ปิดความเสี่ยง ตัดวงจรระบาด ฟื้นสมุทรสาคร

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คงเหลือเพียงแห่งเดียว คือ “สมุทรสาคร”

ส่วน กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการให้อยู่ในระดับ พื้นที่ควบคุมสูงสุด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลักเฉียดพันทุกวัน ส่วนใหญ่มาจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พอจะตอบคำถามได้ว่า ทำไมจึงยังไม่ปลดล็อก จ.สมุทรสาคร แล้วการควบคุมโรคที่สมุทรสาคร มีนัยยะและความหมายกับสังคมไทยอย่างไร ?

The Active ประมวลข้อมูลและเหตุผล เพื่อเป็นแนวทางในการหาคำตอบนี้

ผ่านมา 42 วัน มีรายงานผู้ติดเชื้อที่ จ.สมุทรสาคร ทุกวัน

หากนับตั้งแต่วันที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบสอง วันที่ 18 ธ.ค. 2563 จนถึงวันที่ 28 ม.ค. 2564 พบว่า ตลอด 42 วันที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ติดเชื้อที่สมุทรสาครทุกวัน แม้อาจจะมีบางวันที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาจากวันก่อนหน้า แต่ตัวเลขก็อยู่ในหลักสิบและหลักร้อยมาต่อเนื่อง และเมื่อรวมแล้วยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดของประเทศอีกด้วย

โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุกรอบใหม่ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สมุทรสาครพุ่งขึ้นเป็นหลักหลายร้อย คือ วันที่ 26 ม.ค. รายงานที่ตัวเลข 914 คน วันที่ 27 ม.ค. จำนวน 792 คน และวันที่ 28 ม.ค. จำนวน 733 คน

ทั้งนี้ การตรวจเชิงรุกรอบนี้ กรมควบคุมโรค วางกำหนดช่วงเวลาดำเนินการ 7 วัน (25-31 ม.ค.) และวางเป้าหมายการตรวจวันละอย่างน้อย 10,000 คน โดยคาดว่าจะสามารถตรวจได้ทั้งหมดประมาณ 63,000 คน

แบ่งเป็นการตรวจใน โรงงานขนาดใหญ่ 15 แห่ง ซึ่งมีจำนวนแรงงานที่จะตรวจทั้งหมด 41,811 คน โรงงานขนาดกลาง 5 แห่ง แรงงาน 1,251 คน โรงงานขนาดเล็ก 13 แห่ง แรงงาน 1,008 คน ชุมชน 15 แห่ง ประชาชนในชุมชน 7,500 คน ตลาด 3 แห่ง จำนวน 600 คน และตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 10,956 คน

ในทางระบาดวิทยาคาดว่า ในจำนวนนี้จะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 4,300 คน และพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกประมาณ 15,000 คน หรืออัตราผู้ติดเชื้อ 1 คน ต่อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 คน ซึ่งหากตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงพุ่งมากขึ้น ก็จะยิ่งท้าทายระบบแยกกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพราะกรณีผู้ติดเชื้อชัดเจนว่าต้องอยู่โรงพยาบาลสนามกักตัว แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะมีความยากในการจัดการมากกว่า เนื่องจากกลุ่มนี้ก็ยังคงเดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ

ประเด็นนี้ นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่า การที่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมากถึงหลักหมื่นคนนี้ เป็นอุปสรรคที่ท้าทายในการควบคุมโรค เพราะกลุ่มนี้ยังคงมีการเดินทางและทำงานตามปกติ จึงเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้ง่าย โดยเฉพาะการกระจายออกนอกพื้นที่อีก

“ตอนนี้เจอผู้ติดเชื้อ 5,000 คน หากเทียบตัวเลขผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 คน หรือ 3 เท่าของผู้ติดเชื้อ กลุ่มนี้ยังเดินทางและทำงานตามปกติ และมีโอกาสแพร่เชื้อตลอดเวลา จึงเป็นอุปสรรคที่ท้าทายในการควบคุมโรคด้วย”

การตรวจเชิงรุกยังทำได้น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานข้ามชาติใน จ.สมุทรสาคร

ในการระบาดระลอกสองนี้พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ของ จ.สมุทรสาคร เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยในช่วงแรกของการระบาดรอบนี้พบว่าผู้ติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร ได้กลายเป็น Super Spreader กระจายเชื้อไปมากถึง 43 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ด้วยการดำเนินการมาตรการที่เข้มข้นที่ผ่านมา ทำให้จนถึงขณะนี้หลายจังหวัดสามารถตัดตอนการระบาดวงกว้างได้ และไม่พบผู้ป่วยรายใหม่จากแรงงานข้ามชาติอีก

แต่สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร อาจจะยังมีความน่าเป็นห่วงในประเด็นนี้ เพราะแม้จะมีการระดมตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้น แต่หากดูข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ที่ระบุว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาครมีประมาณ 2.3 แสนคน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ขณะที่มีการประเมินกันว่า มีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมายอีกเกือบเท่าตัว หรือกว่า 2 แสนคน

ซึ่งหากนำจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายประมาณ 4 แสนคนนี้ ไปคำนวณในทางระบาดวิทยา (หากตรวจครบ) อาจทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 31,280 คน หรือ 6.8 % อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสามารถตรวจได้แค่ประมาณ 60,000 คนเท่านั้น ขณะที่ระยะเวลาการตรวจเชิงรุกรอบล่าสุดที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ก็วางไว้แค่ถึงสินเดือนนี้เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถตรวจแรงงานข้ามชาติได้ครบทุกคน

ประสิทธิภาพของมาตรการแยกผู้ติดเชื้อ ออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ

อีกประเด็นที่อาจต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน คือ มาตรการรองรับหลังจากพบผู้ติดเชื้อแล้วมีความพร้อมแค่ไหน โดยเฉพาะการต้องเร่งแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ทั้งการเตรียมโรงพยาบาลสนาม 8 แห่ง จำนวน 3,000 เตียง และการจัดการที่อยู่อาศัยหรือสภาพแวดล้อมให้ปลอดจากการแพร่เชื้ออย่างเป็นระบบ

เห็นได้จากกรณีที่มีความพยายามจะเปิดกลางกุ้งเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเพื่อยืนยันว่าเป็นตลาดปลอดเชื้ออย่างแท้จริง จึงจัดให้มีการตรวจหาเชื้อแรงงานในตลาดกว่า 1,000 คนอีกครั้ง แต่กลายเป็นว่า ยังคงผู้ติดเชื้อในตลาดกว่า 100 คน ทำให้การเปิดตลาดต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งกรณีนี้ อาจสะท้อนถึงการจัดสภาพแวดล้อมว่าสามารถทำให้ไม่ปลอดเชื้อได้จริงหรือไม่

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดต่อ เพราะเพียงแค่มาตรการสาธารณสุขในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกเพียงด้านเดียว อาจจะไม่เพียงพอ แต่ยังต้องรวมถึงมาตรการบริหารจัดการต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ และการจัดการที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้ปลอดเชื้ออย่างแท้จริง เพื่อจะทำให้ จ.สมุทรสาคร ไม่กลับไปเป็น Super Spreader กระจายเชื้อยังจังหวัดอื่น และทำให้ประเทศไทยยังไม่พ้นจากวิกฤต


อ่านเพิ่ม

‘อนุทิน’ ​เปิดช่องฉีดวัคซีน​โควิด-19​ แรงงาน​ข้ามชาติ

ศบค. ชุดเล็ก เสนอผ่อนมาตรการโควิด-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active