“สื่อแนวเปโด” อันตรายต่อสังคม ! หรือแค่จินตนาการงานสร้างสรรค์

สื่อแนวนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ทั้งการสร้างฐานความคิด และค่านิยม

เมื่อพูดถึงคำว่า “เปโด” หลายคนอาจนึกถึงชื่ออาการทางจิตประเภทหนึ่งอย่าง “Pedophilia” หรือ “โรคใคร่เด็ก” ซึ่งไม่ใช่รสนิยมทางเพศ แต่เป็นอาการที่ไม่สามารถเกิดความรู้สึกทางเพศกับคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เหมือนกันได้ มีความต้องการอยากมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ถ้าหากผู้มีอาการ Pedophilia นั้น ไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศของตนเองได้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กตามมา ก่อให้เกิดการขืนใจเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แต่อีกด้านหนึ่งคำว่า เปโด เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นจากแง่มุมของ “สื่อแนวเปโด” ซึ่งมีเนื้อหาส่อไปในทางที่ผู้ใหญ่เกิดความรักใคร่เด็กแบบเชิงชู้สาว แม้สื่ออาจไม่มีการอธิบายหรือระบุว่าตัวละครนั้นมีอาการ Pedophilia หรือไม่ก็ตาม

การเติบโตของสื่อแนวเปโด ตามมาด้วยเสียงสะท้อน ทั้งจากฝั่งหนึ่งที่มองว่าสื่อแนวเปโดเป็นเพียงแค่ความบันเทิง ในขณะที่อีกหลายคนมองว่า เนื้อหาหรือพฤติกรรมของตัวละครที่แสดงออกในเชิงการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ หรือทำให้เยาวชนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมปกติ ทั้งที่หลายพฤติกรรมถือเป็นการล่วงละเมิด และผิดกฎหมาย จนทำให้ระยะหลังเกิดกระแสต่อต้าน “สื่อแนวเปโด” มากขึ้นเรื่อย ๆ  

The Active ขอชวนผู้อ่านเปิดมุมมองเกี่ยวกับ “สื่อแนวเปโด” และทำความเข้าใจกับอันตรายที่อาจแฝงมากับสื่อแนวนี้ ผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวช กฎหมาย และผู้ผลิตสื่ออย่างนิยายออนไลน์ ว่าพวกเขามีความคิดเห็นและข้อแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับสื่อแนวเปโด รวมถึงกระแสการต่อต้านของผู้คนในโซเชียลมีเดียที่มีต่อสื่อแนวนี้

ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการ Pedophilia แล้วอยากจะสร้างปัญหาให้กับสังคม

เมื่อได้พูดคุยกับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา ทำให้ทราบถึงข้อมูลอาการของโรค Pedophilia หรือ โรคใคร่เด็ก ซึ่งนอกจากลักษณะอาการที่กล่าวไปข้างต้น อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กัน นพ.อภิชาติ ยังอธิบายให้เห็นอีกด้านของโรคนี้ คือ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรค Pedophilia ตั้งใจอยากจะกระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เพราะบางรายก็อยากต้องทุกข์ทรมานกับอาการนี้ และกลัวว่าตนเองจะไปทำอันตรายต่อเด็ก จึงต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ ต้องการรับการบำบัดอาการของโรคนี้ คนที่มีอาการของโรค Pedophilia บางรายจะมาเข้ารับการรักษาด้วยตนเอง

นพ.อภิชาติ ยังกล่าวอีกว่า บางคนก็มารักษาพร้อมกับอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ก็จะมีการใช้ยาเข้ามารักษาร่วมด้วย กลุ่มที่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการที่ดีขึ้นกว่าคนที่ถูกบังคับมารักษา โดยกลุ่มที่มีอาการ Pedophilia บางรายก็อาจไม่ยอมรับว่าตนเองเป็น และอาจเผลอไปทำผิดกฎหมายมาแล้ว

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา

“ไม่ได้หมายความว่าคนที่ชอบเด็กจะต้องไปทำอะไรเด็กเสมอไป เพราะบางคนเขามีความยับยั้งชั่งใจ มีการควบคุมตัวเอง เขารู้ตัว เขาก็มาหาความช่วยเหลือ ไม่ต้องการที่เกิดการทำผิดก็มี”

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา

วิธีการสังเกตว่าใครมีอาการ  Pedophilia หากมองเพียงภายนอกก็จะไม่สามารถรู้ได้ แต่อาจจะสังเกตจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น มีการเข้าหาเด็กอย่างใกล้ชิดจนเกินไป มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล มีความต้องการสัมผัสร่างกายเด็ก เป็นต้น

ในส่วนของจำนวนคนที่เป็นโรค Pedophilia นั้น ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ เนื่องจากบางรายไม่ยอมมารักษากับแพทย์เฉพาะทาง จึงไม่สามารถทำการสำรวจได้ ซึ่ง นพ.อภิชาติ กล่าวว่า คนที่มีอาการทางจิตในเรื่องเพศเราอาจเห็นได้ตามหน้าข่าว ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่าที่เห็น

ปัญหาความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างผู้ใหญ่กับผู้เยาว์

เราจะเห็นว่าตามหน้าข่าวจะมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้เยาว์เกิดขึ้นในสังคมหลายกรณี โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจของผู้ใหญ่ที่มีการล่อลวงผู้เยาว์ ที่จะเห็นได้บ่อยก็อาจเป็นกรณีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนโดยครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ นอกจากนี้สาเหตุของความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างผู้ใหญ่กับผู้เยาว์ก็อาจเกิดขึ้นจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม อีกทั้งปัญหาของความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือการกระทำล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผลเสียก็ตกไปอยู่ที่อนาคตของเด็กเต็ม ๆ

เราได้สอบถามเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้กับ สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระ Shero Thailand และภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิง โดย สิรินทิพย์ กล่าวว่า ถ้ามองในความเป็นจริง คนที่เป็นครูซึ่งมีความใกล้ชิดเด็กนั้น ถ้าขาดความยับยั้งชั่งใจในตนเองก็มีโอกาส Child Grooming (การเข้าหาเด็ก โดยการสร้างความสัมพันธ์หรือสถานะ ทำให้สามารถมีโอกาสล่วงเมิดหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กได้ง่ายกว่าคนแปลกหน้า) และแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กแน่นอน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองเป็นเครื่องมือในการเข้าหาเด็กได้ ถ้าเรามองในเรื่องหน้าที่ความเป็นครูก็ต้องมอบสิ่งดี ๆ ให้กับลูกศิษย์ ต้องปกป้อง อบรมสั่งสอนให้เด็กอยู่รอดในสังคมได้ แต่ถ้ามองในแง่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับเด็ก ที่อาจไม่ได้มองภาพบริบทในเรื่องทางเพศและการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็อาจกลายเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่ไม่กระทำตามจรรยาบรรณของตนเอง

ในแง่ของศีลธรรม หลาย ๆ สังคมก็ไม่ยอมรับความพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างผู้ใหญ่กับผู้เยาว์ และมองว่ายังไม่ควรมีการกระทำทางเพศเกิดขึ้นกับเด็ก เพราะอยู่ในสภาวะที่ยังไม่พร้อมทั้งร่างกายและความเข้าใจ ดังนั้น ผู้ใหญ่ไม่ควรยัดเยียดเรื่องนี้ให้กับเด็ก เพราะเด็กไม่รู้ว่าความสัมพันธ์นี้จะไปถึงจุดไหน ต่างกับผู้ใหญ่ที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองจะได้อะไรจากการกระทำนี้  


สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระ Shero Thailand และภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิง

“ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวที่มักจะมากับการสัมผัสทางเพศ การแสดงออกในเชิงทางเพศ หรือพฤติกรรมทางเพศ มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบเด็กไปหรือเปล่า ถ้าเราตอบได้ว่ามันคือการเอารัดเอาเปรียบเด็ก แสดงว่า มันไม่ชอบในทางศีลธรรม” 

สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระ Shero Thailand และภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิง

สิรินทิพย์ ยังเสริมอีกว่าในแง่ของกฎหมาย หลาย ๆ ประเทศ มีการกำหนดโทษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก และมีการระบุเกณฑ์อายุเอาไว้ด้วย อย่างเช่นกฎหมายของประเทศอังกฤษ ที่พูดถึงเรื่องกิจกรรมทางเพศกับเด็ก (Sexual activity with a child) กำหนดผู้กระทำความผิดไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนกฎหมายของประเทศไทยระบุไว้ว่า การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มีความผิดทางกฎหมาย ฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และถ้ากระทำกับเด็กเล็กจะมีโทษความผิดเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ

เกิดอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กที่ซับซ้อนมากขึ้น 

สิรินทิพย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีรูปแบบอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ไม่เพียงแค่การกระทําชําเรา หรือการสัมผัสร่างกาย ทำอนาจารเด็ก แต่มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การล่อลวงให้เด็กส่งภาพโป๊เปลือยให้ ซึ่งก็เป็นอาชญากรรมทางเพศรูปแบบหนึ่ง

เรื่องปัญหาอาชญากรรมและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในปัจจุบันของไทย สิรินทิพย์ กล่าวว่า จากการดูสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและศาลยุติธรรม (ผลสำรวจระยะ 5 ปี) พบว่า ลักษณะกราฟจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้าง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่ามีรูปแบบอาชญากรรมทางเพศในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น มีข่าวเรื่องการล่อลวงเด็กเกิดขึ้นเยอะมาก อย่างไรก็ตามสถิติที่มีก็เป็นเพียงคดีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องเท่านั้น ยังมีผู้เสียหายหลายคนที่ไม่กล้าเปิดเผยว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือไม่ได้ดำเนินการร้องทุกข์

สถิติอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และในขณะเดียวกันเด็กที่เป็นเหยื่อก็มีอายุลดน้อยลง ส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 15 – 17 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก ส่วนของไทยจะอยู่ในช่วงวัยมัธยม อายุ 14 – 16 ปี 

“เปโด” ในสื่อ ผลกระทบต่อสังคม ?  

สื่อแนวเปโด ตามคำนิยามที่เรียกกัน ก็ย่อมากจาก คำว่า “เปโด (pedos)” ในภาษากรีกที่แปลว่า เด็ก ส่วนคำว่า “ฟีเลีย (philia)” แปลว่า รักใคร่ ผู้คนจึงเอาคำว่าเปโด มาเรียกสื่อที่มีเนื้อหาส่อไปในทางที่ผู้ใหญ่เกิดความรักใคร่เด็กแบบเชิงชู้สาว แต่สื่ออาจไม่มีการอธิบายหรือระบุว่าตัวละครนั้นมีอาการ Pedophilia หรือไม่ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

สิรินทิพย์ กล่าวว่า สื่อแนวนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ทั้งการสร้างฐานความคิด และค่านิยม เนื่องจาก “สื่อเป็นตัวชี้นำทางสังคม” ผู้คนที่เสพสื่อมักจะเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อ ในกรณีการเสพสื่อแนวเปโดของเด็กและเยาวชนอาจมองว่าเรื่องราวในสื่อเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเด็กเล็ก ๆ ไม่ควรเห็นภาพการแสดงออกเชิงทางเพศในขณะที่เขายังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเสี่ยงกับการถูกกระทำในเชิงทางเพศด้วยซ้ำ และเด็กอาจไม่รู้เลยว่าการแสดงออกอย่างนั้นมีความเสี่ยงต่อตนเองอย่างไร 

เช่นเดียวกับความเห็นของ นพ.อภิชาติ เกี่ยวกับสื่อแนวเปโดว่า ทั้งสื่อประเภทการ์ตูนมังงะ หรือการ์ตูนอื่น ๆ ที่วาดขึ้นมาเอง รวมถึงสื่อที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย หลายกรณีที่มีความน่าเป็นห่วง เพราะไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของตัวละครที่เป็นเด็กกับผู้ใหญ่ แต่พบว่ามีประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมอีกมาก ทั้งความรุนแรง เรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม การข่มขืน การใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าใครก็สามารถทำได้ ดังนั้น การนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ในสื่อควรมีความระมัดระวัง

มีสื่ออีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ก็คือ นิยายออนไลน์ ซึ่งก็มีเนื้อหาแตกต่างกันไปตามจิตนาการของนักเขียน เราได้ร่วมพูดคุยกับนักเขียนนิยายออนไลน์ อย่าง “รทิมา” (นามปากกา) ที่ได้เห็นภาพผ่าน ๆ ตา ของสื่อแนวเปโดทั้งวงการการ์ตูนและนิยาย รทิมา บอกว่า ในการ์ตูนของญี่ปุ่นจะเห็นภาพวาดแนวนี้เยอะ อย่าง ภาพวาดแบบ โลลิคอน (ภาพวาดเด็กผู้หญิง) และ โชตะคอน (ภาพวาดเด็กผู้ชาย) ซึ่งเป็นคำศัพท์ในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้คนที่มีรูปลักษณ์เป็นเด็ก

ในตอนแรก รทิมา ยังไม่เข้าใจนิยามของคำว่า เปโด แต่พอได้รู้ก็รู้สึกว่าทั้ง เปโด โลลิคอน และโชตะคอน มีความคล้ายกัน นอกจากนี้ยังรู้สึกตกใจกับภาพยนตร์ไทยบางเรื่องที่ตัวละครอาจสื่อถึงสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ จึงรู้สึกว่าในสื่อหลักไม่ได้มีความจริงจังกับเรื่องนี้ขนาดนั้น

“แค่เห็นภาพนิ่ง โปสเตอร์ หรือแค่รับรู้ถึงการมีของมัน ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย”

รทิมา – นักเขียนนิยายออนไลน์

ความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต จะมองว่าเป็นแค่เรื่องจิตนาการได้ไหม 

“จิตนาการไปไม่เป็นไร ใส่ดาร์กไซด์ให้เรานิดนึง แต่เอาข้อเท็จจริงมาใส่ให้เตือนสังคมหน่อย”

สิรินทิพย์ สมใจ

สิรินทิพย์ มองว่า อยากให้ผู้ผลิตสื่อตระหนักว่าสื่อที่เขาผลิตออกมานั้นจะชี้นำสังคมอย่างไร ถ้าผู้ผลิตอ้างว่าสิ่งนั้นคือจิตนาการก็อยากให้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบและโทษของการกระทำที่ไป Grooming การล่อลวงเด็ก หรือการที่ผู้ใหญ่ไปชื่นชอบเด็กด้วย อาจช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ซึมซับสื่อเรียนรู้ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร  ดังนั้น สื่อควรปรับตัวในประเด็นนี้ ไม่ควรฉายแค่ภาพของความสุขตอนมีความสัมพันธ์กับเด็ก ส่วนเรื่องจิตใจและฮอร์โมนของคนที่เป็น Pedophilia นั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาจะมีความทรมานอย่างไร แต่ถ้าเขารู้ว่าเมื่อไปกระทำการล่วงละเมิดต่อเด็กจะต้องเจอกับความผิดทางกฎหมายอาญา ก็จะทำให้รู้ว่ามีมุมมืดเกี่ยวกับปัญหานี้ด้วย

ส่วน รทิมา มีมุมมองว่า ถ้าเกิดผู้ผลิตสื่อไม่มีความรู้เกี่ยวกับ Pedophilia จริง ๆ ก็อาจจะเข้าใจได้เพราะเรื่องนี้ไม่มีสอน เพราะที่ผ่านมาสื่อก็นำเสนอเรื่องนี้ในมุมสวยงามแล้วผู้ผลิตสื่อก็อาจเคยเสพสื่อเหล่านั้นมา ซึ่ง รทิมา มองว่า การไม่รู้ไม่เป็นไร ถ้ายอมรับและแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด แต่ก็พบว่ามีผู้ผลิตสื่อบางคนที่ผู้คนตักเตือนแล้วแต่ก็ยังพยายามผลิตสื่อแนวนี้อยู่ อีกทั้งไม่ตระหนักว่าตนเองมีสื่ออยู่ในมือที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งคือการขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตสื่อ

“พอเราต้องสื่อสารออกไป ไม่ว่าใครจะเป็นคนรับสารบ้าง ต่อให้จะมีการกำหนดอายุของผู้รับสาร มันไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าคนที่มีอายุเท่านี้จะมีวิจารณญาณอยู่ดี ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเราจะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่คำนึงว่าสิ่งที่เราเขียนขึ้นมามันถูกหรือผิด

“ถ้าเขาเอาเรื่องเปโดมาใส่ในสื่อ แล้วไม่ได้ทำให้มันโรแมนติกไซด์ ไม่ได้ทำให้มันถูกต้อง ก็จะไม่มีใครว่าได้ว่าทำแบบนี้ไม่ได้”

รทิมา

เช่นเดียวกับ LunaticGirl (นามปากกา) ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ผลิตสื่อ และวิจารณญาณของผู้รับสื่อ

“ในฐานะผู้ผลิตก็ควรจะต้องรับผิดชอบในสื่อที่ผลิตด้วย อยู่ที่ว่าปลายทางเราพยายามจะสื่ออะไรกับประเด็นที่เขียน เรากำลัง romanticized สิ่งนี้หรือไม่ การผลิตประเด็นที่นี้ทำได้ แต่ต้องเก็บให้เป็นที่เป็นทางในฐานะผู้ผลิตสื่อที่จะไม่เผยแพร่และพยายามทำให้การกระทำที่เป็นการล่วงละเมิดเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นเป็นเรื่องปกติ”

LunaticGirl นักเขียนนิยายออนไลน์

เมื่อคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียตระหนักถึงปัญหาของสื่องแนวเปโด

หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาของสื่อแนวเปโด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดีย เริ่มต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับผู้ผลิตสื่อที่ยังพยายามเสนอความโรแมนติกให้ผู้รับสาร 

นพ.อภิชาติ ให้ความเห็นว่า ผู้คนเริ่มตระหนักว่าสื่อแนวเปโดอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั่วโลกเริ่มรณรงค์และไม่ยอมรับเนื้อหาเหล่านี้ ทั้งความรุนแรงและเรื่องเพศ 

“ถ้าเกิดเราเห็นสื่อเหล่านี้ ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ส่งเสริม แล้วก็อาจจะช่วยกันชี้แจงไปว่าสื่อเหล่านี้มันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดปัญหาตามมาได้”

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ

ส่วน สิรินทิพย์ รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ที่เล่นสื่อโซเชียลมีเดีย อย่าง ทวิตเตอร์ มีองค์ความรู้เยอะมาก ไม่ได้มองความสัมพันธ์ในมิติเดียว เช่น ความรักเชิงชู้สาว แต่ให้ความสำคัญกับเรื่อง  Child Grooming ด้วย มีการแบนซีรีส์ที่เป็นแนวเปโดเด็ก สะท้อนว่าเขาไม่ได้ต้องการเสพสื่อเพื่อความจรรโลงใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้สื่อชี้นำความรู้ให้กับสังคมด้วย

“แอบรู้สึกดีใจที่ สังคมออนไลน์ เด็ก ๆ ในปัจจุบัน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในมิติที่ต่างไป นอกเหนือจากความโรแมนติกอย่างเดียว เขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น มันเป็นภัยคุกคาม ซึ่งเป็นเรื่องดี” 

สิรินทิพย์ สมใจ

รทิมา กล่าวว่า เมื่อมีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาทำให้เกิดการกระจายข้อมูลต่อกันไว ทำให้เกิดความตระหนักมากขึ้น โดยส่วนตัว รทิมา เอง ก็เห็นการพูดถึงประเด็นนี้ในโซเชียลมีเดียแทบทุกเดือน ซึ่งก็มีการถกเถียงกันของชาวเน็ตเกี่ยวกับประเด็นนี้ในหลายกหลายมุมมอง และอาจทำให้มีคนตระหนักมากขึ้นไม่มากก็น้อย 

“ในอนาคต ถ้ามุมมองของสังคมเปลี่ยนไปในวงกว้างจริง ๆ ก็จะกระทบการผลิตสื่อแน่ ๆ เพราะว่า สื่อกับคนดู คนอ่าน ก็เชื่อมต่อกันอยู่แล้ว”

รทิมา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

วิฑิตา โอชวิช

มนุษย์นอนน้อยแต่นอนนะ มีอีกชื่อคือแฮปปี้เพราะคนต่างชาติเรียกชื่อปลื้มไม่ได้ ผู้ปกครองประชาชนชาวก้อน เชื่อว่าการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นจะทำให้เรามีความสุขด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมให้ความสุขกับตัวเองด้วยนะ