เตือนนโยบายเกือบทุกพรรคเสี่ยงทำหนี้สาธารณะพุ่ง เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากทีดีอาร์ไอได้ออกบทความ 3 บทความเพื่อตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองในการจัดทำนโยบาย โดยข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็มีนโยบายจำนวนมากที่น่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกลับจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณเกินตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นักวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ประกาศนโยบายต่าง ๆ ออกมาในช่วงนั้นยังไม่ได้ระบุว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใดมาดำเนินนโยบาย เช่น จะมีการเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือจะตัดลดงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันในด้านใดลง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องนำเสนอข้อมูล 3 รายการแก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย ตลอดจนผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรได้ทราบเพื่อให้สามารถประเมินได้ว่า การจะได้สวัสดิการหรือประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองจะต้องแลกมาด้วยต้นทุนเท่าไร และจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างไร
ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหลายได้นำเสนอข้อมูลทั้ง 3 รายการต่อ กกต. แล้ว โดย กกต. นำมาเปิดเผยในเว็บไซต์ TDRI จึงได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ส่วนข้อสังเกตต่อเนื้อหาของนโยบายต่าง ๆ นั้นอยู่ในบทความที่เคยนำเสนอก่อนหน้าแล้ว
- ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566
- ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านสังคมในการเลือกตั้งทั่วไป 2566
- ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านเศรษฐกิจในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566
เนื่องจากพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนมาก เราจึงเลือกศึกษาเฉพาะเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม)
หากพิจารณาตามข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอ จะพบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท เรียงตามลำดับคือ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท) พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท) พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) ตามตารางที่ 1
นโยบายของเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังไม่ผ่อนคลายและอาจเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แม้เงินเฟ้อด้านอุปทาน (supply-side inflation) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการที่พลังงานมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ถูกบังคับให้ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบ
นักวิจัยมีข้อสังเกตโดยรวม 5 ประการ ต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง บางพรรคการเมืองได้หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการนโยบายที่รายงานต่อ กกต. ทั้งที่หลายนโยบายก่อให้เกิดภาระทางการเงินสูงมาก จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนไม่ครบถ้วนอย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สอง หลายพรรคการเมืองอ้างที่มาแหล่งของเงินว่ามาจากการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ โดยไม่ให้รายละเอียดว่าจะตัดลดส่วนใดและจะมีโอกาสได้เม็ดเงินจากการตัดลดมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่เสนอมากเพียงใด ทำให้ประชาชนไม่เห็นผลกระทบอย่างครบถ้วน กล่าวคือเห็นแต่สิ่งที่จะได้รับแต่ไม่เห็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เช่นเดียวกันกับที่บางพรรคการเมืองระบุว่าจะมีรายได้มาจากภาษีเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ระบุว่าจะมาจากภาษีใด จัดเก็บจากกลุ่มเป้าหมายใด และจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับรายได้ตามเป้าหมายเพียงใด
ประการที่สาม ทุกพรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินรายนโยบายโดยไม่ได้แสดงภาพรวม ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของความพอเพียงของแหล่งเงิน โดยบางพรรคอาจระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบายในลักษณะนับซ้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีเงินเพียงพอในการดำเนินนโยบาย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจาก กกต. กำหนดแบบฟอร์มให้พรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินตามแต่ละนโยบาย โดยไม่ได้กำหนดให้นำเสนอภาพรวมด้วย
ประการที่สี่ บางพรรคการเมืองระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินกองทุนต่าง ๆ หรืองดการเก็บภาษี เสมือนว่าเงินนอกงบประมาณหรือการงดการเก็บภาษีนั้นไม่ได้สร้างภาระทางการคลัง เช่นเดียวกันกับการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังเมื่อหน่วยงานเหล่านี้ประสบปัญหา
ประการที่ห้า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ระบุประโยชน์ของนโยบาย แต่ในส่วนของผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายกลับระบุไว้ค่อนข้างน้อยหรือไม่ระบุเลย เช่น หลายพรรคระบุว่านโยบายของตนไม่มีความเสี่ยงเลย ทั้งที่ต้องใช้เงินมาก ต้องแก้ไขกฎหมายและมีรายละเอียดในทางปฏิบัติมาก และหลายพรรคก็ไม่ระบุกลุ่มผู้รับประโยชน์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ แทบไม่มีพรรคใดวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายที่เสนอว่าดีกว่านโยบายทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร
ข้อสังเกตต่อเอกสารของแต่ละพรรคการเมือง
2.1 พรรคภูมิใจไทย – รายงานนโยบายไม่ครบ
พรรคภูมิใจไทยระบุว่าจะต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในบรรดา 6 พรรคใหญ่ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งบางส่วนน่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ในระดับที่สูงถึงปีละ 7 แสนล้านบาทจากนโยบาย “เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท” แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งทางปฏิบัติน่าจะต้องใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายที่แจ้งต่อ กกต. ยังไม่ใช่นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงทั้งหมด เนื่องจากยังมีนโยบายสำคัญอื่นๆ อีกมาก เช่น นโยบาย “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” ซึ่งโฆษณาในเว็บไซต์ของพรรค แต่ไม่ได้รายงานต่อ กกต. การประมาณการเบื้องต้นชี้ว่านโยบายนี้อาจต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 9 แสนล้านบาทตลอด 3 ปี และยังมีอีกหลายนโยบายที่ไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เช่น นโยบาย “เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน” นโยบาย “ฉายรังสีรักษามะเร็งฟรี ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ” นโยบาย “รถเมล์ไฟฟ้า ลด PM 2.5 ค่าบริการ 10-40 บาท” และนโยบาย “ฟรีโซล่าเซลล์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเดือนละ 100”
2.2 พรรคเพื่อไทย – มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง
พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบาย 70 นโยบาย โดยระบุว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีก 1.8 ล้านล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่
(1) รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท
(2) การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท
(3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และ
(4) การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท
การใช้แหล่งเงิน (1) (3) และ (4) จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องปรับลดงบลงทุน หรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ เช่น ไม่ได้ระบุว่าสวัสดิการใดที่จะถูกปรับลดเนื่องจากซ้ำซ้อนกับการแจกเงินดิจิทัล ส่วนรายได้ภาษีจาก (2) น่าจะมีความเสี่ยงสูงมากเพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปขนาดของ “ตัวคูณทางเศรษฐกิจ” (multiplier) ได้เพราะขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยน่าจะใช้ค่าตัวคูณทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งมีโอกาสที่จะสูงกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้ระบุถึงความเสี่ยงในการเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายส่วนใหญ่ (44 จาก 70 นโยบาย) ที่อ้างว่าแหล่งที่มาของเงินมาจาก “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” เช่น การยกระดับสวัสดิการของประเทศทั้งระบบ การลดช่องว่างทางรายได้โดยจะทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน และการปรับลดราคาพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ) เป็นต้น ซึ่งหลายนโยบายไม่น่าจะสามารถทำได้ด้วย “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” โดยไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติมจำนวนมาก
2.3 พรรคก้าวไกล – จัดทำเอกสารดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน
พรรคก้าวไกลมีนโยบายต่าง ๆ ซึ่งระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาท โดยนโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุดคือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาทจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน ส่วนนโยบายที่ใช้เงินรองลงมาคือนโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะใช้งบ 2 แสนล้านบาท โดยระบุว่าจะมาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด
ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่ม พรรคก้าวไกลระบุว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6.5 แสนล้านบาทต่อปี และจะปฏิรูปกองทัพซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น
โดยรวมแล้ว พรรคก้าวไกลจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างละเอียด โดยแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น เช่น ระบุว่าส่วนไหนจะใช้งบของหน่วยงาน งบกลางหรือต้องหาเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขงบประมาณที่พรรคก้าวไกลนำเสนอเกือบทั้งหมดยังเป็นตัวเลขของปีงบประมาณ 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายและแสดงภาระการคลังสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น
จึงเป็นการประมาณการที่ค่อนข้างรัดกุม ที่สำคัญพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ทำให้สามารถอุดช่องโหว่ปัญหาวินัยการคลังในอดีตที่บางรัฐบาลเน้นการใช้เงินส่วนนี้ซึ่งรัฐสภาไม่สามารถกลั่นกรองได้เพราะไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนในเอกสารที่เสนอต่อ กกต. ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีอย่างไร และจะมีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะจัดเก็บเพิ่มได้ตามจำนวนที่ระบุ แม้ได้ระบุว่ามีความเสี่ยงที่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ได้ตามเป้าไว้บ้างก็ตาม นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ระบุความเสี่ยงจากการปฏิรูปต่าง ๆ ตามนโยบายพรรคที่อาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกองทัพและหน่วยราชการส่วนกลาง
2.4 พรรคพลังประชารัฐ – ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุน
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่จะใช้งบประมาณมากที่สุดคือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายของพรรคพลังประชารัฐน่าจะใช้เงินมากกว่าของพรรคก้าวไกลเมื่อเปรียบเทียบในปีเดียวกัน เนื่องจากให้สวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไปมากกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ
พรรคพลังประชารัฐระบุว่า ที่มาของเงินในการดำเนินนโยบายจะมาจากงบประมาณประจำปีปกติ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมทั้งรายได้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ไว้เลย ทำให้ไม่มีความชัดเจน
พรรคพลังประชารัฐยังมีนโยบาย “น้ำมันประชาชน” ซึ่งอ้างว่าจะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่จะใช้การลดราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลังของรัฐอย่างแน่นอนในรูปของการขาดดุลการคลังและการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เช่น การงดจัดเก็บภาษีน้ำมันจะทำให้รัฐเสียรายได้ปีละ 1.4 แสนล้านบาท ในขณะที่การงดเงินสมทบกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะมีผลต่อฐานะของกองทุนดังกล่าว และทำให้กองทุนเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ โดยในปัจจุบันกองทุนน้ำมันก็ติดลบอยู่แล้วกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทจากการที่รัฐบาลปัจจุบันแทรกแซงราคาน้ำมัน เช่นเดียวกันนโยบายยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ก็จะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ จึงควรต้องระบุที่มาของเงินที่จะมาทดแทนด้วย
2.5 พรรคประชาธิปัตย์ – ตั้งกองทุนไม่มีรายละเอียด
พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่านโยบาย 11 ชุดที่เสนอขึ้นจะใช้เงินทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาทต่อปี โดยจะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดคือนโยบาย “สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ” ซึ่งมีวงเงิน 3 แสนล้านบาท และนโยบาย “ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน” ซึ่งมีวงเงิน 1.6 แสนล้านบาท โดยทั้งสองนโยบายจะใช้เงินนอกงบประมาณ
นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายเพื่ออุดหนุนเกษตรกรอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบอุดหนุนเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยงบก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือการอุดหนุนชาวนาครัวเรือนละ 30,000 บาทที่ตั้งไว้ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะประมาณการต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนชาวนาทั้งหมดในปีที่มีการปลูกข้าวมาก เช่นเดียวกันกับการประกันรายได้ที่จ่ายส่วนต่างราคาให้พืชเกษตร 5 ชนิดสำหรับเกษตรกร 8.5 ล้านครัวเรือนที่ตั้งงบไว้ 7.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็อาจต่ำเกินไปในบางปีเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถคาดการณ์ราคาได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจลดพื้นที่การอุดหนุนหรือปรับราคาเป้าหมายของพืชต่าง ๆ ลงได้บ้าง
ในส่วนของแหล่งรายได้ พรรคระบุว่าจะมีรายได้จาก 3 แหล่งใหญ่คือ
(1) การปรับลดงบประมาณบางรายการ (เช่นงบกลาง) ลง 1 แสนล้านบาท
(2) การจัดเก็บภาษีใหม่จากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 3.2 หมื่นล้านบาท และ
(3) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 1 แสนล้านบาท โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าภาษีใหม่ที่กล่าวถึงคือภาษีอะไร และจะมีหลักประกันในการจัดเก็บอย่างไร เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ที่ว่ารัฐบาลปัจจุบันสามารถจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินได้น้อยมาก
นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้เงินนอกงบประมาณ 4.6 แสนล้านบาทนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า เงินดังกล่าวจะมีที่มาจากที่ใด นอกจากนโยบาย “สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ” ซึ่งระบุว่าจะใช้ “กองทุนภาครัฐ” เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ SME และสตาร์ทอัพ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในการบริหารจัดการ และยังระบุว่าไม่ความเสี่ยงทางนโยบายอีกด้วย ทั้งที่กองทุนดังกล่าวจะใช้เงินทุนตั้งต้นมหาศาลและมากกว่าหลายกองทุนที่เคยมีมาทั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 ซึ่งใช้เงิน 1 แสนล้านบาท กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาทและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
2.6 พรรครวมไทยสร้างชาติ – ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง
พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองที่ระบุวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายต่ำที่สุดใน 6 พรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคน่าจะระบุต้นทุนทางการเงินของนโยบายต่างๆ ต่ำเกินไปมาก เช่น ระบุว่านโยบาย “เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน” จะใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่หากจะให้ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) คนละ 1 พันบาทต่อเดือน จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ การระบุว่านโยบาย “เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงอายุ” (ยกเว้นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) จะใช้เงินปีละ 4 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะต่ำเกินไปเนื่องจากมีผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมาย 6.4 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรวมเกือบ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี เช่นเดียวกันการระบุว่านโยบาย “เพิ่มเงินสมทบของรัฐให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาทต่อเดือน” จะใช้งบประมาณเพียง 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีก็น่าจะต่ำเกินไปมาก เนื่องจากการเพิ่มเงินสมทบให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.3 ล้านคน ก็จะต้องใช้เงินอย่างน้อยปีละ 7.8 หมื่นล้านบาท
การประมาณการต้นทุนของนโยบายลดต้นทุนของเกษตรกร (ช่วยค่าเก็บเกี่ยวของเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาทโดยให้ความช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 5 ไร่) ซึ่งระบุว่าจะใช้เงินเพียง 6 พันล้านบาทต่อปี ก็น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เนื่องจากเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีก็มีถึง 4.18 ล้านครัวเรือนในปี 2564 ซึ่งหากให้ครัวเรือนละ 1 ไร่ ก็จะต้องใช้เงิน 8.3 พันล้านบาทแล้ว
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะต่อ กกต.
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายแก่ประชาชนโดยผ่านการดูแลของ กกต. จริงอยู่ที่ กกต. ไม่มีอำนาจและไม่สมควรเป็นผู้ตัดสินว่านโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองหาเสียงสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะควรเป็นดุลพินิจของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งการหักล้างของพรรคการเมืองที่แข่งขันกันด้วย
อย่างไรก็ตาม กกต. ก็ไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ของตนในการกำกับให้พรรคการเมืองให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน แต่หลังจากที่พรรคการเมืองได้ส่งข้อมูลให้แก่ กกต. เพื่อเปิดเผยต่อประชาชนเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ก็ไม่ปรากฏชัดว่า กกต. ได้มีการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลหรือไม่เพียงใด ซึ่งอย่างน้อย กกต. ควรตรวจสอบดูว่ามีพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏในเอกสารที่นำส่ง กกต. หรือไม่ ในกรณีนี้ กกต. อาจให้พรรคการเมืองที่รายงานไม่ครบถ้วนยืนยันว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายของพรรคหรือไม่ หากเป็นนโยบายของพรรค ก็ควรให้ยื่นข้อมูลที่ยังขาดอยู่มาเพิ่มเติมมาโดยเร็ว แต่หากไม่ใช่ ก็ควรตักเตือนไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายดังกล่าวในการหาเสียง
นอกจากนี้ กกต. ควรกำหนดแนวทางให้แก่พรรคการเมืองในการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนต่อประชาชน และให้ฝ่ายต่างๆ สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการให้รายละเอียดในการคิดต้นทุนของแต่ละนโยบาย เช่น ในกรณีให้สวัสดิการแก่ประชาชน นอกเหนือจากต้องระบุต้นทุนทางการเงินต่อหน่วยของผู้รับประโยชน์แล้ว ควรต้องระบุจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ด้วย เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมืองอื่นตลอดจนรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสามารถตรวจสอบได้ว่า การประมาณการต้นทุนดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่ กกต. ยังควรกำหนดให้พรรคการเมืองสรุปโดยภาพรวมด้วยว่า นโยบายทั้งหมดของพรรคจะต้องใช้เงินเพิ่มเติมเท่าใด และจะมีแหล่งเงินมาจากที่ใด โดยมีรายละเอียดที่เพียงพอของแหล่งที่มาของเงิน เช่น ระบุข้อสมมติต่างๆ ที่ใช้ในการประมาณการรายได้และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รายได้ตามวงเงินดังกล่าว รวมทั้งระบุรายได้ภาษีหรือรายได้อื่นของรัฐที่จะลดลงจากบางนโยบาย เพื่อให้เห็นผลกระทบทางการคลังอย่างครบถ้วน
ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง
เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงบ้างแล้วจากการที่ราคาพลังงานในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อหากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป
พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพ (potential GDP growth) มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควร “เก็บกระสุน” ไว้ใช้กระตุ้นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเช่นเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ พรรครัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ในระดับร้อยละ 61 ของ GDP ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำอีกต่อไปแล้ว และในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคมและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ ดังนั้นหากหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ดังที่หน่วยงานจัดอันดับเครดิต (credit rating agency) ต่างๆ เริ่มแสดงความวิตกกังวลกัน
นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรยกระดับมาตรฐานการจัดทำเอกสารระบุต้นทุนของนโยบายและที่มาของเงินให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง