แม้ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องหลัก ในการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ถ้าการเมืองดี” เกิดขึ้นจริงตามเสียงเรียกร้อง ย่อมทำให้ “สิ่งแวดล้อม” ดีขึ้นด้วย เพราะการเมืองที่ทำให้ “สิ่งแวดล้อมดี” ก็คือการเมืองที่ “เป็นธรรม” และ “เป็นประชาธิปไตย”
ในโอกาสรำลึก 30 ปี แห่งการจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” ผู้เสียสละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องการเมืองที่ดีให้แก่ “ทรัพยากรป่าไม้” และ “สัตว์ป่า”
The Active พูดคุยกับ “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงความหมายและความคาดหวังว่าขบวนการสิ่งแวดล้อมประเทศไทยจะสามารถร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองดี ได้หรือไม่
การเมืองดี สิ่งแวดล้อมดี
ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า สิ่งแวดล้อมควรจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้กระทั่งในหมู่นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเองได้อภิปรายว่า เราก็ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไป ทำไมต้องไปยุ่งกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่สำหรับ ธารา เห็นว่า สิ่งแวดล้อมกับการเมือง มันคือเรื่องเดียวกัน
“ในระดับโลก จุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมาจากการตั้งคำถามต่อวิถีการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นของนิเวศวิทยาการเมือง (political ecology หรือ Green politics) ซึ่งเป็นอุดมการณ์การเมืองแบบใหม่ที่ผสานตะวันออกเข้ากับตะวันตก และหลอมรวมวิทยาศาสตร์เข้ากับจิตวิญญาน ในยุโรปก็มีการตั้งกลุ่มซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นพรรคกรีน หรือในอเมริกาจะพบว่าจุดกำเนิดของขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ นั้นแยกไม่ขาดจากพัฒนาการทางสังคมการเมืองของสังคม”
แต่เราต้องนิยาม “การเมืองดี” และ “สิ่งแวดล้อมดี” ด้วย ในที่นี้เป็นการเมืองในความหมายกว้างและลึก ไม่ใช่แค่การเมืองในความหมายที่เราไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง หรือกระโจนเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต้องแยกประเด็นนี้ก่อน เราจึงจะเข้าใจถึงความเชี่ยมโยงระหว่างการเมืองและสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น การปลูกป่าหรือฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลาย หรือเก็บขยะ ทำความสะอาดพื้นที่ ฟื้นฟูชายหาด ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หรือการบริจาคเงินให้กับองค์กรต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้คนได้ช่วยสิ่งแวดล้อม ถ้าหากเราทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา เช่น พื้นที่เราปลูกป่านั้นเคยเป็นระบบนิเวศแบบใดมาก่อน ค้นหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น พื้นที่ป่าหายไปไหน หรือตั้งคำถามว่าทำไมบริเวณจึงมีการทิ้งขยะ เป็นต้น
“อาจจะเกิดจากนโยบายของรัฐ หรือเกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เข้าไปใช้พื้นที่ตรงนั้น หรือพื้นที่ตรงนั้นอาจจะเคยเป็นชุมชนมาก่อน และถูกบังคับให้ออกไปด้วยนโยบายของรัฐ ซึ่งนโยบายรัฐก็เกิดมาจากกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง”
การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อกรกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอดีต
ธารา กล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ ทั้งในประเทศไทย และระดับโลก ในกรณีของประเทศไทย ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ อาจนับจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของนายทหารที่เข้าไปล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตกที่บางเลน นครปฐม และต่อมากลายเป็นชนวนสำคัญอันหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2516
เหตุการณ์นั้นได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดจากการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างฉ้อฉลมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
“กรณีเขื่อนน้ำโจนสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่พยายามจะดันให้สร้าง ขบวนการนักศึกษา ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ต่อสู้จนสำเร็จ เขื่อนน้ำโจนต้องยกเลิกไป กรณีอุทกภัยภาคใต้ที่นำไปสู่การยกเลิกสัมปทานป่าไม้ (ปิดป่า) ในประเทศไทย ก็เป็นความเชื่อมโยงกันของนโยบายที่เอื้อให้กลุ่มนายทุนผู้อิทธิพลทางการเมืองเข้าไปตักตวงทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่สนใจว่าจะเกิดหายนะขึ้น”
ในระดับโลก กระแสสิ่งแวดล้อมเบ่งบาน ณ การประชุม Earth Summit ที่เมืองริโอเดจาเนโร บราซิล ปี 2535 ขณะเดียวกันมีคำถามว่า เราจะมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างไร หากไร้ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม
และอีก 10 ปีต่อมา ในปี 2545 การประชุม Earth Summit ที่โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ เป็นวาระว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเอาประเด็นทางสังคมและวาระทางการเมืองเข้ามาคุยในการประชุมด้วย และกลายเป็นกระแสหลักของขบวนการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในปัจจุบัน
“ตอนนั้น เกิดการเถียงกันว่า เราจะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวโดยที่ละทิ้งคนจำนวนมากไว้เบื้องหลัง ให้ทุกข์ยากอยู่กับการขาดแคลนทรัพยากรได้อย่างไร มันต้องมีความสมดุลกันระหว่างการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม”
ธารา บอกว่า แม้กระทั่งเรื่องโลกร้อน ถ้าวิเคราะห์อย่างจริงจัง ก็คือการเมืองเช่นเดียวกัน แต่เป็นการเมืองระดับโลก ในเวทีเจรจาโลกร้อนแต่ละครั้ง ตัวแทนของแต่ละรัฐบาลที่ไปเข้าร่วมจะมีหน้าที่สำคัญคือไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์ หรือไปคัดค้านเมื่อประเทศตัวเองต้องเสียผลประโยชน์ เป็นการเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ในระดับไหน ก็เห็นได้ชัดว่า การเมืองกับสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ถ้าเราปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ปลีกวิเวกและอยู่ตรงนั้น โดยที่สังคมข้างนอกกำลังปั่นป่วนวุ่นวาย มีแต่ความแตกแยก ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น ต่อให้เราสร้างสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวดีเพียงใด แต่หากเราไม่สนใจโครงสร้างสังคมที่มีเหลื่อมล้ำแบบสุด ๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
การเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดี ก็คือการเมืองบนรากฐานของความเป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตย
เมื่อถามว่าการเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดี ควรเป็นอย่างไร ธารายืนยันว่า ต้องเป็นการเมืองที่อยู่บนรากฐานของความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง และเปิดพื้นที่ให้กับการ มีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการเมืองแบบรัฐสภาอย่างเดียว แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เผด็จการ หรือแบบที่สั่งจากข้างบนลงล่าง และยังต้องเป็น การเมืองบนท้องถนน ด้วย ต้องเปิดให้มีการประท้วง มีการส่งเสียงเรียกร้องได้
“ถ้าผู้แทนในสภาไม่ฟังเสียงประชาชน เอาแต่ผลประโยชน์ตนเองเป็นตัวตั้ง ต่อให้เรามีกลไกทางรัฐสภาดีแค่ไหน ก็แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันต้องมีความหลากหลายมาก ต้องเป็นการเมืองที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นประชาธิปไตยทางตรง ก็คือ การเมืองบนท้องถนน”
นอกจากนี้ ยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล ในประเทศประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ หรือประเทศในยุโรปที่มีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบและกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล ถือเป็นหัวใจสำคัญ
การเมืองรวมศูนย์ ฝุ่นจึงกระจาย
ผู้อำนวยการกรีนพีซฯ ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาการเมืองที่รวมศูนย์ของระบบรัฐราชการ และยังขาดการมีส่วนร่วม ทำให้จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
“ถ้าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีสั่งการ ถ้าหลังจากนั้นลงไปก็เป็นระดับผู้ว่า แต่ที่ผ่านมาก็คือ ต่อให้ถึงในระดับที่ผู้ว่าจะต้องตัดสินใจ แต่ผู้ว่าเองก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ และยังเป็นกลไกการตัดสินใจที่ให้หน่วยงานราชการเป็นตัวหลัก สะท้อนความเป็นรัฐราชการ คือไม่เปิดโอกาสให้คนอื่น ต่อให้เราโวยวายแค่ไหน เขาก็จะบอกว่านี่คือกลไกของรัฐที่เอาไปจัดการเรื่องฝุ่น”
ธารา ยกตัวอย่างการตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น กว่าสภาจะผ่านงบประมาณ ผ่านกลไกการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาฝุ่นให้ทันต่อสถานการณ์ ก็มีคำถามว่า มีช่องทางการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่านี้ไหม ซึ่งก็เกี่ยวกับผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือคนที่นั่งอยู่บนโครงสร้างส่วนบน จะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร
“หรือกรณีที่ผลักดันให้มาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น ปัญหานี้เกิดมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่เราก็ยังใช้มาตรฐานเดิมอยู่ มันก็เป็นเรื่องกระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย เพราะกรมควบคุมมลพิษที่เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ก็จะบอกว่า ต้องรอส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจะอ้างด้วยว่าจำเป็นที่จะต้องไปรับฟังภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเขาก็จะบอกว่า เขายังปรับตัวไม่ได้ ถ้ามาตรฐานเข้มงวดขึ้น เขาก็จะแย่”
ธารา เห็นว่า ปัญหานี้อาจจะแก้ได้ ถ้าเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของประชาชนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่งแรงกดดันไปที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ และขับเคลื่อนให้เกิดมาตรฐานออกมา ให้เป็นพื้นที่กลางที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า และหาข้อตกลงร่วมกันโดยที่ไม่มีแต่ข้ออ้างว่ามันยังเปลี่ยนไม่ได้ สร้างดุลอำนาจของประชาชนเข้าไปในโครงสร้างของหน่วยงานราชการเพื่อสู้กับอิทธิพลของภาคอุตสาหกรรม
หลักประกันสิทธิสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญ
ผู้อำนวยการกรีนพีซฯ เห็นว่า ในบรรดารัฐธรรมนูญฉบับต่างที่ประเทศไทยมีอยู่ ฉบับปี 2540 น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมเอาไว้อย่างชัดเจนและรอบด้าน แต่ต่อมาก็ถูกฉีก และแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิอยู่ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนประเด็นการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพได้เลย
“พื้นฐานสำคัญคือ ต้องรับประกันสิทธิและเสรีภาพ สิทธิของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะในทุกขั้นตอน และต้องเป็นการมีส่วนร่วมแบบที่เข้มแข็ง ไม่ใช่แค่การนั่งฟังแล้วยกมือโหวต แต่ต้องร่วมกันออกแบบ ร่วมสร้าง ร่วมคิด เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะทุกระดับ”
นอกจากนี้ ยังควรมี ชุมชนทางนโยบาย เพราะแม้กลไกทางรัฐสภาจะดำเนินไปตามปกติ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่ากลไกนี้จะตอบโจทย์พื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือพรรคการเมืองอาจเปลี่ยนนโยบายเมื่อการเมืองเปลี่ยนข้าง แต่หากมีชุมชนนโยบายให้ทำงานคู่ขนานไปกับกลไกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเป็นหลักประกันว่านโยบายที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ได้ถูกขับเคลื่อนไปโดยไม่มีการบิดเบี้ยวเนื้อหา หรือถูกขัดขวาง รวมทั้งการรื้อฟื้นกลไกตรวจสอบอย่างองค์กรอิสระที่เคยมี เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญจึงจะมีความหวัง