ค่ามาตรฐานใหม่ (ดัก) ฝุ่น PM 2.5 : เปิดทางยกระดับแก้ปัญหาฝุ่น

ความเคลื่อนไหวของ 3 กระทรวง ที่ออกมาประกาศมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 ในช่วงสัปดาห์ที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน และอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว อาจถูกตั้งคำถามว่า พอจะเป็นความหวังต่อมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้หรือไม่ ไม่ว่าจะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังกลายประเด็นที่นำไปสู่การตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดจึงเพิ่งประกาศมาตรการในวันที่ฝุ่น PM 2.5 กลับมาปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพฯ และอีกหลายพื้นที่แล้ว

แต่หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างต่อเนื่อง คือ การประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบ Video Conference เรื่อง การปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 จัดโดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

สาระสำคัญของการประชุมดังกล่าว คือ คพ. ได้ยกร่าง ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป โดยเป็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใน 2 กรณี คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ปรับจาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี ปรับจาก 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม.

ที่น่าสนใจเพราะการปรับค่ามาตรฐานดังกล่าว เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ที่กำหนดให้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ในกรณีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ควรอยู่ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี ควรอยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม.

ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย เคยแสดงความเห็นว่า ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เปิดช่องให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยค่ามาตรฐานรายปีของ PM 2.5 ที่ใช้อยู่คือ 25 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO ถึง 2.5 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งก็สูงกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับมาตรฐานของ WHO และเสนอให้ประเทศไทยเร่งทบทวนข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอากาศที่สะอาดได้โดยเร็ว

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับ The Active หลังเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ว่า เขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นร่างประกาศนี้ในที่ประชุม เพราะเป็นสิ่งที่เรียกร้องมาตลอด กรีนพีซเห็นด้วยกับค่ามาตรฐานใหม่นี้ เพราะเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO และยังสนับสนุน คพ. ให้นำร่างประกาศนี้ไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) อนุมัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ในอีกด้านหนึ่งจะมีความกังวลต่อการแสดงความเห็นในเวทีฯ จากผู้เข้าร่วมที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนหน่วยราชการและนักวิชาการ ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังมีความไม่พร้อมในหลายเรื่อง ทั้งข้อมูลวิชาการที่มารองรับ และความพร้อมของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการ หลังจากที่ค่ามาตรฐานนี้ถูกประกาศเป็นกฎหมายแล้ว

แฟ้มภาพ

“เราจะเสียเวลาอีกทำไมกับเรื่องที่เคยเถียงกันมาเป็น 10 ปี นับตั้งแต่มีมาตรฐานนี้ออกมา แล้วเราจะต้องเถียงกันไปอีกกี่ปี ถึงจะมีการปรับค่านี้ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่าผลกระทบต่อสุขภาพของคนเป็นยังไง ไม่ควรจะมาเถียงกันอีกแล้วว่ายังไม่พร้อม”

ธารา ย้ำว่า ทั้ง คพ. ในฐานะที่เป็น Regulator และ กกวล. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับทางนโยบาย ควรมี เจตจำนงทางนโยบายและการเมือง ที่ชัดเจนว่า จะปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยการเร่งออกประกาศฉบับนี้มาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

เช่นเดียวกับ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวกับ The Active ว่า เห็นด้วยที่จะต้องเร่งออกประกาศดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่มาตรการหนึ่งในแผน คือ กำหนดให้ต้องปรับแก้มาตรฐานค่าฝุ่น PM 2.5 ภายในปี 2564

แต่ สนธิ ก็เห็นว่าความกังวลของหน่วยราชการด้วยกันเอง ที่ว่าอาจจะปฏิบัติไม่ได้ตามค่ามาตรฐานใหม่ จะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ คพ. ไม่สามารถออกประกาศได้ตามแผน เพราะจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ยังวิกฤตอยู่ทุกวันนี้ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ดูได้จากมาตรฐานปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่ หน่วยงานก็ยังไม่สามารถทำได้

แฟ้มภาพ

“กลัวหน่วยราชการด้วยกันเอง ที่จะมีคำถามว่า จะสามารถทำได้ตามค่ามาตรฐานใหม่หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้แค่ตัวเลข 50 เรายังทำไม่ได้เลย อย่างการใช้น้ำมันยูโร 5 ตามแผนเดิมที่จะต้องใช้ในปี 2564 ก็ขอเลื่อนไปเป็นปี 2567 เนื่องจากผู้ประกอบการไม่พร้อม และตอนนี้รถยนต์ใน กทม. ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2563 เพิ่มมากถึง 700,000 คัน เครื่องยนต์ดีเซลก็มีมากถึง 2.8 ล้านคัน”

แต่ สนธิ ก็ไม่เห็นว่าจะมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้ คพ. เดินหน้าตามแผนไม่ได้ เพราะแม้หน่วยงานราชการด้วยกันจะแย้งด้วยข้ออ้างดังกล่าว แต่ถ้า คพ. อ้างคำเดียวว่า กำลังดำเนินการตามแผนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็ไม่อาจมีข้ออ้างใด ๆ ให้ต้องช้าไปกว่านี้ ส่วนหน่วยราชการ ก็มีแต่ต้องทำงานหนักให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ ให้ได้ ซึ่งประชาชนจะต้องช่วยกดดันในเรื่องนี้ด้วย

และอีกด้านหนึ่ง การกำหนดค่ามาตรฐานใหม่ ยังจะเป็นปัจจัยเร่งให้หน่วยงานต้องรีบดำเนินมาตรการอื่นด้วย โดย สนธิ ยกตัวอย่างที่ยุโรปก็ใช้วิธีกำหนดมาตรฐานใหม่ก่อน โดยยุโรปกำหนดที่ 37 มคก./ลบ.ม. แล้วมีผลให้เกิดมาตรการอื่นก็จะตามมา ทำให้พอหลังประกาศมาตรฐานได้ 3 ปี ยุโรปก็เอาน้ำมันยูโร 5 มาใช้ได้ทันที

“ยิ่งกดดันให้หน่วยราชการ ยิ่งต้องรีบทำ รถไฟฟ้าจะเกิดเร็วขึ้น น้ำมันยูโร 5 หรือยูโร 6 จะถูกนำเอาเข้ามาใช้เร็วขึ้น เพราะจะถูกกดดันว่าทำให้ได้มาตรฐานนี้”

หลังจากนี้ คงต้องจับตาว่า คพ. จะเดินหน้าผลักดันร่างประกาศค่ามาตรฐานฉบับนี้ ไปจนผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้ภายในปี 2564 หรือไม่ หรือจะมัวแต่กังวลกับข้อทักท้วงของหน่วยงานราชการด้วยกันเอง จนทำให้ล่าช้าออกไปอีก และทำให้ประชาชนไทยยังคงต้องสูดควันพิษ PM 2.5 ต่อไปไม่สิ้นสุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์