ไชยันต์ ไชยพร : พระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ

“ขอให้มองว่าเป็น ข้อเรียกร้องในการแก้กฎหมาย เป็น สิทธิเสรีภาพ ที่ประชาชนสามารถเสนอความเห็นนี้ได้ และอยู่ใน กระบวนการนิติบัญญัติ”

.
.

“เมื่อตัวแทนประชาชนเสียงข้างมากต้องการให้พระราชอำนาจมีแค่นี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เสียงของประชาชนมากพอที่จะไปเลือกพรรคการเมืองที่เสนอตัวว่าจะไปแก้กฎหมาย จึง ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ อะไร เพียงแต่ว่าถ้าต้องการจะให้ เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ไม่เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา อันนี้สิเป็นปัญหา”

The Active คุยกับ ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำความเข้าใจข้อเรียกร้องเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” และทางเลือกประเทศไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความเห็นต่างในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันฯ

ผมยังไม่เห็นกระแสสังคมที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย มันไม่ได้ปรากฏเสียงที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน แต่เห็นกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบนเวทีการชุมนุม ซึ่งอันนั้นที่จะทำให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นข้อเรียกร้องยังไม่เห็นกระแส ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นเป็นการเรียกร้องในการแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถเสนอความเห็นนี้ได้ และอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ

“ขอให้มองว่ามันเป็นข้อเรียกร้องในการแก้กฎหมาย และหลายข้อในนั้นก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการบางท่านเสนอมานานแล้ว ด้วยเหตุผลว่าน่าจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดจากข้อครหา และสามารถที่จะมีกระบวนการตั้งคำถามตรวจสอบในกรณีที่ยังมีข้อสงสัย ซึ่งถ้าฝ่ายที่คิดว่าแก้แล้วจะทำให้สถาบันฯ ไม่มีความมั่นคง ก็ต้องให้เหตุผลอธิบายกัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องใช้อารมณ์กัน”

ควรปรับแก้อย่างไร ที่จะเป็นประโยชน์กับสถาบันฯ

ถ้าย้อนไปปี 2554 ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า ควรจะยกเลิกมาตรา 112 เพราะมันมีลักษณะที่สร้างข่าวลือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และข่าวลือนั้นก็ไม่ได้พูดตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาที่ฝ่ายที่เขาคิดว่ามันมีประเด็นอยู่ เพราะเขากลัวว่าจะถูกมาตรา 112 ผมก็เลยคิดว่า ถ้าให้คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์โดยมีเหตุผลว่าเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร โดยไม่ต้องกลัวมาตรา 112 ก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะหมายถึงว่าเวลาคนที่ปกป้องสถาบันฯ ก็ทำได้ง่าย

“พูดไป มันก็พูดง่าย แต่ฝ่ายที่เขาจะตอบโต้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีปัญหา เขาก็ตอบไม่ได้ เหมือนกับคนจะชกกันแต่คนหนึ่งถูกมัดมือไว้ ถ้าเราจะทำให้ทุกอย่างมีน้ำหนักในการที่จะโต้เถียง ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูดตรงไปตรงมา”

แต่การจะแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 ก็น่าจะใช้วิธีการ ทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ไปแก้ในสภาแล้วประชาชนไม่รู้เรื่อง ถึงแม้จะมีการถ่ายทอดการอภิปราย แต่ก็ไม่คิดว่าประชาชนจะได้ฟัง แต่ถ้าเปิดประชาพิจารณ์และอาจมีคำถามว่าเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ควรจะมีแค่ไหน ประชาชนจะได้เข้าใจกระบวนการที่เขาจะใช้เสรีภาพว่าเขามีขอบเขตได้แค่ไหน ประชาชนจะได้เรียนรู้ด้วยว่า อันนี้เกินเลย อันนี้ไม่เกินเลย แล้วมันก็จะยกระดับในที่สุด

“ถ้าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่บอกไม่ต้องแก้ ก็ต้องไม่แก้ ถ้าเขาบอกว่าแก้หรือยกเลิก ก็เป็นไปตามนั้น ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ต้องทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเมื่อต้องไปดำเนินการต่อในสภา ก็จะไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งกับประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายตัวนี้”

แต่ การทำประชาพิจารณ์มันต้องใช้เวลา และต้องเข้าใจด้วยว่าในช่วงที่กำลังทำประชาพิจารณ์ ทุกคนจะมีเสรีภาพมากในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าควรจะเป็นอย่างไร แค่ไหน

พระราชอำนาจจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในช่วง 88 ปีที่ผ่านมา ก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้พระราชอำนาจ ทั้งที่ลดลงและขยายขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น หลังการรัฐประหาร 2490 รัฐธรรมนูญที่ออกมาก็ให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ส.ว. ก็แปลว่าพระราชอำนาจก็เพิ่มขึ้น หรือในกรณีที่บอกว่า ในการเสนอร่างกฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้ว พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการที่จะยับยั้งหรือไม่ลงพระปรมาภิไธยภายในกี่วัน นี่คือพระราชอำนาจที่ขยายขึ้น และหดลงบ้างในแต่ละช่วง เปลี่ยนแปลงไป แต่ถามว่าอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไหม ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

ปัญหาของกลุ่มเรียกร้อง คือต้องการเรียกร้องระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกนัยหนึ่ง คือ ระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy) คือ ระบอบที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัด ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือเข้าสู่ระบอบที่เรียกว่า พระราชอำนาจจำกัด ในเวลาเดียวกันด้วย

ถามว่าจำกัดโดยใคร ก็คือ จำกัดโดยรัฐธรรมนูญ แล้วใครเป็นคนกำหนดรัฐธรรมนูญ ก็มีประเด็นว่าถ้าเป็นคณะรัฐประหารเป็นคนกำหนด ก็แปลว่าพระราชอำนาจจำกัดโดยคณะรัฐประหาร หรือจำกัดโดยคณะราษฎร ที่มีอิทธิพลในการร่างรัฐธรรมนูญออกมาใช้

เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปมาหลายฉบับ พระราชอำนาจบางทีก็เคลื่อนไปมา ดังนั้น ข้อถกเถียงจึงขึ้นอยู่กับว่า พระราชอำนาจควรมีมากน้อยแค่ไหนมากกว่า เช่น ประเด็นข้อถกเถียงที่เป็น 1 ใน 10 ของข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็มีพระราชบัญญัติออกมารองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่ประเด็นคือมันออกโดยสภา ไม่ได้มีความผิดพลาดทางกฎหมายอะไร หรือในเรื่องกองทหารที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นเสรีภาพของตัวแทนประชาชนในสภาเวลาออกกฎหมาย ที่เขาสามารถจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยไปแล้ว แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ออกมา ข้อถกเถียงก็จะกลับมาที่ว่า จะต้องมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือแก้เกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจในเรื่องศาสนา ก็คือเป็นเรื่องที่ต้องการให้มีพระราชอำนาจมากน้อยแค่ไหน

“ไม่เป็นเรื่องที่ต้องตกใจ เมื่อตัวแทนประชาชนเสียงข้างมากต้องการให้พระราชอำนาจมีแค่นี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เสียงของประชาชนมากพอที่จะไปเลือกพรรคการเมืองที่เสนอตัวว่าจะไปแก้กฎหมาย จึง ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ อะไร เพียงแต่ว่าถ้าต้องการจะให้ เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ไม่เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา อันนี้สิเป็นปัญหา

[สัมภาษณ์วันที่ 12 ส.ค. 2563]

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active