คงเป็นภาพสะท้อนความจริงที่น่าเจ็บปวด สำหรับรูปแบบการจ้างงานที่เรียกว่า ‘กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม’ โดยมุมมองของ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยให้คำจำกัดความสภาพปัญหาการทำงานของแรงงานกลุ่มนี้เอาไว้
จากอาชีพรูปแบบใหม่ ที่ก้าวเข้ามาเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 เป็นรูปแบบการทำงานที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด สวนทางกับหลาย ๆ อาชีพที่ถูกต้องสิ้นสุดลงหลังจากโดนโควิดเล่นงาน
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคใช้บริการสั่งอาหาร มากกว่า 120 ล้านครั้ง ในปี 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2562 หรือในช่วงก่อนการระบาดโควิด ที่มีอยู่เพียง 35 – 45 ล้านครั้งเท่านั้น ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เติบโตขึ้นถึง 46.4% ในปี 2564
แต่การได้รับความนิยมของอาชีพใหม่อย่างฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือที่เรียกว่า ‘ไรเดอร์’ นานวันยิ่งถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิ สวัสดิการของแรงงานประเภทนี้
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 เกิดกระแสการต่อต้านการลดค่ารอบที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแพลตฟอร์ม LINEMAN สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายแรงงานยังต้องเสี่ยงภัยบนท้องถนน ผจญกับแรงกดดันจากทางบริษัทและลูกค้า โดยปราศจากเกราะคุ้มครองทางสิทธิและสวัสดิการ
แม้แต่จะรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพียงเพราะพวกเขาไม่ถูกนับเป็น ‘ลูกจ้าง’ โดยบริษัทอ้างว่าไรเดอร์ถือเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ จึงไม่เข้าข่ายการดูแลตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ มีลักษณะงานไม่ต่างจาก ‘ลูกจ้าง’ ไม่ใช่ ‘พาร์ทเนอร์ธุรกิจ’ อย่างที่ผู้ประกอบการอ้าง เพื่อเลี่ยงการจัดหาสวัสดิการให้ โดยให้เหตุผลประกอบว่า ความสัมพันธ์ของแพลตฟอร์ม และไรเดอร์ เป็นลักษณะของผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา
ดังนั้น แรงงานแพลตฟอร์มจึงไม่ใช่แรงงานอิสระ แต่เป็น ‘ลูกจ้าง’ และการหลีกเลี่ยงการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้ กสม. เร่งทวงถามให้แพลตฟอร์ม ‘คืนสิทธิ’ และสวัสดิการที่ไรเดอร์ควรโดยเร็ว และฝากการบ้านไปยัง กระทรวงแรงงาน ให้ศึกษาและปรับแก้กฎกระทรวงเพื่อขยายอำนาจการคุ้มครองไปถึงกลุ่มแรงงานประเภทอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น
ทว่า คำวินิจฉัยของ กสม. ยังไม่ถูกใจไรเดอร์เท่าไรนัก เพราะหลายคนกังวลว่า “การนำพวกเขาเข้าสู่ระบบลูกจ้าง จะทำลายความเป็นอิสระของอาชีพ” จึงมีกระแสออกมาคัดค้านถึงการปรับแก้สถานะ แรงงานอิสระ ในกลุ่มสหภาพแรงงานแพลตฟอร์ม บนโซเชียลมีเดีย
“ค่าครองชีพแสนแพง ค่าแรงแสนถูก” แต่ทำไมแรงงานส่วนใหญ่ถึงยังจำยอมทนทำงานทั้งที่เงื่อนไขไม่คุ้มแรงงานแบบนี้ ขณะที่บางส่วนยังปฏิเสธการเข้า ระบบสวัสดิการแรงงาน เพื่อยอมรักษาความเป็นอิสระเอาไว้
แต่นั่นเป็น ‘อิสระ’ แบบไหน ? ที่ต้องแลกกับการโหมแรงทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้ค่าแรงที่พอต่อค่าครองชีพ ? ‘อิสระ’ แบบไหน ? ที่ต้องปฏิบัติตามกฎของบริษัทอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ถูกปิดระบบรับงาน ?
จะดีกว่าไหม ? ถ้างานนั้น อำนวยให้พวกเขาได้ทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระจริง ๆ
The Active ชวนทำความเข้าใจถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของแรงงานแพลตฟอร์ม และค้นหาคำตอบว่า การมีกฎหมายเพื่อรับรอง และคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ จะช่วยให้พวกเขาออกจากกับดักอาชีพอิสระได้จริงหรือไม่ ?
เพราะรัฐไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า “ชีวิตดีกว่านี้ได้ เมื่อเข้าสู่ระบบแรงงาน”
‘สหภาพไรเดอร์’ ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยการรวมกลุ่มของแรงงานแพลตฟอร์มที่ไม่พอใจในกรณีการกดขี่ค่าแรง หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ ของบริษัทต้นสังกัด พวกเขาย้ำว่า ‘สิทธิและสวัสดิการแรงงาน’ ไม่ใช่เรื่องที่ต้อง ‘ร้องขอ’ แต่เป็นสิ่งที่ต้อง ‘ทวงคืน’ จากผลประโยชน์ที่พวกเขาสมควรได้รับตั้งแต่ต้น
แต่ด้วยการเลี่ยงบาลีของต้นสังกัด ทำให้ไรเดอร์ไม่ถูกมองในฐานะลูกจ้าง แต่เป็นพาร์ทเนอร์หุ้นส่วนแทน ซึ่งไรเดอร์ก็ไม่เคยได้ประโยชน์ใด ๆ จากการที่กำไรบริษัทเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งยังถูกออกกฎระเบียบเคร่งครัดจำนวนมาก ไม่ต่างจากลักษณะความสัมพันธ์แบบ ผู้บังคับบัญชา และ ผู้ใต้บังคับบัญชา
อนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ สะท้อนว่า หลังจาก กสม. วินิจฉัยว่าแรงงานแพลตฟอร์มมีลักษณะไม่ต่างจากลูกจ้าง ทำให้ความเห็นของไรเดอร์แตกเป็น 2 ฝั่ง หลัก ๆ คือฝ่ายที่หนุนให้เกิดการปรับแก้กฎหมาย ให้รับรองไรเดอร์เป็นแรงงานในระบบ กับ อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการวินิจฉัยดังกล่าว เพราะกังวลว่า ตัวเองจะต้องเข้าทำงานเหมือนพนักงานประจำ ที่ต้องเข้าออกตามเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน และอาจถูกกำหนดฐานค่าจ้างต่อวัน ทำให้ไม่สามารถเร่งทำยอดได้เมื่อต้องการ
“มันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ที่เข้าใจว่าหากเข้าระบบแรงงานแล้วเราต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะกฎหมายเขียนเป็นกรอบอย่างกว้าง ๆ แต่ไรเดอร์เป็นรับจ้างรายชิ้น หากบริษัทเปลี่ยนเงื่อนไขให้ต้องทำงาน 8 ชั่วโมงจริง ไรเดอร์ก็ต้องไม่ยอมอยู่แล้ว และบริษัทก็จะเสียกำไรด้วย เพราะคนต้องการรับ-ส่งอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งสำคัญคือ การเข้าสู่ระบบแรงงาน จะทำให้ไรเดอร์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เอื้อให้เกิดการออกแบบกฎหมายคุ้มครองที่ตรงเงื่อนไขแรงงานมากขึ้น”
อนุกูล ราชกุณา
รูปแบบการจ้างงานนั้นมีหลากหลายประเภท ทั้งจ้างรายชิ้น รายวัน หรือรายชั่วโมง การเข้าสู่ระบบไม่ได้แปลว่าต้องทำงานเหมือนพนักงานประจำโดยเสมอไป การจ้างงานสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับประเภทของงาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั้งนายจ้าง และตัวลูกจ้างเอง
แต่บทสนทนาที่จะนำไปสู่การออกแบบข้อตกลงเหล่านี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากเรายังไม่มอง แรงงานแพลตฟอร์ม เป็น แรงงาน ที่ต้องมีสิทธิ และสวัสดิการทำงานเพื่อชีวิตที่ดีกว่านี้
ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ เข้าใจว่า ที่พี่น้องไรเดอร์บางส่วนยังกังวล นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า ‘ชีวิตดีกว่านี้ได้เมื่อเข้าสู่ระบบแรงงาน’ พร้อมระบุว่า ไรเดอร์บางคนก็เคยถูกกดขี่ในฐานะลูกจ้างมาก่อน โดยหลักประกันของรัฐ ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้มีประสิทธิภาพมากพอ จึงหนีออกมาทำงานไรเดอร์ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘อาชีพอิสระ’ แม้ไม่มีการคุ้มครองแต่สามารถทำเงินได้ดี กล่าวคือ แรงงานไม่น้อยยอมเสี่ยงทำงานหาเงินให้ได้มาก ๆ ดีกว่าหวังสวัสดิการที่ไม่ได้แข็งแรงนัก
แต่เพราะไรเดอร์ ถูกจัดเป็นหนึ่งในอาชีพที่อันตรายมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เพราะเป็นแรงงานกลางแจ้ง (Outdoor Worker) ในช่วงวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ต้องเสี่ยงมลภาวะ ฝุ่นควัน อันตรายจากอุบัติเหตุ และแรงกดดันทางจิตใจ แต่ยังมาถูกปรับลดค่ารอบอีก
นี่จึงไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ สำหรับ อนุกูล และเชื่อว่าน่าจะเป็นประเด็นคาใจและเป็นข้อกังวลของกลุ่มไรเดอร์ส่วนใหญ่ พวกเขาจึงอยากให้รัฐ และเอกชน ลงมาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เมื่อพบว่า สภาฯ ตีตกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ที่ครอบคลุมสิทธิประกันสังคม ม.33 ให้แรงงานแพลตฟอร์ม
“ไรเดอร์กำลังถูกปฏิเสธการมีชีวิตที่ดี ถูกปฏิเสธสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง รัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญแล้วปัดตกกฎหมายตัวนี้ไป ไรเดอร์นับแสนกำลังดิ้นรนทำงานอยู่บนท้องถนน แบกรับความเสี่ยงต่าง ๆ นานาต้องถูกปฏิเสธสิ่งที่เขาควรได้ แต่กลับไปเกรงใจคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม… เวลาขึ้นราคาของไม่เห็นต้องถามใครเลย แต่พอเป็นเรื่องค่าแรงกลับเป็นเรื่องยุ่งยากมาก”
อนุกูล ราชกุณา
แรงงาน (ไม่อาจ) ทิ้งแพลตฟอร์ม
มีแต่แพลตฟอร์มจะทิ้งแรงงาน
กระแสไรเดอร์แห่ทิ้งเครื่องแบบ ทิ้งกล่องส่งของ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน บางคนถึงขั้นถ่ายวิดีโอ ขณะกำลังเผาทิ้ง จนเกิด #แรงงานทิ้งแพลตฟอร์ม เพื่อคัดค้านการกดค่ารอบของแพลตฟอร์ม (ค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง ถูกปรับลดเหลือรอบละ 30-43 บาท จากปี 2564 ที่ได้ค่ารอบถึง 62 บาท)
แต่ถามว่าไรเดอร์ว่าจะทิ้งงานจริงหรือไม่ ? ในฐานะของ ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ ก็ออกตัวว่า มีเพียงส่วนน้อยที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว ถึงมีคนออกไปเยอะแค่ไหน แพลตฟอร์มก็รับคนเข้ามาทดแทนใหม่ได้เสมอ
มีข้อสังเกตประเด็นนี้จาก กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ธุรกิจแพลตฟอร์ม เริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยค่าตอบแทนที่เย้ายวน และชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่ตกงานอยู่ในขณะนั้น แห่เข้ามาทำงานแพลตฟอร์มมากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่ารายได้ดี แต่นานวันเข้า ค่ารอบที่ทางแพลตฟอร์มให้ถูกปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จนทำให้แรงงาน จะต้องทำงาน 14 – 16 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ค่าแรงระดับเดียวกับที่ได้มาก่อนหน้านี้
ธุรกิจแพลตฟอร์มพยายามจะหาคนที่อ่อนแอที่สุดเข้ามาทำงานให้ ด้วยแรงงานแพลตฟอร์ม บางส่วนเป็นผู้มีประวัติด้อย มีประวัติอาชญากรรม บางคนมีภาวะทุพพลภาพบางส่วน หรือบางคนมีอายุเกินวัยรับสมัครเข้าทำงานที่อื่น ทำให้ไม่สามารถเลือกทำงานประจำได้ หรือมีตัวเลือกของงานที่น้อย จึงต้องยินยอมทำอาชีพไรเดอร์ ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ทำงานหนักหลายชั่วโมง เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่เพียงพอ การทำงานอิสระนี้ จึงแลกมาด้วยอิสระในการพักผ่อนและใช้ชีวิตด้วย
“ธุรกิจแพลตฟอร์ม ลดค่ารอบลงมาตลอด จนทุกวันนี้ต่ำมาก ถ้ามองในเชิงวิพากษ์ จะพบว่า แพลตฟอร์มพยายามที่จะเค้นหาคนที่ ‘อ่อนแอที่สุด’ เข้ามาทำงาน คนที่ไม่มีโอกาส หรือมีศักยภาพในการหางานที่ดีกว่านี้ได้ ในช่วงแรกจึงมีการให้ค่าแรงสูง ๆ โฆษณาว่าเป็นงานอิสระ เพื่อให้คนสนใจเข้าทำงาน สุดท้ายก็ปรับลดค่าแรงให้ต่ำ คัดเอาคนที่ยอมกับเงื่อนไขเช่นนี้ได้”
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
กฤษฎา ชวนมองว่า เราอยู่สังคมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง (Risk Society) โควิด-19, ภาวะโลกรวน และการมาของเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คงไม่มีทางที่ทุกคนจะมั่นใจว่าตัวเองจะทำงานเดิมแบบปลอดภัย โดยไม่ถูกเลิกจ้าง หรือไม่ถูกปลดออกระหว่างทาง แม้แต่ข้าราชการเองก็ตาม
ดังนั้นกลุ่มอาชีพที่มีความเปราะบางมากที่สุดคือ อาชีพอิสระ ที่ไม่มีการคุ้มครองใด ๆ เลย และนับวันก็มีอาชีพรูปแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ฟรีแลนซ์, สตรีมเมอร์, เกมเมอร์ ฯลฯ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐต้องเร่งออกแบบมาตรการการคุ้มครองแรงงานให้ทันโลกมากที่สุด
แม้ล่าสุด กสม. ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อยกระดับสิทธิและคุณภาพชีวิตแรงงานแพลตฟอร์ม ไว้ว่า
- ผู้ประกอบการต้องจัดหาสิทธิและสวัสดิการ เช่น หลักเกณฑ์ค่าจ้าง ระยะเวลาทำงาน วันหยุด เป็นต้น
- กระทรวงแรงงานต้องเร่งศึกษารูปแบบแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อปรับกฎหมายให้รองรับในระยะยาว
เบื้องต้นสามารถนำร่องโดยใช้กฎกระทรวงให้งานไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในลักษณะเดียวกันกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นที่นักวิชาการแรงงานได้ระบุเอาไว้
“ตอนนี้กฎหมายตามไม่ทันแล้ว ถ้าสังเกตตอนนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานแค่ในภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม แต่งานใหม่ ๆ ไม่มีการคุ้มครองเพิ่มเติมเลย เราอาจจะต้องร่างกฎหมายคุ้มครองในภาพใหญ่ ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และถ้ามีงานรูปแบบใหม่ขึ้นมา ก็หันมาใช้กลไกการออกกฎกระทรวงที่มีความรวดเร็วกว่าควบคู่กันไป เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
การมีสวัสดิการที่ดีรองรับ ไม่ใช่แค่เรื่องของค่าแรงที่เหมาะสม หรือการดูแลเมื่อเจ็บป่วย แต่นักวิชาการแรงงาน ยังพูดถึง ระบบ Upskill – Reskill ที่ให้แรงงานได้พัฒนาตัวเองได้ทันโลกและมีตัวเลือกในการ ‘ทำงาน’ มากกว่าทนทำงานที่ไม่มีคุณค่า (Indecent Work) ไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม รัฐก็ต้องประกันให้ด้วยว่า แรงงานจะมีเวลาและพลังมากพอเพื่อไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เพราะตอนนี้ แรงงานไทยยังต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะไรเดอร์ต้องอยู่บนท้องถนนมากกว่า 8 ชม. ต่อวัน จนไม่มีเวลาไปพัฒนาทักษะ และยังไม่มีระบบ Reskill – Upskill ที่แข็งแรง เพื่อรองรับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อย่างที่ทางรัฐบาลเคยได้กล่าวไว้ในคำแถลงนโยบาย
บทส่งท้าย : เป็นแรงงาน(ในชาตินี้)มันไม่ง่าย คนทั้งหลายจึงต้องรวมตัวกัน
ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานในโลกตะวันตกต้องทำงานหนักสูงถึง 14 – 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีกฎหมายแรงงานใดคุ้มครองสวัสดิภาพพวกเขา ผลที่ตามมาคือความเจ็บป่วย บาดเจ็บ และการล้มตายของแรงงานจำนวน ภายหลังจึงเกิดการรวมกลุ่มของแรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์กรรมาชีพ และกลายเป็นรากฐานของกฎ 8:8:8 หรือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และ ใช้ชีวิตอีก 8 ชั่วโมงต่อวันในปัจจุบัน
แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับกลุ่มทุนย่อมเกิดขึ้นอยู่เสมอ และความขัดแย้งจะแก้ไขได้ด้วยการหันหน้าคุยกัน แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยลงนามใน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่รับรองสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับนายจ้างได้
ทำให้ขบวนการแรงงานในไทยยากที่จะก่อร่างอย่างแข็งแรง ล่วงเลยมา 30 กว่าปีแห่งการเรียกร้อง ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับสัญญาณจากรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่มีนโยบายเรือธงด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
The Active ได้พูดคุยกับสหภาพไรเดอร์ และนักวิชาการด้านแรงงาน ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ‘เศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรม เกิดมาจากประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง‘ กล่าวคือ เราสามารถสร้างสังคมที่แรงงานมีโอกาสในการเข้าถึง ‘งานที่ดี’ และ ‘รายได้ที่เหมาะสม’ ได้ เมื่อแรงงานมีอำนาจและเสียงมากพอในการต่อรองผลประโยชน์จากนายจ้าง หรือคัดค้านในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ผลประโยชน์จะย้อนสู่นายจ้างเอง เพราะธุรกิจจะได้แรงงานที่แข็งแรง ได้งานที่มีคุณภาพ และสังคมมีกำลังซื้อที่มากขึ้น
‘งานอิสระ’ จึงไม่ควรเป็นงานที่ทำให้คนต้องผูกชีวิตเพื่อให้ได้ซึ่งรายได้อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ควรหมายถึงงานที่ทำให้แรงงานได้มีชีวิตเป็นอิสระจากงาน ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ได้ทำในสิ่งที่รัก มีสิทธิที่จะเรียกร้องและรวมกลุ่มกันอย่างไม่ถูกอำนาจนำเข้าควบคุม มีเสรีภาพที่จะเลือกงานที่ดีได้อย่างหลากหลาย มีพื้นที่ได้พัฒนาทักษะ ได้มีโอกาสทำงานที่พอใจ และค้นหาคุณค่าตัวเองได้ตลอดชีวิต