ภาษา การรับฟัง และความขัดแย้ง…เพื่อการสื่อสารอย่างสันติ

: ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

“ภาษา” ถูกสร้างให้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร แต่การสื่อสารบางครั้งก็สามารถเป็นอาวุธที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความเกลียดชังได้

แนวคิด “Non Violent Communication” หรือ “NVC” คือ การสื่อสารอย่างสันติ การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะบอก ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความต้องการเบื้องลึก’ เพื่อหาทางออกอย่างสันติ แม้ขัดแย้ง แต่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง

The Active ชวนสร้างเครื่องมือการสื่อสารอย่างสันติกับ ‘ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์’ จาก Peace Academy หรือ สถาบันสอนอบรมการสื่อสารอย่างสันติ

ภาพ: a day BULLETIN

Peace Academy สอนอะไร?

สอนเครื่องมือที่เรียกว่า “การสื่อสารอย่างสันติ”  หรือว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า “Non Violent Communication” เรียกง่าย ๆ ว่า “NVC” ซึ่งมีการเผยแพร่ไปแล้วใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยริเริ่มขึ้นมาจาก มาร์แชลล์ โรเซนเบิร์ก นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน ที่นำเครื่องมือตัวนี้ เดินทางสอนไปในพื้นที่ความขัดแย้งต่าง ๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยรบ เคยฆ่ากันมาก่อน มาร์แชลล์ โรเซนเบิร์ก ก็สามารถช่วยเขาระงับข้อพิพาท สร้างความเข้าใจ และหาทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

NVC หรือการสื่อสารอย่างสันติ

เวลาที่เราพูดถึงความขัดแย้ง หลายคนจะเข้าใจว่าเราต้องหาทางออกทันที ถึงจะทำให้แต่ละฝ่ายพึงพอใจ แต่ว่า มาร์แชลล์ โรเซนเบิร์ก บอกว่า ก่อนที่จะหาทางออก เป้าหมายสำคัญ คือ สร้างความเข้าใจกันก่อน เพราะถ้าไม่เข้าใจกันจริง ๆ แล้ว ต่อให้มีข้อตกลงที่ดี หลายครั้ง ข้อตกลงนั้นก็ไม่ถูกทำตาม เพราะคนไม่ได้เข้าใจกันจริง ๆ ฉะนั้นเป้าหมายของ NVC คือ การสร้างความสัมพันธ์ ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจก่อน แล้วค่อยหาทางออก ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของแต่ละฝ่ายทีหลัง อันนี้คือเป้าหมายหลัก

ส่วนองค์ประกอบแรก คือ การสังเกต หรือ Observation หมายถึงการพูด หรือมองเหตุการณ์ โดยเชื้อเชิญให้เรากลับมาดูว่า มันเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ และเปิดใจที่จะฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากอีกฝ่าย วางการตัดสิน การตีความ และการต่อว่าลง เพราะความขัดแย้ง มักจะเกิดจากการที่เราตัดสิน ตีความ ต่อว่า แค่ได้ฟังก็ตัดสินทันที แล้วพูดต่อว่าอีกฝ่าย อีกฝ่ายก็ไฟลุกขึ้นมา

องค์ประกอบที่ 2 คือความรู้สึก หลายครั้งความขัดแย้งเต็มไปด้วยความรู้สึก ยิ่งถ้าเรามีความรู้สึก โกรธ เกลียด หรือเสียใจ จะยิ่งเติมเชื้อไฟ ให้กับความขัดแย้ง การสื่อสารวิธีนี้ คือต้องกลับมาดูแลความรู้สึกก่อน เพราะเมื่อเราเข้าใจตัวเองจริง ๆ ว่าลึก ๆ เป็นอย่างไร ก็จะสามารถสื่อสารความรู้สึก ที่ช่วยให้เราเข้าถึงหัวใจอีกฝ่ายได้ ไม่ใช่ความรู้สึกที่รุนแรง

องค์ประกอบที่ 3  คือความต้องการ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Need ในที่นี้ไม่ใช่ความต้องการผิวเผิน แต่คือสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมด Need คือหัวใจหลักของการสื่อสารวิธีนี้ ที่จะช่วยแก้ความขัดแย้ง เพราะเมื่อเราเข้าใจลึกลงไป ถึงเจตนาลึก ๆ หรือความต้องการลึก ๆ ของความเป็นมนุษย์ ว่าทำอย่างนี้ เพราะลึก ๆ ต้องการอะไร เราจะสามารถเข้าใจอีกฝ่ายได้ เพราะต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

ความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือ Need ของ NVC คืออะไร

ตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น ความขัดแย้งที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี

จะเห็นบทบาทของรัฐ ที่ตกลงทำ MOU ว่าจะชะลอการบังคับคดี ไม่นำชาวบ้านที่เดินกลับเข้าไปในป่าใหญ่ออกมา แต่ปรากฏว่าก็มีปฏิบัติการ ขนย้ายชาวบ้านลงมา ทีนี้เงื่อนไขที่เหมือนจะเจรจาจบไปแล้ว รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่พยายามใช้ก่อนหน้านี้ ถูกตัดตอนลงเลย กลายเป็นว่าความขัดแย้งอาจจะกลับมาอีกรอบ นั่นเพราะชาวกะเหรี่ยง อาจจะรู้สึกว่าปัจจัยพื้นฐานของเขา คือต้องการเข้าไปทำกินแบบดั้งเดิม ด้วยวิถีแบบไร่หมุนเวียน เพราะว่าไม่มีข้าวกิน อยู่ในชุมชนข้างล่าง แล้วมีข้อจำกัดเต็มไปหมด สิ่งนี้ถูกเปรียบว่าเป็น Need แบบความหมายที่ว่า เพราะความต้องการลึก ๆ ที่สำคัญของชาวบ้าน คือการมีชีวิตรอด รักษาวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนของเขาได้

เหล่านี้คือความต้องการของมนุษย์ ที่ต้องการการยอมรับ ต้องการการมีชีวิตรอด ต้องการความเคารพ เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น ถ้าเราเข้าใจลึกในระดับนี้ได้ ก็จะสามารถเข้าใจชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน พอลงไปถึงจุดร่วมตัวนี้ เราจึงเข้าใจฝ่ายที่อาจจะคิดต่างกับเราได้ เพราะมีความต้องการ ในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เป็นตัวช่วยสร้างสะพาน ระหว่างคู่ขัดแย้งได้

การสร้างจุดร่วม ท่ามกลางความขัดแย้ง

เวลาที่อยู่ในความขัดแย้ง ถ้าเราฟังแต่คำตัดสิน คำตีความ คำต่อว่า ของอีกฝ่าย ไม่มีทางที่จะไปเข้าใจอีกฝ่ายได้เลย แต่ถ้าเราฟังลึกลงไปว่า คำตีความ คำตัดสิน คำต่อว่านั้น มันบอกถึงความต้องการลึก ๆ อะไร ในฐานะเป็นมนุษย์ เราจะยังสามารถฟัง และเคารพเขาต่อไปได้ หลายคำที่ชาวบ้านก็มักจะหยิบยกขึ้นมา เช่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากยอมรับว่าวิธีแบบนี้ มีอยู่จริงในสังคมไทย ดังนั้นแล้วกระบวนการจัดการของรัฐ แนวทางแบบนี้ก็น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา ข้อตกลงอะไรหลาย ๆ ครั้ง ดูเหมือนจะจบ แต่สุดท้ายมันไม่จบ ยังคาราคาซัง เพราะว่าอาจจะขาดหัวใจสำคัญข้อ 3

ต้องสร้างความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ก่อนสร้างข้อตกลง

การสื่อสารไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว แต่ว่าจะต้องฟังไปลึกถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย อย่างกรณีบางกลอย ถ้ารัฐมีเครื่องมือที่จะฟัง ด้วยความเคารพจริง ๆ ด้วยการยอมรับจริง ๆ เชื่อเลยว่า หาทางออกจากปัญหานี้ได้แน่นอน ในความขัดแย้งหลายครั้ง มักมีแต่คนที่อยากจะพูด แต่ไม่มีคนจะฟัง แค่เราถอยออกมาเป็นคนฟังแค่นั้น บางทีความขัดแย้งที่ร้อนแรง ก็ลดอารมณ์ลงได้อย่างรวดเร็ว เป็นหัวใจหลัก

ตัวอย่างกระบวนการแบบ NVC

มาร์แชลล์ โรเซนเบิร์ก เขาสามารถเป็นคนกลางในการคลี่คลายความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มคนที่แม้กระทั่งเคยรบราฆ่าฟันกัน ให้เข้าใจกันได้ ในระบบการศึกษา มีโรงเรียนที่สร้างขึ้นมาด้วยระบบของ NVC ให้เด็กสามารถคลี่คลายปัญหา ความขัดแย้งกันได้ ในกลุ่มเด็ก 5 ขวบ ก็มีเครื่องมือในการจัดการปัญหากันเองได้ อันนี้น่าสนใจมาก

หรือว่าในระบบกระบวนการยุติธรรม ในบราซิลมีคนที่นำ NVC มาใช้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ช่วยให้ผู้กระทำผิดและถูกคุมขัง ได้พูดคุยกับเหยื่อที่เขาเคยทำร้าย โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้ง จนในที่สุด ปมที่เคยมีอยู่ในใจก็คลี่คลายได้ ซึ่งผู้กระทำผิดยังต้องรับโทษต่อไป แต่มันช่วยเยียวยา ทั้งสองฝ่ายที่เคยขัดแย้งกัน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

อย่างถ้าในประเทศไทย เราจะเห็นภาพส่วนใหญ่ จะเป็นในลักษณะเมื่อมีการกระทำผิดแล้ว ก็กีดกันผู้กระทำผิด ออกจากสังคม แล้วก็ตัดขาด เป็นเหมือนแก้แค้นทดแทน แต่ว่ากระบวนการแบบที่ว่ามันเข้ามาช่วย หมายถึงว่าตัวครอบครัวเหยื่อ แทนที่จะแค้น จับเข้าคุกแล้วจบ แต่จริง ๆ แล้วลึก มันไม่จบ

ส่วนคนที่กระทำความผิดเอง เมื่อเข้าคุกไปอาจจะไม่ได้รู้สึกเลยว่า มันผิดอย่างไร และอาจจะมีความแค้นเหมือนกัน ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างใน

ยกตัวอย่างในบราซิล มีวัยรุ่นคนหนึ่ง ไปฆ่าเด็กวัยรุ่นอีกคนหนึ่ง เขาถูกจับต้องติดคุก แต่เขาเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ควบคู่กันไป ดั้งนั้น จะมีหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ ที่เขาออกมาพูดคุยกับแม่ของผู้ชายที่เขาฆ่า และกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เกิดเป็นการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ผ่านความเจ็บปวดไปด้วยกัน ข้อตกลงที่ได้จากกระบวนการนี้คือ ทุกวันพฤหัสบดี วัยรุ่นคนนี้จะออกจากคุก และมานั่งกินกาแฟกับแม่ของเหยื่อ สะท้อนว่ากระบวนการนี้สามารถคลี่คลายใจได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าแม่จะต้องคงความแค้นต่อไป

การรู้สึกสำนึกรับผิด สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิธีนี้ถูกสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย ช่วยให้เขารู้ทางเลือกอื่น ที่จะตอบสนองความต้องการ ซึ่งแต่เดิมเคยรู้สึกว่ามีแค่ความรุนแรงเท่านั้น ที่ช่วยเติมเต็มความต้องการของตัวเอง แต่พอเรียนรู้ไปลึก ๆ เขาจะเห็นว่า มันมีวิธีการร้อยแปดพันเก้า ที่ช่วยเติมเต็มความต้องการเขาได้ ยกตัวอย่างหนึ่ง ที่สหรัฐฯ เขาสอนในเรือนจำ มีผู้ชายคนหนึ่ง เป็นพ่อค้ายาเสพติดมาเป็นเวลานาน แต่เขามีโอกาสได้เรียนรู้วิธีนี้จากในเรือนจำ

เริ่มต้นด้วยการถูกตั้งคำถามว่า คุณค้ายาเสพติดเพราะอะไร คำตอบคือ เขาไม่เคยคิดเลย เพราะเติบโตมาในครอบครัวแบบนั้น แต่เมื่อกลับไปดูความต้องการลึก ๆ ที่เขาได้จากการค้ายา คือ ได้เพื่อน ได้มิตรภาพ และ ได้ความตื่นเต้น ความสนุก ครูฝึกจึงถามว่า คุณคิดว่ามีวิธีการอื่นอีกไหม ที่จะเติมเต็มความต้องการ ทั้งได้เพื่อน แล้วก็ได้ความสุข ความสนุกในชีวิต โดยที่ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพแบบนี้

ผู้ชายคนนี้คิดไม่ออกเลย เพราะเขาไม่เคยเห็นทางเลือกอื่นในชีวิต แต่เพื่อนที่เป็นผู้ต้องขังด้วยกันบอกว่า เอางี้สิ ไปกระโดดบันจี้จัมพ์เขาก็เห็นด้วย เพราะได้ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสุข และยังได้อิสรภาพด้วย

ในเมืองไทยเอง ก็มีกลุ่มผู้พิพากษาสมทบ ที่พยายามใช้วิธีนี้กับเยาวชนที่กระทำความผิด ซึ่งปกติแล้วเยาวชนเหล่านี้ จะได้รับการสอนว่า อย่าทำอย่างนี้ แต่ว่าผู้พิพากษาสมทบกลุ่มนี้ ช่วยให้เขาเข้าใจเลยว่า ทำไปเพราะอะไร ความต้องการลึก ๆ ของเขาคืออะไร เยาวชนก็สามารถคุยกับพ่อแม่ได้ ผู้ปกครองก็เข้าใจลูก ฟังกันและกัน และหาทางออกร่วมกันได้ โดยที่ลูกเป็นคนเลือกที่จะกระทำอย่างนั้น

NVC และ ความขัดแย้งทางการเมือง

ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากโรงเรียน ที่ครูใช้วิธีการสอนแบบเก่าไม่ได้ เวลาที่ครูสอนหรือพูดอะไร ที่คิดว่าเป็นความหวังดี นักเรียนจะบอกว่าครูเป็นสลิ่ม ก็จะไม่ฟัง ครูก็จนปัญญา ไม่รู้วิธีว่าจะสอนเด็กได้อย่างไร โรงเรียนก็ติดต่อให้เราช่วยไปบอกครู ให้เครื่องมือนี้กับครู หรือแม้กับกลุ่มพ่อแม่ก็ตาม เพราะความขัดแย้งเรื่องการเมืองทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง บางครอบครัว เด็กไม่กล้าบอกพ่อแม่ ไม่กล้าพูดความจริง ไปม็อบโดยที่บอกพ่อแม่ว่าไปเรียนพิเศษ จริง ๆ เขาก็อยากจะไปทำอะไรที่มีคุณค่า เขาอยากจะให้พ่อแม่ยอมรับ แต่ก็ไม่สามารถบอกความจริงกับพ่อแม่ได้ บางครอบครัวถึงขั้นตัดขาดความสัมพันธ์กับลูก หรือเบาหน่อยอาจแค่ตัดเงิน ห้ามไม่ให้ทำแบบนั้นทำแบบนี้ ซึ่งมันไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันได้จริง ๆ

แต่เครื่องมือ NVC คือ เราเข้าใจกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วย ซึ่งเป็นคีย์หลัก หมายความว่า ในครอบครัวอาจจะมีความคิดเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างกัน แต่ยังสามารถเข้าใจกันได้อยู่ ซึ่งดีด้วยซ้ำไป เพราะว่าในระบบประชาธิปไตยนั้น เชื้อเชิญให้คนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ถ้าคนมีความคิดเห็นอย่างเดียว มันไม่สร้างสรรค์ เราต้องการอะไรที่หลากหลายมากขึ้น

ความขัดแย้งของคน 2 รุ่น จะเข้าใจกันได้อย่างไร?

เวลาไปสอนหนังสือ เราสอนอะไรไปปุ๊บ คนรุ่นใหม่ เขา Search Google ดูเลยว่า ที่อาจารย์พูดมาใช่หรือไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าเราเป็นครูแบบสมัยเก่า ก็จะรู้สึกว่าเด็กคนนี้ไม่เชื่อฟัง พอเจอใหม่ ๆ เราก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน แต่ตอนหลังพยายามทำความเข้าใจว่า อันนี้เป็นความรู้ เขามีอำนาจในการเข้าหาความรู้ และสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวของเขาเอง

ฐานะที่เป็นครู เราก็สามารถให้ความเคารพเขาได้ คุณหาข้อมูลอย่างนี้ แบบว่าชื่นชมมากเลยนะ เพราะคนยุคเรา อาจจะไม่ถนัดนัก ในการหาความรู้เท่าเด็กยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน เราผ่านประสบการณ์มา ประสบการณ์ในการทำ เอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีมาลองผิดลองถูก เราก็สามารถแนะนำบอกประสบการณ์เขาได้ ให้เขารู้ว่า ความรู้นี้อย่าเพิ่งเชื่อ จากประสบการณ์ของครู มันเป็นอย่างนี้ ๆ ลองฟังและลองไปพิจารณาดู เราก็เปลี่ยนจากฐานะคนที่ต้องให้ความรู้เขา เป็นคนที่แบ่งปัน

ในวิชาที่ตัวเองสอนในมหาวิทยาลัย เรื่องการจัดการความขัดแย้ง มีนักศึกษาคนหนึ่งไม่ค่อยเรียน เวลาสอนออนไลน์ปิดกล้อง เรียกก็ไม่มีเสียงตอบ เหมือนกับว่าเขาไม่ได้อยู่ ถ้าเป็นครูสมัยยุคก่อนตัดคะแนนแน่นอน แต่ว่าเราก็เจอเขา แล้วก็คุยกับเขาดี ๆ รักษาความสัมพันธ์ต่อ แล้วเราถามว่าเพราะอะไร คิดยังไงกับวิชานี้ เขาบอกว่าไม่คิดว่ามันจะได้ผล ในการแก้ความขัดแย้ง แต่เรารู้ว่าเด็กสมัยนี้ เขามีความคิดของเขาเอง ก็อยากจะให้เราเคารพในความเป็นตัวเขา

แล้วพอตอนที่เขามาทำสอบคลี่คลายความขัดแย้ง โดยสวมบทบาทสมมุติกับเพื่อน เขาทำวิธีใหม่ ซึ่งเราไม่ได้สอนแล้วมันได้ผล หน้าที่ของเราแทนที่จะเป็นครู เราปรับตัวว่า เราชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ บอกเขาเลยว่า วิธีนี้ดีมาก จะขอไปสอนในคลาสปีหน้า รุ่นหน้าได้ไหม รู้สึกว่าวิธีนี้ มันเวิร์กด้วย

วิธีคิดที่ต่างฝ่ายต่างรับฟัง

ในฐานะที่ตัวเองนึกว่าเป็นผู้ใหญ่ละกัน เด็กเขาจะเป็นอย่างไร เขาไม่ได้เป็นตามที่เราสอน แต่เขาเป็นอย่างที่เราเป็นให้เขาดู เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นครู เราเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟังเด็กก่อน เด็กก็จะเรียนรู้จากเรา แล้วพอเด็กได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น เรายอมรับที่จะรับฟัง (ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย) หลายครั้งเวลาไปทำงาน ในความขัดแย้งภายในครอบครัว เด็กมักจะพูดเลยว่า อยากจะให้ผู้ใหญ่ฟังเราบ้าง สิ่งที่เขาเรียกร้อง สิ่งที่เขาต้องการ บางทีไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตเลย แล้วเวลาที่ผู้ใหญ่ไม่ฟัง ผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กเขาจะแรงขึ้นด้วยเวลาที่ผู้ใหญ่ไม่ฟัง เสียงที่แรงขึ้นมากเท่าไหร่ นั่นแสดงว่าความต้องการยังไม่ได้รับการตอบสนองมากเท่านั้น

บางครอบครัวแค่ผู้ปกครองปรับ วางความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองลงก่อน แล้วเปิดรับฟังลูก ลูกเปลี่ยนความสัมพันธ์เลย กลายเป็นมีอะไรก็มาบอกผู้ปกครองเลย

แล้วคำว่าวุฒิภาวะมากกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ น้อง ๆ นักศึกษาหลายคน มีวุฒิภาวะมาก เป็นคนเริ่มรับฟังก่อนก็ได้ เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายนึง เริ่มการรับฟังในความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเปลี่ยน แค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องพร้อมรับฟัง แต่เมื่อมีคนใดคนหนึ่งเปลี่ยน อีกฝ่ายหนึ่งจะรับรู้ได้ แล้วผลที่เกิดขึ้นจะแตกต่างออกไป

เยาวชน ประชาชน รัฐบาล และการสื่อสารอย่างสันติ

ขอพูดในฝั่งรัฐแล้วกัน คิดว่าถ้าใช้กระบวนการนี้ รัฐจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยเงิน หรือเวลาอะไรมากเลย ในใจมีความฝันไว้ว่า รัฐน่าจะมีเหมือนองค์กรเพื่อการรับฟังอย่างแท้จริง มาฟังประชาชน มาฟังข้อเรียกร้องต่าง ๆ จริง ๆ แล้ว นี่เป็นหน้าที่หลักของรัฐเลย ที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน แม้กระทั่งที่บางกลอย หรือเสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่  เขากำลังพูดถึงสิ่งที่อยากเห็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ถ้ารัฐมีองค์กรที่มารับฟังจริง ๆ ก็สามารถหาทางแก้ปัญหา ที่จะช่วยดูแลความต้องการของประชาชนแต่ละฝ่ายได้อย่างแท้จริง

คืออีกฝ่ายหนึ่งคงยังไม่เติมเต็มความไว้วางใจ ถ้าเขาไว้วางใจ ก็คงจะเข้ามามีส่วนร่วม  มองง่าย ๆ ถ้ารัฐรู้อย่างนี้ว่า กลุ่มเยาวชน พวกเขาต้องการความไว้วางใจมากกว่านี้ ลองรับฟังเขาหน่อยได้ไหมว่า ว่ามีข้อเสนออะไร แล้วก่อนที่จะไปถึงการเสนอวิธีการ มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า จากวิธีการเหล่านี้ ลึก ๆ แล้วคือความต้องการอะไร ฝ่ายรัฐเอง ก็สามารถบอกได้ว่า ฝ่ายรัฐลึก ๆ ต้องการอะไร หลังจากฟังกันและกันแล้ว ค่อยมาหาวิธีการ ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการเหล่านี้ อันนี้เป็นหลักการคร่าว ๆในการแก้ปัญหา ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ

แยกการสื่อสาร เชิงระดับวิธีการ และความต้องการจริง ๆ

ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งเรื่อง คือ การออกกฎหมายเลี้ยงดูบุตรในรัฐแห่งหนึ่ง ของสหรัฐฯ ทะเลาะกันมากมาย แต่ละฝ่ายมีความต้องการต่างกัน นั่นคือการทะเลาะกันที่ระดับวิธีการ ในที่สุดมีการเชิญ Trainer NVC เข้าไป จนช่วยให้สามารถหาข้อตกลงกันได้ โดยให้แต่ละฝ่ายหาความต้องการที่มีร่วมกัน ที่ไม่ขัดแย้งกันก่อน หาว่าลึก ๆ แล้วต้องการอะไรในการรับเลี้ยงดูบุตร จากนั้น มีการตั้งกรรมการย่อยขึ้นมา เพื่อสร้างข้อเสนอ (Proposal) ที่ความต้องการของทุกฝ่าย ได้รับการดูแล แล้วหลังจากนั้น ค่อยให้ทุกฝ่ายมาดูว่า Proposal ไหนที่เติมเต็ม ความต้องการร่วมของทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งใช้เวลาในการทำแบบนี้อยู่ 2 ปี จนสามารถออกกฎหมายผ่านสภาร่าง แบบไม่มีเสียงคัดค้าน จากที่เคยทะเลาะกัน จนไม่อยากจะคุยเรื่องนี้กันแล้ว กลับสามารถออกกฎหมาย ที่ครอบคลุมความต้องการของทุกฝ่ายได้ อันนี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ นี่คือศักยภาพของมนุษย์ที่เรามีในการทำให้ความขัดแย้ง มันไม่รุนแรง

ถ้าพูดถึงกระบวนการสื่อสารอย่างสันติ ในบริบทของรัฐ อาจจะต้องเห็นว่ากระบวนการนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญมากกว่าและยังราคาถูกกว่า เทียบกับการที่ใช้อาวุธ หรือใช้เงินซื้ออาวุธ แค่เราเอาเงินเหล่านั้นมาทำคนให้รู้จักวิธีการอื่น ที่แก้ปัญหาอย่างสันติได้อย่างยั่งยืน และราคาถูกด้วย

อยากจะให้เรามองเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วยังเป็นโอกาส ที่เราจะสร้างสรรค์วิธีการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ขึ้นมา จริง ๆ แล้ว เวลามีความขัดแย้งขึ้นมา แทนที่เราจะเก็บความขัดแย้งไว้ใต้พรม พอความขัดแย้งปรากฏ นั่นเป็นโอกาสที่เรา จะเข้าไปดู และสร้างสรรค์วิธีการอยู่ร่วมกัน แบบใหม่ ๆ ขึ้นมา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว