“ปลอดภัย แต่ไร้เงิน” แรงงานไทยยอมเสี่ยง ปรับตัวท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

สถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล หลายฝ่ายยังคงคาดว่าจะรุนแรงบานปลายขึ้นและไม่รู้ว่าจะยกระดับเป็นสงครามขั้วมหาอำนาจหรือไม่  เวลานี้รัฐบาลไทยจึงพยายามนำแรงงานไทยกลับประเทศให้ได้มากที่สุดหรืออย่างน้อย ๆ ก็เท่าที่แรงงานประสงค์จะกลับบ้าน  แต่ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเลือกอยู่ต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาย้ำให้ครอบครัวแรงงานไทยช่วยกันประเมินว่าจะคุ้มหรือไม่หากต้องแลกด้วยชีวิต

 The Active สัมภาษณ์แรงงานไทยในอิสราเอล ที่เลือกอยู่ต่อในสมรภูมิรบ หลายคนมีการประเมินความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขากลัวจะไม่ได้กลับมาทำงานอีกหากสงครามยืดเยื้อรุนแรงจริง และความหวัง ความฝัน ที่วาดเอาไว้ อาจไปไม่ถึงเหลือไว้เพียงหนี้ก้อนโต

บ้านเราปลอดภัย แต่ไม่มีเงิน ไม่ต่างจากตาย” เหตุผลของ โชคดี งวงช้าง หรือ โม วัย 35ปี แรงงานไทยในอิสราเอล ที่ตัดสินใจไม่กลับบ้านขอเสี่ยงทำงานต่อ 

นายจ้างเล่าให้โมฟังว่า Yavne ซึ่งอยู่ในภาคกลางของรัฐอิสราเอล พื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ ห่างจากฉนวนกาซา หรือ จุดปะทะ ประมาณ 60 กิโลเมตร เขาบอกว่าเวลานี้เป้าหมายของการโจมตี คือสนามบิน เทลอาวีฟ ซึ่งห่างออกไปราว 10 กิโลเมตรจากจุดที่เขาอยู่ แม้ไม่ใช่พื้นที่ปะทะโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการสกัดจรวด จากระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ หรือ “ไอเอิร์นโดม” เศษของโลหะซึ่งมีน้ำหนักมาก  จะตกลงในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ ที่ผ่านมาจากข่าวภายในประเทศระบุว่าเคยมีคนเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวมาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 66 หรือวันเกิดเหตุปะทะ จุดที่โมอยู่ได้ยิน “เสียงไซเรน” เตือนประมาณ 1-2 ครั้ง สังเกตบนท้องฟ้าเห็นจรวด 4-5 ลูก แต่บางครั้ง ทั้งไซเรน และแอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนระเบิดก็ไม่ทำงานแต่เวลานี้ไม่ได้ยินเสียงเตือนมาหลายวันแล้ว แรงงานไทยในอิสราเอลที่เลือกอยู่ต่อ ต้องประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัย และทำงานอยู่

โมเห็นแล้วว่าเขายังสามารถทำงานได้ และนายจ้างก็มีการปรับเปลี่ยนเวลาการทำงาน และลดเวลาลง จากทำงานวันละ 11- 12 ชั่วโมง เหลือ 8 ชั่วโมง คือ ทำตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง บ่าย 2 โมง เท่านั้น ค่าแรงที่ได้ก็น้อยลงเพราะชั่วโมงทำงานน้อยลง ไม่มีโอที รายได้จากเดิมเดือนละ 6-7 หมื่นบาทเหลือประมาณ 5 หมื่นบาท

นอกจากเรื่องเวลางาน ชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น

“สงคราม ยิงคนตามถนน เราเริ่มระแวง กลัว ไม่ไปไหนเลิกงานก็อยู่ที่พัก ไซเรนที่ดังทุกวันก็เกิดความวิตกกังวลแม้ไม่อันตราย แต่เราได้ยินซ้ำ ๆ เครียด กลางคืนก็เริ่มนอนไม่หลับ กลัว เราต้องเลือกระหว่างนอนในบังเกอร์หรือในห้อง ถ้าในห้องก็ระแวงกลัวไม่ได้ยิน เวลามีเสียงเตือน ในบังเกอร์คนเข้าออกใครเป็นใครเราก็ไม่รู้”

บังเกอร์ที่โมเล่าถึง ลักษณะแตกต่างกัน ถ้าเป็นของหมู่บ้านหรือชุมชน จะเหมือนบ้านใต้ดิน ข้างในจะมีไฟฟ้าที่นอน พัดลม ซึ่งมีทุกหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นบังเกอร์ที่นายจ้างเตรียมไว้ให้เป็นบังเกอร์ชั่วคราวหลบได้ 40-50 คนเป็นท่อปูนใหญ่ ๆ ลักษณะ เหมือนท่อปูนบ้านเรา ที่เอาลอดใต้ถนน แต่หนากว่า ใหญ่กว่า มีแท่งปูนปิดหัวปิดท้ายและมีช่องให้เข้าออก ข้างในเสริมด้วยเหล็กหนาอีกทีป้องกันสะเก็ดระเบิดและเศษเหล็กได้  ข้างในจะมีปล่องให้อากาศเข้ามา

“ตั้งแต่เกิดเหตุ เสียงเตือนบ่อย ๆ ก็เตรียมของไปอยู่หน้าบังเกอร์เลย เคยเข้าไป 3-4 ครั้ง แต่ไม่เคยอยู่ถึง 24 ชั่วโมง”

โม บอกว่า ยังไม่มีการปรับราคาอาหารขึ้นแต่อย่างใด สินค้ายังไม่ขาดแคลน และทุกหมู่บ้านจะมีตลาดประจำ1 แห่ง มีอาหารแห้งหลายอย่างให้ซื้อกักตุน ส่วนแรงงานไทยจะซื้อจากรถขายกับข้าวซึ่งคล้ายๆ กับรถพุ่มพวงในบ้านเรา

“อาหารที่กักตุนก็ง่าย ๆ เนื้อหมู มาม่า ปลากระป๋อง ไข่ อาหารที่เก็บไว้ได้นาน ราคาแพงขึ้นไหม ก็ไม่นะ! ก็ยังขายเท่าเดิม มันจะมีรถพุ่มพวงของคนไทย มาขาย เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เห็นใจกันหรือเปล่าไม่รู้ถึงไม่ขึ้น”

โม เป็นแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในภาคเกษตรของรัฐอิสราเอลภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) รุ่นที่ 15 เขาสมัครทิ้งไว้และรออยู่นานถึง 1 ปี ก่อนจะได้เดินทาง โดยเสียค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนบาท หน้าที่ของโม คือทำตามคำสั่งนายจ้างตั้งแต่งานง่าย ๆ  ถอนหญ้า ฉีดยา ปลูกต้นไม้ คัดเลือกต้นไม้ และทำความสะอาดกระบะปลูก

ประเทศนี้มาง่ายกว่าประเทศอื่น ๆ  ถ้าเทียบกับเกาหลี ไต้หวัน ไม่ต้องสอบข้อเขียน ภาษา มีเพียงการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและโรคติดต่อก็ถือว่าผ่านแล้ว ปกติไม่รอนานขนาดนี้ แต่ที่นานเป็นปี เพราะช่วงนั้นมีการระบาดโควิด -19”

ก่อนจะเดินทางและตัดสินใจมาทำงานในตะวันออกกลาง เขารู้อยู่แล้วว่าที่นี่มีการสู้รบกันอยู่บ่อยครั้ง และมีแรงงานไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ด้วย แต่ค่าตอบแทนก็สูงกว่าค่าแรงของไทย 20-30 เท่า ตัวเลขนี้จึงน่าเสี่ยงไม่น้อย บวกกับโชคชะตาในชีวิตที่ถาโถมมาพร้อมกัน แม่ป่วย เงินหมด งานไม่มี เป็นหนี้หลายแสนบาท การตัดสินใจมาประเทศอิสราเอลจึงดูง่ายขึ้น

“แม่ป่วยเป็นโรคไตรั่ว แล้วก็ตัวบวม หน้าบวม น้ำท่วมปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด หลายโรค จนคิดว่าแม่ไม่รอด สั่งเสียกันแล้ว แต่เราต้องทำให้ดีที่สุด ก็เอาที่นาไปเข้า ธกส. รักษาครึ่งปี หมดไป 3 แสนกว่าบาท เราจึงเรียนรู้ว่าเงินสำคัญ ต้องมีเงิน มันเซฟชีวิตได้  เราตั้งใจว่ากลับไปจะต้องไม่ลำบากอีก”

ชีวิตที่เคยลำบากมาก่อน ผ่านช่วงความเป็นความตายและเรียนรู้ว่า “ เงิน” มีค่าและต่อชีวิตให้กับคนที่รักได้เขาทำงานผ่านมาแล้ว 1 ปี 11 เดือนใช้หนี้เหลืออีกประมาณ 1 แสน 4 หมื่น บาท ยังเหลือเวลาทำงาน 3 ปีเศษตามสัญญา  จึงตัดสินใจเสี่ยงอยู่ต่อและหวังว่าจะมีชีวิตรอดกลับไปอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ไร้หนี้และมีเงินเก็บ

บ้านเราปลอดภัย แต่ไม่มีเงิน ไม่ต่างจากตาย ช่วงนั้นที่อยู่บ้าน เรียนรู้ เงินสำคัญ ช่วยชีวิตแม่ได้ ความปลอดภัยเอาไว้ที่หลัง ความคิดผมนะ ถ้าเรามีเงิน ก็จะสุขสบาย”

แรงงานไทยในต่างแดนมักพูดเสมอว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเจอนายจ้างดี โม ย้ำกับเราเสมอว่าเขาโชคดีที่เจอนายจ้างที่เข้าใจ และคอยดูแลและอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องที่พัก สวัดิการต่าง ๆ  และนี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เขาบอกว่าตัดสินใจอยู่เพื่อช่วยเหลือกันไป 

เรื่องราวของโมเผยให้เราเห็นว่า เงื่อนไขในชีวิตของเขา เต็มไปด้วยคนที่อยู่เบื้องหลัง ผูกพันกันไว้ด้วยความรัก ซึ่งปราถนาจะพาทุกคนในครอบครัวไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าวันนี้ แม้จะแลกมาด้วย หยาดเหงื่อแรงกาย หรือแม้แต่ชีวิตก็ตาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส