ปลดล็อก เมล็ดพันธุ์ข้าวไทย พัฒนาคุณภาพให้ทันโลก

ไทยมีกฏหมายห้ามนำเข้าและส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศ นอกจากได้รับอนุญาตเท่านั้น ขณะที่การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องใช้เวลาในการวิจัยนานถึง 5-10 ปี สวนทางกับงบวิจัยที่สั้น 1-2 ปี จนอาจทำให้การพัฒนาไม่เห็นผล ดังนั้นถ้าไม่หาทางปลดล็อกมองทางเลือกใหม่ อนาคตข้าวไทยย่อมมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ

รองศาสตราจารย์ ชเนษฎ์ ม้าลำพอง รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และวิเทศน์สัมพันธ์ คณะเกษตร กำแพงแสน ทีทำงานวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวหลัก ๆ ในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกันสองส่วน คือข้าวขาว อะไมโลสสูง  ตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่แอฟริกาที่เราส่งออกไปและสัดส่วนส่งออก 70 %  เทียบกับข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิปลูกได้แค่ฤดูเดียวต่อปี สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30 %

รศ.ชเนษฎ์ ม้าลำพอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยบริการวิชาการและวิเทศน์สัมพันธ์ คณะเกษตร กำแพงแสน


ทำไมต้องข้าวหอมมะลิ 105


เส้นทางเดินของข้าวหอมมะลิ 105 เกิดมาในประเทศไทย 40 กว่าปี โดยตั้งแต่ สุนทร สีหะเนิน เป็นหนึ่งในทีมงานเจ้าหน้าที่ ได้คัดสายพันธุ์และพบข้าวหอมดอกมะลิ จาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ให้ผลผลิตสูงได้ตามมาตรฐานที่กรมกำหนด ตั้งแต่ตอนนั้นคนไทยก็ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้เกษตรกรก็ยังปลูกข้าวหอมมะลิ 105 อยู่ ทั้งที่ปัจจุบันกรมการข้าวหรือมหาวิทยาลัยก็มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมพันธุ์อื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 พันธุ์หอมคลองหลวง พันธุ์หอมสุพรรณ หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีพันธุ์ใหม่ที่ออกมา เช่น หอมสยาม หอมมาลัยแมน

“แต่สุดท้ายผู้บริโภคยังชอบข้าวหอมมะลิ 105 อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ปทุมธานี 1 ที่ทำออกมาผลผลิตก็ได้เยอะกว่า ปลูกได้ทั้งปี ปลูกที่ไหนก็ได้แต่ว่าผู้บริโภคยังไม่ยอมรับมันก็เลยยังมีประเด็นปัญหาอยู่”


Q การรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิ

ในเรื่องการส่งออกกระทรวงพาณิชย์มีการกำหนดคุณภาพข้าวหอม 2 พันธุ์เท่านั้น คือ พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 กับ พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ทั้ง 2 พันธุ์ก็จะมีมาตรฐานการส่งออกตามการระบุคุณภาพอะไมโลสเท่าไหร่ ความยาวอะไมโลสเป็นเท่าไหร่ หุงสุกต้องเป็นอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออก เพราะฉะนั้นพันธุ์ข้าวหอมอื่นที่ไม่อยู่ในมาตรฐานก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนการส่งออกเลย



Q ส่งออกและนำเข้าเมล็ดพันธุ์ได้หรือไม่


ถ้าเป็นข้าวสารส่งออกตามกฎหมายได้แต่ว่าในกรณีเมล็ดพันธุ์จะมีในเรื่องการนำเข้าและส่งออกข้าว เพราะเรามีกฎหมายตัวหนึ่งเป็นกฎหมายกักกันพืชอยู่ ซึ่งนักวิจัยก็ไม่สามารถนำพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาผสมพันธุ์กับข้าวไทยได้ หรือถ้าทำได้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและวุ่นวายมากจะใช้เวลานานมากที่จะสามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ทำกันเพราะมีความยุ่งยาก

จริง ๆ แล้วการจำกัดเมล็ดพันธุ์ข้าวคือจำกัดทุกพันธุ์ห้ามนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวและส่งออกทุกชนิดจากราชอาณาจักรไทย แต่ถ้าจะนำเข้าก็ต้องขออนุญาตจากกลุ่มวิจัยการกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งต้องขออนุญาต ผมก็เคยมีประสบการณ์ทำยากมาก แต่ถ้ากรมการข้าวก็อาจจะขอได้ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้ามีผู้เล่นฝ่ายเดียวในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ก็จะทำได้ช้าไม่เร็วเท่าไหร่อาจไม่ทันกับนานาประเทศที่เขาทำได้เลย


“ความกังกลที่ภาครัฐไม่อยากนำเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้ามาปนกับเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย เพราะว่าประเทศไทยมีพันธุกรรมข้าวอยู่ในประเทศไทยเยอะมากตอนนี้ ไทยเองเก็บพันธุ์ข้าวศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อย่างน้อยน่าจะประมาณ 12,000 ชนิด หรือ 12,000 เบอร์ ที่เก็บเอาไว้ซึ่งเยอะมาก เราก็เคลมว่าเรามีเชื้อพันธุกรรมข้าวไทยสูงมาก ดังนั้นถ้าเรานำข้าวเข้ามาจากต่างประเทศเข้ามาผสมพันธุ์ ก็เกรงว่าความหลากหลายทางชีวภาพอาจจะลดลงก็ได้ อันนี้เป็นประเด็นที่เขากังวลกัน”

Q ไทยมีข้อจำกัดเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างไร

ข้อจำกัดตอนนี้คือเรื่องการพัฒนาพันธุ์ ถ้าเราไม่เอาเชื้อพันธุกรรมที่มีความแตกต่างจากข้าวไทย ยกตัวอย่างเราเป็นคนไทย แต่งงานกับคนไทยลูกออกมาเป็นคนไทย แต่ว่าเราอยากได้ผลผลิต 1.5 ตันต่อไร่ แต่ว่า พ่อกับแม่ ผลิตได้แค่ 700 กิโลกรัมต่อไร่  ทำอย่างไรลูกก็ไม่มีทางได้ 1.5 ตันต่อไร่ แต่ถ้าเราได้สายพันธุ์จากต่างประเทศอย่างเวียดนาม จีน ที่เขาปรับปรุงแล้ว เขาผลิตได้ 2 ตัน/ไร่แล้วมาผสมกับข้าวไทยเหมือนเป็นลูกครึ่งที่สวยหล่อ เราก็จะได้ข้าวที่แตกต่างจากข้าวไทยที่มีผลผลิตที่สูง เป็นข้อดี

“แต่ข้อจำกัด คือการนำข้าวจากต่างประเทศตอนนี้ก็มีการลักลอบนำเข้าข้าวบางส่วนเข้ามาตรงนี้ก็จะจัดการได้ยากอีกหน่อยก็จะกลายเป็นข้าวป่นอีกหน่อยรัฐบาลไทยจะไม่สามารถควบคุมได้ ทางที่ดีถ้าไทยเปิดโอกาส อาจผ่านกรมการข้าว และใช้ขั้นตอนที่ง่ายขึ้นนักวิจัยทำงานได้อิสระมากขึ้น พันธุ์ข้าวที่ได้ออกมาก็จะมีความแตกต่างที่เราเห็นได้ชัดมากขึ้นก็จะเป็นข้อดี แต่ถ้าจะไปขอพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศเข้ามากว่าจะผ่านขั้นตอนก็เป็นปี การพัฒนาพันธุ์มันก็จะช้า เราก็จะไม่มีพันธุ์ข้าวปลูกอายุ 100 วัน ที่ผลผลิต 1 ตันต่อไร่  ก็จะไม่มี มันก็อาจจะไม่มีคุณภาพข้าวก็มีส่วน อย่างพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่เป็นเชื้อพันธุกรรมที่เอาเข้ามาได้แบบถูกกฎกมาย เราอาจได้ข้าวพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่ผลผลิตสูง”

Q เมล็ดพันธุ์ไทยมีมากพอสำหรับเกษตรกร ?


สำหรับหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ข้าวที่จำหน่ายให้เกษตรกรก็จะเป็นศูนย์กลางขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว  ก็จะมีอยู่ตามจังหวัดหวัดทั่วประเทศ  แต่ว่าด้วยศักยภาพของแต่ละศูนย์ไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาได้ ชาวนาก็จะขาดแคลน  เช่น ข้าวฮอตฮิต กข.95 เกษตรกรอยากปลูกมาก แต่กรมการข้าวก็มีไม่เพียงพอ  ความหมายคือเกษตรกรอยากปลูกเกษตกรก็ต้องไปหาตามร้านค้า ที่เขาขายเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ ก็อาจได้ข้าวไม่ตรงตามพันธุ์ที่ต้องการอาจเสี่ยง ได้ข้าวปน แต่ก็ได้ไม่ตรงตามการอวดอ้างที่ขายตามท้องตลาดนี่เป็นความเสี่ยง ก็จะทำให้ได้ข้าวพันธุ์ปนที่ไม่มีคุณภาพ 

“คราวนี้กรมการข้าวเขาก็มีผู้ช่วยอยู่เหมือนกันอย่างเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนที่เข้ามาเรียนรู้เมล็ดพันธุ์กับกรมการข้าว พอเข้าโครงการหรือฝึกอบรมแล้วตามกระบวนการ ก็จะได้ใบอนุญาต ที่เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่เชื่อถือได้ ในมุมของกรมการข้าวก็จะมีผู้ตรวจสอบในทุกขั้นตอนของการผลิตเม็ดพันธุ์ แต่ปัจจุบันบางครั้งก็เจอเมล็ดพันธุ์ข้าวปนอยู่บ่อยครั้ง อย่างบางครั้ง กข.95 หายากมาก เพราะกรมการข้าวผลิตไม่ทัน เพราะเพิ่งผลิตใหม่หาไม่ทันความต้องการ  แต่ถ้ามีคนขายมาแอบอ้างว่าเป็น พันธุ์ กข. 95 ก็มีคนมาซื้อไป มันไม่ใช่ กข. 95 ในกรณีเมล็ดพันธุ์ขาดแคลน”

Q ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ไทยจะก้าวไปสู่ข้าวคุณภาพผลผลิตสูง


ประเด็นแรกเรื่องกฎหมาย เราเอาข้าวจากต่างประเทศเข้ามามีความเป็นไปได้ยากมากที่จะใช้ โดยเฉพาะเกษตรกรบางคน นักวิจัยบางคนที่เอาพันธุ์ข้าวเข้ามาโดยไม่แจ้งรัฐบาลไม่แจ้งด่านกักกันพืชและมาทำเองสุดท้ายออกมาเป็นพันธุ์ก็ขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวไม่ได้ เพราะไม่แจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช

ก่อนหน้านี้มีบางหน่วยงานของรัฐเองก็เคยมีปัญหาโดยเคยนำข้าวจากฟิลิปปินส์เข้ามาเป็นตระกูลไออาร์ซีรีส์ผสมพันธุ์ก็ออกมาเป็น กข. ต่าง ๆ แต่ถ้ามาดูใน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ข้าวนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นพันธุ์ข้าวต่างประเทศที่ไม่ได้รับการอนุญาตใช้จริง ๆ ในประเทศไทย ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาทางด้านกฎหมายตรงนี้ได้ ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่นักวิจัยจากทุก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่กรมการข้าว มหาวิทยาลัย หรือ เกษตรกรทั่วไป สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้หลากหลายและได้สะดวกมากขึ้น

ประเด็นที่สอง คือเรื่องของงบประมาณการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์นโยบายตอนนี้แหล่งทุนต่าง ๆ เขาก็จะบอกว่า งานปรับปรุงพันธุ์ข้าวใช้เวลานาน ปกติประมาณ 5-9 ปี ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวกว่าจะได้พันธุ์ที่ดีและเป็นที่ต้องการต้องใช้เวลา ขณะนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นนักวิจัยมหาวิทยาลัยเจอปัญหามากคือ เวลาขอทุนเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว 5 ปี ก็มักจะไม่ผ่าน ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าจะปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพต้องอาศัยผลลัพธ์ เวลา แต่หน่วยทุนก็จะให้งบฯ มา ประมาณ 1 ปี ซึ่งใน 1 ปี ในทำปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ได้แน่นอน เพราะในการวิจัย คือถ้าระยะสั้นไป การผสมพันธุ์พ่อแม่ก็เหมือนเสี่ยงทาย ถ้าออกมาแล้วในระยะสั้นงบฯ หมดทำต่อไม่ได้ และยังไม่ทันได้เห็นลูก เห็นหลาน ของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์เลย ซึ่งมันต้องทำต่อมันถึงจะเห็นผล

ทางกรมการข้าวเขาก็ทราบดีในปัญหานี้ แต่ว่า ถ้าว่าถ้ากรมการข้าวเขาทำเองแบบเฉพาะเจาะจงอาจไม่มีปัญหาเท่าไหร่เพราะเขาเป็นกรมตามภาระกิจ และได้งบประมาณจากรัฐบาลอยู่แล้วประจำปี แต่ถ้าเป็นนักวิจัยอยู่แล้วหรือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยก็จะมีปัญหาแต่ถ้าจะรอแต่กรมการข้าวฝ่ายเดียวอาจไม่ทันการ ขณะที่ต่างประเทศเขาก็มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มากกว่าเราและเร็วกว่า


“อย่างปีที่แล้วกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดประกวดพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อการพาณิชย์ มาแล้ว 2 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย ที่มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่นอกจากกรมการข้าวมาประชันกัน ในปีที่แล้ว 2566 โดยมีแปลงพื้นที่ส่วนกลางให้ไปปลูก และนำข้าวที่พัฒนาไปปลูกปรากฎว่าพันธุ์ข้าวที่ได้รางวัลไม่ใช่กรมการข้าว แต่เป็นข้าวจากมูลนิธิรวมใจพัฒนา ชนะเลิศ ประเภทข้าวหอมไทย รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวขาวพื้นนุ่ม รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวขาวพื้นแข็ง นี้เป็นประเด็นน่าสนใจ พอเป็นเอกชนมาพัฒนาพันธุ์เขาทำได้เร็วอาจเป็นงบประมาณที่เขาทุ่มได้ และกล้าลองออกมาได้เร็ว”


Q มองทิศทางอนาคตข้าวไทย


ถ้าแยกส่วนประเด็นข้าวหอมมะลิเป็นประเด็นที่ยาก เพราะพันธ์ุข้าวหอมมะลิ 105 ถือเป็นข้าวแบรนด์แนม ผู้บริโภคยึดติดมา 40-50 ปี หลายปี แม้จะมีพันธุ์อื่นเข้ามา ที่หอมเท่ากัน คุณภาพของต้นเหมือนกันเลย แต่ผู้บริโภคไม่ยอมรับเพราะไม่ใช่หอมมะลิ 105  นี้เป็นประเด็นหลักเลย แต่ถ้าเราดูการประกวดข้าวโลก ก็จะเป็นว่ารัฐบาลไทยจะส่งแต่ข้าวหอมมะลิเข้าไป ประกวดอย่างเดียวโดยไม่มีส่งข้าวพันธุ์อื่นเลย ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่น่าคิด ถึงแม้นักวิจัยจะนำพันธุ์ข้าวหอมพันธ์อื่น ๆ มา  เพื่อสู้กับหอมมะลิ 105  ก็ยากมาก

แต่ถ้าย้อนดูมะลิ 105 ที่มีมายาวนาน 40-50 ปี ในความเห็นผม พันธุ์กรรมมันเปลี่ยนไปพอสมควร อย่างที่หลายฝ่ายกังขาว่า ความหอมลดลง หรือ คุณภาพมันดูไม่เหมือนเดิม เรื่องของพันธุ์ที่เปลี่ยนไปต้องมาคุยประเด็นนี้เป็นหลักเลย ว่าวงการข้าวไทยจะมาคุยกันต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ค้าข้าวยอมรับข้าวพันธุ์อื่นให้ได้

ส่วนข้าวขาวไทยต้องปรับตัวอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จริง ๆ แล้วเราก็มักปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ตอนนี้หลายคนจะทำอย่างไรให้ผลผลิตสูง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 100 วัน ต้นสูงไม่เกิน 1 เมตร แต่ปัจจุบันไทย ยังให้ผลผลิตข้าวได้เพียง 700 ตันต่อไร่

Q คุณค่าข้าวไทยกับความสนใจต่อนานาประเทศ


ข้าวขาวหรือข้าวที่มีอะไมโลสมากกว่า 20 % ตลาดหลักเราอยูแอฟริกา ประเทศที่นำข้าวเราเยอะที่สุดคือประเทศเบนิน หรือสาธารณรัฐเบนินปัจจุบัน ก็มีนักวิจัยจากประเทศเบนินนมาอบรม 6 คน เพราะที่ผ่านมาการผลิตข้าวที่ทวีปแอฟริกายังได้ผลผลิตที่ไม่สูงมากนักค่าเฉลี่ย อยู่ 2-3 ตันต่อเฮกต้า ตอนนี้เขาก็มีความร่วมมือของJICA ที่ทำความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้แต่ละประเทศเข้ามาอบรมกับไทย มีหลายประเทศ อย่างแอฟริกาเขาก็ตั้งเป้าอยากเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศได้ก็เป็นเรื่องความยั่งยืนของอาหาร เราอบรมมาให้เขาแล้ว 6 รุ่นแล้ว รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 6  แล้ว

“อย่างจริง ๆ แล้วไทยส่งข้าวไปที่ประเทศเบนิน และเบนินก็จะส่งต่อให้ทวีฟแอฟริกาอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้กินข้าวสดแบบในประเทศไทย  เขากินเป็นข้าวนึ่ง หรือ (parboiled rice) คือผลิตภัณฑ์จากข้าว ที่ได้จากการนำข้าวเปลือกมาแช่ในน้ำจนมีความชื้นประมาณ 30-40% แล้วนึ่งหรือต้มจนสุก จากนั้นจึงนำมาทำให้แห้ง (dehydration) แล้วจึงสีเอาเปลือกออก การทำข้าวนึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพการสี หลังจากสีข้าวเสร็จเป็นข้าวขาวก็ต้องผ่านกระบวนการนึ่งก่อน นึ่งแล้วอบแห้งและค่อยส่งไปต่างประเทศ”

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

ด้าน รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า

ประการแรก มูลนิธิโรงเรียนชาวนามุ่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้แก่ชาวนา รักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนาและผู้บริโภคชาวไทยโดยตรง กิจกรรมของพวกเขาจึงสมควรได้รับปกป้องจากภาครัฐและ คณะกมธ.

ประการที่สอง การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของมูลนิธิฯ เป็นงานที่ยากลำบากจริง เพราะพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ต้องใช้เวลาทำการวิจัยราว 10-12 ปี การวิจัยมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อทำเสร็จ กลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้ เพราะกระบวนการลงทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีราคาแพงลิบลิ่ว ดังนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้มูลนิธิฯ จะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวได้จำนวนหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เลยแม้แต่สายพันธุ์เดียว

ประการที่สาม ปัจจุบันมีองค์กรภาคประชาสังคมเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังทำหน้าที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทย แต่พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนพันธุ์ข้าวไทยได้ ด้วยเหตุนี้สายพันธุ์ข้าวที่ถูกจดทะเบียนจึงตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจผูกขาดเพียงกลุ่มเดียว

ประการที่สี่ จุดมุ่งหมายของการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับมูลนิธิโรงเรียนชาวนา คือธุรกิจเอกชนพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อธุรกิจการค้าเป็นหลัก ส่วนมูลนิธิชาวนาผลิตสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้ข้าวมีคุณภาพดีและเหมาะสมสำหรับผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก

คำถามก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรควรมีการกำหนดนโยบายและท่าทีที่เหมาะสมต่อองค์กรภาคประชาสังคมในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทยอย่างไรต่อไป ?


“รัฐบาลควรต้อง คุ้มครอง พันธุ์ข้าว ที่ มูลนิธิพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ 9 สายพันธุ์ โดยการออกสิทธิบัติให้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะพันธุ์ข้าวดังกล่าว ถือเป็นของชาวนาไทยทุกคน สิทธิบัตรนี้ เพื่อป้องกันต่างชาติอ้างสิทธิ ซึ่งเคยถูกอ้างมาแล้วจากพันธุ์พืชสมุนไพรหลายชนืด เช่น กวาวเครือ เป็นต้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์