หลักสูตรไทยละเลยมุมมองของคนหลากหลาย
ขัดขวางการเรียนรู้และเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในโลก
“มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” คำขวัญวันเด็ก จากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มอบให้กับเด็ก ๆ ในปี 2567 นี้
หากลองตั้งคำถามกลับมามองที่เด็กไทยในเวลานี้ ก็ดูจะยังห่างไกลกับเป้าหมายที่วางไว้ในคำขวัญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับ ‘กรอบ’ การเรียนรู้ที่ยังปิดกั้น จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนผ่านแบบเรียนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
เพราะ “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ประโยคที่หลายคนคงคุ้นหูและจุดประกายให้สังคมหันมาใส่ใจเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
แล้วถ้าจะถามว่าอะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘การศึกษา’ ที่เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังและส่งต่อความคิดผ่านบทเรียนในรายวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่มีการสอดแทรกวรรณกรรมไว้ในบทเรียนให้กับเด็ก ๆ ซึ่งไม่ได้มีความสามารถเพียงแค่ถ่ายทอดสภาพสังคม การเมือง วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนั้น ๆ ผ่านความงามของภาษาอย่างที่หลายคนเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนวรรณกรรม
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้คือ วรรณกรรมมีบทบาทและอิทธิพลต่อคนในสังคมปัจจุบัน หรือเรียกได้ว่า วรรณกรรมสามารถชี้นำสังคมได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจของผู้เขียนที่ป้อนความคิดนั้น ๆ ไปในงาน หรือด้วยความไม่ตั้งใจจากความเป็นไปของเนื้อเรื่อง จนดูเหมือนเป็นการชี้นำไปโดยปริยาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้วรรณกรรมเหล่านั้นมามีอิทธิพลต่อตัวเรามากเกินไปได้หรือไม่
ตรงกับความเห็นของ ผศ.พงษ์ศักดิ์ สังขภิญโญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มองว่า ‘วรรณกรรม’ มีพลังและผูกพันกับคนในสังคมเป็นอย่างมาก จนทำให้ความคิดหรือค่านิยมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ประเทศ และโลก เปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อหาในวรรณกรรม เหมือนเป็นการชี้นำสังคมให้มีความคิดไปในแนวเดียวกัน
อย่างการมีทัศนคติในแง่บวกของคนไทยต่อคนญี่ปุ่น ผ่านการบรรยายความประทับใจที่มีต่อ ‘โกโบริ’ ของ ‘ทมยันตี’ ผู้แต่งเรื่อง ‘คู่กรรม’ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนทำให้ความประทับใจที่มีต่อคนญี่ปุ่นแทรกซึมไปในความคิดของคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว หรือความเชื่อของ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ในหลักโฆษณาชวนเชื่อ 7 ประการ ว่า “ถ้าโกหกคนทุกวัน ผู้คนจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงในสักวัน”
“เช่นเดียวกันกับวรรณกรรมหรือวรรณคดีไทย ที่เมื่ออ่านไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ท้ายที่สุดก็ซึมซับไปเป็นความคิดและการกระทำ จนกล่าวได้ว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องผ่านเรื่องเล่า วรรณกรรม และวรรณคดี“
พงษ์ศักดิ์ สังขภิญโญ
เด็กเอ๋ย เด็กไทย เรียนอะไรบ้าง
เมื่อย้อนไปดูสภาพสังคมที่ปรากฏอยู่ใน ‘วรรณกรรม’ ที่เด็ก ๆ ประถม มัธยม ต้องอ่านในชั้นเรียน หลายเล่มเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ซึ่งสภาพสังคมในขณะนั้นไม่ได้มีการพัฒนาเช่นเดียวกับสังคมในปัจจุบัน
อีกทั้ง เมื่อมาดูเนื้อหาในบทเรียนของเด็กเหล่านี้ ค่านิยมเดิม ๆ อย่างผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า หรือการบูลลี่ (Bully) รูปร่างหน้าตาของตัวละครที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามของสังคม (Beauty Standard) ยังคงอยู่ในบทเรียนแทบทุกเรื่อง ในขณะที่ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ค่านิยมเหล่านั้นหายไปจากสังคม
อีกทั้งยังมีบางฉากบางตอนมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางช่วงอายุ ซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้และจดจำ แล้วคุณครูสอนกับเด็กไทยอะไรบ้าง
‘พ่อไล่ลูกสาวออกจากเมือง เพราะจระเข้ของลูกไล่กัดคน’‘
“สามีไล่ภรรยาออกจากเมือง เพราะถูกหลอกว่าคลอดลูกเป็นขอนไม้’
นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งในบทละครนอกเรื่องไชยเชษฐ์ ตอน นารายธิเบศร์พบพ่อ ในหนังสือวรรณคดีลำนำ ชั้น ป.3 ที่ทำให้เห็นว่าเนื้อหาเหล่านี้ค่อนข้างไร้เหตุผล อีกทั้งข้อคิดที่อยู่ในบทเรียนก็เน้นไปที่ ‘การมีภรรยาหลายคน ทำให้เกิดความวุ่นวาย’
เช่นเดียวกันกับชะตากรรมของ พระสังข์ และ นางจันเทวี จากเรื่อง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ ในหนังสือวรรณคดีลำนำ ชั้น ป.5 ที่ต้องถูกขับไล่โดยสามีเพียงเพราะลูกของเขาเกิดมาเป็นหอยสังข์ ซึ่งข้อคิดที่อยู่ในหนังสือสอนเพียง ‘การกตัญญูต่อแม่และความรักของแม่ที่มีต่อลูก’
จะเห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้อธิบายในข้อคิดท้ายบทว่ามีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ควรทำ-ไม่ควรทำ และเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงสื่อการสอนที่เห็นตามสื่อโซเชียล ก็มีแต่การสอนเรื่องนิสัยตัวละคร เรื่องย่อ และข้อคิดดังกล่าว จึงอาจทำให้สิ่งที่เด็ก ๆ ในวัยเพียง 7-11 ปี ควรได้เรียนรู้ ตกหล่นไป
ไม่ใช่เพียงแค่ค่านิยมเดิม ๆ ในบทเรียนที่แฝงความคิดล้าหลังไว้และเป็นเนื้อหาที่น่าตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับเด็ก ๆ อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น นอกเหนือจากนั้นแล้ว เราต้องมาดูว่าความเหมาะสมของเนื้อหานั้น สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบันบ้างหรือไม่
อย่างเรื่องเงาะป่า ตอน คนังกับไม้ไผ่ไปล่าสัตว์ ซึ่งอยู่ในแบบเรียน ชั้น ป.4 มีเนื้อหาที่สนุกสนาน และยังแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมไทยในสมัยนั้นมีการกล่าวถึงตัวละครชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นวรรณกรรมที่สร้างสรรค์และทำให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่างของมนุษย์ แต่เมื่อมาดูข้อคิดท้ายบทเรียน จะเห็นว่ามีการสอนให้ “ควรล่าสัตว์ เมื่อจำเป็น” ย้อนแย้งกับขณะนี้ที่สภาพสังคมไม่ได้เหมือนยุคของคนังกับไม้ไผ่แล้ว และน่าเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กจะได้อะไรจากข้อคิดนี้ในปี 2567
แล้วต่างประเทศเขาเรียนวรรณกรรมอะไรกัน ?
จากประสบการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขณะที่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Vanessa Moll อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เห็นว่าการเรียนการสอนเรื่องวรรณกรรมระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันพอสมควร
โดยหลักสูตรและผู้สอนมีความพยายามที่จะสอนวรรณกรรมที่เขียนด้วยผู้แต่งที่หลากหลายทั้งเพศและเชื้อชาติ ซึ่งของไทยเองส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมที่เขียนโดยคนในราชวงศ์และเป็นผู้ชายเขียนทั้งหมด เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายหรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ห้ามวิจารณ์ราชวงศ์ การรับสารจากการอ่านวรรณกรรมจึงแตกต่างไปจากการอ่านวรรณกรรมของอเมริกา จนทำให้การอ่านวรรณกรรมไทยกลายเป็น ‘political’ โดยอัตโนมัติ ไม่ต่างจากการปิดกั้นหรือตีกรอบความคิดและจินตนาการของผู้อ่านจนอาจพลาดอะไรบางอย่างไป
“หลักสูตรของไทยมีการละเลยมุมมองของคนหลากหลาย การละเลยเสียงที่สำคัญเหล่านี้
ทำให้มีการขัดขวางนักเรียนจากการเรียนรู้และเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในโลก
และความเป็นจริงของประเทศของเราเอง
สมมุติว่าเราเป็นนักเรียนชาติพันธุ์กลุ่มน้อย เราคงรู้สึกไม่พอใจกับหลักสูตร
หรือไม่อินกับวรรณกรรมที่โรงเรียนสอน”
Vanessa Moll
นอกจากผู้แต่งที่หลากหลายทั้งเพศและเชื้อชาติ ยังมีการเรียนวรรณกรรมหลายที่แต่งในยุคสมัยที่ต่างกัน แม้จะมีการเรียนวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 400 ปี อย่าง Shakespeare หรือ The Scarlet Letter (มากกว่า 170 ปี) อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบของไทยแล้ว นี่เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่เอาวรรณกรรมเก่าแก่มาไว้ในแบบเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะการเรียนวรรณกรรมของสหรัฐอเมริกาได้มีการนำวรรณกรรมสมัยใหม่มาสอนอยู่เสมอ
หลายวรรณกรรมจะแสดงถึงเหตุการณ์สำคัญตามประวัติศาสตร์ เช่น ‘World War II’ โดย holocaust survivor (Night ของ Elie Wiesel) หรือ ‘grapes of wrath’ ที่แสดงให้เห็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือนวนิยาย ‘Coming of age’ ที่นำมาสอดแทรกในแบบเรียนค่อนข้างมาก ซึ่งตัวละครส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหรือวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวตนและพยายามทำความเข้าใจกับโลก
โดยรวมของการเรียนการสอนวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการเรียนวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่จะนำไปสู่การเข้าใจโลกและเข้าใจตนเอง จนสุดท้ายสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข
แต่กระทรวงบอกว่าต้องเรียนนะ ! เพื่ออนุรักษ์มรดกของชาติ
ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วรรณคดีสำหรับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเนื้อความว่า “เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม เป็นไปได้ด้วยดีมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ และอนุรักษ์วรรณคดีอันเป็นสมบัติของชาติ” จึงมีการให้นักเรียนตามช่วงชั้นปีต่าง ๆ ได้เรียนวรรณกรรมเหล่านั้นตามหลักสูตรที่ได้กำหนดไว้
ด้าน ทอม-จักรกฤต โยมพยอม ผู้มีความชอบและหลงไหลในวรรณคดีไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเรียนวรรณคดีเพื่ออนุรักษ์สมบัติของชาติว่า เริ่มแรกวรรณคดีไทยไม่ได้แต่งมาเพื่อสอนหนังสือ แต่แต่งมาเพื่อความจรรโลงใจ บันเทิง ประโลมหัวใจ และเป็นการแต่งขึ้นเพื่อให้ผู้ใหญ่อ่าน เนื้อหาในวรรณคดีไทยจึงอาจไม่เหมาะกับบทเรียนของเด็ก และเมื่อนำวรรณคดีไทยมาอยู่ในแบบเรียน แม้ทางกระทรวงได้บอกว่าคัดมาแล้วตามความเหมาะกับช่วงวัย แต่ก็จะเห็นว่ายังมีเนื้อหาหลายอย่างไม่เหมาะกับเด็ก และอาจจะต้องมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการซึมซับเนื้อหาในวรรณกรรม
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ ผศ.พงษ์ศักดิ์ ยังคงมองว่าการเรียนวรรณกรรมเหล่านี้เพื่ออนุรักษ์เป็นเรื่องที่ควรแล้ว เพราะการเรียนวรรณคดีไทย นับว่าเป็นพื้นฐานของความเป็นไทย ในฐานะที่เป็นคนไทย เราต้องรู้รากฐานประวัติศาสตร์ไทย ไม่เช่นนั้นแล้ว มรดกล้ำค่าเหล่านี้ก็จะหายไปจากประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย
แบบเรียนอายุกว่า 100 ปี ของเด็กยุค 2567
จากข้อมูลวรรณกรรมที่กำหนดให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 ที่กำหนดให้เรียน และให้เลือกเรียน รวมทั้งหมด 52 เล่มนั้น หลายเล่มแต่งขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เช่น ราชาธิราช ตอน พลายประกายมาศ ตอนสมิงพระรามอาสา ที่ให้เด็ก ม.1 เลือกเรียนนั้น แต่งขึ้นเมื่อ 238 ปี พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร ที่กำหนดให้เด็ก ป. 4 เรียน แต่งขึ้นเมื่อ 178 ปี ในขณะที่วรรณกรรมยุคใหม่ ๆ ยังไม่ถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรที่กำหนดให้นักเรียนได้อ่าน
แน่นอนว่าการอนุรักษ์มรดกทางปัญญาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกวีและภาพสะท้อนสังคมในสมัยนั้น ๆ เป็นเรื่องที่ดีและคนรุ่นหลังก็จะได้เห็นสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของสังคมไทยแต่ละสมัย แม้จะมีบางอย่างที่ไม่เหมาะสม แต่ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อเลี่ยงที่จะให้เด็ก ๆ เรียนไม่ได้ สิ่งสำคัญคือผู้สอนหรือผู้ปกครองจะต้องมีหน้าที่ให้ความรู้และกล่อมเกลาให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย จากวรรณกรรมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร
ข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับเด็กไทยในมุมมองของ ทอม-จักรกฤต คือ การเรียนรู้อดีตเพื่อให้เห็นที่มาและรากของปัญหาปัจจุบัน โดยไม่เอาเลนส์ปัจจุบันไปตัดสินสังคมในอดีต แต่เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจว่านั่นคือ ‘ค่านิยมที่เป็นปกติในอดีต’ เมื่อมาถึงปัจจุบันต้องชี้ให้เห็นว่าค่านิยมสังคมมีการเดินทางด้วยเหตุผลอะไร และปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ผ่านเหตุการณ์หรือการกระทำของตัวละครในวรรณกรรมนั้น ๆ
ในส่วนของหลักสูตรควรที่จะเพิ่มวรรณกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจความเป็นพลเมืองโลก (Global citizens) ซึ่งจะทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ทั้งรูปลักษณ์ สีผิว ศาสนา และเชื้อชาติ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
สุดท้าย สำคัญที่สุดคือครูผู้สอน ที่จะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงบริบทปัจจุบัน และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาให้เท่าทันโลกที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเจอสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะผิดแปลกไปจากบริบทสังคมปัจจุบัน ครูผู้สอนก็จะต้องสามารถถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้กับเด็ก ๆ ได้ในประเด็นเหล่านั้น
“เราต้องเชื่อมโยงกับบริบทปัจจุบัน สิ่งที่ต้องทำให้เด็กเห็นคือ ในสมัยก่อนสิ่งนี้มันไม่ใช่เรื่องผิด
แต่ในปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนไปแล้ว มีการรณรงค์ ค่านิยมนี้มันเปลี่ยนไปจากเดิมยังไง
เราต้องอธิบายเราต้องเรียนรู้จากอดีตว่าจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
ว่าการเดินทางของแนวคิดลักษณะนี้มันมาถึงยังไง ด้วยเหตุผลอะไร
ทอม-จักรกฤต โยมพยอม
กลับมาที่ประโยค ‘เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า’ อาจจะต้องคิดให้ดีว่าหากปล่อยให้เด็กได้เรียนวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเหล่านี้โดยที่ครูผู้สอนไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้ผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าเป็นแบบไหน อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการเรียนวรรณกรรมของเด็กไทย และที่ผ่านมาคุณเคยมองย้อนกลับไปหรือไม่ว่าประสบการณ์การเรียนวรรณกรรมของคุณในรั้วโรงเรียนของคุณเป็นอย่างไร