“จนไม่มีจะกิน” วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ความหวังว่าหลังวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่กลับต้องเข้าสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง” จากภาวะสงคราม

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย สถานการณ์ที่ยืดเยื้อ ปั่นป่วนการส่งออกวัตถุดิบหลัก เช่น ข้าวสาลี ที่ใช้ทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหล็กชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ และการคว่ำบาตรรัสเซีย ผู้ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดส่งออกน้ำมัน 11% นำมาสู่วิกฤตราคาพลังงาน อย่างราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งส่งผลต่อค่าขนส่งทะลุ 34 บาท ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ส่วนใหญ่เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เมื่อช่วงต้นปียังมีราคาอยู่ 29 บาทต่อลิตร ปัจจุบันทะลุ 43 บาทไปแล้ว 

และทุกอย่างรอบ ๆ ตัว ทยอยปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะราคาแก๊สหุงต้ม ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของร้านอาหารรายย่อย ที่เพิ่มขึ้น 10-20% ขณะที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย เดือนกรกฎาคมนี้ จะพิจารณาปรับขึ้นอีก เหล่านี้ส่งผลให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันหลายชนิด กระทบค่าครองชีพของประชาชนเป็นลูกโซ่ รายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง และนำมาสู่ “วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจต้องเผชิญกับภาวะ “จนไม่มีจะกิน” 

เมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ช่วงต้นปีเดือนมกราคม 2565 แม้จะมีการปรับขึ้นราคามาแล้วจากปีก่อน แต่ผ่านไปครึ่งปี เดือนมิถุนายน 2565 พบว่าราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ 

เช่น พริกจินดาแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยแทบทุกชนิด เดือนมกราคม อยู่ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เดือนมิถุนายน เมื่อสำรวจราคาจากตลาดสี่มุมเมือง พบว่า พุ่งไปที่ 108 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ต่างจาก ผักกวางตุ้ง จากราคาเมื่อช่วงต้นปี 30 บาท ก็ขยับมาเป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม ผักกาดหอม 60 บาท ขึ้นมาเป็น 90 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน หมูเนื้อแดง 160 บาท เป็น 190 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมันปาล์ม 60 บาท เป็น 69 บาทต่อลิตร ไข่ไก่ ฟองละ 3 บาท ปรับราคาขึ้นมาเป็นฟองละ 5 บาท และ ข้าวหอมมะลิ 5 กิโลกรัมจาก 150 บาท ก็เตรียมขยับมาเป็นถุงละ 170 บาทในเดือนนี้ 

ดัชชีราคาอาหารทั่วโลก สูงสุดในรอบ 61 ปี

ปัจจัยจากสงคราม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่นับเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าขณะนี้ ดัชนีราคาอาหารสูงที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) เป็นต้นมา เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ยอมรับว่าโลกกำลังเผชิญหน้าวิกฤตความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา ขณะที่ไทยเองในการแถลงของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไปขณะนี้สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ขณะนี้ราคาอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตราคาอาหาร เพราะก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในห้วงวิกฤตนี้ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “กลุ่มคนจน” ผู้มีรายได้น้อย ที่จะเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงว่าจะเป็นอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี 

“เรื่องเร่งด่วนภายใน 1 ปีข้างหน้าที่เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา คือเรื่องของราคาอาหาร และปัจจัยการผลิตที่แพง ถัดมาคือเรื่องการรองรับกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ และระบบการเตือนภัยอาหารที่ไม่ปลอดภัย”

ความมั่นคงทางอาหาร
แฟ้มภาพ: วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

โจทย์ท้าทายแผนปฏิบัติการด้านอาหารของประเทศ

ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 –2570) ที่ตั้งเป้าให้ใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการด้านอาหารของประเทศ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. ด้านความมั่นคงอาหาร 
  2. ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 
  3. ด้านอาหารศึกษา 
  4. ด้านการบริหารจัดการ  

พร้อมกับกำหนดเป้าหมายของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ  ไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 

  1. จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง 
  2. ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง 
  3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น 
  4. มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น 
  5. จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง 
  6. มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินการ 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หลายหน่วยที่งานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ต้องทำงานร่วมกัน 

แต่คำถามก็คือเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง กลุ่มเปราะบาง คนจนเมือง ต้องรัดเข็มขัด จนอาจเข้าไม่ถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ บางครอบครัวต้องเขียมหรือประหยัด จนเด็ก ๆ อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะบรรลุเป้าหมายตามแผนข้อ (1) และ ข้อ (5) ได้อย่างไร 

ท่ามกลางเสียงบ่นรายวันของประชาชนที่ต้องแบกภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลมีมาตรการรับมือกับความปั่วป่วนของโลก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร และมีแนวทางที่เป็นความยั่งยืนระยะยาวอย่างไร โดยหนึ่งในข้อเสนอของ นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งตั้งคำถามว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ช่วยกลุ่มเปราะบางและคนจนอย่างไร ขณะที่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเติมน้ำมันเบนซิน มาตรการการช่วยเหลือมาตรการการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม อาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตรงจุดมากกว่า


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS