สื่อสาร ปณิธาน: เมื่อพุทธทาสไม่ได้มีหนึ่งเดียว

สิ่งที่ท่านพุทธทาสฝากเอาไว้คือ “ใคร ๆ ก็เป็นพุทธทาสได้” ท่านกล่าวว่า “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” หัวใจสำคัญคือถ้าท่านจะไม่ตาย แปลว่า ยังมีคนที่ยังเข้าถึงและสนใจในพระพุทธศาสนา และมาเป็นทาสให้พระพุทธเจ้า ทำงานเพื่อพุทธศาสนากันต่อไป ตราบใดที่ยังมีคนทำงานเพื่อศาสนาและพระพุทธเจ้า แปลว่า พระพุทธทาสยังมีอยู่ พุทธทาสไม่ได้มีหนึ่งเดียว

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผอ.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ)

สร้างสรรค์สังคมรมณีย์ ๑๒ ปี สวนโมกข์กรุงเทพ
อาจารยบูชา ๓๐ ปี พุทธทาสละสังขาร

พุทธทาส

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) เล่าว่า ในวาระ 12 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) เคยให้แนวทางการทำงานของสวนโมกข์ กรุงเทพ หลายครั้ง ท่านว่า หัวใจสำคัญของวัดอยู่ที่ความเป็นรมณีย์ คือ นิพพาน หมายถึงความร่มรื่นชื่นใจ เราในฐานะทีมงานจึงตกลงกันว่าในวาระ 12 ปี การก่อตั้ง เราจะขับเคลื่อนเรื่องสร้างสรรค์สังคมรมณีย์ แล้วต้องทำอย่างไร…

“ท่านปยุตฺโต กล่าวว่า สังคมจะรมณีย์ได้ ต้องอยู่ที่มนุษย์ต้องรมณีย์ด้วย หัวใจของความเป็นรมณีย์คือมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อในระดับสังคม สิ่งที่ต้องฝึกให้เป็นพื้นใจ คือเรื่องปราโมทย์ และฉันทะ คือมีความยินดีพร้อมที่จะทำเรื่องดี ๆ อยากที่จะทำดี ไม่ใช่อยากแบบตัณหา และเมื่อทำแล้วก็มีความเบิกบานแจ่มใจ”

พินัยกรรมชีวิต จิตสบาย

ในวาระที่ท่านพุทธทาสละสังขาร สวนโมกข์ กรุงเทพ จึงเอากรณีศึกษาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรื่องการสิ้นของท่านพุทธทาสทำให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิการตาย ที่ออกมาเป็น Living Will – สมุดเบาใจ นพ.บัญชา กล่าวถึงสิ่งที่ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า ‘จะไม่หอบสังขารหนีความตาย ถ้าเป็นทาสพระพุทธเจ้าก็ต้องเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านยังพร้อมตายเลย’ สวนโมกข์ กรุงเทพ จึงเอาเรื่องนี้มาขับเคลื่อน และสังคมก็ร่วมกับขับเคลื่อนสิทธิการตาย หรือการตายโดยสงบ หรือมีความพร้อมที่จะตาย เมื่อก่อนสังคมเราไม่กล้าพูด เป็นเรื่องที่เป็นปริศนา คุยกับครอบครัวก็ไม่กล้า แต่ทุกวันนี้คุยกันได้ พ่อแม่ก็บอกลูกได้ว่าถ้าฉันจะตายให้จัดการแบบนี้นะ การตายจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าหวาดกลัวหวาดเกรง

สำหรับปัจจัยการดูแลคนที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย ถึงระยะที่น่าจะยากต่อการกู้กลับ เรื่องที่ต้องพิจารณาคือ 1. เจ้าตัว คิดอย่างไร และมีสภาพจิตแบบไหน 2. ญาติสนิทที่ใกล้ชิดกับคนป่วย คิดและเข้าใจแบบไหน 3. แพทย์ หรือระบบการดูแลทางการแพทย์ เป็นอย่างไร 4. ปมเงื่อนของกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและจรรยาบรรณ ต้องมีสื่อที่เป็นส่วนสร้างความเข้าใจ

ในทุกวันนี้ทั้งโลกมีการพูดถึง ‘สิทธิของผู้ป่วย’ ในประเทศไทยก็ย้ำเรื่องนี้ ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะเลือกและตัดสินใจ แต่อยู่ที่ผู้ป่วยจะมีการสั่งการ หรือแสดงจำนงที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างไรไว้หรือไม่ เพราะถึงจุดหนึ่งถ้าหากว่าผู้ป่วย สั่งการแต่ไม่มีลายลักษณ์อักษรก็ต้องขึ้นอยู่กับญาติสนิทหรือผู้ดูแลใกล้ชิด เพราะว่าแพทย์ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องนี้ หากว่าญาติมีหลายคนและเสียงแตก อาจมีการฟ้องร้องเรื่องการรักษาทีหลังก็จะเป็นความเสี่ยงต่อแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากระบบยังมีเงื่อนไขที่แพทย์ต้องพิทักษ์สิทธิและศักดิ์ศรีของผู้ป่วย

“หัวใจจึงอยู่ที่เจ้าตัว ว่าวางจิตวางใจไว้แบบไหน และมีลายลักษณ์อักษรไว้หรือเปล่า ทุกวันนี้มีแบบฟอร์มแสดงความจำนงผ่านสมุดเบาใจให้ดูเป็นตัวอย่าง และเป็นที่ถูกรับรองในทางกฎหมายด้วย ถ้าเจ้าตัวตัดสินใจอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น เช่น ถ้าระบุว่าให้รักษาจนถึงที่สุด ประสงค์ที่จะเป็นเช่นนั้นก็ต้องเป็นเช่นนั้น แพทย์หรือญาติจะมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยที่การรักษาไปต่อไม่ได้จริง ๆ เช่น ระบบอวัยวะล้มเหลว หลายประการ แต่ถ้าเจ้าตัววางแนวทางไว้ว่าให้รักษาแบบประคับประคอง ไม่ต้องยื้อ ญาติก็ต้องสื่อสารกับแพทย์ให้เข้าใจ”

นพ.บัญชา เล่าต่อว่า ตัวอย่างคือน้าของเขาเอง ไม่ได้เขียน Living will อะไรไว้ แต่ในปีสุดท้ายก่อนจะสิ้น รับรู้ได้ว่าแกไม่ได้อยากไปไหน เรื่องสมบัติเงินทองก็ไม่สนใจยกให้คนอื่นหมด จนวันหนึ่งมีภาวะเส้นเลือดติดขัด และมีอาการหนักแต่ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพื่อนของ นพ.บัญชา ที่เป็นหมอก็มาเยี่ยมกัน นิมนต์พระมาแล้ว 4 รูป เพราะประเมินว่าอาการหนักขนาดนี้น่าจะไปคืนนั้น เตรียมมาสวดให้สงบจิตใจ แต่เพื่อนก็อยากให้ไปโรงพยาบาลเพราะคิดว่าน่าจะรักษาได้ เพราะรักและห่วง จึงพาไปโรงพยาบาล ภายหลังตรวจพบว่าอาการหนัก ก็บอกว่าสู้ ๆ นะ ก็อยู่ได้อีกประมาน 8-9 เดือน เราก็รักษาด้วยการขยายเส้นเลือด กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่สุขภาพก็ไม่ดีมาก เริ่มจะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ

“ถ้าเจ้าตัวมีความพร้อมและญาติสนิทก็เข้าใจ เช่น เมื่อถึงจุดหนึ่งหมอบอกว่า ไตหมดแล้วนะ จะยื้อไหม ก็ไม่ต้องปฏิบัติการอะไรเยอะ ก็เข้ากระบวนการดูแลแบบประคับประคอง ถ้ารู้ว่าเจ้าตัวชอบแบบไหนก็ทำแบบนั้นให้ ไม่ว่าจะอยากกินอะไรก็ให้กินแม้ว่าหมอบอกว่ากินได้หรือไม่ได้ก็ตาม อยากจะฟังอะไรก็เปิดให้ฟังในสิ่งที่เพลิดเพลิน แต่หากว่ามีการเจ็บป่วยทางกายก็ต้องช่วยกันแก้เพื่อให้สภาพจิตผ่อนคลาย”

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ นักวิชาการกฎหมายด้านจริยธรรม กล่าวว่า ญาติผู้ป่วยบางส่วนก็เข้าใจถึงกระบวนการรักษาแบบประคับประคอง แต่บางส่วนก็ไม่เข้าใจ มักจะบอกหมอว่า ‘ให้ทำเต็มที่’ แม้ว่าร่างกายคนไข้จะไม่ตอบสนองแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนไข้ในเรื่องนี้ว่า การดูแลแบบประคับประคองไม่ใช่การทอดทิ้งคนไข้

“พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้ระบุใน มาตรา 12 ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตคน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ให้โอกาสผู้ป่วยสามารถระบุได้ว่าเมื่อถึงวาระสุดท้ายจะตายอย่างไร ไม่ใช่การการุณยฆาต เพราะการการุณยฆาตคือการเร่งให้ตาย แต่การดูแลประคับประคองไม่ได้เร่งให้ตาย เป็นการดูแลผู้ป่วย ให้ตายตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นการทอดทิ้งผู้ป่วย”

ศ.แสวง แนะนำว่า เรื่องที่ต้องทำก่อนคือ การเขียนรายละเอียดไว้เป็นหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้าย เพื่อที่จะแสดงเจตจำนงว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่รู้สึกตัวจะให้ทำกับเราอย่างไร (ดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือ) เราสามารถเขียนไว้ได้ เช่น ไม่ให้เจาะคอ ไม่ปั้มหัวใจ ไม่เข้าไอซียู สามารถนำแบบ เวลาเขียนเสร็จให้เซ็นชื่อ ไม่ต้องมีพยานก็ได้เพราะไม่ใช่พินัยกรรมทางการเงิน จากนั้นก็ถ่ายเอกสาร รับรองสำเนาถูกต้อง แล้วนำขึ้นเวชระเบียน เพื่อให้แพทย์ได้ทราบถึงความต้องการเรื่องการดูแลรักษาของเรา

“ท่านพุทธทาสเองก็เคยแสดงความกังวล ว่าถ้าท่านสิ้นจะจัดงานศพอย่างไรดี และเคยได้สั่งไว้ว่าให้จัดงานศพแบบเรียบง่าย เมื่อป่วยไม่ต้องหอบความตายไปไหน ให้ตายที่วัด แต่ไม่ได้เขียนไว้ครอบคลุมทั้งหมด เมื่อท่านไม่รู้สึกตัวแล้วก็มีปัญหาข้อถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไร มีการพาไปโรงพยาบาลศิริราช เถียงกันไปมาแต่ท้ายที่สุดก็ได้พาท่านกลับวัด”

ศ.แสวง มองว่า เป็นเรื่องที่เห็นใจญาติเพราะอาจมีคำถามหลายประการ เช่น ถ้าวันหนึ่งถูกรถชน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุ เมื่อกู้ภัยมารับไปโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยได้เขียนเจตจำนงระยะสุดท้ายไปจะทำอย่างไร ในกรณีนี้สามารถรักษาตามเวชปฏิบัติโดยทั่วไปได้ เพราะเจตจำนงจะตายอย่างไรนั้นใช้เฉพาะรักษาวาระสุดท้ายของชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นข้อสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับญาติด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ช่วงเวลานั้นเป็นวาระสุดท้ายจริงหรือเปล่า กล่าวคือ วาระสุดท้ายของชีวิตคือการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ เรื่องนี้ญาติต้องพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ให้การรักษา

“ในทางการแพทย์อาจจะระบุเป๊ะ ๆ ไม่ได้หรอกว่า เมื่อไหร่คือระยะสุดท้าย แต่สามารถบอกช่วงเวลากว้าง ๆ โดยประมาณได้ ญาติอาจจะต้องถามเกริ่นกับหมอว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร เพราะหมออาจจะไม่อยากบอกข่าวร้ายก่อน”


พญ.เรือนขวัญ กัณหสิงห์ หัวหน้าสาขา เวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายสภาวการณ์ของผู้ป่วยว่า ในกรณีที่ร่างกายไม่ตอบสนองแล้ว อยู่ในสภาวะกึ่งอดอาหาร แม้จะไม่ได้รับประทานอาหารหรือน้ำดื่ม แต่ร่างกายมีส่วนสะสมไขมันต่าง ๆ เอาไว้ จะเป็นต้นทุนสำรองที่ร่างกายจะดึงมาใช้ให้ยังมีชีวิตต่อได้ คือสารที่เรียกว่า คีโตน ถูกดึงมาใช้เป็นพลังงาน อีกส่วนคือน้ำ เซลล์ต่าง ๆ เป็นน้ำด้วยตัวเองอยู่แล้ว ทำให้แม้อดอาหารเป็นสัปดาห์ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ สำหรับการแทรกแซงการทำงานของร่างกาย เช่น ใส่สายยาง เจาะคอ ให้น้ำเกลือ ช่วงเวลานี้ต้องบอกว่า แม้เส้นเลือดก็ยังหายาก อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายก็จะไม่ค่อยทำงานแล้ว อาจจะกลายเป็นภาวะตัวบวมแทน

“ถ้ายังไปยัดเหยียดสิ่งต่าง ๆ ให้ร่างกายคนไข้ก็จะเหนื่อยขึ้น อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายในช่วงเวลาที่มีชีวิต และในร่างกายที่ไม่ตอบสนองการไม่แทรกแซงจะมีผลที่ดีต่อคุณภาพชีวิตมากกว่า ในช่วงสุดท้าย คนไข้อาจจะกลืนยาได้ยาก กระเพาะอาหารก็ปิดตัว เราอาจจะใช้เข็มเล็ก ๆ ให้คล้าย ๆ กับการให้อินซูลินของคนป่วยเบาหวาน มาให้มอร์ฟีนบรรเทาอาการเจ็บป่วย ไม่ใช่ให้เพื่อหลับแล้วจากไป แต่บรรเทาอาหารเหนื่อย ร่างกายจะพักผ่อนอาจจะหลับ ในส่วนนี้เองผู้ป่วยสามารระบุได้ว่าเราต้องการแบบไหน จะรับมอร์ฟีนหรือไม่”

ความป่วยไข้มาเตือนให้ฉลาด

พระไพศาล วิสาโล ที่ปรึกษาหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บรรยายธรรมว่า สำหรับคนป่วยทั่วไป ความป่วยมักทำให้ผู้ป่วยอารมณ์เสีย โกรธสิ่งต่าง ๆ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นเรา? ทำไมโลกไม่ยุติธรรมกับเรา? เหมือนว่ายิ่งป่วยยิ่งจดจ่อและยึดติดกับทุกขเวทนา หากมีอาการผลักไสโกรธแค้นความเจ็บปวดนั้น ก็ยิ่งทำให้ให้ใจมีความทุกข์มากขึ้น ดังนั้น จึงต้องรู้จักสัมมาสติ ตั้งสมาธิ หากมั่นคงได้ก็จะพาตัวเองออกจากความยึดติดความเจ็บป่วย นั่นคือ กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย

อีกวิธีคือดูแลใจให้ดีอย่าให้ความอยากหายมาครองใจ แม้เป็นธรรมดาที่อยากให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป หลวงปู่ขาว กล่าวว่า อย่าไปอยากหายจากทุกขเวทนา เพราะจะเป็นการเพิ่มทุกขเวทนาให้เพิ่มมากขึ้น ความเจ็บไข้ไม่ได้ทำร้ายเราเท่ากับความอยากให้ความเจ็บไข้นั้นหายไป เหมือนกับเวลาที่นอนไม่หลับแล้วเป็นทุกข์ ไม่ใช้เพราะนอนไม่หลับ แต่คือความปรารถนาที่อยากจะนอนให้หลับ เรื่องตลกคือยิ่งอยากให้หลับก็ยิ่งจะไม่หลับเพราะมีความเครียดความกังวล หากไม่อยากทุกข์เพราะความเจ็บปวดหรือความเจ็บป่วยให้รักษาใจให้หายจากความอยาก อย่าให้ความอยากมาเป็นใหญ่ในจิตใจของเรา

พระไพศาล กล่าวต่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ อยากหายแต่ไม่หายยิ่งทุกข์มาก แต่หลายคนพอลืมความอยากหาย กลับมีอาการดีขึ้น กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ใจไม่ทุกข์ ร่ายกายก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นได้ ทั้งหมดคือการทำใจให้ไม่ทุกข์ ในวันที่เจอกับความเจ็บไข้ ซึ่งพระพุทธทาสก็ได้สอนเรา เตือนเราว่าความเจ็บทุกข์ทำให้เราฉลาดได้ อย่างแรกคือรู้จักความไม่เที่ยง ได้เห็นว่าร่างกายเป็นสิ่งที่เปราะบาง จากเดิมอาจเคยคิดว่าเราร่างกายแข็งแรงเต็มไปด้วยพลัง หรือแม้แต่ความแก่ เราก็จะรู้ว่าร่างกายไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่มีความอ่อนแอ เจ็บป่วย และเจ็บปวด ทำให้รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เราสั่งไม่ได้ สั่งให้หายจากการเจ็บป่วย สั่งให้ทำในสิ่งที่ต้องการบางครั้งก็ทำไม่ได้ ใจก็สั่งให้สงบ ไม่หวาดกลัว ไม่ตื่นตระหนก ไม่ได้ คือความจริงที่เรียกว่าอนัตตา ซึ่งตอนเจ็บป่วยเราจะเห็นได้ชัด ถึงความจริงตรงนี้

“ในวันที่สังขารแสดงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่วยเตือนใจให้เราไม่ประมาท ความเจ็บป่วยครั้งนี้บอกเราว่าต่อไปอาจจะป่วยหนักกว่านี้ บอกเราว่าร่างกายเราจะไม่เหมือนเดิม ทำให้เราเกิดความไม่ประมาท จากที่เราเคยคิดว่าจะอยู่ค้ำฟ้า ก็จะเปลี่ยนใจทันทีเมื่อความเจ็บป่วยมาเยือนแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป ก็คือเร่งศึกษาการทำความดีต่อบุคคลรอบตัว ในขณะที่เรามีโอกาสจะหาย ในโอกาสที่เรายังไม่ตาย ก็ต้องเร่งทำบุญกุศลตามหน้าที่ และเตรียมตัวถึงวันที่อาจจะเจอเรื่องหนักกว่านี้ในวันหน้า เตรียมใจเตรียมตัวให้พร้อมกับความตายที่จะมาถึงสักวันหนึ่ง”

พระไพศาล ให้แนวทางว่า เตรียมสะสางการงานทรัพย์สิน สั่งเสียกับคนข้างหลังในช่วงที่ป่วยระยะท้าย ความเจ็บป่วยในวันนี้จะมาเตือนว่าอย่าผัดผ่อน หรือเลื่อนให้มากกว่านี้ ให้เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากอัตตา ตัวตน ตัวกู ซึ่งเป็นที่มาของความทุกข์ เหมือนการตายก่อนตาย เรียกว่าความเจ็บป่วยมาสอนเรา ดังนั้น จึงควรที่จะเตรียมพร้อมรับมือ พอกันทีกับการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ถ้าเรารู้จักความเบื่อหน่ายตรงนี้เรียกว่าเราได้ประโยชน์จากการเจ็บป่วย ซึ่งการจะหลุดออกจากสังสารวัฏได้ก็ต้องทำความเพียร ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ยิ่งเห็นภัยจากทุกข์และความเจ็บป่วย ยิ่งจะสามารถละจากเหตุแห่งทุกข์ได้ ความเจ็บไข้สร้างความฉลาดในทางธรรม

ปรับอุณหภูมิอารมณ์ สร้างสรรค์สังคมรมณีย์

นพ.บัญชา กล่าวว่า เรามีจุดประสงค์ มีกลุ่มเป้าหมายในการทำงานกับเครื่องข่ายทางสังคม เช่น วัดต่าง ๆ ขับเคลื่อนผ่านกลุ่มก้อนองค์กรต่าง ๆ เรามีองค์กรรมณีย์ Hello Mindfulness ร่วมกับสมาคมบริหารงานบุคคลแห่งประเทศไทย มีการขับเคลื่อนงานกับสตรี ‘ท่านพุทธทาสบอกว่าแม่คือชีวิต’ ลูกทั้งหลายต้องซึมซับความรู้จากแม่ ที่วัดต่าง ๆ ก็จะเห็นว่าผู้หญิงเป็นกองกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เราจึงให้น้ำหนักกับการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ศึกษา และสอนกันเอง รวมไปถึงกลุ่มคนใหม่ ๆ ช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ ที่จะช่วยเผยแผ่หลักธรรมะด้วย

เรายังใช้ Digital transformation ที่เข้าไปช่วยวัดในการบริหารจัดการเรื่องง่าย ๆ เพราะโดยปกติแล้วกิจในวัดมีหลายเรื่อง มีระเบียบปฏิบัติเยอะ เราจึงเข้าไปช่วยติดตั้งโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการ ตั้งแต่โปรแกรมรับกิจนิมนต์ ซ่อมกุฏิ จัดรถรับส่งพระ ดูแลเครื่องสังฆทาน แจกหนังสือ อบรมภาวนาช่วยให้คนอยู่ที่ไหนก็ฝึกภาวนาได้ หรือแม้แต่ถ้ามีคำถามเรื่องธรรมะก็สามารถสอบถามผ่านโปรแกรมได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้คลายข้อสงสัยได้รวดเร็วขึ้น

“ในเรื่องระบบบัญชีของวัดที่มักมีข่าวคราวเรื่องการโกงเงินทำบุญ เราก็ทำโปรแกรมจัดการเรื่องนี้เพื่อสร้างความโปร่งใสและไม่ให้มีข้อกังขากับวัด โดยมีกลุ่มวัดนำร่องที่เราเริ่มทดลองก่อนจะขยายไปยังวัดอื่น ๆ แปลว่าการทำงานของสวนโมกข์ ไม่ใช่แค่เรื่องการเผยแผ่ธรรมะแต่สร้างกระบวนการจัดระบบบริหารของวัดด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยพระทำงาน หรืออย่างเรื่องของสตรี ก็ไม่ใช่แค่เผยแผ่ธรรมะ ตอนนี้มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งกับคุณแม่ชีรวมตัวกันอาสาทำงานมากมาย มีการจัดอบรม จัดคอร์สสอนธรรมะ เป็นพี่เลี้ยงถามตอบปัญหาเกี่ยวกับการภาวนา มีการนัดพบประชุมทั้งออนไลน์ออนไซต์ เพื่อขยายวงสนทนา เพราะข้อสงสัยบางประการอาจจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงถามกันเองใจถึงกันได้มากกว่า ดังนั้นจึงคิดว่าควรจะมีครูบาอาจารย์ที่เป็นสตรีสอนสตรีด้วยกัน”

ส่วนเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดีนักคือเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ นพ.บัญชา คิดว่าควรให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างกระบวนการสื่อสารธรรมะด้วยตัวเอง อย่างสวนโมกข์ตอนที่เราตั้งขึ้นใหม่ ๆ เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือ วัยราว ๆ 50 เป็นกลุ่มคนทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้วอยากจะศึกษาธรรมะ แต่วันนี้พบว่ากลุ่มอายุของเราลดลงเหลือ ราว ๆ 35 เริ่มมีหนุ่มสาว วัยรุ่น ครอบครัว บางคนก็เป็นแฟนมาหนุงหนิงกัน เราจึงตั้งกลุ่มเป้าหมายลดลงตาม

“คิดว่าถ้าสร้างการมีส่วนร่วมในการสื่อสารกับสื่อต่าง ๆ มีคนรุ่นใหม่มาช่วยสื่อสารด้วย ก็น่าจะทำให้เกิดความเป็นรมณีย์ เกิดความรื่นรมย์ทางกาย จิตใจ เย็นสงบ แปลว่าโอกาสนิพพานก็จะเพิ่มขึ้น ค่อย ๆ อุณหภูมิความร้อนทางโลกที่เข้ามากระทบเราทุกวัน ค่อย ๆ ปรับให้เย็นลงได้ ถ้าใจเราเย็นลงได้แล้ว สังคมก็จะเย็นลงด้วย”

ทำอะไรก็ธรรม : สื่อสารปณิธาน อาจารย์พุทธทาสภิกขุ

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า สิ่งที่ท่านพุทธทาสทำคือความพยายามใช้เทคโนโลยีสื่อสารมาสร้างสื่อเผยแผ่ธรรมะ ซึ่งไม่ค่อยมีพระที่ไหนทำ พระที่อื่นเขาไม่สนใจ และรู้สึกเป็นลบต่อการบรรลุธรรม เพราะพระสมัยก่อนปฏิเสธเทคโนโลยีคิดว่าเป็นเรื่องของโลก แต่ท่านมองสวนกระแสของยุคสมัย สมัยก่อนพระไม่เรียนภาษาอังกฤษแต่ท่านเรียนจนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ท่านเป็นคนทวนกระแสและชอบอะไรท้าทาย อยากรู้อยากเห็น

“ท่านเคยให้ยุงกัดทั้งคืนเพื่อที่จะรู้ว่าถ้าไม่ตบยุงจะเป็นอย่างไร ท่านอยากทดลองศึกษา แม้เป็นเรื่องยาก ไม่เพียงแต่อ่านค้นคว้า แต่ลงมือปฏิบัติ ในวันนี้ที่ทุกคนหลงใหลคลั่งไคล้เทคโนโลยีท่านอาจจะไม่ใช้แล้วลองดูว่าจะเป็นอย่างไร ท่านเห็นประโยชน์จากทุกอย่าง แม้แต่เรื่องของความเจ็บไข้ก็มีประโยชน์ กิเลสก็มีประโยชน์ถ้าหากรู้จักใช้ ทุกอย่างถ้าใช้ให้เป็นทำให้ถูกก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น สามารถมีความสุขแม้ในวัฏสงสาร ก็คือการนิพพาน”

พระไพศาล เล่าประสบการณ์ทดลองเผยแผ่ธรรมว่า ก่อนหน้านี้เราไม่คิดว่าการเผชิญความตายอย่างสงบจะเป็นสิ่งที่คนสนใจ จนช่วงหลังที่คนให้ความสนใจมากขึ้น เราก็จัดอบรมเรื่องนี้ มีคนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก ดังนั้นเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งต่าง ๆ จะได้รับการตอบรับอย่างไร จนกว่าจะได้ลองทำ ในยุคก่อนเราเผชิญกับภัยโรคต่าง ๆ จนกระทั่งการแพทย์ก้าวหน้า และไม่เป็นภัยต่อมนุษย์มากนักแล้ว แต่ภัยอย่างใหม่ไม่ใช่ภัยที่ทำร้ายร่างกาย แต่เป็นภัยที่ทำร้ายจิตใจ

อย่างภัยไซเบอร์ ทำร้ายทัศนคติของคน เป็นภัยที่มาจากข้อมูลข่าวสารที่กระตุ้นให้เกิดความทุกข์ กิเลส โมหะ โทสะ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนมีภูมิคุ้มกันได้ นั่นคือต้องมีสติ มีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ อย่างหอจดหมายเหตุ ก็คือคำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้รับมือกับภัยเรื่องนี้ ต้องทำให้คนมีทักษะรับมือกับข่าวสารที่เป็นเท็จ แนวคิดนี้ก็อาจจะทำให้สื่อต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีนวัตกรรมส่งเสริมให้เกิดการรับมือ


นพ.บัญชา กล่าวในทางเดียวกันว่า ท่านพุทธทาสเป็นนักทดลอง ครั้งหนึ่งท่านหัวใจวายและมีภาวะน้ำท่วมปอด ถ้าเป็นคนอื่นจะต้องโวยวาย แต่ท่านนั่งเฉย สุดท้ายหมอต้องขอฉีดยาเพื่อรักษา หลังจากท่านหายก็ได้มีการสอบถามว่าเหตุใดจึงไม่แสดงอาการ ท่านบอกว่าท่านก็พิจารณาอาการของตัวเองอยู่ ถ้าตายก็จะได้รู้ว่าคนจะตายเป็นอย่างไร ถ้าไม่ตายก็จะได้กลับมาบอกว่าคนจะตายเป็นอย่างไร

“เราอ่านพบเอกสารในหอจดหมายเหตุที่ระบุเหตุการณ์ในอดีตว่า วันหนึ่งท่านพุทธทาสได้กล่าวกับพระอาวุโสว่า อยากจะสอนเรื่องสุญตากับอนัตตา แม้จะโดนคู่สนทนาแย้งว่าเป็นเรื่องยากจะสอนให้คนเข้าใจ แต่ท่านก็พยายามสอนให้ได้ ทำให้เราเห็นถึงคือความมุ่งมั่นที่จะสื่อสารคอนเทนต์ที่แท้ และสร้างองค์ประกอบให้มันสื่อสารไปให้ได้”

ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สะท้อนว่า ในโลกที่เราซื้อของซื้อสินค้าไม่ใช่เพราะความจำเป็น แต่เพราะความอยากมีอยากได้ความต้องการเป็นหลัก สื่อจึงถูกใช้และใช้ให้เกิดพลัง แม้ไม่ได้ยึดถือความถูกต้องเสมอไป การใช้สื่อกระตุ้นกิเลสมนุษย์ เหมือนน้ำลงสู่ที่ต่ำ เหมือนน้ำมันกับไฟ สื่อจึงเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจทุนนิยม ในสังคมที่ไม่มีหลักยึดหลักธรรม คนก็ไม่มีที่พึ่ง เหมือนไม่มีราก และคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก พออยู่ในภาวะที่ไม่มีหลักยึดเหมือนขอนไม้ลอยมา คนเลยใช้จริตแบบตามกันไป ตามกระแสแปลกใหม่เด่นดัง สื่อก็แข่งกันที่ยอดไลก์ยอดวิว ฉะนั้นการทำสื่อดี ๆ จึงเป็นเรื่องยาก ทำแล้วจะให้คนตามเป็นล้านก็ยากเหมือนกัน

“สื่อที่ท่านพุทธทาสทำ คือการเดินตามรอยพระพุทธเจ้า คนที่ทำสื่อจะพบว่าท่านพุทธทาส ใช้เครื่องมือสื่อสารหลากหลาย และพระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดนักการสื่อสาร พระพุทธเจ้ามีการเลือกกลุ่มเป้าหมายสื่อสาร เลือกสอนปัญจวัคคีย์ก่อนเลย ถ้าเราจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัด และเรื่องคอนเทนต์ หรือเนื้อหา ที่ใกล้ชิดกับคนดู และสุดท้ายคือมุ่งผลสัมฤทธิ์ เรามองจากทฤษฎีการสื่อสาร จะพบว่าท่านทำอย่างสวนกระแส และล้ำกระแสไปอีก ข้อมูลข่าวสารวันนี้เป็นภัยไซเบอร์อย่างมาก ไม่ใช่แค่เป็นข่าวร้ายแต่เป็นภัยที่ทำให้เราเสียหายได้เลย ทั้งข่าวปลอม hate speech เรารับมือมันได้ไหม ด้วยการมีสติ เห็นแล้วอย่างเพิ่งตัดสินอะไรเร็ว พินิจพิจารณา โยนิโสมนสิการ ก็คือ media literacy นั่นเอง แล้วเราจะเห็นว่าความคิดเห็นบนโซเชียลที่สุดท้ายทั้งหลาย สุดท้ายก็เป็นแค่เช่นนั้นเอง”

ธนกร ย้ำว่า วันนี้เราไม่ได้เป็นแค่ผู้รับสื่อ แต่เราเป็นผู้สร้างสื่อด้วย ซึ่งในโซเชียลก็เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถสร้างเนื้อหาดี ๆ ให้คนได้รับรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจกัน รักกัน เคารพกัน ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสื่อดีสร้างได้ เราก็จะช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ สังคมรมณีย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้