สว.ฮั้ว ต้องการแค่โพย
สว. ของประชาชน ต้องการ “ข้อมูล”
นับถอยหลัง สว.ชุดเก่าของไทยที่ถูกขนานนามว่าเป็น สว. องค์รักษ์ผู้พิทักษ์ คสช. กำลังจะหมดวาระลง แต่ยังไม่ทันจะถึงวันเลือก สว.ชุดใหม่ ก็เต็มไปด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่ากติกา และระบบการคัดเลือก สว.กลับไม่ยึดโยงกับประชาชน ตามเจตนารมณ์ที่เคยตั้งเป้าหมายเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 60
เปิด “บันทึกไว้กันลืม” มีชัย ฤชุพันธุ์
สว. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง
หากย้อนดู “บันทึกไว้กันลืม” ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในเอกสารความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ทำโดย คณะอนุประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นเอกสารที่ บันทึกความรู้สึก ความคาดหวัง และมุมมอง ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคนไว้
มีชัย ได้บันทึก ที่มาของ การเปลี่ยนระบบ สว.ว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ คสช.ประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดกรอบการร่างไว้ 5 ข้อ
1 ในนั้นคือ ข้อ 5 ที่ระบุชัดว่า ให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้ และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม (จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภา)
ในบันทึกไว้กันลืม มีชัย ยังระบุว่า
“ที่มาของ สว.ไม่ได้คิดอย่างหลักลอย แต่มีกรอบจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง”
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
แต่ในทางปฏิบัติ เพราะเหตุใด ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเลือก, ไม่สามารถรู้ได้แม้กระทั่ง ข้อมูลของผู้สมัคร สว. ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และถืออำนาจในรัฐสภาไทย
รากประวัติศาสตร์ สว. “สภาพี่เลี้ยง สภากลั่นกรอง”
สู่ ความหวัง สว.ของประชาชน ?
ใน บันทึกไว้กันลืม ข้อความตอนหนึ่งระบุไว้ด้วยว่า แต่เดิมมานั้นการมีวุฒิสภา มักจะเกิดจากแนวคิดว่า สภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมี “สภาพี่เลี้ยง” เพื่อประคับประคองกัน ต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาตอนแรกจึงมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มากๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดขาดจากพรรคการเมือง จะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง…
ในขณะเดียวกันในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาถ้าไม่ไปศิโรราบกับพรรคการเมือง หรือ นักการเมืองในพื้นที่ ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง จึงเป็นไปได้ยาก เราจึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความต้องการหรือความเดือดร้อนหรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง…
อ่านเพิ่ม ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560
The Active สัมภาษณ์พิเศษ ‘ช่อ – พรรณิการ์ วานิช’ คณะก้าวหน้า ระบุว่า “สว.ชุดปัจจุบัน คือ ยุคตกต่ำที่สุด” และไทยกำลังพัฒนาในการได้มาซึ่ง สว. แบบใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ตอบโจทย์เริ่มต้นที่ต้องการเห็น “สว.ยึดโยงกับประชาชน”
วุฒิสภาฯ ไม่ใช่ “พี่เลี้ยง”
แต่คือ การประนีประนอม ระหว่าง “ฝั่งอนุรักษ์ กับ ฝั่งหัวก้าวหน้า”
ช่อ พรรณิการ์ เล่าย้อนไปถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากการมีระบบ 2 สภาฯ แต่เริ่มต้นมาจากการมีสภาฯ เดี่ยว คือ สภาผู้แทนราษฎร ในช่วง 14 ปี แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แนวคิดของการมี “สภาสูง หรือวุฒิสภา” จึงไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็น “สภาพี่เลี้ยง”
“วัตถุประสงค์การมีสภาสูง หรือ วุฒิสภาฯ ไม่ใช่พี่เลี้ยง แต่เป็นการแสวงหาอำนาจ ที่มั่นทางการเมืองของฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่ไม่สามารถได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งได้ จึงเกิดการประนีประนอมกันระหว่าง ฝั่งอนุรักษ์ กับ ฝั่งหัวก้าวหน้า”
พรรณิการ์ วานิช
ณ เวลานั้น พยายามหาทางประนีประนอมกัน เพราะไม่สามารถถอยหลังกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ การมีแต่สภาเดี่ยว ให้ฝั่งอนุรักษ์นิยมไม่มีที่ยืนเลย ก็จะยิ่งขัดแย้งรุนแรง ขณะที่คณะราษฎร ในช่วงเวลานั้นก็อ่อนกำลัง จึงเป็นที่มาของการเมืองไทย รูปแบบ 2 สภาฯ
จากปี 2475 ไทยก็แทบไม่เคยมีสภาสูง ที่มาจากการเลือกตั้งอีกเลย เคยมีเพียงช่วงสั้นๆ คือ วุฒิสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งช่วงปี 2540-2549 ที่ไทยมี สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ที่เหลืออีก 10 ปี วุฒิสภาฯ มาจากการแต่งตั้งเสมอ
“ถ้ามองที่มาทางประวัติศาสตร์ จะเห็นชัดว่าเป็นเครื่องมือของฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่ได้มาโดยการเลือกตั้ง และทำหน้าที่อย่างสื่อสัตย์ ทำหน้าที่เป็นองค์ครักพิทักษ์อนุรักษ์นิยม”
พรรณิการ์ วานิช
เมื่อถามถึงสภาฯ ในอุดมคติ ช่อ พรรณิการ์ มองว่า “สภาเดี่ยว” ยังเป็นคำตอบมากกว่า แต่เมื่อคนไทยจำนวนมากยังอยากให้มีสภาคู่ ก็ต้องเคารพ แต่ต้องไม่มีหลักคิด “สภาสูง หรือ สว. ต่างจากสภาล่าง หรือ สส.จึงไม่สามารถให้ประชาชนเลือกตั้งได้” เพราะนี่คือหลักคิดที่เป็นอประชาธิปไตย ดูถูกประชาชน
อำนาจผลักดันแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ที่ สว. ชุดเก่า…ไม่ได้ทำ ?
เรื่องอำนาจของ สว.ใกล้ตัวประชาชน ขนาดที่เราจำเป็นจะต้องเสียเงิน 2,500 บาท เพื่อลงสมัครไปเลือก สว.ชุดใหม่เลยหรือไม่ ?
ช่อ พรรณิการ์ มองว่า แม้อำนาจเลือกนายกฯ จะไม่อยู่ใน สว.ชุดถัดไป แต่เราก็ยังต้องสนใจ สว. เพราะอำนาจของ สว.มีส่วนสำคัญหลายประเด็น ใกล้ที่สุด เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนกำลังเดินหน้า สู่ การทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ
“บทบาทของ สว.ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันแก้ไข รธน. 20-30 ครั้ง แต่ไม่เคยผ่าน ผ่านเรื่องเดียว คือ แก้ระบบการเลือกตั้้ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชน แก้เพื่อความได้เปรียบ เสียเปรียบ ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งเท่านั้น”
พรรณิการ์ วานิช
การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉันทามติประชาชน เสียงส่วนใหญ่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้หลุดจาก มรดกชิ้นสุดท้ายของ คสช. รัฐธรรมนูญ 60 แต่หากปราศจากเสียง สว. 1 ใน 3 สิ่งนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น…
อำนาจล้นมือ – แต่งตั้งองค์กรอิสระ ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง
ช่อ พรรณิการ์ ยกตัวอย่างความเจ็บปวดร่วมของสังคม เรื่องฉาวในแวดวงสีกากี (ตำรวจ) เพราะเป็นบุคคลที่ ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่ที่ผ่านมาการทุจริต เก็บส่วย ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนสุดท้าย เห็นการออกมาแฉกันไปมา เหมือนละครหลังข่าว
ขณะที่องค์กรที่เป็นผู้ชี้ผิดถูก อย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. องค์กรพิทักษ์กฎหมาย ตรวจสอบทุจริต กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนตัว ปกปิดการคอร์รัปชัน เรื่องเหล่านี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับ สว.อย่างมีนัยยะสำคัญ
“ปปช. คือ องค์กรอิสระ รวมถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ สว.เป็นผู้เลือก ถ้าต้นน้ำมา เป็นของผู้มีอำนาจ กลางน้ำ ปลายน้ำจะเป็นอย่างไร…
สังคมไทยก้าวหน้า จนเราไม่ยอมรับว่าเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องปกติ ปปช., ตำรวจ รับใช้ผู้ใช้อำนาจมามากแล้ว
เราต้องมี สว.ประชาชนก่อน… ชิง สว.ที่มีอำนาจมารับใช้ประชาชน อย่าลืมนะคะเงินเดือน สว. 120,000 มาจากภาษีประชาชน”
พรรณิการ์ วานิช
อำนาจตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร ที่ สว.หลงลืม ?
หากลองเปรียบเทียบ ความต่างระหว่าง สว.ชุดเก่า กับ สว.ชุดใหม่จะเห็นว่ามีอำนาจหลายประการที่หายไป
อำนาจตามบทเฉพาะกาลที่หายไป
- เลือกนายกรัฐมนตรี (ม. 272)
- ติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ (พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ดำเนินการตามหมวดปฏิรูปประเทศ)
- พิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางเรื่องที่ถูกยับยั้งไว้
อำนาจหลักที่ยังคงอยู่
- พิจารณาร่าง พ.ร.ป. และกลั่นกรองกฎหมาย
- ให้ความเห็นชอบกรณีแก้ไข รธน. (ต้องใช้เสียง สว.1 ใน 3)
- เห็นชอบ/ให้คำแนะนำเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาล รธน. และกรรมการในองค์กรอิสระ
- ตรวจสอบฝ่ายบริหาร
นอกจาก 2 ประเด็นหลักเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ไม่ใช่แค่การตั้งข้อสังเกต อีกอำนาจสำคัญที่ ช่อ พรรณิการ์ บอกว่า ต้องยอมรับว่าแทบไม่เคยเห็น สว.ทำ คือ เรื่องการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ที่เพิ่งเริ่มเห็น สว.ชุดเก่าทำงานกันในช่วงที่ใกล้จะหมดวาระประหนึ่งทิ้งทวน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นผลงานชิ้นโบว์ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า สว.กำลังทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร หรืออาจจะเป็นเพราะต้นทาง หรือ ที่มา ของ สว. ที่ตีกรอบจนไม่สามารถทำงานตามเจตจำนงค์แรกของตัวเองได้…
วอนสื่อ แนะนำผู้สมัคร สว.ปูทาง ชิง สว.ชุดใหม่ มาเป็นของประชาชน
ช่อ พรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า สว.ชุดเก่า คือ จุดต่ำสุดของ สว. เพราะมาจากการเลือก และแต่งตั้ง ของ คสช. ที่เป็นระบบปิด 100% แต่การเลือกชุดใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า คือ การเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อาจใช้คำว่า “เลือกตั้ง” ได้เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงขอเรียกว่า “การเลือก” เฉยๆ เพราะ ประชาชนต้องเสียเงิน 2,500 บาท, อายุเกิน 40 ปี ถึงจะเข้าไปอยู่ในการเลือก สว.ได้ (เลือกกันเองเฉพาะผู้สมัคร สว.ด้วยกัน)
แม้ก่อนหน้านี้ กกต.จะชี้แจง เหตุผลของสร้างกติกา และระบบการเลือก สว.ที่ซับซ้อน (ออกแบบให้เลือกันเองในสายวิชาชีพเดียวกัน และเลือกไขว้) เพื่อป้องกันการฮั้ว และต้องการให้การเลือก สว.นั้น แตกต่างไปจากการเลือก สส. ที่ประชาชนทั่วประเทศเป็นผู้เลือก แต่การออกกติกา ระเบียบที่เข้มงวด อย่างการออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ที่ผ่านมา ยิ่งสร้างความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจให้กับประชาชน
ระเบียบล่าสุดของ กตต. ในการแนะนำตัวผู้สมัคร มีข้อความสำคัญ คือ “การห้ามไม่ให้ผู้สมัคร” แนะนำตัวเองให้กับสาธารณะ รับรู้จะแนะนำได้เฉพาะกับคนที่เป็นผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น โดยจะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ สว.หมดวาระ คือ หลัง 10 พ.ค.67 สื่อมวลชนจึงเป็นช่องทางเดียวที่ จะเปิดให้ว่าที่ผู้สมัคร สว.ได้มีโอกาสพูด และรู้ว่ามีใครบ้าง
ผลพลอยได้จากการย้ำเรื่องนี้ ช่อ พรรณิการ์ เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนที่สนใจการเมืองสูง มีทุนทรัพย์เดินไปสมัครเป็น สว.เพิ่ม เพื่อเข้าไป โหวตเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมย้ำว่าการเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ต้องรู้ข้อมูลล่วงหน้า ไม่ใช่การเข้าไปอ่านหน้างานเพียง 5 บรรทัด ตามเอกสาร กกต.
“นี่ไม่ใช่เลือกเสื้อผ้า เลือกนมให้ลูก” แต่คือ การเลือก สว. ผู้มีอำนาจ 1 ใน 3 ของประเทศ จะให้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร จาก 5 บรรทัดเป็นไปไม่ได้”
ยิ่งลงสมัคร สว. เยอะ ยิ่ง ต้านฮั้ว! ก่อนถูกนายทุนกินรวบ สว. ด่านสุดท้าย ?
ช่อ พรรณิการ์ ย้ำว่า เวลานี้สิ่งที่กลุ่มรณรงค์ขาด คือข้อมูล ว่าผู้สมัคร สว.เป็นใครบ้าง จึงจำเป็นต้องมีกลไกให้ประชาชนรับรู้ได้มากที่สุดว่า เวลานี้มีผู้สมัครเป็นใคร อยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้รับข่าวสารมากพอ และกล้าตัดสินใจไปลงสมัคร เพื่อไปเลือกคนที่ตัวเองอยากให้เป็น สว.แต่หากยิ่งปิดข้อมูลไม่ให้ประชาชนรู้ ก็ยิ่งสะท้อนว่า กกต. กำลังเอื้อประโยชน์ให้คนฮั้วหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว
“กลุ่มฮั้ว ไม่ต้องการข้อมูล คนฮั้วกันมีแค่โพย เพราะรู้อยู่แล้วว่าถูกสั่งให้ไปเลือกใคร”
โดย ช่อ พรรณิการ์ ตั้งคำถามต่อในระบบเลือก สว. ผ่านการคัดเลือกจาก 20 กลุ่มอาชีพว่า เป็นการกีดกันผู้สมัครตั้งแต่เงิน 2,500 บาท ซึ่งคนบางกลุ่มอาจไม่สามารถจ่ายได้ ขณะที่การแบ่งกลุ่มอาชีพก็ไม่มีความเหมาะสม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนการเข้ามาทำหน้าที่ พอๆ กับกลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่ม SMEs ที่มีประชากรน้อยกว่า
นอกจากนี้การวางระบบให้เลือกตั้งในระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็ไม่ได้การันตีว่า จะได้ตัวแทนจากคนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีที่มีชื่อเสียง เพราะสุดท้ายแล้วการเลือกตั้งในระดับแรก คือระดับอำเภอ จะยิ่งเอื้อให้คนที่มีพวกมาก เพื่อนมาก เช่น หากคิดตามแนวคิดมหาดไทย คือ กลุ่มข้าราชการ ที่มีเครือข่ายระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ อยู่แล้วก็จะยิ่งมีโอกาสชนะ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนดีเด่น ถึงต้องได้รับการประชาสัมพันธ์ ในขณะที่การเลือกไขว้ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเปิดรับข้อมูลเพื่อให้ผู้สมัครได้รู้จัก คนต่างสาขาอาชีพ การมีข้อมูลที่เปิดเผย โปร่งใส ในระดับอำเภอ จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก และควรทำ
ส่วนคำถามว่า “เลือกไขว้ เอื้อการฮั้วได้ไหม” ช่อ พรรณิการ์ อธิบายว่า บ้านใหญ่ ในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพที่จะลงได้เกือบครบทุกสายอาชีพ หรือ จะจัดตั้งคนจากอำเภอ สู่ จังหวัดไม่ยาก…
แต่จะยากในระดับประเทศ ความยากของการฮั้ว เพราะต้องไปเจรจากับบ้านใหญ่อื่น ย้ำว่า ยากขึ้น แต่ไม่เกินความสามารถ
- ระบบแบบนี้ เอื้อต่อการฮั้ว ยิ่งปิด ยิ่งง่ายต่อการฮั้ว เพราะ คนฮั้วไม่ต้องการข้อมูล มีโพยเขียนเลข จบ คนไม่ฮั้วต้องการข้อมูล
- ระบบนี้ ไม่เอื้อบ้านใหญ่ ระดับจังหวัด แต่เอื้อบ้านใหญ่ ระดับประเทศ คนที่มีเงินซื้อ 200 คน จากทั่วประเทศ คือปลายทางที่น่าเป็นห่วง นั่นคือกลุ่มทุนที่พร้อมจะซื้อ ต้นทางคือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปได้มากที่สุด และคนเหล่านั้นไม่สามารถซื้อ สว.ที่เป็นของประชาชนได้
สุดท้ายจึงอยากเสนอ กกต.ให้ เปิดข้อมูล อย่างเป็นระบบ ต้องเห็นชัดทุกระดับ เข้าใจง่าย ชัดเจน และขอดักทาง กกต.ไว้ก่อนเลยว่า ไม่มีกฎหมายที่บอกให้ กกต.ต้องตรวจข้อร้องเรียนก่อนการรับรอง สว. ดังนั้นเมื่อกระบวนการเลือก สว.เสร็จสิ้น ประชาชนควรจะได้เห็น สว.ชุดใหม่ 200 คนทำหน้าที่ทันที เพราะสามารถตรวจสอบภายหลังได้ หากมีผู้ต้องออกจากการเป็น สว. ก็ขอให้เลื่อนตำแหน่งสำรองขึ้นมาแทน
อ่านเพิ่มเติม