แพร่ pride บาย แพร่ craft

อนาคต ความฝัน ความหวังของ LGBTQIAN+ เมืองรอง

“แม้แต่คุณยายวัย 70 ปี ยังขอจับมือเพื่อให้กำลังใจพวกเรา แปลว่าวันนี้ แม้แต่สังคมเมืองรองอย่างแพร่ เริ่มมองเห็นและยอมรับพวกเรา LGBTQ+ มากขึ้นแล้ว”

หนึ่งในเสียงแห่งความประทับใจของบรรดา LGBTQIAN+ ที่มีต่อ “แพร่ไพรด์ บาย แพร่คราฟท์ (Phrae Pride by Phrae Craft)” ขณะที่รถขบวนแห่กำลังเคลื่อนตัวไปตามย่านใจกลางเมืองแพร่อย่างช้า ๆ เพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็นอย่างประจักษ์ว่า นี่คือพลังของ LGBTQIAN+ ในจังหวัดแพร่

ชุดภาพหลากสีสันย่านใจกลางเมืองแพร่ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะประเด็นความหลากหลายทางเพศยังถูกมองว่าไกลตัวสำหรับบริบททางสังคมของเมืองรอง จากข้อสังเกตเมื่อตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนยังมีแค่เชียงใหม่และเชียงรายที่มีกิจกรรมสนับสนุนบทบาทของ LGBTQIAN+ ที่จับต้องได้และเกิดการรับรู้ต่อผู้คนในเมือง ขณะที่เมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เริ่มมีกลุ่ม LGBTQIAN+ ออกมาขับเคลื่อนเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ บ้างแล้ว เพียงแต่อาจยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง หรือกล่าวง่าย ๆ คือ เรื่องนี้ยังไม่ mass สำหรับเมืองนี้เท่านั้นเอง

เราจึงอยากชวนทุกคนไปฟังเสียงและทำความเข้าใจกับกลุ่ม LGBTQIAN+ จากในพื้นที่จังหวัดเมืองรองในภาคเหนืออย่าง “แพร่” จากมุมมองคนในพื้นที่ที่มีทั้งความหลากหลายทางเพศ สังคม และอาชีพ ที่ต้องการจุดประกายให้เมืองแพร่มีสีสันและฉายความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในจังหวัดแพร่ไปพร้อมกัน

เปิด “พื้นที่” จุดประกายผู้คน

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมขบวนรถแห่แพร่ไพรด์ (Phrae Pride) เรากลับมาตั้งต้นที่งานกิจกรรมแพร่คราฟท์ (Phrae Craft) เพื่อรอชมแฟชั่นโชว์สุดอลังการจากกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับงานแพร่คราฟท์ปี 2566

“ทุกคนที่มาเดินแฟชั่นโชว์ไม่มีใครคาดหวังว่าจะได้รางวัลชนะเลิศใด ๆ เลย เพราะพวกเราคิดเหมือนกันแค่ว่าอยากปล่อยของ ให้ LGBTQ+ หรือแม้แต่ชายจริงหญิงแท้ได้มีพื้นที่แสดงออก ซึ่งกิจกรรมแฟชั่นโชว์เหมือนเป็นประตูเปิดรับทุกคนที่อยากจะเริ่มต้นเข้าใจความหลากหลายทางเพศได้อย่างง่าย ๆ”

เอกพงศ์ จุลกาฬ หรือ “โกโก้” ผู้ประกอบการธุรกิจรับจัดงานแต่งงานและร้านคาเฟ่ในจังหวัดแพร่ ในฐานะประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศและร่วมจัดงาน “แพร่ไพรด์ บาย แพร่คราฟท์ (Phrae Pride by Phrae Craft)” พูดถึงผลตอบรับที่เกิดขึ้นว่า กิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่ ซึ่งที่ผ่านมา LGBTQIAN+ ในเมืองแพร่พยายามขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้อุปสรรคสำคัญ คือ จังหวัดแพร่ยังขาดการสนับสนุนให้เกิดองค์กรหรือกลุ่มเครือข่ายเพื่อเชื่อมประสาน LGBTQIAN+

เอกพงศ์ จุลกาฬ (โกโก้)

“พอ LGBTQ+ แพร่ ยังขาดส่วนนี้ไป ทำให้เราต้องมีพันธมิตร แล้วเราก็โชคดีเพราะมีคนอื่นคิดเหมือนกับเรา ซึ่งกลุ่มแพร่คราฟท์เป็นหนึ่งในนั้นด้วย”

“แพร่คราฟท์ (Phrae Craft)” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ที่โอบรับความหลากหลายทางเพศด้วยคอนเซ็ปต์ “ข้าวตอกดอกไม้” ที่แสดงให้เห็นถึงดอกไม้หลากสีสันนานาพรรณ เปรียบเสมือนความหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุ เพศสภาพ อาชีพ สังคม หรือวัฒนธรรม

“จากเดิม แพร่คราฟท์เป็นเพียงพื้นที่จัดกิจกรรมแสดงงานฝีมือประเภทต่าง ๆ แต่ปีนี้เราใช้ธีมข้าวตอกดอกไม้เป็นคอนเซ็ปต์ออกแบบงานฯ แล้วนำไปเสนอต่อกลุ่มพันธมิตรที่ทำงานร่วมกับแพร่คราฟท์อยู่แล้ว ปรากฏว่าไอเดียของเราเชื่อมโยงกับประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ แล้วกลุ่ม LGBTQ+ ก็มองว่าเราต่างมีศักยภาพมากพอจนน่าจะเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นนี้ในรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ได้”

หนึ่งในทีมงานแพร่คราฟท์ได้อธิบายถึงที่มาของคอนเซ็ปต์งานจนสามารถนำไปสู่การเปิดพื้นที่และโอกาสให้แก่กลุ่ม LGBTQIAN+ ได้มาจัดกิจกรรมแพร่ไพรด์ร่วมกับแพร่คราฟท์เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

“พื้นที่” ไม่ใช่แค่รองรับกิจกรรม แต่ต้องโอบรับความหลากหลายของผู้คน

ท่ามกลางผู้คนหลากหลายที่มาเดินชมและจับจ่ายใช้สอยภายในงานฯ เรากับทีมงานแพร่คราฟท์ยังคงนั่งสนทนาถึงความเข้าใจที่มีต่องานกิจกรรมในครั้งนี้อีกว่า แพร่คราฟท์ไม่ได้เป็นแค่งานกิจกรรมจัดแล้วจบ แต่ยังเป็นได้ทั้งกลุ่มคน พื้นที่ และโอกาสพร้อมโอบรับความหลากหลายของผู้คนที่มีมากกว่าเรื่อง LGBTQIAN+ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เมืองและสังคมให้น่าอยู่โดยประชาชน

ทีมงานแพร่คราฟท์มองว่า ผลตอบรับที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจแค่เฉพาะกลุ่ม LGBTQIAN+ แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ อาชีพ สังคม หรือวัฒนธรรม ได้กลับไปเรียนรู้และเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละประเด็นอย่างไรบ้าง

“งานแพร่ไพรด์ในวันนี้ทำให้เรามองเห็นผู้คนหลากหลายยิ่งกว่าที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรากล้าที่จะให้โอกาสทั้งกับเราและทุกคนได้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ร่วมกัน แต่ถ้าเราไม่ลองสร้างและหยิบยื่นโอกาสนี้ไปให้คนอื่นบ้าง วันนี้เราอาจไม่ได้รู้เลยว่าสังคมเมืองแพร่มีความหลากหลายมากน้อยแค่ไหน อย่างถ้าปีนี้เราไม่ได้ใช้ธีมข้าวตอกดอกไม้จัดงานฯ หรือไม่มีกลุ่ม LGBTQIAN+ มาจัดขบวนแห่และเดินแฟชั่นโชว์ ทุกคนอาจเสียโอกาสที่จะได้เข้าใจความหลากหลายทางเพศในจังหวัดแพร่จากประสบการณ์จริง”

ทีมงานแพร่คราฟท์

เพราะ LGBTQIAN+ ก็คือ “คน”

แพร่ไพรด์ บาย แพร่คราฟท์ จบลงอย่างน่าประทับใจเกินความคาดหมาย เรากับทีมแพร่คราฟท์ยังคงนั่งสนทนากันในวงเล็ก ๆ ร่วมกับกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกลงไปอีกว่า ฉากหลังของ LGBTQIAN+ ในสังคมเมืองรองอย่างแพร่มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

โกโก้ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในจังหวัดแพร่ว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับของสังคมในแง่ความงามมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่ากังวลคือ การเป็นที่ยอมรับในการเลือกประกอบอาชีพ เพราะกลุ่ม LGBTQIAN+ ในจังหวัดแพร่ส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพด้านความงามและบันเทิง เช่น ช่างแต่งหน้า ทำผม ออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า พิธีกร ออร์แกไนเซอร์ตามงานกิจกรรม หรือเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวไปเลย และมีอีกส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีระเบียบข้อบังคับบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตภายใต้เพศสภาพของ LGBTQIAN+

วชิรวัฒน์ กาศเจริญ หรือ “ดรีม” ข้าราชการครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ผู้นิยามตนเองว่าเป็นครูข้ามเพศ ได้เล่าเสริมว่า การรับราชการครูภายใต้เพศสภาพ LGBTQIAN+ ยังต้องเผชิญกับข้อกังวลจากคนรอบข้างอีกมากที่ยังไม่เข้าใจว่า ความเป็น LGBTQIAN+ ของตนจะสามารถทำให้เป็นครูที่ดีในสายตาของสังคมได้หรือไม่

“ครูดรีมพิสูจน์ตัวเองในข้อกังวลนี้มาโดยตลอด จนมั่นใจว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ตามอาชีพของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถและจิตวิญญาณความเป็นครูแล้ว เรื่องเพศสภาพจะไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคสำหรับครูดรีมอีกต่อไป”

เอกพงศ์ จุลกาฬ และ วชิรวัฒน์ กาศเจริญ หรือ ครูดรีม

จะเห็นได้ว่า นโยบาย กฎกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรการศึกษาได้โอบรับความแตกต่างทางสังคม ความหลากหลายทางเพศ และการยอมรับซึ่งกันและกันในสังคมสถานศึกษามากขึ้น ครูดรีมพูดถึงความพยายามของครูข้ามเพศที่สามารถเริ่มต้นทำได้อย่างง่าย ๆ คือปลูกฝังและสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดานักเรียนว่า ไม่ว่าจะเลือกใช้ชีวิตตามเพศสภาพแบบใด ทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติบ้านเมืองเสมอ

“ปัจจุบัน ถ้าเราเดินไปดูตามโรงเรียนประจำจังหวัดหรือแม้กระทั่งโรงเรียนประจำหมู่บ้านบางแห่งจะเริ่มพบนักเรียนไว้ทรงผมและแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพมากขึ้น บางโรงเรียนถึงกับสร้างห้องน้ำสีรุ้งสำหรับนักเรียนกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีผลต่อทัศนคติในการดำรงชีวิตและแสดงออกตัวตนต่อนักเรียนอย่างไร ซึ่งครูดรีมมองว่าเป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับบริบททางสังคมของจังหวัดแพร่ในตอนนี้”

บรรยากาศภายในวงสนทนาเริ่มได้ที่ LGBTQIAN+ ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงอย่าง ดรีม (นามสมมติ) อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านคอนเทนต์รีวิวกิน เที่ยว ไลฟ์สไตล์ในจังหวัดแพร่บนแพลตฟอร์ม TikTok จึงได้เล่าเพิ่มเติมจากครูดรีมอีกว่า ตนและพี่ชายต่างเป็น LGBTQIAN+ ที่เติบโตในช่วงเวลาที่สังคมยังไม่เข้าใจและไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการถูกบูลลี่จนทำให้ตนและคนรอบข้างต้องรับแรงกดดันทางสังคม

“พ่อกับแม่มักจะถูกคนรอบข้างถามตลอดว่า เลี้ยงลูกยังไงให้โตมาไม่ตรงตามเพศกำเนิด แต่บ้านดรีมโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจ แล้วเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าลูกจะโตมาในเพศสภาพแบบใดก็ยังสามารถหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงดูพ่อแม่ได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ดรีมมองว่าสังคมไม่ควรปล่อยผ่านเรื่องผลกระทบจากการถูกรังแกหรือคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่บ้านพ่อแม่จะโดนบ่อยมากคือ มีลูกชายลูกสาวแต่เป็น LGBTQ+ ทั้งคู่แล้วแบบนี้แม่จะได้อุ้มหลานไหม”

ดรีม

“หรือที่ตัวดรีมเจอบ่อยมาก ๆ โดยเฉพาะจาก TikTok คือคอมเมนต์ประเภทอยากเปลี่ยนทอมเป็นเธอ ล้วนเป็นสิ่งที่ดรีมอยากจะบอกกับสังคมว่าไม่ควรมีความคิดแบบนี้ในยุค 5G แล้ว”

การเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ย่อมหนีไม่พ้นกับความหลากหลายของผู้คนที่เป็นผู้ติดตาม (Followers) โดยเฉพาะจากคอมเมนต์ตามคอนเทนต์ที่ดรีมโพสต์ลงบน TikTok ที่มักจะมีนักเลงคีย์บอร์ดมาคอมเมนต์เอาสนุก แต่ผลที่ตามมาจากถ้อยความที่คอมเมนต์ไปอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้อย่างคาดไม่ถึง แม้ระยะหลัง ๆ ดรีมจะเริ่มเพิกเฉยต่อคอมเมนต์ประเภทนั้นไปแล้ว แต่ก็มีบางคอมเมนต์ที่บูลลี่เพศสภาพ LGBTQIAN+ ของดรีมแล้วมีผลต่อความมั่นใจที่จะทำคอนเทนต์หรือคลิปวิดีโอลงบน TikTok ในบางช่วงได้เหมือนกัน

“เราไม่รู้ว่าปัญหาการบูลลี่เพศที่สามจะหมดไปเมื่อไหร่ เพราะแม้แต่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยังมีทั้งผู้กระทำและถูกกระทำจากปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเรามองว่าการให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้ผ่านนโยบายการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ LGBTQ+ อย่างสมรสเท่าเทียมเลย”

“สมรสเท่าเทียม” จึงไม่ใช่แค่ความสุขระหว่างคนสองคน

เรามองว่าเสียงจาก LGBTQIAN+ และทีมแพร่คราฟท์ในวันนั้นสามารถขับเคลื่อนพลังและสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่กลุ่ม LGBTQIAN+ ในพื้นที่เมืองรองอื่น ๆ ไปพร้อมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เข้าสภาและเพิ่งผ่านการลงมติในวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ดีต่อสังคมความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังคงมีข้อสังเกตจากดรีม (อินฟลูเอ็นเซอร์) ที่มองว่าอาศัยแค่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อรองรับสิทธิของ LGBTQIAN+ อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ปัญหาอื่น ๆ ได้รับการแก้ไขในระยะยาวได้ เพราะรายละเอียดของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังคงเป็นเรื่องของคนสองคน ดังนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยขจัดปัญหา LGBTQIAN+ ถูกบูลลี่หรือเหยียดเพศได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ดรีมมองว่า รัฐบาลหรือผู้เสนอร่างกฎหมายควรทำให้กระจ่างชัดต่อประชาชน

“ถ้าระบบการศึกษาไทยทั้งในและนอกโรงเรียนสามารถปลูกฝังแนวคิดคนเท่ากับคน ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และลดการจำกัดความ สิทธิ หรือบทบาทของแต่ละเพศตามหลักสูตรการสอนในระดับชั้นต่าง ๆ ได้ ปัญหาการถูกเหยียดเพศ LGBTQ+ อาจไม่ได้หมดไปในระยะสั้น แต่ดรีมเชื่อว่าปัญหานี้จะลดลงไปบ้างไม่มากก็น้อย”

เรายังพบอีกหนึ่งข้อกังวลจาก ครูดรีม (วชิรวัฒน์) อีกว่า สิทธิบางประการยังคงเป็นไปตามเพศกำเนิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ LGBTQIAN+ ยังคงได้รับการยอมรับความหลากหลายทางเพศแค่นามธรรม หมายความว่าการยอมรับทางสังคมก็จะมีแต่คำพูด แต่การยอมรับที่จับต้องได้อย่างกฎหมายส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเพศสภาพยังไม่ได้เกิดขึ้นตาม

“คำนำหน้าครู ดรีมยังคงเป็นนายวชิรวัฒน์ สมมติว่าถ้าครูดรีมอยากจะมีคู่สมรสก็สมรสได้กับเฉพาะนางสาว ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับที่กำลังละเมิดสิทธิของเราอยู่ สมรสเท่าเทียมสำหรับครูดรีมจึงไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสิทธิประโยชน์ระหว่างคู่สมรส แต่ยังหมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายผลไปถึงการที่ LGBTQ+ สามารถเลือกใช้คำนำหน้าชื่อด้วยตนเองได้”

อนาคต (LGBTQIAN+) แพร่ ความฝัน และความหวัง

การมีพื้นที่แสดงออกให้แก่ LGBTQIAN+ ในงานแพร่คราฟท์ได้บอกอะไรหลายอย่างกับผู้คนและสังคมจังหวัดแพร่อยู่ไม่น้อย ครูดรีม (วชิรวัฒน์) พูดถึงผลตอบรับดังกล่าวว่า ประชาชนไม่ใช่แค่ได้มาเห็นความสวยงามทางเสื้อผ้าหน้าผม แต่ยังจะได้รับรู้ รับฟัง และเข้าใจมากขึ้นว่า LGBTQIAN+ จังหวัดแพร่มีวิธีคิด ทัศนคติอย่างไร ทำงานร่วมกันอย่างไร

“ในบรรดาประชาชนที่มาร่วมงานฯ มาชื่นชมพวกเราก็มี LGBTQ+ แทรกซึมอยู่ทั่วทุกที่ภายในงานฯ ก็ไม่เห็นมีใครแสดงความรังเกียจ LGBTQ+ เลย ครูดรีมมองว่าปฏิสัมพันธ์นี้ก็เป็น Soft Power ที่แทรกซึมให้ผู้คนเข้าใจความหลากหลายทางเพศได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

“แต่ถ้าวันนี้ที่แพร่ไม่มีคนพูดเรื่อง LGBTQ+ ไม่มีคนพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม คำว่า LGBTQ+ หรือความหลากหลายทางเพศคงไม่ถูกนำมาสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ คนก็จะยังคงเรียกพวกเราว่า ตุ๊ด กะเทย เกย์ ทอม เลสเบี้ยน ซึ่งเป็นคำเรียกที่เป็นได้ทั้งแง่บวกและลบ แล้วก็จะไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเราควรมีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคนในเรื่องไหนบ้าง”

ครูดรีมกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การแสดงออกเพื่อสิทธิของ LGBTQIAN+ สำคัญที่จะสามารถสร้างอิมแพ็คต่อสังคมบนโลกจริงต่อไปได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ทุกคนที่นอกเหนือจาก LGBTQIAN+ จะต้องมาคิดและผลักดันร่วมกันให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถอาศัยแค่พลังออนไลน์อย่างยอดติดตาม ยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ จากการแสดงออกผ่านคอนเทนต์บนพื้นที่ออนไลน์ได้

ก้าวต่อไปของ LGBTQIAN+ จังหวัดแพร่หลังจบกิจกรรมแพร่ไพรด์ บาย แพร่คราฟท์ โกโก้ บอกว่ามีความเป็นไปได้พอสมควรที่จะผลักดันต่อเป็นกิจกรรม Phrae Pride ให้ครอบคลุมตลอดทั้งปี 2567 ที่สามารถเลือกช่วงเวลาตามปฏิทินกิจกรรม 12 เดือนของจังหวัดแพร่ให้กลุ่ม LGBTQIAN+ ไปร่วมกิจกรรมและสร้างการมีส่วนร่วมกับงานประเพณีหรือกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก Pride Month เช่น งานประเพณีสักการะพระธาตุช่อแฮ งานสงกรานต์ม่อฮ่อม หรืองานประเพณียี่เป็ง เพื่อให้บทบาทของ LGBTQIAN+ในจังหวัดแพร่เกิดขึ้นและเป็นที่รับรู้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน

“เรามีความฝันและคาดหวังว่า LGBTQ+ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับจังหวัดแพร่ แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไม่ได้หมายถึงแค่พวกเรา แต่ยังหมายถึงคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเราต้องคาดหวังให้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้คนรอบข้างได้มีเวลาเรียนรู้และปรับความเข้าใจกับสังคม LGBTQ+ ไปพร้อมกัน จนกว่าสังคมจะเดินไปถึงจุดที่ทั้งเราและเขาต่างรู้สึกเหมือนกันว่าเท่าเทียมกันแล้วจริง ๆ” โกโก้สรุปทิ้งท้าย

  • ขอบคุณภาพจาก กลุ่มแพร่คราฟท์ (Phrae Craft), แพร่รีวิว

Author

Alternative Text
AUTHOR

รัชชา สถิตทรงธรรม

กรุงเทพฯ สู่ ลำปาง - แพร่, หลงรักวิถีวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และมีความฝันอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์