 30 วัน หรือยืดไปได้ 60 วัน

“สิ่งสำคัญจึงต้องช่วยกันดูจับตาประกาศกระทรวงมหาดไทย กําหนดแนวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการให้ข้อมูลเท็จในการรับรองตัวเอง ไม่ให้เกิดการ รับผลประโยชน์จากการอนุมัติของนายอําเภอ แล้วก็เรื่องของกรอบเวลา 5 วัน ก็จะต้องมีการยืดหยุ่นคงไม่ใช่ 5 วันเป๊ะ เพราะว่า น่าจะต้องมีการยืดหยุ่น เพราะกลุ่มอําเภอที่มีกลุ่มเป้าหมายจํานวนมาก อาจจะต้องมีการจัดคิว หรือในระดับจังหวัด ก็จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน จากพื้นที่อําเภอที่ไม่ค่อยมีกลุ่มเป้าหมาย หรือมีกลุ่มเป้าหมายน้อยไปช่วยอําเภอ ที่มีกลุ่มเป้าหมายมาก“

“เป็นเรื่องดีที่สังคมจับตามอง และช่วยกันตรวจสอบ เหมือนกับส่องสปอตไลท์ไปในพื้นที่ที่มีการดําเนินงาน ที่ใดที่มีการตรวจสอบ ที่นั่นจะมีข่าวความสุจริตโปร่งใส และมีการทุจริตได้ยากมากขึ้น ก็เป็นเป็นเรื่องที่ดี เป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมไทย ที่สนใจนโยบายของรัฐ สนใจมติ ครม. จะส่งผลอย่างไร ดีกว่ามีมติ ครม. แล้วก็เฉย ๆ ไม่สนใจ นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชม”

ครูแดง – เตือนใจ ดีเทศน์

ถึงตรงนี้ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ย้ำทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทํางานของเจ้าหน้าที่ที่ล่าช้า หมายถึง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แล้วก็ทํามาทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของใครก็ตามแต่ เชื่อว่าเกือบทุกพรรคการเมือง ยกเว้นพรรคที่ตั้งใหม่ ก็มีส่วนกับกระบวนการเหล่านี้ตลอดมา มันไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ดังนั้นขอให้ทุกคนทําความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ดี แล้วก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของนโยบายไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล จึงควรมองไปที่สิทธิของกลุ่มต่าง ๆ ที่เขาควรจะได้รับ ในเรื่องของประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นโดยภาพรวมในประเทศไทยเป็นหลัก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ