“เราจะอยู่กันอย่างไร ในโลกซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เลยต้อง ประคับประคองความขัดแย้ง ให้ดี ความขัดแย้งเป็นเครื่องจักรกลสำคัญในการผลักดันสังคม มันเลยเป็นของที่จะต้องเฝ้าระแวดระวัง คอยปกป้อง ไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง เพราะความรุนแรงในทางกลับกันมันก็ทำลายความขัดแย้ง”
“เชื่อว่าตอนนี้ก็มีหน่วยงานที่ฟังเสียงของนักสันติวิธี แต่เขาจะไปทำอะไรนั้น ไม่รู้ และไม่รู้ว่าจะเบียดทะลุเข้าไปในวงล้อมของสื่อหรือวงล้อมข้อมูลที่ล้อมตัวผู้มีอำนาจสูงสุดหรือเปล่า ผมก็อยากให้เขาได้ยินสิ่งเหล่านี้”
The Active พูดคุยกับ “ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี กับเสียงของนักสันติวิธีที่อยากสื่อสารออกไปอีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ “ความขัดแย้ง” ถูกละเลย
เหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม อาจารย์อยากจะบอกอะไร
เรื่องที่จะบอกกับผู้ควบคุมฝูงชน หมายถึงตำรวจ สิ่งที่อยากจะบอก คือ อย่าทำตามตำรามากนัก ส่วนฝ่ายผู้ประท้วง อยากจะบอกว่าให้ทำตามตำราโดยเคร่งครัด
เพื่อจะอธิบายข้อเสนอนี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่นี้ แต่จะมีต่อกลุ่มอื่นด้วย รวมทั้งสื่อมวลชน มีแค่ 5 คำที่จะพูด คือ “ความขัดแย้ง” “การควบคุมพื้นที่ของตำรวจ” “การใช้เสรีภาพของฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรง” “พื้นที่” และ “สื่อ”
คนชอบเรียกผมว่าเป็นนักสันติวิธี งานที่ผมทำ คือ เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง ผมไม่คิดว่าหน้าที่ของผมคือไปบอกตำรวจว่า อย่าใช้ความรุนแรง คือจะไปบอกอย่างนั้นก็ไม่รู้มีประโยชน์อย่างไร หรือบอกผู้ชุมนุมว่า อย่าชุมนุม มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งคู่
เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีคนเผชิญหน้ากัน ตำรวจก็ทำตามหน้าที่ ซึ่งหน้าที่นั้นก็เป็นตัวกำหนดว่า เขาจะต้องทำแบบนี้ คือ หน้าที่ในการควบคุมพื้นที่ตามที่ได้รับคำสั่งมา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุม สิ่งที่เขาต้องทำ ก็ทำตามปรารถนาแห่งหัวใจของเขาว่า เขาเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และในประเด็นต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าสำคัญต่อบ้านเมือง แล้วเราเป็นใครถึงไปบอกเขาว่า อย่าทำ?
แล้วถามว่าวันนี้อยากจะทำอะไร ผมก็ทำสิ่งที่ผมสนใจทำมาตลอด คือ ผมคิดว่าหน้าที่ที่ผมอยากจะทำ คือ การปกป้องความขัดแย้ง
สำหรับสังคม ความขัดแย้งเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการแก้ปัญหา สำหรับการเปลี่ยนแปลง สำหรับการเดินไปสู่อนาคตแบบที่จำเป็น และอาจจะเป็นที่พึงปรารถนาของคนในสังคม ดังนั้น การพยายามที่จะป้องกันความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ปกป้องความขัดแย้ง หมายถึง ปกป้องให้ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ ปกป้องทำไม
ใช่ เพราะสังคมมันต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าไม่มีความขัดแย้งในสังคม มันเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าไม่มีการท้าทายสิ่งในอดีต มันเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดในโลก ไม่มีความรู้ ไม่มีพัฒนาการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้
ความขัดแย้งเป็นเครื่องจักรกลสำคัญของการผลักดันสังคมให้ไปสู่ที่ต่าง ๆ ดังนั้น มันเลยเป็นของที่จะต้องเฝ้าระแวดระวัง คอยปกป้องไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง เพราะความรุนแรงในทางกลับกันมันก็ทำลายความขัดแย้ง
ความรุนแรงแบบเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ถือว่าทำลายความขัดแย้ง?
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ยังปริ่ม ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้จำเป็นต้องมาคุยกันถึงเรื่องนี้ แต่ขอย้อนไปอธิบายอีกนิดว่า ทำไมเราต้องปกป้องความขัดแย้งด้วยการคิดถึงวิธีการต่าง ๆ
เหตุผลก็คือ ตอนนี้บ้านเมืองของเราอยู่ในภาวะเสี่ยง สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดและผมกลัวไม่อยากให้เกิดขึ้น คือปรากฏการณ์ที่ในทางวิชาการเรียกว่า สงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายที่ถืออาวุธ
สงครามกลางเมืองในฝ่ายที่ถืออาวุธ ในการศึกษาบางชิ้นบอกว่า เกิดขึ้นเพราะรัฐอ่อนแอ ล้มเหลว ก็เลยเกิดการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน แล้วทั้ง 2 ฝ่ายถืออาวุธมาปะทะกัน
ผลการศึกษาในระยะหลังบอกว่า ความเสี่ยงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐอ่อนแอเท่านั้น แต่มีคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วย คือ รัฐนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นรัฐส่วนบุคคล และมีลักษณะที่บางคนเรียกว่าเป็นระบอบอุปถัมภ์แบบใหม่ คือ เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มาจากบนสุด ลงไปถึงล่างสุด
แล้วใช้ทรัพยากรของรัฐ เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นระบอบอุปถัมภ์ให้ยั่งยืน พอทำแบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเลยขัดกับประชาธิปไตย เพราะพื้นฐานประการหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ ความเสมอกัน การมีเสรีภาพ บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องภารดรภาพด้วย ซึ่งของเหล่านี้ในที่สุดแล้วจะรบกวนสิ่งเหล่านี้
รัฐแบบนี้ มีข้อศึกษาที่พบว่า เป็นตัวเพิ่มปัจจัยเสี่ยง คือ ถ้ารัฐเป็นแบบนั้น เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไฮบริด หรือครึ่งใบ ก็จะมีผลเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองในอนาคตในระยะยาว ดังนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือจำเป็นจะต้องรักษาความขัดแย้งไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้
แล้วสถานการณ์แบบเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม อาจารย์บอกว่าเป็นความรุนแรงที่ปริ่ม ๆ ที่จะทำลายความขัดแย้ง?
หมายความว่า ตอนนี้เรากำลังมีขบวนการอย่างคณะราษฎรปี 2563 หรือตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ราษฎร ที่น่าสนใจมาก คือ คิดว่าตั้งแต่ต้นมาจนถึงวันที่ 16 ต.ค. เราต้องแยกระหว่างข้อเรียกร้องของเขา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ตกมาในสังคมที่แยกขั้วแบ่งข้างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาบัน
แต่ว่าวิธีที่เขาทำ ยังรู้สึกว่าเป็นการทำงานที่ไม่ใช้ความรุนแรงที่บริสุทธิ์เหนือกว่าการทำงานในอดีตเกือบทั้งหมด ในขบวนการที่เคยเห็นกันมา อาจจะยกเว้นกรณีของสมัชชาคนจน นี่คือสิ่งที่ใช้วิธีการสันติวิธีอย่างจริงจัง
ดังนั้น สิ่งที่ตอนนี้พยายามจะเรียนรู้จากพวกเขาคือ เขาเก่งมาในการรักษาผู้คนที่เข้ามาประท้วงโดยให้ใช้สันติวิธีแบบเข้มข้น และทำได้ดี ไม่มีฝ่ายใดที่เข้ามาทำให้แปรรูปเป็นอย่างอื่น
แต่ที่คนบอกรับไม่ได้ คือ การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีแบบนี้ยังถือว่าอยู่ในขอบเขตของสันติวิธี?
ตอนนี้เราอยู่ในโลกซึ่งการใช้ภาษา วิธีการพูดถึง หรือคำหยาบ มันกลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ถ้อยคำแบบนี้ ซึ่งในคนรุ่นผมจะถือว่าหยาบคาย แต่ในคนอีกกลุ่มนั้น มันไม่ใช่ ดังนั้น มันเลยมีปัญหาที่ขัดใจคนอีกรุ่นหลายชั้น วิธีที่สื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เคยเสนอไปว่า บางทีมันเป็นเรื่องวิธีสื่อสาร แต่สำหรับพวกเขา วิธีสื่อสารแบบแรง ๆ มันก็อาจจะเป็นวิธีที่เขาคุ้นชิน ก็เลยเป็นปัญหา ซึ่งมันไม่ควรทำ เพราะไปบาดใจคนที่มีความรักความหวงแหนในสถาบันพระมหากษัตริย์
อีกอย่างคือ ความขัดแย้งนี้ ก็อยู่ในสังคมที่แตกขั้วแบ่งข้างชัดเจนว่า ฝ่ายหนึ่งก็คิดถึงเรื่องสถาบันฯ แบบอยู่กับที่ อีกฝ่ายก็คิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลง การคลี่คลายปมเหล่านี้ ฝ่ายหนึ่งได้เสนอว่าควรเปลี่ยนแปลง ส่วนฝ่ายที่คิดว่าควรจะอยู่กับที่ ก็ต้องมาคิดใคร่ครวญ แต่บางทีข้อเสนอเหล่านั้นมันถูกบังคับโดยถ้อยคำ โดยวิธีการเสนอที่แรงเกินไป เกินกว่าที่อีกฝ่ายจะรู้สึกว่ารับฟังได้
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้ไม่ฟังแล้วว่าข้อเสนอเหล่านั้นคืออะไร แต่ตอนหลัง ๆ ถ้าสังเกตการชุมนุมหรือการปราศรัย เสียงที่ออกมาก็จะเน้นไปที่เรื่องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม การพูดถึงสถาบันฯ น้อยลง อาจารย์ก็เห็นอย่างนั้น?
ก็ได้ยินทำนองนั้น คือ ตอนนี้ก็จะเป็นประเด็นเดิมที่มี 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เคยพูดมาตั้งแต่ต้นว่า คือ การคุกคาม รัฐอย่าไปคุกคามจนเกินไป แต่รัฐก็บอกว่ามีหน้าที่ทำตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองสถาบันฯ ดังนั้น การกล่าวอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหา รัฐก็ทำตามหน้าที่ของเขา แต่การทำหน้าที่ของรัฐ ก็คือวิธีการที่รัฐจะทำได้
เรื่องที่สอง สิ่งที่อยากจะบอกกับทั้ง 2 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่บอกว่า อย่าทำตามตำรา จนเกินไป หมายความว่า ขณะนี้เขามีหน้าที่ที่ถูกมอบหมายมา อาจจะด้วยอำนาจใด ๆ ก็แล้วแต่ที่ทรงอำนาจในบ้านเมืองของเรา เพราะเราเองก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่า มีอำนาจมากมายอยู่ในรัฐพันลึกนี้ เขาก็ไม่มีทางเลือกและต้องทำตามทุกอย่าง ตามหน้าที่ของเขา และหน้าที่ของเขาก็คือ ควบคุมพื้นที่
สมมติเขามีหน้าที่ควบคุมพื้นที่ สิ่งที่เราเห็นก็คือ การใช้ปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ และใช้น้ำผสมสารเคมีบางอย่าง ประเด็นคือ ถ้าเป็นไปตามที่เขาคิด เขาก็จะเพิ่มดีกรีของการคุกคาม เพื่อทำหน้าที่ควบคุมพื้นที่ จากปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ ก็เป็นเครื่องส่งเสียงความถี่สูง และต่อจากนั้นก็จะเป็นแก๊สน้ำตา จากนั้นก็เป็นการควบคุมโดยการใช้กระสุนยาง และจากนั้นก็เป็นกระสุนจริง
แก๊สน้ำตาไม่ได้แค่ทำให้น้ำตาไหล แต่ผิวหนังก็จะแสบ หายใจไม่ได้ ส่วนกระสุนยางก็ไม่ใช่กระสุนไม้ก๊อก ข้างในมันหุ้มเหล็ก ยิงแล้วกระดูกแตกได้ ดังนั้น ถ้าไปจุดนั้น ความรุนแรงก็เพิ่มขึ้น ถ้าทำตามตำราก็จะวิ่งไปตามนั้น แต่ถ้าไม่ทำตามตำรา ก็คือหยุดตอนนี้ และแถมถอยหลังหน่อยก็ได้ เช่น ลดขนาดปืนฉีดน้ำลง ตำรวจที่เข้าไปเมื่อคืนเห็นบางคนถือกระบอง แต่เข้าใจว่าไม่ได้ใช้ ซึ่งดีมากที่ไม่ติดปืนไป ถ้าต้องดันก็ใช้โล่พลาสติกดัน ส่วนปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ก็ใช้สายฉีดแทนได้ไหม หรือปืนที่มีความดันน้อยลง ทำให้เหมือนฉีดน้ำระดับสงกรานต์
ถ้าเป็นแบบนั้น ก็จะทำให้ไม่เกิดความกลัว?
แต่เขาดันได้ คือ เขาต้องทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองพื้นที่ของเขา หรืออีกทางถ้าสมมุติว่าคนเข้ามาในพื้นที่นั้น ล้อมเฉย ๆ ไม่ทำอะไร นั่งเฉย ๆ ฝนก็ตก คนก็ทำอะไรไม่ได้
คือ ปัญหาของเขา คือ ต้องไปให้หมดภายในครึ่งชั่วโมง เมื่อมีกำหนดเวลาแบบนั้น ก็ไปทำลายโอกาสในการตัดสินใจของฝ่ายผู้ประท้วงด้วย
การกำหนดเวลา ทำให้ผู้ประท้วงไม่มีโอกาสตัดสินใจ?
ใช่ เพราะแต่ละคนที่มาประกอบกันเป็นแฟลชม็อบ เขาก็มีตัวตน มีความคิดอ่านของเขา และไม่ใช่ตัวตนในแบบที่มีออร์แกไนเซอร์คอยสั่ง เขามาเพราะเขารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญกับชีวิตเขา และเขาก็จะอยู่ตราบเท่าที่เขายังรู้สึกว่ามีความสำคัญต่อชีวิตเขา และเขาก็จะไปเมื่อเขาคิดว่าเรื่องมาถึงตรงนี้แล้ว จบแล้ว
จริง ๆ ก็มีการประกาศก่อนว่าจะเป็นแฟลชม็อบ?
ดังนั้น ฝั่งนี้ก็ต้องทำตามตำราโดยเคร่งครัด แฟลชม็อบ คือ การปรากฏตัว เสนอประเด็นโยนลงไปในสังคมว่า ตอนนี้เรามาเสนอเรื่องที่รัฐคุกคาม ขอให้ปล่อยและรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก คือพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด แล้วก็ไปอย่างรวดเร็ว คือเป็นแฟลชจริง ๆ อย่าอยู่นาน ถ้าทั้งสองฝ่ายทำในลักษณะนี้ ความขัดแย้งก็ไม่ไปแบบเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
แล้วทำไมต้องไปถึงขนาดนั้น จะอธิบายแทนรัฐอย่างไร
เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เคลียร์พื้นที่ และมีกำหนดว่าพื้นที่เป็นอย่างนี้ หน่วยงานนี้รับผิดชอบพื้นที่นี้ แฟลชม็อบอยู่ตรงนี้ ก็ต้องเคลียร์ให้ได้ภายในเวลากำหนด คือ พอบังคับเรื่องเวลา ก็เลยกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำแบบนี้ ซึ่งถ้าเขาไม่ทำ ก็จะถูกกล่าวหาว่าทำไม่สำเร็จ ถูกโยกย้าย คือ ก็เข้าใจว่าเขามีหน้าที่ต้องทำ
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในตอนนี้ หยุดการฉีดน้ำ ไม่ฉีดด้วยน้ำผสมสารเคมี หรือฉีดน้อยลง และอย่าไปกดดันจนไม่มีทางเลือกให้ม็อบในเวลาอันสั้น คือ ฝ่ายที่ควบคุมอาจจะต้องทอดเวลาออกไป แต่ฝ่ายประท้วงอาจจะต้องย่นเวลาเข้ามา
แบบนี้ ฝ่ายที่ใช้อำนาจของรัฐ จะไม่ถูกมองว่าอ่อนข้อหรืออ่อนด้อย?
ก็ไม่ได้อ่อนอะไร เพราะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ ก็ต้องทำให้สำเร็จ และถ้าทุกฝ่ายทำอย่างนี้ด้วยกัน ทุกคนก็จะรักษาความขัดแย้งได้รอด และได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องทำ
เรื่องต่อไป ที่น่าจะมีก็คือประเด็นที่สี่ คือ ทั้งหมดที่เราเห็นคือการร่ำร้องหาพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นที่เขาเชื่อว่าเป็นเสรีภาพของเขา การแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกในประเด็นที่เขาคิดว่าสำคัญต่อบ้านเมืองในความรู้สึกของเขาซึ่งพื้นที่ปลอดภัยนั้นมันถูกปฏิเสธ คิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องหวนกลับไปเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เขา ผมกำลังคิดถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศนี้
คือ ถ้ารัฐบาลเปิดโอกาสและบอกให้เปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัย อยากชุมนุมก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยเลย ถ้าทำแบบนั้นได้ ก็จะไม่ไปอยู่บนถนน ก็จะกลับไปอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบตามระบบมหาวิทยาลัย เขาได้พูดแบบของเขา ตำรวจก็เฝ้าดูได้ซึ่งก็ทำแบบนี้ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักศึกษา คอยจดชื่อคน ก็เป็นหน้าที่ปกติ เพียงแต่ให้อยู่ในที่ปลอดภัย ฝนตกก็มีชายคา เข้าห้องน้ำได้ ใครเจ็บป่วยก็มีหน่วยพยาบาล มีทุกอย่างในนั้น อย่างเช่นที่เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม คณะรัฐศาสตร์ หรือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้ ก็ต้องชื่นชม
แต่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในคนละความหมายหรือเปล่า เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม คือการเข้าไปหลบในช่วงที่ชุลมุน
ประเด็นคือ มันไม่จำเป็นต้องไปถึงขนาดนั้น คือทั้งหมดเพราะว่าทำไมต้องออกไปบนถนน เพราะพื้นที่มหาวิทยาลัยถูกปิด คำถามคือ เมื่อถึงเวลา เปิดให้เขาไหม
เปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ก็อาจจะมีข้อกำหนดที่ก็อาจถกเถียงตกลงกันได้ เช่น ถ้อยคำแบบนี้อย่าใช้ในมหาวิทยาลัย หรือหยาบคายนิดหน่อย ถ้าทำแบบนี้ก็อาจจะแก้ปัญหาได้
และประเด็นสุดท้าย คือ อยากเห็นการร่วมมือกันของคณะวิชาด้านสื่อสารมวลชน ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวจริง ข่าวลวง เพราะขณะนี้ข่าวลวงที่ออกมามันเหมือนไฟที่คุอารมณ์ของคนให้มันโชนขึ้น อย่างเมื่อคืนขณะที่กำลังมีเรื่อง ก็มีข่าวว่ากำลังใช้กระสุนยาง ก็ต้องเช็กกันว่าจริงหรือเปล่า แต่พออ่านบันทึกของอาจารย์เวียงรัฐก็จะเห็นว่าไม่มี คนก็เข้าไปในจุฬาฯ อย่างปลอดภัย
ขณะนี้สิ่งที่เราต้องการ คือ เมื่อมีการชุมนุมเป็นไปได้ไหมว่าคณะวิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ และอื่น ๆ ร่วมมือกันตั้งคณะเฉพาะกิจทำหน้าที่ fact check โดยตรง ที่ต้องเป็นคณะวิชาพวกนี้ เพราะคนไม่เชื่อ fact check ของรัฐบาล แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็น่าจะดีกว่าที่จะเป็นหน่วยงานของกรมประชาสัมพันธ์ หรือ กอ.รมน. คือ เป็นที่ซึ่งเราจะยกหูโทรศัพท์ได้ และถามว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น คนที่ออกมาประท้วงก็มีลูกหลานมาเยอะ พ่อแม่จะได้เช็กได้ว่า เขายิงกระสุนยางจริงหรือเปล่า จะได้ตรวจและตอบได้ คล้าย ๆ เป็นเลข 4 หลักที่เขาจะโทรเข้ามาได้
เราควรจะสนับสนุนงานประเภทนี้ เพื่อป้องกันและประคับประคอง ไม่ใช่แค่ความขัดแย้ง แต่ประคับประคองผู้คน คู่ขัดแย้ง ไม่ให้ข่าวลือร้าย ๆ ที่เป็นยาพิษบ่อนทำลายประเทศนี้จนตอนนี้กร่อนไปหมดแล้ว อย่าให้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นการต่อสู้ที่สำคัญมากของคนที่เรียนนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์
ในสถานการณ์ที่ใกล้ความรุนแรงหรือมีความขัดแย้งเข้มข้นอย่างที่เกิดขึ้น เหยื่อรายแรก ๆ ของความรุนแรงคือความจริง สิ่งที่เข้ามาแทน คือข่าวลวงนับไม่ถ้วนอย่างที่ปรากฏขึ้น หน้าที่ของข่าวลวงนี้มันมีผลต่อการปล่อยยาพิษเข้ามาสู่ระบบของความขัดแย้งที่กำลังต่อสู้ และมันก็จะเปลี่ยนสี เปลี่ยนรส ของความขัดแย้ง เปลี่ยนบุคลิกภาพความขัดแย้งให้ร้าย โหด เหี้ยม ซึ่งของพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาเลย
สิ่งที่ต้องทำ คือ อยากเห็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องนี้ ดังนั้น หน่วยงานรัฐบาลตกไป เพราะเราอยู่ในสังคมที่รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งหน่วยงานที่อยากจะเห็นคือ คณะวิชาที่สอนด้านนี้ เช่น วารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จับมือกันตั้งทีมทำหน้าที่ fact check ทำหน้าที่กรองว่าสิ่งที่เห็นเป็นอย่างไร ต้องทำเร็วและมีประสิทธิภาพ คิดว่ามันจะช่วยมาก
ทั้ง 5 ประเด็นนี้ เป็นข้อเสนอที่ผมอยากจะนำเสนอสังคมไทยในเวลานี้
เสียงของนักสันติวิธี จะมีช่องทางหรือกลไกเข้าสู่การตัดสินใจของคนในอำนาจรัฐ?
เชื่อว่าตอนนี้ก็มีหน่วยงานที่ฟังเสียงเหล่านี้อยู่ แต่เขาจะไปทำอะไรนั้น ไม่รู้ และไม่รู้ว่าจะเบียดทะลุเข้าไปในวงล้อมของสื่อ หรือวงล้อมข้อมูลที่ล้อมตัวผู้มีอำนาจสูงสุดหรือเปล่า
“ผมก็อยากให้เขาได้ยินสิ่งเหล่านี้ เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นจริงว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว มีคนที่ไม่เหมือนกันจริง ๆ และปัญหาใหญ่ที่สุดของเราก็คือ คนที่ไม่เห็นด้วย ต้องบังคับให้เห็นด้วย คนที่ไม่รัก ต้องบังคับให้รัก คนที่เกลียด ต้องเปลี่ยนให้มารัก ซึ่งความรักหรือเกลียดมันบังคับให้เกิดไม่ได้ ยิ่งบังคับ ยิ่งเป็นอย่างอื่น”
ปัญหาก็คือ เราจะอยู่กันอย่างไร ในโลกซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เลยต้องกลับมาประเด็นที่หนึ่งคือประคับประคองความขัดแย้งให้ดี เป็นกุญแจสำคัญถึงจะไปต่อข้างหน้าได้