เปิดสวิตช์ไปต่อ ⚔️ ตัดไม่ขาดอำนาจ ส.ว.

เมื่อขุมอำนาจเลือกนายกฯ 250 เสียง ส.ว. ได้ไปต่อ

ไม่ว่าอนาคตทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จะเป็นอย่างไร หลังวันที่ 30 กันยายน นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่นั้น แต่สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว คืออำนาจในการเลือกนายกฯ ของรัฐสภาที่ยังอยู่ในมือ ส.ว. นั่นหมายความว่าอนาคตทางการเมืองของประเทศยังอยู่ในมือของ 250 เสียงจาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

เหล่านี้เป็นประเด็นร้อนการเมือง ที่หลายฝ่ายจับตา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเงื่อนไขแรก ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะได้ทำหน้าที่ต่อในฐานะนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ซึ่งคาดการณ์ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ทำงานต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยการว่าการดำรงตำแหน่งเริ่มขึ้นในปี 2560 ตามรัฐธรรมนูญ หรือปี 2562 ตามการได้รับเลือกตั้ง จากนี้ก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้เกิน 4 ปี 

อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ขุมอำนาจเดิม ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมกันโหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงมีอำนาจต่อไป จนถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า นี่คือเงื่อนไขที่สอง ที่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นคุณกับ พล.อ. ประยุทธ์ เท่ากับว่าหลังการเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก

นั่นเพราะเมื่อวันที่ 6 -7 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดย ส.ส. ฝ่ายค้าน และฉบับเข้าชื่อของประชาชน รวม 4 ฉบับ มีประเด็นสำคัญในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และแน่นอนประเด็นนี้ถูกคัดค้านจาก ส.ว. ส่วนใหญ่

ระหว่างการอภิปรายก่อนลงคะแนน มี ส.ว. เพียง 2 คน คือ คำนูณ สิทธิสมาน และ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่อภิปรายเห็นด้วยให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในเรื่องดังกล่าว หลังสิ้นสุดอภิปราย มีการลงมติด้วยการขานชื่อ ซึ่งแต่ละร่างต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่งคือ 364 เสียง และต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงขึ้นไป ซึ่งที่ประชุมโหวตคว่ำทั้ง 4 ร่าง เพราะแม้เสียงข้างมาก คือพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย จะโหวตรับหลักการ แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และ มี ส.ว. เห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3 รวมถึง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเล็กที่ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง

ไม่ผิดคาด  โหวตไม่ผ่านตัดอำนาจ ส.ว. แต่ภาคประชาชนเดินหน้าสื่อสารต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เชื่อการปิดประตูคงอำนาจ ส.ว. อาจเป็นจุดจบรัฐบาล

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272 เปิดเผยภายหลังทราบผลโหวตคว่ำร่างแก้ไขตัดอำนาจ ส.ว. ว่า เครือข่ายคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะแม้ว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับที่ผ่านมา ในฟาก ส.ส. พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วยคล้อยตามกับการแก้ไขเรื่องมาตรานี้อยู่แล้ว ที่ต่างจะมีเพียงพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ค่อยยกมือสนับสนุนเท่าไหร่ แต่ว่าในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ไปล็อกสเปค ว่าต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ซึ่งต้องมีจำนวนเกิน 84 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เขาจะเห็นด้วยในการแก้ไข และลดอำนาจตัวเอง โจทย์ใหญ่หลังจากนี้ ถ้าเกิดเป็นการปิดประตูตายไว้แบบนี้ ก็ไม่มีทางออกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น การรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทางสังคมหลังจากนี้คงมากขึ้น ต้องเดินหน้าต่อเอาจริงเอาจัง เพื่อจะฝ่าทางตันตรงนี้ สู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

“ผมคิดว่าการปิดประตูตาย โดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย อันนี้จะเป็นจุดจบของรัฐบาลเช่นเดียวกัน การปิดกั้นในทางการเมือง ที่มันเกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมาในหลายมิติ สิ่งเหล่านี้จะช่วยก่อตัวรวมกัน มันเหลือแค่รอจังหวะเท่านั้น เรื่องการหลอมรวมของกลุ่มก้อนทางสังคม ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง จะมาพบมาเจอกัน และมานั่งออกแบบการขับเคลื่อนร่วมกันให้มันเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าอันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่พวกเราเอง ก็พยายามทำกันอยู่ 

และผมเชื่อมั่นอย่างนี้นะครับ ว่าถ้าสามารถจะประสานเชื่อมร้อยกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมได้ มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และมันจะมีการเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้“ 

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 
อำนาจ ส.ว.

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แม้จะยังไม่สำเร็จ แต่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เพราะจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป และสิ่งสำคัญเหนือผลโหวต คือ ความพยายามตอกย้ำของภาคประชาชนว่า กลไกในรัฐสภายังไม่ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน

“ซึ่งการขับเคลื่อนวาระนอกสภานั้นเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรื่องการสร้างวาระทางการเมืองของภาคประชาชนเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นในที่สาธารณะในการที่จะถกแถลงถึงประเด็นเหล่านี้ต่อไปในอนาคตด้วย ดังนั้น ประเด็นอาจจะมีความสำคัญมากกว่าตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำไป แต่เราจะเห็นผู้เสนอก็บอกว่า แพ้ครั้งนี้ก็แพ้เพื่อจะชนะ“ 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์
อำนาจ ส.ว.

นักรัฐศาสตร์ ยังประเมินว่า หากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ยังคงเดินไปตามกติกาเดิม ที่มี ส.ว. 250 เสียง จะเป็นกลไกสำคัญ อาจยังต้องเจอกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง และอาจกลายเป็นเหตุผลของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกครั้ง เพื่อสะท้อนว่า กลไกที่มีอยู่ยังแก้ปัญหาไม่ได้

ย้อนเหตุผลภาคประชาชน กับข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว.

โดยเหตุผลสำคัญของเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 130 องค์กร ที่ใช้ชื่อว่า องค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272  ที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. เพราะพวกเขาเห็นว่า การคงอำนาจให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากจะเป็นการสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มก้อนเดิมแล้ว ยังจะส่งผลต่อการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียวกัน สะท้อนผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายของประชาชนที่เสนอรวม 18 ฉบับ เวลานี้มีอย่างน้อย ๆ 4 ฉบับแล้ว ที่นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง เมื่อถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน

ตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด, ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย, ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยฯ ขณะที่กฎหมายอีกหลายฉบับยังคงค้างการพิจารณานานนับปี ไม่ถูกผลักดันขึ้นมาพิจารณา เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

“เราเห็นปัญหา 8 ปี ที่ผ่านมาที่ ส.ว. 250 คน ที่เลือก พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ หรือไม่ฟังเสียงในการแก้ไขปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น ปัดตกกฎหมาย แม้แต่กฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด ที่เราพยายามเรียกร้องให้มีเรื่องของบำนาญ เรื่องของสวัสดิการ นายกใช้แค่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจาก ส.ว. 250 คน ปัดตกกฎหมายของเราทั้งหมด เราเห็นปัญหาที่มันไม่เกิดการแก้ไข และ 8 ปีมันสะสมปัญหามาเยอะ ตอนนี้เราคิดว่ามันควรหมดเวลาแล้ว“ 

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม. 272

อาจจะมีคำถามว่า การไม่ตัดอำนาจ ส.ว. แต่จะรอให้ ส.ว. หมดวาระ ก็คงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า ส.ว. ก็ยังคงอยู่ในสมการกำหนดทิศทางการเมืองร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงปี 2567 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ