“เลื่อนเปิดเทอมไม่ได้อีกแล้ว” | เดินหน้าการเรียนรู้วิถีใหม่ ในมุมมองของผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“เลื่อนเปิดเทอมไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะไปชนกับปีการศึกษาใหม่ วันนี้เราใช้คำว่าเด็กหยุดมาโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องหยุดเรียน พวกเขายังต้องเรียน แต่ไม่ต้องมาโรงเรียน”

นี่คือประโยคตัดสินใจของ อัมพร พินะสา ผู้รับหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Active ท่ามกลางสนามรบโรคระบาด ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นข้าศึกคอยตีกินการใช้ชีวิตแบบปรกติของนักรบเสื้อกาวน์ จนถึงการเรียนรู้ของนักเรียนเสื้อขาว ข้ามมาถึงปี 2021

ย้อนไป 3 เดือนก่อน ตั้งแต่วินาทีแรกที่ อัมพร เข้ามานั่งเก้าอี้ เลขาฯ กพฐ. เราได้เห็นเขาในบทบาทของหน่วยหน้า ที่ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากม็อบเด็กและม็อบครูอยู่บ่อย ๆ วันนี้ เขาคือ 1 ในผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจนโยบายการศึกษาที่สำคัญ ๆ  ของไทย ล่าสุดคือ การจัดรูปแบบการเรียนการสอน ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

การชะลอตัวทางการเรียนรู้ ระลอกใหม่

การชะลอตัวทางการเรียนรู้ มีผลร้ายแรงไม่ต่างจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ย้อนไปในห้วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกแรก โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในประเทศไทย เลื่อนเปิดเทอม มาแล้วครั้งหนึ่ง

“โควิด-19 ระลอกแรก กระทบการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2563 อยู่พอสมควรแล้ว ที่นี้มาระลอก 2 หรือรอบใหม่นี้ ผมคิดว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าดูจากสถิติ

เราเห็นชัดเจนว่า จ.สมุทรสาคร เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานศึกษาต้องหยุดเรียน หรือปิดเรียนเป็นภาพกว้างทั้งจังหวัด แล้วขยายภาพกว้างขึ้นไปที่ จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรปราการ วันนี้ ขยายไปกว่า 40 จังหวัดแล้ว ที่มีการปิดโรงเรียน”

เรียนออนไลน์ เรียนผ่าน DLTV และบทเรียนสำเร็จรูป กลับมาอยู่ในเส้นเรื่องอีกครั้ง เมื่อโรงเรียนสังกัด สพฐ. กว่า 6,000 แห่ง จาก 40 กว่าจังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อ และเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา

ในมุมมองของคนทำงานแนวราบเชิงพื้นที่ อย่างคุณครูและนักเรียน อาจมีความรู้สึกไม่ชอบพอกับการปิดโรงเรียน แล้วต้องดูแลสุขภาพคล้อยไปกับการจัดการศึกษารูปแบบออนไลน์ หรือสื่อสารทางไกลวิธีต่าง ๆ ที่เด็กกับครูต้องอยู่ไกลกัน

แต่ในมุมมองของผู้บริหารชื่อ อัมพร พินะสา จำเป็นต้องผลักดันการศึกษาไทยให้ยังเดินต่อไปได้ เพราะถ้ารอเวลาให้เด็กมาโรงเรียน เปิดเทอมใหม่ ปีการศึกษา 2564 จะไม่ทันวันที่ 17 พฤษภาคม ตามกำหนดการ ปัญหาใหม่เรื่องผลลัพธ์การศึกษาอาจรุนแรงมากกว่าเดิม

“ถามว่ามันสมบูรณ์แบบ มีคุณภาพดี เหมือนมาเรียนในห้องเรียนไหม มันอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่มันก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ก็อาจจะต้องเป็นปีพิเศษที่เราจะต้องยอมรับด้วยกันว่า วันนี้คุณภาพการศึกษา มันอาจจะไม่ได้ดั่งที่เราคาดหวัง แต่ก็ต้องเอาความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้งก่อน”

เรียนทางไกลครั้งใหม่ จากบทเรียนเก่าที่รอเข้าเล่ม

แวดวงการศึกษาเป็นอีกภาคส่วน ที่พยายามปรับตัวรับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเคยทำให้การศึกษาบ้านเราหยุดชะงักไปแล้วช่วงหนึ่ง แม้ว่าระบบการเรียนออนไลน์ จะถูกยกให้เป็นพระเอก แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้เท่ากันทุกคน แม้จะมีความพยายามนำการเรียนออนแอร์ DLTV และบทเรียนสำเร็จรูป ให้ครูเข้าไปเยี่ยมเด็กถึงบ้านเป็นครั้งคราว มาช่วยเสริม

จนถึงตอนนี้ การ ปิด-เปิด สถานศึกษา มีรูปแบบสอดรับกับการบริหารสถานการณ์ของ ศบค. ด้วยมาตรการ 4 ระดับ แบ่งเป็น 4 สี คือ โรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง ให้จัดการเรียนการสอนผ่าน DLTV หรือออนไลน์, พื้นที่ควบคุมสีส้ม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง ให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ตามหลัก Social Distancing คือสลับวันเรียน และแบ่งจำนวนนักเรียนไม่ให้แออัด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว ให้เรียนสอนตามปกติได้ แต่ยึดมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ภาพจาก Official Facebook Page : Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ
ภาพจาก Official Facebook Page : Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้สถานศึกษาทุกแห่งใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง นี่คือระฆังเวลา บ่งบอกว่าคุณครูต้องรื้อเครื่องมือการสอนทางไกลออกมาอีกครั้ง ทั้งที่หลายคนยังเก็บไม่เข้าที่ด้วยซ้ำไป

อ่านเพิ่ม ศธ. สั่งปิดสถานศึกษา 28 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด

คนอาจจะคิดว่า กระทรวงศึกษาธิการ ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบมีแพตเทิร์น ซึ่งก็ดูมีมูล เพราะใน 28 จังหวัดพื้นที่สีแดง มีเขตควบคุมสูงสุดเพียงบางอำเภอ แต่ต้องปิดทุกโรงเรียน อัมพร พินะสา เล่าถึงนโยบายสั่งการรอบนี้ว่า มีแม่แบบมาจากมาตรการรับมือโควิด-19 รอบที่แล้ว เป็นบทเรียนและสูตร ปิด-เปิด สถานศึกษา

โควิด-19 รอบแรก เจอปัญหามากมายที่ให้บทเรียนหลายอย่างกับทาง สพฐ. เรามาตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ เกิดซ้ำ หรือกินเวลาหลายปีกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ เราจะแก้ไขอย่างไร

จากตรงนั้น เราก็มาออกแบบ ซึ่งเริ่มออกแบบจริง ๆ ในการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นใน จ.ตาก และเชียงราย โดยถอดบทเรียนจากครั้งที่ 1 มาออกแบบกัน ก็ทำให้คุณครู ผู้ปกครอง และทางโรงเรียน มีความเข้าใจในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแต่ละแบบมากขึ้น ตอนนี้ 80 กว่าเขตพื้นที่การศึกษา ใน 40 กว่าจังหวัด ได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ พบว่าทำได้ดีขึ้น ตอนนี้ผมให้แต่ละเขตฯ ประเมินว่าหลังจากเราเจอครั้งแรก แล้วปรับใช้ครั้งที่ 2 มันมีประสิทธิภาพกว่าเดิมตรงไหน ต้องปรับปรุงอย่างไร กำลังให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประเมินอยู่”

Move on อย่างเดียวยังไม่พอ

ไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้เป็นเพียงข้าศึกในสงครามโรคระบาด อีกด้านหนึ่ง กำลังเป็นตัวเร่งแกมบังคับให้สังคมโลกผ่าคลอดนวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองให้ได้ในเวลารวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่พอจะประเมินได้แล้วแบบไม่เข้าข้างความขี้เกียจว่า โลกแห่งการศึกษา จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“แน่นอน ตรงนี้ผมคิดว่าถ้าเราถอดบทเรียนจากวิกฤตคราวนี้ เราอาจจะมองไปถึงภาพอนาคตว่า จำเป็นไหม ที่นักเรียนจะต้องมาเรียนอยู่ที่โรงเรียนทุกวัน

เป็นไปได้ไหมว่ามาโรงเรียนสัปดาห์ละ 2-3 วัน ที่เหลือเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน ให้การมาโรงเรียนมาเพื่อแลกเปลี่ยนพบปะกัน แต่เวลาจัดการเรียนการสอนจริง ๆ ทางออนไลน์ก็สามารถค้นคว้าได้ เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมทั้งหมด

ผมมองถึงว่า ถ้าวันข้างหน้าไม่ได้มีแค่ปัญหาโควิด-19 อย่างเดียว หากมีความจำเป็นอื่น ๆ เช่น กรณีรถติด หรือปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เกิดภัยพิบัติต่อสุขภาพรุนแรงจนเป็นเหตุให้เด็กไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ เราอาจจะต้องคิดกันแล้วว่าต่อไปนี้ เด็กนักเรียนต้องสามารถเรียนที่บ้านให้ได้”

นี่ไม่ใช่คำสั่ง แต่เป็นคำถามชวนคิดของ อัมพร พินะสา เลขาฯ กพฐ. ที่มีโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ 29,871 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ย. 2562) และกว่าครั้งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีคอมพิวเตอร์รวมกันกับโรงเรียนขนาดใหญ่เพียง 300,000 กว่าเครื่อง ต่อนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดย 1 ใน 7 เป็นเด็กยากจนพิเศษที่ต้องประคับประคอง

“แน่นอน ปัจจุบันเด็กนักเรียนมีความเหลื่อมล้ำกันเรื่องอุปกรณ์การเรียน ที่ระบบการเรียนออนไลน์ยังไม่ประสบความสำเร็จในระดับหมู่บ้าน และระดับครอบครัว เกิดจากปัจจัย คือ 1.การเข้าไม่ถึงสัญญานอินเทอร์เน็ต 2.เครื่องมือที่เป็นแท็บเล็ต หรือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่บ้านของเด็กไม่พร้อม

ตรงนี้เราจะบริหารจัดการอย่างไร ผมคิดว่าน่าจะเป็น 2 อย่างคู่กัน คือรูปแบบ อุปกรณ์ และตัว Content ที่เป็นเนื้อหาสาระ ซึ่งจะใส่เข้าไปในระบบออนไลน์ ผมคิดว่าวันนี้ ตัวความรู้และทักษะในระบบคอมพิวเตอร์มีเพียงพอ แต่ตัวเครื่องมือที่จะให้นักเรียน เป็นปัจจัยที่เราต้องมาคิดหาวิธีการ”

การศึกษาวิถีใหม่ กับการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ ๆ

ในห้วงเวลาที่ การศึกษาไทย ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ตามปกติในโรงเรียน The Active นำบทเรียนที่รวบรวมได้จากเด็ก ๆ คุณครู และผู้ปกครอง ที่พบเจอกันระหว่างทางในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งทำให้ปีการศึกษา 2562 ปิดเทอมนาน

เราพบว่า มีเด็กจำนวนมากแบกรับภาระทางเศรษฐกิจร่วมกับพ่อแม่ มีข้อมูลพบเด็กวัยเรียนกว่า 1 ล้านคน ชอบไปโรงเรียนเพราะอยากไปทานข้าวกลางวันและดื่มนม สวัสดิการกินฟรี ที่เด็กปฐมวัยถึง ป.6 จะได้รับในโรงเรียน แต่การปิดเทอมที่ยาวนาน ทำให้เด็กวัยกำลังโต ตกอยู่ในสภาวะอดมื้อกินมื้อ

“ตรงนี้เราคำนึงอยู่เหมือนกัน ถ้าในกรณีอาหารเสริมนม ส่วนใหญ่เราก็จะให้เด็กนักเรียนรับกลับไปทานที่บ้านอยู่แล้วถ้าเป็นนมกล่อง แต่ปัญหาที่เราพบก็คือกรณีเป็นนมถุง อาจเป็นอุปสรรค ก็เป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องหาวิธีนำส่งนมให้กับนักเรียนในห้วงเวลาระหว่างการเผชิญภัยโควิด-19 ตรงนี้

ส่วนอาหารกลางวัน ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเด็กอยู่บ้านแล้วเขาไม่มีอาหารการกินมื้อเที่ยง เราก็ไม่ได้ห้ามว่าโรงเรียนจะทำอาหารเที่ยงไปให้นักเรียนทานที่บ้านไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเกิดเขาไม่มีรับประทานที่บ้านจริง ๆ มันก็เป็นความจำเป็น ไม่ใช่ว่าพอปิดโรงเรียนแล้ว โควิด-19 มาแล้ว เด็กไม่ต้องทานข้าว มันก็ยิ่งจะเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพของเขา ส่วนรูปแบบวิธีการ ก็อาจจะต้องหลากหลาย เช่น ทำเป็นถุงนำไปส่งที่บ้าน สุดแท้แต่โรงเรียนจะดำเนินการตรงนี้” อัมพร พินะสา เลขาฯ กพฐ. กล่าวปิดท้าย

เมื่อถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา การเตรียมการที่ดีย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่ดีกว่า เราปิดท้ายบทสนทนาด้วยการให้กำลังใจผู้บริหารหน่วยหน้าในสนามรบด้านการศึกษาของไทย และอยากส่งกำลังใจไปถึงเด็ก ๆ และคุณครูผู้ที่ The Active ขอยกย่องให้เป็นฮีโร่ พาผู้เรียนผ่านพ้นช่วงวิกฤตทางการศึกษาที่บีนคั้นไปให้ได้ แบบที่ทุกฝ่ายไม่อึดอัดใจกันมากนัก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม