ถอดรหัส: ปฏิกิริยาม็อบแค่ไหน เรียกสันติวิธี?

หลังแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ วันที่ 25 พ.ย. 2563 ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เขตดุสิต และจะชุมนุมต่อเนื่องถึง 7 วัน โดยผู้ชุมนุมประกาศจะใช้ สันติวิธีขั้นสูงสุด แต่ไม่ใช่การนิ่งเฉยกับท่าทีของรัฐบาล ที่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชมนุม

The Active ค้นหาแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธที่เรียกว่า “สันติวิธี” หรือ “การไม่ใช้ความรุนแรง” ในมุมมองของ “ภัควดี วีระภาสพงษ์” นักแปลและนักกิจกรรม ผู้ประกาศตัวว่าเป็น “นักแปลที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง” และเป็นผู้ทำงานแปลจุลสารการเมืองที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา “สามัญสำนึก” ของ โธมัส เพน

สันติวิธี : อาวุธเดียวของประชาชน?

รัฐบาลในโลกปัจจุบัน ส่วนใหญ่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการปราบจลาจล หรือ อาวุธสงครามในระดับที่เรียกว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธจากประชาชนนั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เช่น 30 – 40 ก่อนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศจับอาวุธลุกขึ้นสู้ รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบัน ซึ่งการใช้อาวุธแบบนี้ ปัจจุบันแทบจะหาทางเอาชนะไม่ได้อยู่แล้ว

ไม่มีอะไรมากกว่า “เป็ด กับลูกโป่ง”
ประชาชนก็มีอยู่เท่านี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ดังนั้น การต่อสู้ของประชาชนในยุคปัจจุบันจึงใช้ “สันติวิธี” หรือ “ไม่ใช้ความรุนแรง” เป็นหลัก เพราะเป็นวิธีเดียวที่ประชาชนมีอยู่

ก่อนหน้านี้มีคำพูดว่า เดี๋ยวจะไปยึดรัฐสภาทั้งทางบก น้ำ อากาศ สุดท้ายแล้วก็คือ ไม่มีอะไรมากกว่า “เป็ดกับลูกโป่ง” ประชาชนก็มีอยู่เท่านี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ เราก็ใช้จำนวนไปกดดันเท่านั้นเอง ก็เหมือนเดิม นี่คือสิ่งเดียวที่ประชาชนมี

ภาพ : ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส

รัฐบาลควรรับฟังประชาชน ในฐานะเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 “บางครั้งต้องไปปิดถนนบ้างอะไรบ้าง ปั่นป่วนระบบ เพื่อให้เห็นว่าระบบมีปัญหา ถ้าระบบไม่มีปัญหา ประชาชนก็คงไม่ออกมา นอกจากจำนวนคนที่ประชาชนมี ก็มีถ้อยคำที่จะส่งเสียงเรียกร้องไปถึงรัฐบาล การที่รัฐบาลไม่รับฟัง นั่นคือความรุนแรงขั้นต้น มันจะทำให้ประชาชนสิ้นหวัง เราก็ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปข้างหน้า”

เมื่อข้อเรียกร้องไม่ถูกตอบสนอง ปฏิกิริยาโต้กลับของผู้ชุมนุมกลายเป็นคำถามว่า แค่ไหนคือขอบเขตของ “สันติวิธี”?

 “การสาดสีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันเกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมที่ฉีดน้ำผสมสารพิษ การสาดสี คือ การระบายความโกรธ ออกไป”

ภัควดี ย้ำว่า ถ้าดูจากการประท้วงของไทยที่ผ่านมา การชุมนุมที่เป็นกระบวนการของนักศึกษาและประชาชนครั้งล่าสุด ถือว่า ใช้สันติวิธีที่สุดแล้ว การยึดสถานที่ แทบจะไม่เกิดขึ้น เมื่อมีคำสั่งสลายการชุมนุม แกนนำเองก็ห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ชุมนุม โดยเลือกใช้การประกาศยุติการชุมนุม กระทั่งหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ทำให้ปฏิกิริยาเปลี่ยนไป

เธอบอกว่า เวลามองการประท้วง จะต้องไม่มองแยกส่วน และต้องดูด้วยว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของรัฐบาลที่เรียกว่าเป็น อารยะประเทศ คือ รัฐบาลจะดูว่าอะไรคือเรื่องที่ทำให้ “ประชาชนโกรธแค้น” ถึงแสดงออกมาเช่นนั้น

การสาดสีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันเกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมที่ฉีดน้ำผสมสารพิษ การสาดสี คือ การระบายความโกรธออกไป ส่วนการใช้คำหยาบของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน ขณะที่เรามีจารีตห้ามใช้คำหยาบ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ พวกเขาจึงถูกจับจ้อง แต่มันเป็นสิ่งที่พวกเขาต่อต้าน เพราะถูกกดทับเอาไว้

ภาพ : ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส

เธอยังยกตัวอย่างการรณรงค์ ติดแฮชแท็ก “กูสั่งให้มึงเข้าสภา” เพื่อให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าไปลงมติไม่ไว้วางใจ ก็เพื่อต้องการแสดงความเป็นเจ้าของประชาธิปไตย เพื่อแสดงความเท่าเทียม บ่งบอกว่าประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของประชาธิปไตยเช่นกัน

ภัควดี ย้ำด้วยว่า ในหลักสากล ไม่ได้มองว่า “คำหยาบ” เป็นความรุนแรง หรือเป็น “เฮท สปีช” (Hate Speech) เพราะเฮท สปีช คือ การยั่วยุ อาจไม่จำเป็นต้องมีคำหยาบ เช่น เยาวชนเป็นพวกชังชาติ เป็นขยะ ต้องกำจัดให้หมด ไม่มีคำหยาบแต่ถือเป็นเฮท สปีช เป็นการใช้ความรุนแรง เพียงแต่อาจจะไปกระทบสิ่งที่เคารพนับถือบูชาของคน ซึ่งภัควดีตั้งข้อสังเกตว่า ต้องพิจารณาด้วยว่า สัญลักษณ์ที่เทิดทูนนั้น วางอยู่บนสถานะที่เหมาะสมแล้วหรือไม่

นิยามชัด “สันติวิธี”

การใช้สันติวิธี หรือ ไม่ใช้ความรุนแรงจะแตกต่างไปตามบริบทแต่ละประเทศ แต่โดยหลักที่เป็นขั้นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ

1. จะไม่มีการทำร้ายมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

2. ไม่ทำลายทรัพย์สินของเอกชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วง เช่น การปล้นชิงทรัพย์ร้านขายของชำ ให้ถือเป็นความรุนแรง

ส่วนกรณีของการสาดสี พ่นสีในสถานที่ราชการ อาวุธของข้าราชการ ในหลายประเทศไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง หรือการประท้วงระบบทุนนิยม และทำลายทุบกระจกธนาคาร ในบางประเทศก็ยังก้ำกึ่งถกเถียงกันอยู่ว่าใช่ความรุนแรงหรือไม่ เพราะฉะนั้น ขั้นต่ำสุดมีเพียง 2 ข้อ

สันติวิธี ไม่ได้แปลว่าต้องสบายใจ คนที่จะออกมาต่อสู้จะต้องสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ปกครองอยู่แล้ว รัฐบาลอังกฤษ ก็ต้องไม่สบายใจกับ คานธี รัฐบาลอเมริกา ไม่พอใจกับ ลูเธอร์ คิง แอฟริกาใต้ ไม่พอใจกับ เนลสัน แมนเดลา เมียนมาไม่พอใจกับ ออง ซาน ซูจี”

โดยส่วนใหญ่นอกเหนือจากนี้ถือเป็นปกติของการประท้วง เพราะบางประเทศเพดานการประท้วงสูงกว่าเรา จึงถือเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ส่วนตัวคิดว่า ผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีอย่างเต็มที่แล้ว อยากเตือนรัฐบาลมากกว่า ควรจะสลายการชุมนุมตามหลักสากลจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาละเมิดประชาชนและหลักการสากลมาตลอด

ภาพ : ช่างภาพข่าวไทยพีบีเอส

บทส่งท้าย

ต้องจับตาดูว่า การนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ต่อเนื่องถึง 7 วัน จะยกระดับไปในทิศทางใด ท่ามกลางจุดยืน “สันติวิธีขั้นสูงสุด” รวมทั้งบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่เรียกความสนใจให้กับการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา


เครื่องเคียง

#กูสั่งให้มึงเข้าสภา คือ แฮชแท็กจากประชาชนในทวิตเตอร์ ที่ขึ้นอันดับ 1 ในเวลาไม่นาน สวนมติที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านแถลงร่วมกันว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพื่อลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 28 ก.พ. 2563 และฝ่ายค้านจะไม่โหวตลงมติไม่ไว้วางใจ โดยไม่ร่วมตั้งแต่เป็นองค์ประชุม จะให้รัฐบาลโหวตกันเอง

ภายหลังจากมีมติดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ประชาชนในทวิตเตอร์ได้ร่วมกันทวีตแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการออกคำสั่งให้ผู้แทนของพวกเขาต้องเข้าไปร่วมโหวตลงมติในสภา แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน