สำรวจ… แนวทางแก้ปัญหาความ ‘ยากจน’ และ ‘เหลื่อมล้ำ’ ของจีน

จาก ยุคฟื้นฟูชนบท สู่ โลจิสติกส์เชื่อมเมือง

เพิ่ม ‘โอกาส’และ ‘รายได้’ ให้ชนชั้นล่าง

แม้ว่าประเทศไทยจะแก้ปัญหาความยากจนได้ระดับหนึ่ง จนทำให้สัดส่วนคนจนของประเทศลดลงเหลือเพียงร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมดของประเทศใน ปี พ.ศ. 2552 แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาค อย่างภาคเหนือ และอีสานที่ยังมีสัดส่วนคนจนที่ค่อนข้างสูง คือเกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดในทั้งสองภูมิภาค

ปัญหาที่น่าสนใจคือแม้ภาพรวมของประเทศไทยจะมีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อบุคคลในระดับที่สูงขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นกลับไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประชากรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ดังนั้นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จึงอยู่ที่การเพิ่มโอกาสและศักยภาพของคนจน ตลอดจนการส่งเสริมนโยบายและระบบบริหารจัดการภาครัฐที่เหมาะสม

หากพิจารณามุมมองและรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จนั้น จะพบว่ามีแนวทางที่สามารถนำมาปรับหรือต่อยอด เป็นนโยบายประเทศไทยได้

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

ความเป็นมาของการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในจีน

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศชัยชนะอย่างเด็ดขาดกับการแก้ไขปัญหาความยากจนเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

“รัฐบาลจีนได้ประกาศว่าสามารถขจัดความยากจนให้ออกไปจากประเทศจีนได้แล้ว สำหรับเกณฑ์ที่จีนใช้กำหนดความยากจนเป็นการกำหนดขึ้นตามความเหมาะสมของประเทศจีน ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานของประเทศตะวันตก เกณฑ์ที่กำหนดความยากจนของประเทศจีนอยู่ที่ต้องมีรายได้ประมาณ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน และในขณะนี้ รัฐบาลจีนประกาศว่าไม่มีคนจีนที่มีรายได้ต่ำกว่านี้อีกแล้ว”

นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือการต่อสู้กับปัญหาความยากจนมาโดยตลอด ในระยะเริ่มต้น รัฐบาลจีนเน้นการแก้ปัญหาที่ชนบทที่เรียกว่า ‘ยุคฟื้นฟูชนบท’ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญรุ่งเรือง และปรับลดความเหลื่อมล้ำไม่ให้คนจนต้องกลับมายากจนอีก

พิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในขณะที่ พิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า สำหรับมณฑลยูนนานในเขตกว่างซีจ้วงนั้น สภาพหมู่บ้านยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าว เริ่มจากการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ทำให้มณฑลยูนนานมีความเจริญเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มหาศาลาประชาชน

สำหรับมณฑลคุนหมิงและมณฑลกว่างซีจ้วง เป็นมณฑลที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นเรื่องโลจิสติกส์โดยเฉพาะ

สำหรับ คุนหมิงจะมีเส้นทางเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเส้นทางบกเชื่อมไปถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและเชื่อมไปถึงจังหวัดหนองคายด้วย นับว่าเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ แม้ว่าขณะนี้เส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้มาถึงกรุงเทพฯ แต่มีแนวโน้มที่คนจีนจะเดินทางจากคุนหมิง ผ่านลาวและเข้าไทยซึ่งจะส่งผลดีกับคนในพื้นที่ภาคอีสานของไทยที่จะมีโอกาสรองรับคนจีนจากเมืองคุนหมิง ที่มีรายได้สูงพอสมควรเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นกลุ่มชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูงพอประมาณ

“นอกจากนี้เส้นทางจากคุนหมิงจะเชื่อมต่อไปยังฉงชิ่ง ไปซีอาน และข้ามไปยังยุโรป อีกด้วย ให้การส่งสินค้าไทยไปต่างประเทศในอนาคตได้ง่ายและมากขึ้น ถ้าหากไทยสามารถเชื่อมต่อเส้นทางจากจีนถึงแหลมฉบังได้ จะทำให้การส่งสินค้า จากไทยไปต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ การค้าสำคัญทางบกระหว่างไทยกับจีน ในกรณีที่เส้นทางเรือของจีนถูกปิดลงจากสาเหตุประการใดก็ตาม

สำหรับกว่างซีจ้วง อ่าวเป่ยปู้ เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีน เพราะมีท่าเรือ 3-4 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดรับสินค้าจากเวียดนามและไทย และสามารถขนถ่ายสินค้าไปทางบกได้ด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางขนส่งผลไม้จากเวียดนามเข้าไปยังจีน และรัฐบาลจีนให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนเวียดนามในการส่งออกโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งช่วยให้เวียดนามสามารถส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดของจีนได้มาก โดยเฉพาะทุเรียนจากไทย ในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางนี้ไปถึงจังหวัดหนองคายด้วย

เซี่ยงไฮ้ หรือ ช่างไห่ เป็นหนึ่งในสี่เทศบาลนครของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของปากแม่น้ำแยงซี และมีแม่น้ำหวางผู่ไหลผ่านกลางเมือง มีประชากรในปี ค.ศ. 2019 จำนวน 24.28 ล้านคน ทำให้เป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศจีน และเป็นนครที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

เป้าหมายและวิธีการแก้ปัญหาความยากจนของจีน

ในอดีตการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน เริ่มต้นตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเมื่อสถาปนาระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ขึ้นแล้ว นโยบายแก้ปัญหาความยากจนก็ยังคงถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเรื่อยมา นับตั้งแต่สมัยของเหมาเจ๋อตุง แต่ในระยะเริ่มต้นจีนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้

จนกระทั่งถึงยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ที่มีการใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดหรือเศรษฐกิจทุนนิยม หรือการใช้กลไกราคาตลาดเข้ามากระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน แทนที่การลงทุนของภาครัฐแบบเดิม จีนได้เปิดประเทศให้มีการลงทุนจากภายนอกประเทศโดยรัฐบาลขณะนั้นมีความคาดหวังว่าจะให้มีคนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยขึ้นก่อน แล้วให้คนกลุ่มนั้นมาช่วยเหลือคนที่ยากจน ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของระบบทุนนิยมที่เรียกกันว่า “trikle down effect”

จีนอนุญาตให้มีความร่ำรวยเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มที่ฝั่งตะวันออกของประเทศก่อน และให้มณฑลอื่น ๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปค่อยดำเนินการในภายหลัง หลังจากที่ฝั่งตะวันออกมีความเจริญแล้ว

แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่งปรากฏว่าความคาดหวังตั้งแต่ต้นนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิดไว้ คือไม่เป็นไปตามทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่เชื่อว่า เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมไประยะหนึ่ง ความร่ำรวย หรือความมั่นคั่ง จะค่อย ๆ ไหลไปสู่คนจนเอง เพราะปรากฏว่ามณฑลที่รวย ก็รวยมาก ไม่ว่าจะเป็นเซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง แต่มณฑลเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นซีอาน คุนหมิงกลับไม่ได้มีความมั่งคั่งขึ้นแต่อย่างใด

“ความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเริ่มต้นจากประธานาธิบดี หูจิ่นเทา โดยรัฐบาลได้ลงไปแก้ไขให้ชนชั้นล่างได้รับโอกาสและมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญด้านนโยบายแก้ปัญหาความยากจนเกิดขึ้นในสมัย ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง โดยได้มีการพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยเฉพาะกับกลุ่มข้าราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ร่ำรวยกันมากเป็นพิเศษ

ประธานนาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศใช้มาตรการจัดการกับผู้บริหารระดับสูงจนถึงผู้บริหารระดับล่างที่คอร์รัปชันอย่างไม่ไว้หน้า ที่เรียกกันว่า “ตีทั้งเสือและแมลงวัน” คือจัดการกับคนทุจริตโดยไม่มีการยกเว้นไม่ว่าจะมีอำนาจมากหรือน้อย

นโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของจีนที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง

ผู้คนเดินข้ามถนนในเซินเจิ้นตอนค่ำ

รัฐบาลจีนได้มีการทำสถิติไว้คร่าว ๆ ว่า มีผู้กระทำความผิดจากการคอร์รัปชันประมาณหนึ่งล้านคน (ตัวเลขที่ไม่เป็นทางการอาจสูงถึง 3-4 ล้านคน) ซึ่งในที่นี้รวมถึงนักธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย การเริ่มต้นปราบปรามการคอร์รัปชันเป็นการเริ่มต้นที่ถูกจุด เพราะว่างบประมาณหรือการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่สามารถที่จะทะลุทะลวงไปถึงระดับล่างได้ เพราะเงินส่วนเกินของงบประมาณจะไปตกอยู่กับผู้ที่มีอำนาจในระบบราชการเท่านั้น

ในปี 2017 อันเป็นปีที่สองของการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้มีการประกาศให้ความยากจนต้องหมดไปจากประเทศจีนในปี 2021 ให้ได้ ทำให้สหรัฐวิตกกังวลกับโมเดลการปกครองของจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองที่สามารถกวาดล้างและขจัดการทุจริตออกไปได้ รวมทั้งยังแก้ปัญหาความยากจนได้จริง

สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องมาดำเนินการร่วมมือกัน โดยผ่านกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยพรรคฯ มอบหมายให้รองประธานาธิบดีเป็นประธาน และรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยากจนเข้าร่วมกันเป็นคณะกรรมการ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะมีการออกนโยบายต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ โดยให้แต่ละมณฑลนำรูปแบบการบริหารจัดการแบบเดียวกันนี้ลงไปดำเนินการอย่างเป็นระบบ หากมณฑลใดมิได้มีการดำเนินการนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจังจะมีบทลงโทษกำหนดไว้ค่อนข้างรุนแรง

โดยการแก้ไขความยากจนรัฐบาลจีนใช้เงินในจำนวนที่สูงคือคิดเป็นร้อยละ 66 ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 34 เป็นงบประมาณของท้องถิ่นที่ดำเนินการด้วยตนเอง

การที่รัฐบาลไม่ได้ให้เงินไปทั้งหมด ก็เนื่องจากรัฐบาลกลางให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินของตัวเองได้ รัฐบาลไฟเขียวให้ท้องถิ่นสามารถทำการกู้เงินเพิ่มเติมได้ด้วย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้ระดมภาคเอกชนจำนวน 10,000 บริษัท ช่วยเหลือ 10,000 หมู่บ้าน ทำให้หลายมณฑลมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสูงเป็นอันดับ 1 เช่น มณฑลเจ้อเจียง หรือมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งถือว่า เป็นมณฑลที่มีคนรวยมาก มณฑลกวางตุ้งต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับอีกเมืองหนึ่ง คือไปช่วยงานในมณฑลยูนนานในการวางแผนแก้ปัญหาความยากจน และข้าราชการที่ลงพื้นที่จะได้รับความดีความชอบเป็นพิเศษ

เดือนกรกฎาคมปี 2021 รัฐบาลจีนประกาศว่าคนจนในระดับรายได้ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อคนหมดไปแล้วจากประเทศจีน แตจีนโชคร้ายต้องเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ก่อนที่จะประกาศชัยชนะจากการพ้นความยากจน สถานการณ์ดังกล่าวไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด

นอกจากนี้ สถานการณ์วิกฤติด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ได้ ได้ส่งผลกระทบต่อคนจีนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจของจีนมีความเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ วิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ สำหรับการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 น่าจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ในราวร้อยละ 5 ต่อปี

แนวทางและปัจจัย ความสำเร็จ

ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนจำเป็นต้องมีหลักการและแนวคิดของตนเอง โดยจะต้องมีแกนกลาง และจะต้องมีหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีกลไกในการเข้าไปดูแล มีการกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งจีนต้องใช้ระยะเวลา 2 ปีในการเก็บรวบรวมข้อมูล นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องส่งข้าราชการลงไปในพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา กล่าวได้ว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องการคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก โดยมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูงผู้หนึ่งถูกจับตัวไป แล้วรัฐบาลได้นำพยานหลักฐานให้ดู จนบุคคลผู้นั้นต้องยอมจำนนต่อหลักฐาน

จากนั้นจึงนำตัวบุคคลผู้นั้นมาสารภาพต่อสาธารณชน ซึ่งในการดำเนินการปราบปรามคอร์รัปชันนั้น รัฐบาลได้มีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าข้อมูลด้านการเงิน การใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน เป็นต้น โดยรัฐบาลได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้นรัฐบาลรับทราบหมด เพราะระบบเศรษฐกิจของจีนไม่นิยมใช้เงินสด หากแต่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จึงช่วยให้การติดตามข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปได้ง่าย

จากการดำเนินการของรัฐบาลจีนทำให้ข้าราชการทุกระดับเกิดความหวาดกลัว เพราะแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกพรรคระดับสูง ถึงขั้นสมาชิกของคณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกหนึ่งในเจ็ดของบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศจีน รวมทั้งนักธุรกิจใหญ่ของประเทศยังสามารถถูกจับในข้อหาคอร์รัปชันได้ เสียแล้ว จึงไม่มีใครที่คอร์รัปชันแล้วจะรอดพ้นจากสายตาของรัฐบาลได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์