8 ปีประยุทธ์ กับขบวนการภาคประชาชน

ความเคลื่อนไหว พัฒนาการ และบทเรียนของ “คนธรรมดา”

  • นอกจากข้อโต้แย้งในทางกฎหมายและการเมืองแล้ว “8 ปี ประยุทธ์” ยังเป็นมากกว่าการดำรงอยู่ของสถานะนายกรัฐมนตรี ของคนที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังหมายถึงยุคสมัยของสังคม ที่ก่อเกิดเป็นรูปแบบการใช้อำนาจและเครือข่ายทางการเมือง แบบที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า “ไม่เคยเจอรัฐไทยช่วงไหนที่เข้มแข็งขนาดนี้มาก่อน”
  • “การรัฐประหาร” ยังเป็นจุดร่วมสำคัญ ที่นำพาให้คลื่นมวลชนค่อย ๆ ก่อตัว จากความไม่พอใจการแก้ปัญหารายประเด็น สู่ความคับข้องใจต่อปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาเชิงโครงสร้างตามลำดับ ในที่สุด นี่กลายเป็นการหลอมรวม “ขบวนการภาคประชาชน” แบบใหม่ ที่แม้จะรวมตัวกันแบบหลวม ๆ และมีความเป็นพลวัตสูง แต่ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ
  • “แม้เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มีอำนาจยาวนานทั่วโลก แต่พวกเขามีความสามารถในการแข่งขันด้วย” นี่คือสิ่งที่ ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ฝากทิ้งท้ายถึงรัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์
8 ปี ประยุทธ์

ข้อถกเถียงในทางกฎหมาย ถึงสถานะ “นายกรัฐมนตรี” ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบกำหนด 8 ปีหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน เพราะยังต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีรักษาการ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินเรื่อยมา คือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทั้งประเด็นทางสังคมและทางการเมือง สะท้อนถึงการเรียกร้องนโยบายเพื่อแก้ปัญหามากมายที่สะสมมายาวนาน

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พัฒนาของการเคลื่อนไหว และบทเรียนที่ประชาชนได้เรียนรู้คืออะไร

The Active คุยกับนักวิชาการที่ติดตามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ว่าเหตุใด “คนธรรมดา” จึงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แม้หลายคนจะเคยได้ฟังความคิดเห็นของ “ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่มาแล้ว แต่ที่ผ่านมาผศ.กนกรัตน์ ยังเคยศึกษาการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่เขื่อนปากมูลด้วย และอีกหลายกลุ่มความเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยฉายภาพอนาคตของปรากฏการณ์นี้ ว่าสำคัญอย่างไรต่อการเมืองไทย

นิยามความหมายของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน (Social Movement)

คำว่าขบวนการภาคประชาชน หรือการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก ว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นขบวนการภาคประชาชน คนต้องเยอะแค่ไหน หรือต้องทำกิจกรรมแบบไหน ส่วนตัวคิดว่าเพื่อให้ทำความเข้าใจความหมายอย่างง่ายที่สุด คือ การรวมตัวกันของคนจำนวนหนึ่ง มาทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อข้อเรียกร้องทางสังคมหรือการเมือง อย่างมีเป้าหมายร่วมกัน

ซึ่งเป้าหมายนี้อาจมีความแตกต่างหลากหลายได้ แต่จะมี “จุดร่วม” บางอย่างที่เหมือนกัน ในขณะที่โครงสร้าง รูปแบบ ว่าจะเป็นทางการหรือไม่ จำนวนคนจะมากแค่ไหน อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายผิดพลาด

“เงื่อนไขหลักที่สำคัญ คือ การรวมตัวกันของคนธรรมดา ที่ไม่ได้มีบทบาทเชิงโครงสร้างโดยตรง แต่มารวมกันเพื่อเรียกร้อง หรือกดดันให้เป้าหมายที่พวกเขาเรียกร้องประสบความสำเร็จ การเกิดขึ้นของขบวนการภาคประชาชน มันเป็นเพียงแค่จุดสูงสุดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะจะมีความไม่พอใจ ความคับข้องใจก่อตัวขึ้นมาก่อน จนเกิดปัจจัยกระตุ้นให้คนออกมายืนบนท้องถนน มันไม่ใช่การเกิดขึ้นท่ามกลางสุญญากาศ…”

จุดร่วมของขบวนการภาคประชาชนที่สำคัญในช่วงระยะเวลา 8 ปีนี้

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดร่วมของทุกกลุ่ม มาจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากระบบและโครงสร้างที่มาจากการเลือกตั้ง มาสู่การมีผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ จนทำให้หลายคนตั้งคำถาม เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ หรือความรุนแรง คนจะตั้งคำถามว่ามันเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามของขบวนการภาคประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีกับระบอบที่ไม่ชอบธรรมเท่านั้น เพราะการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ทั้งขบวนการประชาชนเดือนตุลา สมัชชาคนจน หรือกระบวนการเรียกร้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 หรือแม้แต่ม็อบเสื้อเหลือง – เสื้อแดง ก้ไม่เพียงตั้งคำถามกับระบอบที่ไม่ชอบธรรมอย่างเดียว แต่ตั้งคำถามกับตัวผู้นำ ระบบราชการ การเมืองท้องถิ่น หรือภาคเอกชน ว่าทั้งหมดนี้เป็นที่มาของพวกเขาหรือไม่ แต่ละช่วงเวลา การตั้งสมมติฐานว่าอะไรคือที่มาของปัญหาค่อนข้างแตกต่างกัน

พัฒนาการของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตลอด 8 ปี เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในช่วง 8 ปีนี้ ภาพที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วง 2 – 3  ปีที่ผ่านมา คือ การลุกขึ้นมาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มองเผิน ๆ อาจเป็นเพียงแค่การลุกขึ้นมาของคนหนุ่มสาว แต่ในฐานะคนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาตลอด พบว่าในช่วง 8 ปีนี้ จะเห็นสิ่งที่แตกต่างกว่าก่อนหน้านี้อย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การพูดถึงว่า “อะไรคือที่มาของปัญหา และทางออกคืออะไร” ก่อนหน้านี้การเคลื่อนไหวในทางการเมืองเรามักเห็นการเรียกร้องการล้มผู้นำ การปฏิรูประบบราชการ หรือการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเฉพาะ ทั้ง เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ค่าแรง หรือค่าครองชีพ แม้ปัจจุบันเรื่องนี้ยังเรียกร้องอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ภาคประชาชนมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างทางอำนาจ และพื้นที่ที่พวกเขาคิดว่ามีอำนาจมากที่สุด 

เรื่องต่อมา คือ “รูปแบบ” ในการเคลื่อนไหว ก่อนหน้านี้ 30 ปี หลังเหตุการณ์เดือนตุลา การเคลื่อนไหวจะค่อนข้างเป็นรูปแบบ (Pattern) คือ เป็นการก่อตั้งองค์กรขนาดใหญ่ มีแกนนำ มีการสั่งการโดยตรง และตอบรับต่อขบวนการเคลื่อนไหวใหญ่เหล่านั้น ผ่านการจัดการที่เป็นระบบ แต่สิ่งที่เกิดหลังรัฐประหารมีพลวัตสูงมาก ทุกครั้งเราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ประเด็นข้อเรียกร้องในรายละเอียดแตกต่างกันตลอดเวลา เราจะเห็นการจัดการ (Organization) ในกลุ่มเล็ก ๆ เต็มไปหมด ที่เรียกร้องประเด็นเฉพาะของตนเอง ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

เรื่องที่ 3 คือ โครงสร้างของกลุ่มที่ค่อนข้างหลวม และมีการจัดการของตนเอง ดิฉันทำวิจัยทั้งม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง และสมัชชาคนจน จะเห็นว่า การเคลื่อนไหวจะมีแกนนำ มีกลุ่มพ่อบ้านคอยจัดการ มีพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน แต่ยุคนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาจกล่าวได้ว่ามี “การกระจายอำนาจ” แต่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เมื่อแกนนำถูกจับ ก็สามารถปรับโครงสร้าง (Restructure) กลับมาใหม่ได้

“สิ่งที่เราไม่เคยเห็นในการเคลื่อนไหวครั้งไหนเลย คือ พลวัตในการเรียนรู้ หรือ Learning Curve มันเร็วและสูงมาก หมายถึง การเรียนรู้ประเด็นทางการเมือง เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่สนใจประเด็นทางการเมืองมาก่อน แต่เป็นการรับรู้ในชั่วข้ามคืน ในช่วงแค่ 2 – 3 ปีนี้เท่านั้น ความตื่นตัว และเข้าใจประเด็นปัญหาที่ไปไกลกว่าปัญหาของตนเอง การเรียนรู้ระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนของมวลชนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ในช่วง 8 ปีนี้ การเติบโตของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มันเป็นอีกสปีชีส์หนึ่ง”

ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กว่าจะรวมกับขบวนการชาวนา แล้วยกประเด็นของชาวนามาเป็นหลักในการเคลื่อนไหว ผ่านไปหลายปีมาก หรือเสื้อแดงที่กว่าจะผลึกประเด็นของคนรุ่นใหม่ ก็ค่อย ๆ เกิดขึ้น แต่ในปัจจุบัน การเชื่อมประสานของขบวนการภาคประชาชน เกิดขึ้นไวมาก คนรุ่นใหม่ที่มีประเด็นของตนเอง และเป็นข้อเรียกร้องที่แหลมคม เชื่อมกับการทำงานร่วมกับขบวนการภาคประชาชนอื่น ๆ ทั้ง กลุ่มจะนะ พีมูฟ เราเห็นการทำงานที่แม้ไม่ได้หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่เรียนรู้กันไวมาก เขามีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาว่า อะไรคือการเมืองในเชิงนโยบาย

8 ปี ประยุทธ์

ในแง่ตัวบุคคล “พลเอก ประยุทธ์” มีผลต่อพัฒนาการการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างไร

“พลเอก ประยุทธ์ และระบบที่รายรอบเขามีผลอย่างมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวตน และความเข้าใจของผู้นำที่มีต่อขบวนการภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ในการผลักดันนโยบาย”

หากเราย้อนดูที่มา จะพบว่า พลเอก ประยุทธ์ มาจากปัญหาทางการเมืองของภาคประชาชนอยู่แล้ว พูดอย่างง่ายที่สุดคือ เป็นความขัดแย้งของการเมืองเสื้อเหลือง – เสื้อแดง การเกิดขึ้นของรัฐบาลนี้ จึงมาจากความพยายามที่จะทำให้การเมืองภาคประชาชนเป็นความวุ่นวาย เนื่องจากมีความขัดแย้ง และเผชิญหน้า นี่เป็นผลกระทบในทันที (Immediately Impact) จาก พลเอก ประยุทธ์ คือ การทำให้ขบวนการภาคประชาชนหายไป  

นอกจากนั้น ดิฉันยังเชื่อว่า คุณประยุทธ์เชื่อว่ารูปแบบในการจัดการให้ทุกขบวนการเงียบและหายไป กลับไปอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง และไม่แสดงออกทางการเมือง คือ ทางออกในการแก้ปัญหา ความสำเร็จในครั้งนั้น (2557) ทำให้รัฐบาลเชื่อว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ คือ ความสงบ ถามว่าได้ผลหรือไม่ ต้องตอบว่ามันได้ผลในช่วงนั้น แต่เมื่อมันไม่ได้แก้ปัญหาจริง ๆ จึงนำมาสู่ปัจจุบัน 

เมื่อปัญหาใหม่ตามมาที่เกิดขึ้นจากโควิด วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้การเรียกร้องของคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้น แต่คุณประยุทธ์ยังเชื่อแบบเดิม เพราะวิธีการนี้ต้นทุนต่ำ ได้ผลดี ป้องปรามการลุกขึ้นมาประท้วงได้จริง แต่ปัญหาคือ เมื่อมีผู้คนได้รับผลกระทบจริงมากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการแก้ปัญหาของคุณประยุทธ์ และรัฐบาล ส่งผลให้มีขบวนการภาคประชาชนก่อตัวขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา 

ถ้าต้องอยู่กับ “พลเอก ประยุทธ์” ต่อไป เวลา 8 ปีที่ผ่านมา อะไรคือบทเรียนที่ขบวนการภาคประชาชนได้เรียนรู้

อาจจะมีบทเรียนในเชิงบวกอยู่บ้าง คือ ประชาชนได้เรียนรู้ว่า “หนึ่งเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงได้” เพราะหลังรัฐประหาร แม้จะมีมาตรการในการควบคุมประชาชน แต่ทำให้คนหันไปหาช่องทางใหม่ ๆ และเชื่อว่าภายใต้ระบอบแบบนี้ มีช่องทางอื่นที่สามารถหยุดนโยบายที่กระทบพวกเขาได้จริง  

บทเรียนต่อมา คือ การเคลื่อนไหวบนท้องถนนอาจไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอไป ที่ผ่านมาเราอาจเห็นชัยชนะของขบวนการภาคประชาชนในอดีตหลายกลุ่ม ที่ทำให้ข้อเรียกร้องสำเร็จผล เต็มไปด้วยภาพที่ทำให้เห็นว่าการเมืองกระแสหลักอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เพราะข้อเรียกร้องนั้น “แตกต่างกันมาก” 

“เราไม่เคยเจอรัฐไทยช่วงไหนที่เข้มแข็งขนาดนี้มาก่อน มีความกลมเกลียวเหนียวแน่นระหว่างชนชั้นนำและกลุ่มทุน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนไม่สำเร็จ เพราะในอดีต ชัยชนะทุกครั้งของการเคลื่อนไหว จะมีความแตกแยกของชนชั้นนำ มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การเรียกร้องปัจจุบัน จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้เกิดขึ้นได้” 

บทเรียนสำคัญอีกเรื่อง คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพียงกลุ่มเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะการเคลื่อนไหวทั่วโลก ไม่มี Movement ไหน ที่เปลี่ยนแปลงได้โดยขบวนการเดียวโดด ๆ จึงต้องเรียนรู้ว่า ต้องเป็นการทำงานร่วมกันกับขบวนการที่หลากหลาย ทั้ง พรรคการเมือง กลุ่มระดับรากหญ้าอื่น ๆ ที่ตื่นตัวและเติบโตเข้มแข็งอยู่แล้ว 

สุดท้าย คือ กระบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เป็นเพียงวิธีการเดียวเท่านั้น เราจะเห็นการรณรงค์ผ่านประเด็นต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงแล้วจะเริ่มเห็นชัยชนะ ไม่ว่าประเด็นสุราเสรี หรือสมรสเท่าเทียม ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะจากบนลงล่าง แต่เกิดจากตรงกลาง และขยายไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังต้องรณรงค์ด้านความรู้ และสร้างความเข้าใจเพื่อขยายพื้นที่การรับรู้ไปสู่คนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย จนทำให้คนที่อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องนั้น ที่ยังไม่ออกมาร่วมเรียกร้องแม้จะรู้ว่าตนเองจะเสียเปรียบ เห็นด้วยกับสิ่งนั้น

ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนยังจำเป็นหรือไม่ 

“ขบวนการภาคประชาชนยังจำเป็นมาก แม้มีปัจจัยมากมาย ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนประสบความสำเร็จได้ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น การเคลื่อนไหวของประชาชนนั้นยังสำคัญอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะไม่รู้เลยว่า ปัญหายังดำรงอยู่ ถ้าไม่มีการเรียกร้อง อาจจะมีสื่อนำเสนอ หรือพูดกันบ้าง แต่อาจถูกตีความได้ว่ามันเป็นปัญหาของคนเพียงไม่กี่คน นี่จึงเป็นการสื่อสารกับรัฐว่ามันยังมีปัญหาอยู่”

นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวชุมนุม ประท้วง เป็นกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดเงื่อนไขพิเศษ เช่น เมื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือการเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วขึ้น และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ขบวนการภาคประชาชนก็ยังสำคัญ เพราะจะมีพรรคการเมืองที่ตอบสนองภาคประชาชนจริง ๆ ที่ยึดโยงกับปัญหาของประชาชน มาเป็นตัวแทนของพวกเขา ให้พ้นจากการซื้อเสียง ทำให้รู้ว่าการสู้บนท้องถนนอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว 

8 ปี ประยุทธ์

“แม้จะเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ที่มีอำนาจอยู่ต่อเนื่องยาวนานทั่วโลก แต่เขามีความสามารถในการแข่งขันด้วย ปรับตัวตอบสนองความต้องการ ความต้องการของประชาชน เพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไป แต่เรายังไม่เห็นการปรับตัวแบบนั้นของรัฐบาลหลังรัฐประหาร เห็นแต่ความพยายามในการอนุรักษ์ ทำนุบำรุงสิ่งที่มีมานาน ให้มีอยู่ต่อไป โดยที่ไม่คำนึงว่าการจะอยู่ต่อไปได้ของสถาบันการเมืองนั้น การปรับตัวสำคัญมาก”

แต่ สำหรับประชาชนนั้น การตื่นตัวในทางการเมืองช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น หลังต่อสู้มานานหลายสิบปี ภาคประชาชนต้องเรียนรู้ว่าการหาระบอบที่ลงตัวในระยะสั้น และระยะยาวนั้น ต้องเป็นระบอบที่ให้พื้นที่กับปีกอนุรักษ์นิยมด้วย และการสร้างพันธมิตรในหลากหลายปีก สำคัญมากในการเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้


Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชาลี คงเปี่ยม