สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : ชนะด้วย “สันติประชาธรรม”

ตลอดชีวิต ต้องผ่านหลายเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบ้านเมือง เมื่อมองเห็นการลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในยุคนี้อีกครั้ง

นอกจาก “คำชื่นชมด้วยความเคารพ” ต่อความกล้าหาญแล้วนั้น การดำรงความเคลื่อนไหวภายใต้ “สันติประชาธรรม” คืออีกข้อความที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโสกล่าวย้ำ เพราะ “การต่อสู้ไม่ชนะได้เร็ว แต่ชัยชนะจะเป็นของเราแน่นอน”

The Active ชวนอ่านความคิดและมุมมองต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ในวันที่ประเทศไทยกำลังกับเผชิญบททดสอบทางการเมืองอีกครั้ง

สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในวัย 88 ปี

นิสิต นักศึกษา มีพลัง มีความกล้า มาทุกยุคสมัย


เป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะว่าระบบการศึกษาของเรา แม้ในขั้นอุดมศึกษาก็ไม่ได้อุดหนุนให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวของตัวเอง ระบบการศึกษาสอนให้เดินตามผู้ใหญ่อย่างเดียว และสอนให้เข้ากับทุนนิยม บริโภคนิยม และสอนให้กลัวเกรงเผด็จการ ผมว่าเด็กรุ่นนี้เขามีความกล้าหาญ กล้าท้าทาย ผมว่าต้องชื่นชม

แทบทุกยุคสมัย เยาวชนออกมาเคลื่อนไหว บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป พลังของเยาวชนสำคัญมาก เมื่อโค่นจอมพล ป. (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) นิสิตนักศึกษาเดินขบวน ตอนโค่นถนอม (จอมพล ถนอม กิตติขจร) เกิด 14 ตุลาคม ก็เป็นเยาวชนทั้งนั้น

ตอนนี้ก็น่าดีใจ เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวอีกแล้ว เพราะหลังจาก 6 ตุลาคม ก็ถูกล้างสมองว่าเด็กต้องเรียนอย่างเดียว อย่าไปสนใจการบ้านการเมือง แต่ถ้าไม่สนการบ้านการเมือง มนุษย์ก็ไม่เป็นมนุษย์


ผมดีใจ เด็กรุ่นใหม่ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัย มัธยมก็มี และไม่เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดต่าง ๆ ก็มี น่าชื่นชม คนแก่อย่างผมเห็นมาหลายยุคสมัยแล้ว ก็มีความหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะนำแสงสว่างมาให้พวกเรา เพราะฉะนั้นพวกเราคนแก่ ควรจะอุดหนุนคนรุ่นใหม่ ไม่ห้ามปราม


ให้ใช้ “สันติประชาธรรม” ในการต่อสู้

“ถ้าจะเตือนก็มีเรื่องเดียว คือ ให้เขาใช้วิธีที่อาจารย์ป๋วยเรียกว่า ‘สันติประชาธรรม’ อย่าใช้ความรุนแรง หยาบช้า ให้สุภาพ เรียบร้อย แต่ต้องเข้มแข็งและอดทน ต้องมีสามัคคีธรรม อยากจะเตือนด้วยว่า ถ้ารวมตัวอย่างนี้ ถ้าเกิด ‘ยั๊วะ’ ขึ้นมา ให้ ‘หยุดพักหายใจลึก ๆ’ อย่าไปเกลียดเขา แต่ให้สงสาร”


อย่าไปกังวลความรุนแรง เยาวชนเหล่านี้บางทีเขาฉลาดกว่าเรา และผมดีใจที่มีผู้หญิงออกมาไม่แพ้ผู้ชาย มีนักเรียนออกมาไม่แพ้นิสิตนักศึกษา มันข้ามเพศ ข้ามวัย ดังนั้น พวกเราที่เป็นคนแก่แล้ว ถ้าไปร่วมกับเขาไม่ได้ อย่างน้อยก็สนับสนุนให้กำลังใจเขา เพราะอนาคตมันอยู่ที่เยาวชนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม นั่นคือคำตอบที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง

“อยากเตือนผู้ใหญ่ให้มองคนรุ่นใหม่ด้วยหัวใจอันกว้างไกล รู้จักเคารพคนรุ่นใหม่ อย่าเคารพแต่รุ่นเดียวกัน อย่าเคารพเฉพาะคนมีอำนาจ แต่ให้เคารพคนที่ถือธรรมเป็นหลัก เด็กรุ่นใหม่เขาถือธรรมเป็นหลัก ผมชื่นชม อยากให้กำลังใจ แต่ก็เตือนด้วยว่า ให้ใช้ขันติธรรม ให้ใช้สันติประชาธรรม การต่อสู้ไม่ชนะได้เร็ว แต่ชัยชนะจะเป็นของเราแน่นอน”


พวกเขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเขาเอง แต่เรียกร้องเพื่อความถูกต้องดีงาม ต้องชมเขาเพราะเด็กพวกนี้อยู่ในสถาบันการศึกษาที่สอนให้เขากลัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เด็กพวกนี้กล้าท้าทาย จึงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากนิยมชมชอบเขา และเตือนเขาด้วยความหวังดีว่าอย่าพลาดพลั้งไป ภาษาที่ใช้ให้ระวัง ใช้ความอดทน อดกลั้น และรวมตัวกันเป็นสามัคคีธรรม

“ถ้าจะฝากคำเตือนถึงผู้มีอำนาจ ไม่มีประโยชน์ ‘เขาไม่ฟังเลย’ ผมเขียน ผมพูด พิมพ์เป็นเล่ม แต่เขาไม่ฟังเลย เตือนด้วยความหวังดีก็ไม่ฟัง เยาวชนที่ออกมาก็ด้วยความหวังดี ถ้ายังไม่ฟังคำเตือนเหล่านี้ เขาจะเป็นภัยกับตัวเอง พวกเขาจะทำลายกันเอง ผมเตือนด้วยความหวังดี”

Author

Alternative Text

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว