“กลไกรัฐสภา” กับการ “เปลี่ยนพื้นที่ความรุนแรง เป็นพื้นที่การเมือง”

แทนที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลาย การชุมนุมขยายตัวเป็นวงกว้าง พร้อมกับภาพการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ภายใต้เครื่องมือการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามถึงการใช้ กลไกรัฐสภา เพื่อหาทางออก เปลี่ยนพื้นที่ความรุงแรงบนถนน เป็นพื้นที่พูดคุยผ่านกลไกรัฐสภา แต่มีแนวทางใดบ้าง และจะเป็นทางออกจริงหรือไม่ ตรวจสอบจากมุมมอง ส.ส. ซีกฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา

เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เพิ่งออกแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้านประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล และเรียกร้องให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วที่สุด

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ระบุว่า แม้จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ สภาสมัยสามัญก็จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พ.ย. นี้ แต่สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่น่าไว้วางใจ ปล่อยให้การแก้ปัญหาล่าช้าไปกว่านี้ไม่ได้ จึงเรียกร้องให้เปิดสภาสมัยวิสามัญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ที่ให้ ส.ส.และ ส.ว. หรือเฉพาะ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านมีอยู่ 212 คน ยังขาดอีกเพียง 30 กว่าคนเท่านั้น จึงเรียกร้องให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงชื่อเพื่อเปิดสภาสมัยวิสามัญหาทางออกให้กับปัญหา

“การเปิดสภาฯ แม้จะแก้ปัญหาไม่ได้ทันที แต่เท่ากับเปิดพื้นที่ให้กระบวนการทั้งหมดเข้าสู่การตรวจสอบของรัฐสภา นายกฯ และผู้เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามว่าใครต้องรับผิดชอบความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น แม้แต่ประเด็นการเปลี่ยนพื้นที่เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ให้ผ่านพื้นที่การชุมนุม ก็เป็นหน้าที่สภาฯ ต้องตรวจสอบ”

เขาบอกอีกว่า วันจันทร์ที่ 19 ต.ค. นี้ พรรคเพื่อไทยจะประชุมเพื่อมีมติและร่วมลงนามกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน พร้อมประสานความร่วมมือไปยัง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอเสียงสนับสนุน โดยไม่แบ่งฝ่าย

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ชูธงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด และเป็น 1 ในข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ถึงเวลาที่สภาฯ จะเป็นทางออกให้กับประเทศ ในขณะที่รัฐบาลและผู้ชุมนุมกลายเป็นคู่ขัดแย้ง ภายใต้ 2 ข้อเรียกร้องหลัก คือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมระบุเห็นด้วยกับการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออก ล่าสุด ได้หารือภายในเพื่อเรียกประชุมพรรคโดยเร่งด่วน พร้อมเตรียมประสานกับเพื่อน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล

“เห็นด้วยกับการเปิดสภาสมัยวิสามัญ พร้อมเสนอให้พรรคการเมืองในสภาฯ ออกสัญญาประชาคมร่วมกันว่าจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ส่วนการชุมนุมเรียกร้อง เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐจะจัดพื้นที่ชุมนุมให้อย่างชัดเจน”

ตรวจสอบไปยังสมาชิกวุฒิสภา คำนูญ สิทธิสมาน ยอมรับว่า ขณะนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุม ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ส่วนตัวเห็นว่า หากจะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออก ต้องโหวต 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างวาระอยู่ก่อน จึงจะหารือเรื่องอื่นได้ ดังนั้นหากจะใช้กลไกสภาคลี่คลายปัญหา นายกรัฐมนตรีต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ในข้อเรียกร้องสำคัญก่อน

“ก่อนจะเปิดประชุมรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ต้องประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนให้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากผ่านวาระหนึ่งแล้ว จะเร่งออกกฎหมายประชามติเพื่อรองรับการทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย และเมื่อการแก้ไขเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ก็พร้อมจะยุบสภาเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

เขาให้เหตุผลว่า ท่าทีที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรี มีส่วนสำคัญ เพราะแม้ในทฤษฎีนายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถสั่งการ ส.ส. หรือ ส.ว.ได้ แต่เชื่อว่า ท่าทีที่ชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พเยีย พรหมเพชร