“ความจน” ไม่ได้วัดกันแค่ความสามารถส่วนบุคคล
แต่ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม หรือ ระบบ
การพัฒนาที่รับใช้มิติเศรษฐกิจ ละเลยมิติทุนทางวัฒนธรรม ยังเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ “รวย” – “จน”
The Active เปิดมุมมองกับนักมานุษยวิทยา ว่าด้วย “นิยามความจน” โดย อภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
นิยาม “ความจน” ในมุมมองนักมานุษยวิทยา
ความหมาย ความจน ในเชิงมานุษยวิทยา ไม่ได้มองแค่มิติทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่มองถึงเรื่อง “โอกาส” และ “สิทธิ” ส่งผลให้คนจนยิ่งถูกลดทอนในแง่ของการต่อสู้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนขาดโอกาสที่เท่าเทียมกันคือ “โครงสร้าง”
ในอดีตคนมักเข้าใจความจนในมุมของปัจเจก มากกว่ามองเห็นความบกพร่องของโครงสร้าง คือ มองว่าคนจนคือคนขี้เกียจ หรือ คนโง่ จาก วาทกรรม โง่ จน เจ็บ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความจนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กดทับคนบางกลุ่ม ทำให้ไม่มีโอกาสหรือความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากร ตลอดจนไม่สามารถพัฒนาหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเองได้ เช่น โครงสร้างสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น คนที่อยู่ชนชั้นล่างมีโอกาสยากมาก ถูกปิดกั้นในการเข้าถึงทรัพยากร ทั้ง ทรัพยากรทางธรรมชาติ ความรู้ หรือโอกาสต่าง อีกทั้งโครงสร้างไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกลไกการพัฒนาแบบทางเลือกบนฐานภูมิปัญญา หรือการอาศัยฐานความเข้มแข็งเดิมของชุมชน ทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่ง ที่คิดว่าจะพบโอกาสที่ดีกว่า
นโยบายการพัฒนากับปัญหาที่ตามมา
การเน้นกรอบทางเศรษฐศาสตร์ แต่ละเลยทุนทางวัฒนธรรม ทำให้เราต้องทบทวนช่องว่างระหว่าง “ล้าหลัง” กับ “ล้ำหน้า” เรามักนึกถึงการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าเพื่อหนีความล้าหลัง ซึ่งอาจลืมไปว่าตรงกลางระหว่างความล้ำหน้ากับล้าหลังมีเงื่อนไขความสำคัญบางประการที่สามารถนำมาใช้พัฒนาต่อยอดได้ อย่างต้นทุนเดิมทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนและชุมชน ส่งผลให้ วิถีการพัฒนาของประเทศเน้นไปที่การสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว ขาดมิติการเสริมสร้างศักยภาพ และความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม หรือการทำให้คนมีโอกาสในการเข้าถึงที่เท่าเทียมกัน เช่น เมื่อมองถึงเรื่องการพัฒนา เราจะมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว หรือเมื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็ให้ความสนใจในบางเรื่อง
แต่ในขณะเดียวกันก็ลืมใส่ใจในบางเรื่อง ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างแท้จริง หรืออย่างในกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่วิถีดั้งเดิมไม่จำเป็นต้องมีกรรมสิทธิในที่ดิน แต่เมื่อรัฐต้องการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องมีเรื่องซื้อขายกรรมสิทธิที่ดินระหว่างนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกลดโอกาสในการเข้าใช้พื้นที่ดั้งเดิมนั้นในการดำรงชีพหรือสร้างรายได้ หรือมูลค่าเพิ่มให้แก่ตนเอง ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความยากจน (ในมิติด้านการเงิน) ตามมา
การอยู่ในโครงสร้างจนเคยชิน ทำให้ลืมมองไปถึงช่องว่างทางสังคม เช่น นโยบาย 5,000 บาท ทุกคนคิดว่าต้องได้เงินเหมือนกันหมด แต่ลืมไปว่าการได้ของแต่ละคนมาจากเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โครงสร้างเดิมที่กดทับคนจนอยู่ยังไม่ปลดล็อก เช่น คนที่อยู่ในระดับศูนย์อีกคนอยู่ระดับสิบ แต่เมื่อให้เงิน 5,000 บาทเท่ากัน ช่องว่างนี้ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม เหมือนเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ได้ช่วยให้คนที่อยู่ระดับศูนย์ไต่ขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับคนระดับอื่นได้อย่างแท้จริง รวมถึงการพยายามสร้างนโยบายหรือสิ่งใหม่เพื่อช่วยเหลือกลับยิ่งทำให้ช่องว่างที่มีอยู่ขยายตัวมากขึ้น เหล่านี้เป็นรูปธรรมที่สะท้อนความไม่เข้าใจต่อปัญหาความยากจนในสังคมไทย
สิ่งสำคัญอีกประการที่ต้องคำนึงถึงคือ กลไกการพัฒนาที่ออกแบบเพื่อ “คนนอกพื้นที่” มากกว่า “คนในพื้นที่” เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยการไล่รื้อชุมชน เรากำลังทำให้ชีวิตคนจนในเมืองหายไป ทั้งที่คนจนเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงสังคมเมือง และทำให้พื้นที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไร้ชีวิต เรากำลังสร้างพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนข้างนอกมากกว่าสร้างพื้นที่เพื่อช่วยเหลือคนข้างใน ซึ่งเมื่อก่อนสิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ห้ามชาวมอแกนจับปลาเพราะกลัวว่านักท่องเที่ยวดำน้ำแล้วไม่เห็นปลา
“ไม่คิดว่าวันหนึ่งวิธีการพัฒนารูปแบบนี้จะเข้ามาใกล้ตัว ขนาดในเมืองกรุงเทพฯ หรือแม้แต่การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทำเพื่อให้คนนอกพื้นที่เข้าไปลงทุน แต่คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการวางแผนหรือหาแนวทางการปรับตัวให้คนในพื้นที่ เพราะมุ่งเน้นแต่การพัฒนารายได้ ตัวเลข GDP ที่ต้องโตขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยศึกษาและพบว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้น เมื่อตัวเลข GDP เติบโตขึ้น สะท้อนให้กลับมาทบทวนว่าการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวไม่สามารถลดหรือขจัดความเหลื่อมล้ำได้ และอาจไม่ตอบโจทย์การพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในเมืองไทย”
อภินันท์ ธรรมเสนา
การพัฒนาเพื่อลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โอกาสในการเข้าถึงของแต่ละคน/กลุ่มคนไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่นเมื่อจะมีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เรามักคิดว่าต้องมีการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการเลือกตัวละครมาอุปทานเป็นตัวแทนของคนแต่ละกลุ่มเพื่อสะท้อนความคิดเห็น แต่บางครั้งตัวละครนั้นอาจไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มที่แท้จริง สิ่งที่เราต้องทำคือการตั้งคำถามกลับไปว่าคนกลุ่มนั้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริงหรือไม่ มิเช่นนั้นผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริงจะยังคงอยู่เพราะขาดโอกาสในการแลกเปลี่ยนหรือเรียกร้อง
แม้ในระยะหลังจะรู้สึกว่ารัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนมากขึ้น แต่การพัฒนาคนที่เกิดขึ้นกลับเน้นไปที่มิติในเชิงระบบมากเกินไป เช่น ให้การศึกษา แต่เป็นการศึกษาหลักสูตรแกนกลาง หรือหลักสูตรพื้นที่ฐานที่ทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน เพื่อมุ่งเน้นให้คนเป็นเลิศทางด้านวิชาการ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เพราะติดกับในแง่โอกาสในการเข้าถึงสถาบันการศึกษาที่ดี/มีคุณภาพ (มีคนกลุ่มเดียวที่สามารถเข้าถึง)
ฉะนั้นหากเรามองถึงการพัฒนาจริง ๆ ควรพิจารณาไปถึงแนวทางการพัฒนาแบบทางเลือก มากขึ้น ประกอบการพัฒนากระแสหลักที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเราพิจารณาถึงแนวทางเลือกมากขึ้นอาจนำไปสู่การมองเรื่องการพัฒนาใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบชุมชน, การจัดการวัฒนธรรมบนฐานภูมิปัญญา เป็นต้น เพื่อให้คน/กลุ่มคนฝึกใช้ทุนที่มีอยู่เดิมในการพัฒนาตนเองหรือชุมชน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง
อีกประเด็นสำคัญคือ การให้ค่าไม่ควรมี hierarchy หรือมีลำดับชั้นสูงต่ำ หรือการพัฒนาคนไม่ควรมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นแบบเดียวกัน ผ่านสูตรสำเร็จเฉพาะเพียงหนึ่งเดียว เช่น การให้ค่าความรวยต่างจากความจน หรือการตัดสินว่าคนไม่มีแบบนี้คือคนจน ต้องมีแบบนี้ถึงเป็นคนรวย หรือการต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จแบบนี้ถึงเป็นคนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงความสำเร็จอาจมีหลายรูปแบบ ซึ่งหากเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้ฐานความเข้าใจเรื่องความแตกต่างมีพื้นที่มากขึ้น ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง
ตัวชี้วัดความยากจน “จนรายได้” (มิติเศรษฐศาสตร์)
“จนโอกาส” (มุมมองมานุษยวิทยา)
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความยากจน (ในแง่รายได้) มากที่สุด แต่กลับเป็นจังหวัดที่มีดัชนีความสุขมากที่สุด เกิดเป็นคำถามที่ว่าเราจะมองสูตรสำเร็จของความจนอย่างไร หากมองสูตรสำเร็จของเรื่องนี้ในมิติรายได้ก็ต้องเน้นการพัฒนาเรื่องรายได้เป็นหลัก (การสร้าง/พัฒนาอุตสาหกรรม) แต่หากมองในมุมการแก้ไข “ความจนในเชิงโอกาส” การทำให้คนภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็น – มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร/โครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน (เช่น การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล) – มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น การเลือกอยู่กับชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนบนฐานของภูมิปัญญาตนเอง แทนการเข้าไปทำงานในเมือง (ที่อาจนำไปสู่การเป็นคนจนเมือง) สิ่งนี้เป็นรูปธรรมของการคลี่คลายความจนที่ไม่ใช่เฉพาะการแก้ปัญหาในมิติรายได้เพียงอย่างเดียว
ศึกษา “ต้นทุนที่แตกต่าง”
ค้นหา “ความต้องการที่แท้จริง” เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
อาจไม่ใช่การใช้นโยบายที่ทุกคนต้องเท่าเทียม แต่เป็น “การให้แต้มต่อ” แก่ผู้ที่มีต้นทุนน้อยกว่า เช่น คนที่เริ่มจากติดลบควรได้รับแต้มต่อบางอย่างที่มากกว่าคนที่เริ่มจากศูนย์หรือหนึ่ง เพราะหากเราให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ช่องว่างระหว่างคนสามกลุ่มดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป แต่หากเปลี่ยนจากความเท่าเทียมเป็น “ความเสมอภาค” เราจะเห็นว่าความเสมอภาคของแต่ละคนเริ่มต้นแตกต่างกัน ฉะนั้น platform หรือวิธีการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งก็อาจต้องแตกต่างจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรกลับมาอยู่ในระนาบเดียวกัน
เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสิทธิมีเสียงน้อย จะต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิที่ดินด้วยระบบเดียวกับคนในเมืองจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะความสามารถหรือวิถีวัฒนธรรมในการผลิตของคนสองกลุ่มนี้เป็นคนละรูปแบบกัน ดังนั้นเราจึงควรให้สิทธิคนแต่กลุ่มคนตามแต่ศักยภาพที่เขามี โดยสิ่งสำคัญคือ รัฐต้องทำความเข้าใจคนแต่ละกลุ่มว่ามี “ความต้องการ” แตกต่างกันอย่างไร และจะนำไปสู่การสร้างกลไกในการจัดการหรือแก้ปัญหาที่แตกต่างกันอย่างไร ที่ในท้ายที่สุดจะสามารถนำพาทุกคนไปสู่โอกาสในการเข้าถึงหรือการพัฒนาพร้อมกัน
การพัฒนาต้นทุน ของกลุ่มชาติพันธุ์
สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ สิทธิทางวัฒนธรรมที่ควรรักษาต่อยอด
สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรได้รับเป็นอย่างแรกคือ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” เพราะคนกลุ่มชาติพันธุ์โดนลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานมากกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้างบางประการ เช่น การไม่มีบัตรประชาชนซึ่งเป็นเครื่องมือบ่งชี้ความเป็นคนไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามสมควรได้ ฉะนั้นการส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์คือการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษอย่างที่คนในสังคมมอง ซึ่งการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์/คนชายขอบ ที่จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลไกหรือวิธีคิด (อคติ) ของรัฐที่กดทับคนกลุ่มนี้
โดยมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัย ทำให้ทุกการช่วยเหลือต้องมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมหาเงินมาแลกกับเงื่อนไขเหล่านี้ เช่น เส้นสาย การจ่ายใต้โต๊ะ เป็นต้น หากเราแก้ส่วนของความคิดหรือทัศนคติของคนในสังคมต่อคนชายขอบหรือการมองเห็นศักยภาพตนเองของคนชายขอบไม่ได้ ยากมากที่จะทำให้คนชายขอบเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้ต้องมองการออกแบบกลไกการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือ 1) งานช่วยเหลือโดยหน่วยงานภาครัฐ และ 2) งานส่งเสริมให้คนเกิดความมั่นใจว่าตนเองมีศักยภาพ เพื่อช่วยให้กลุ่มคน/ชุมชนฟื้นตนเองหรือเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะทรัพยากรอำนาจในการต่อรอง (ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างคอยรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้)
ส่วนถัดมาที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรได้รับคือการส่งเสริม “สิทธิทางวัฒนธรรม” เช่น สิทธิในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ / สืบทอดรักษาประเพณีของตนเอง/กลุ่ม ยกตัวอย่างกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนและพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เป็นหลัก ถูกกันออกจากพื้นที่ด้วยนโยบายการจัดการ/อนุรักษ์พื้นที่ของรัฐบาล หรือกรณีกลุ่มไทใหญ่ที่เข้ามาขายบริการในเมือง และถูกสังคมมอง/ตัดสินว่าขี้เกียจไม่หาอาชีพอื่นทำ
ซึ่งหากพิจารณาลงลึกภาวะที่ความสามารถในการผลิตตามวิถีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์หายไป ไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถดำรงชีพได้ อัตลักษณ์หรือศักดิ์ศรีถูกลิดรอน เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้คนกลุ่มนี้ต้องมาพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจกระแสหลักแทน (ระบบเงินตรา / ระบบนายทุน / อพยพเข้าสู่เมือง กลายเป็นคนจนเมือง และเกิดปัญหาอื่นตามมา) และยอมทิ้งตัวตนเข้าหาความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์
ทำให้นอกจากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาแล้วยังนำไปสู่การตอกย้ำภาพจำ/วาทกรรมชุดเดิมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เป็นกลุ่มคนที่เป็นปัญหาสังคม มักเกี่ยวพันกับยาเสพติด ฯ ทั้งที่ภาพลักษณ์หรือตัวตนจริงไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นเพราะไม่มีต้นทุน (เช่น ทุนทางความรู้) หรือโอกาสในการทำสิ่งอื่น ๆ จึงเลือกใช้ทุนทางร่างกายเข้ามาหารายได้ / เลื่อนชั้นทางสังคมแทน
สิ่งที่น่าสนใจในการดำรงสิทธิทางวัฒนธรรมคือการมี “จริยธรรมของชุมชน” คอยกำกับอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ชุมชนหล่อเลี้ยงกันมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาโควิดได้ดี ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายใหญ่ของประเทศที่ดี แต่อีกส่วนสำคัญคือโครงสร้างทางสังคมของชุมชนไทยค่อนข้างเข้มแข็ง ชุมชนมีการจัดการตัวเองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน เช่น การจัดเตรียมพื้นที่รองรับคนนอกที่เดินทางเข้ามาในชุมชน/จังหวัด หรือการมีระบบแจ้งข่าวสารภายในชุมชน สิ่งนี้เป็นส่วนที่ช่วยคุ้มกันชุมชน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วการมีชุมชนที่เข็มแข็งนำไปสู่สังคมที่แข็งแรงได้
ปัญหายาเสพติด / การรุกป่า / แรงงานเถื่อน
การใช้ทุนทางร่างกายเพื่อเลื่อนชนชั้นตนเอง
เรื่องจริงหรือภาพมายาคติจากสังคม?
มีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องจริงและส่วนที่เป็นภาพมายาคติจากสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นแบบเดียวกันหมด เพียงแต่เมื่อความจริงบางส่วนมาเจอกับมายาคติ ยิ่งทำให้คนมีภาพจำที่แนบแน่น ซึ่งสังคมควรต้องทำความเข้าใจเหตุแห่งการเกิดเรื่องจริงเหล่านี้ว่ามาจาก “การเข้าไม่ถึงโอกาส” แบบที่คนในสังคมทั่วไปเข้าถึง หรือการไม่มีเครือข่ายใหม่ที่จะนำพาไปพบสายสัมพันธ์อื่น ๆ ที่จะช่วยต่อยอด/พัฒนาด้านอาชีพ อีกทั้งเครือข่ายทางสังคม/ชุมชนเดิมก็ถูกทำลาย (ไม่มีของใหม่ + ของเดิมหาย) เปรียบได้กับ “คนไร้ราก” ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ
มีงานศึกษาที่น่าสนใจเรื่องคนชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานในเมือง โดยการขายพวงมาลัย (โครงสร้างเครือข่าย) ซึ่งเมื่อมีญาติ พี่ น้อง ตามเข้าเมืองมา อาชีพแรกที่สามารถทำได้ตามโครงสร้างเครือข่ายที่มี คือการขายพวงมาลัย ซึ่งเป็นไปได้ยากที่คนจนจะเลื่อนชั้นเป็นคนมีฐานะในสังคมด้วยรูปแบบโครงสร้างเครือข่ายเช่นนี้ แต่ในอดีตมีงานวิจัยที่ยกตัวอย่างถึงอาชีพที่สามารถทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนจนได้คือ
- นักร้องในเมือง ตัวอย่างเช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งใช้ทุนความสามารถในการต่อสู้ (ไม่มีความรู้)
- นักมวย ใช้ทุนร่างกายในการต่อสู้
แต่ในปัจจุบันพบว่าการเลื่อนชั้นของคนจนยิ่งทำได้ยากขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่ในการแสดงความสามารถหดแคบลง ด้วยการแข่งขันทางสังคมที่สูงขึ้น คนมีฐานะมีโอกาสเข้าถึงทุนความสามารถ เช่น การส่งลูกเรียนร้องเพลง ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าการแก้ไขปัญหาเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจน
ปัญหาเชิงโครงสร้าง กับความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์ปัจจุบัน
ระบบการรับเงินช่วยเหลือคนจน 5,000 มีข้อสังเกตว่าระบบถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อคนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเทคโนโลยีได้ เพราะต้องลงทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากบุคคลนั้นเป็นคนจนแต่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ข้อมูลที่น่าสนใจคือ บางครอบครัวอยู่ในฐานะปานกลางแต่สมาชิกในครอบครัวทั้งสี่คนได้รับเงินทุกคน (เข้าถึงทรัพยากรเทคโนโลยี และมีความรู้ในการใส่ข้อมูลต่าง ๆ ในระบบ)
ในทางกลับกันอีกครอบครัวไม่มีบ้านอยู่แต่ไม่ได้รับเงิน หรือกรณีการเรียนออนไลน์ ที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการจัดการให้คนสามารถเข้าถึงการศึกษา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเทคโนโลยีได้ ทำให้การเข้าถึงการศึกษาของเด็กลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีลดน้อยลง แม้จะใช้ความรู้ในการเลื่อนชั้น แต่เมื่อฐานความรู้เดิมน้อยก็ยากที่จะเลื่อนชั้นทางสังคม ซึ่งสุดท้ายก็วนเป็นวัฎจักรปัญหาเดิม (ไม่เรียนหนังสือ – ไม่มีความรู้ – เลือกทำอาชีพที่ใช้แรงงาน)
เหล่านี้เป็นรูปธรรมของปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ควรทบทวนในการมองเรื่องความเท่าเทียมว่าความเท่าเทียมที่รัฐตีความและพยายามมอบให้ประชาชน (เช่น เงิน 5,000) เป็นสิ่งที่ช่วยลดหรือเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากมองให้ดีแล้วเราจะพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความยากจนในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องเงินหรือการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ แต่เป็นเรื่องโอกาสที่ทุกคนควรเข้าถึงเท่ากัน เพื่อใช้เสริมศักยภาพของตนเอง
ปัญหาทัศนคติของคนในสังคมต่อคนจน
วิธีการทำงานแบบนักมานุษยวิทยาคือ ทำให้คนในสังคมเข้าใจก่อนว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดขึ้นจากภาพมายาคติแบบเดิม (เช่น คนจนขี้เกียจ) และทำให้เห็นว่าคนจนเข้าถึงโอกาสได้ยาก ตัวอย่างเช่น การทำให้เห็นว่าภาพความเหลื่อมล้ำหรือความจนไม่ควรผูกติดกับเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรเผยให้เห็นว่าความยากจนเป็นเรื่องของการเข้าไม่ถึงโอกาส หากคนมีพื้นฐานหรือโอกาสเท่ากัน บุคคลก็จะมีศักยภาพในการต่อสู้หรือแสวงหารายได้ได้เท่าเทียมกัน ซึ่งคุณอภินันมองว่าควรปรับตั้งแต่ระบบวิธีคิดในเรื่องการจัดการศึกษา ที่เรามักให้คุณค่าความสำเร็จผูกอยู่กับการมีอาชีพการงานที่ดี เรียนเก่ง แต่เราไม่ให้คุณค่ากับความสามารถเชิงทางเลือกอื่น ๆ
เช่น เด็กที่เรียนไม่เก่งแต่สามารถช่วยชุมชนทำงานได้ หรือกรณีตัวอย่างคนทำความสะอาดหอพักที่ดูไม่มีการศึกษาหรือมีรายได้น้อย แต่เมื่อเขาไม่อยู่สภาพหอพักสกปรกมากเพราะขาดคนกลุ่มนี้ช่วยดูแล หรือกรณีของแรงงานต่างด้าวที่ถูกมองแบบไม่ให้คุณค่าเพราะเข้ามาใช้แรงงาน แต่อาจลืมว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ หากไม่มีคนกลุ่มนี้กลไกการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ยาก ฉะนั้นควรทำให้สังคมเห็นว่าคนแต่ละกลุ่มมีบทบาท หน้าที่ คุณค่า ที่แตกต่างกัน เพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อคนเข้าใจมิติของสังคมได้กว้างขึ้น ก็จะช่วยลดการตีตราว่าอาชีพนี้เป็นภาพแทนของคนจน หรืออาชีพนั้นเป็นภาพแทนของคนรวย
รูปธรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตคนจน ผ่านทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนในสังคม…เมื่อสังคมให้คุณค่าคนจน
เมื่อวิธีคิดของคนในสังคมเปลี่ยนไป วิธีการจัดการก็จะเปลี่ยนแปลงตาม เช่น เดิมใช้วิธีการให้เงินช่วยเหลือคนจน เพิ่มรายได้ ให้สอดคล้องกันเส้นความยากจน แต่อีก 20 ปีข้างหน้าเส้นความยากจนอาจขยับ ฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องรายได้อาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความยากจน แต่เมื่อเรามองคนกลุ่มนี้ด้วยคุณค่าใหม่ ซึ่งเห็นถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เราอาจมองไปถึงเรื่องการสร้างระบบสวัสดิการแบบใหม่ให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้เขาสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ในการทำงาน (ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ทางอ้อม)
เราต้องมองการแก้ปัญหาใหม่ว่าไม่ใช่การเพิ่มรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาข้อจำกัดของแต่ละคนว่าขาดอะไร ต้องการการหนุนเสริมส่วนไหนด้วย ตัวอย่างกรณีชาวเลที่อาศัยบนเกาะ เส้นเลือดในสมองแตก ต้องเดินทางจากเกาะเข้ามารักษาในเมือง สิทธิในการรักษาพยาบาลอาจจะฟรีแต่เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น ค่าเรือ ค่ารถ ค่าคนดูแล ซึ่งเราไม่มีเงื่อนไขในการช่วยเหลือส่วนนี้ ฉะนั้นควรต้องพิจารณาการสร้างกลไกอื่นที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าหากคนในสังคมเข้าใจ มองเห็นคุณค่าคนจน จะนำไปสู่รูปธรรมอย่างการออกแบบการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม/สอดคล้องกับการดำรงชีพของคนแต่ละกลุ่ม
รัฐสวัสดิการแนวคิดใหม่ ที่มองฐานศักยภาพของคน
เรามักพูดกันว่าทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐเท่ากัน ซึ่งอาจไม่ใช่การเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการที่ทุกคนต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นหรือศักยภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน ฉะนั้นความช่วยเหลือที่แต่ละคนต้องการอาจไม่ได้อยู่บนมาตรฐานแบบเดียวกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ควรนำไปสู่การได้สิทธิแบบพื้นฐานเท่ากัน
อภินันท์ ธรรมเสนา
ปัญหาสำคัญของคนชนบทที่กลายมาเป็นคนจนเมืองคือ ขาดความสามารถในการผลิตที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ ตัวอย่างเช่น คนสวนแถวตลิ่งชัน เดิมเคยมีความสามารถในการผลิตอาหารให้ตัวเองได้ แต่เมื่อที่ดินถูกขายเป็นหมู่บ้านจัดสรร คนสวนได้เงินก้อนและออกไปอยู่ชุมชนอื่น ปัจจัยการผลิต (ที่ดิน) ที่เคยมีหายไป ความมั่นคงทางอาหารก็หายไปด้วย จากเดิมเคยพึ่งตนเองได้กลับต้องพึ่งคนอื่นโดยการซื้อมากขึ้น
เมื่ออาหารกลายเป็นเรื่องของทุนใหญ่ ของกินง่าย ๆ ตามข้างทางถูกยกเข้าไปสู่การจำหน่ายของทุนใหญ่ เช่น ถั่วต้ม กล้วยปิ้ง ผักต่าง ๆ ในเซเว่น ด้วยทุนใหญ่เข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ง่ายกว่า สามารถซื้อผลผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่า เพราะซื้อในปริมาณมาก ผลิตของออกมาจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกกว่า และมีช่องทางการจำหน่ายที่มากกว่า แต่ชาวบ้านต้องพบกับต้นทุนในการซื้อปัจจัยการผลิตแพงกว่า อีกทั้งมีช่องทางในการจำหน่ายที่น้อยกว่า เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านขาดความมั่นคงไปเรื่อย ๆ จนความมั่นคงทางอาหารถูกผลักให้ไปเป็นการพึ่งพาทุน
“โครงการข้าวแลกปลา” ที่ศูนย์ฯ กำลังทำ เพื่อที่จะสลายกลไกเดิมที่เน้นการพึ่งทุนออกไป และหันมาพึ่งมิติทางวัฒนธรรมมากขึ้น โดยใช้ศักยภาพที่ชาวบ้านมีคือการผลิตปลาได้ นำไปแลกข้าว เพื่อเป็นต้นแบบกระแสทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกทุนครอบงำ ซึ่งแนวทางการใช้ทุนทางวัฒนธรรมจะช่วยรักษาสมดุลของการพึ่งพิง / การจัดการแหล่งวัตถุดิบทางอาหารได้มากขึ้น และชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น
“ระบบเกษตรเชิงเดี่ยว” ทำลายปัจจัยพื้นฐานการผลิตอันได้แก่ เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ที่แต่เดิมอำนาจในการเข้าไปควบคุมเรื่องพันธุกรรมเป็นของชุมชนท้องถิ่นที่มีระบบการจัดการดูแลเมล็ดพันธุ์ การทำไร่หมุนเวียนที่เกิดจากการผสมผสานเมล็ดพันธุ์หลากหลายชนิด แต่ปัจจุบันเมื่อปรับเป็นไร่เชิงเดี่ยว/พืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ทรัพยากรอาหารที่เคยมีจำนวนมากถูกลดทอนลงไป โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างเมล็ดพันธุ์ถูกควบคุมโดยทุน ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาใหญ่คือเราไม่สามารถเข้าถึงหรือรักษาพันธุกรรมเหล่านี้ได้เลย
เมล็ดพันธุ์กลายเป็นเรื่องของนายทุนส่วนชาวบ้านเป็นผู้พึ่งพิง (แม้กระทั่งเมล็ดพันธุ์) และหากรัฐไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ละเลยคุณค่าภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สนใจแต่การพัฒนาแบบใหม่ (เน้นสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจ ละเลยผลกระทบจากการพัฒนา) สุดท้ายก็จะเกิดปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม
อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ในทางมานุษยวิทยา?
“ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์” เป็นเรื่องสำคัญในทางมานุษยวิทยาและถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคน ซึ่งหมายถึงศักดิ์ศรีที่จะไม่ถูกลดทอนหรือลิดรอนสิทธิบางอย่าง หรือถูกมองด้วยการดูแคลน แต่ต้องมองด้วยความเท่าเทียม เห็นคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่ทำงานในเมืองหรือชาวนา อยากถูกมองอย่างมีคุณค่า เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่ได้คาดหวังเพียงเรื่องเงินอย่างเดียว แต่เราคาดหวังให้คนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราเป็น รวมถึงยอมรับในตัวตนของเรา
อภินันท์ ธรรมเสนา