เมื่อแรงงานไทยสูงวัย เรามีนโยบายอะไรเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ?

‘แรงงานข้ามชาติ’ กับความมั่นคงเศรษฐกิจไทยในภาวะสังคมสูงวัย

ประชากรรุ่นเกินล้านทยอยเป็นผู้สูงอายุเต็มตัว สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดต่ำเป็นประวัติการณ์ ได้ทำให้ภาพของการเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ประชากรไทยวัยแรงงาน กลับมีไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยเรื่องค่าแรงที่ส่งผลให้แรงงานไทยเลือกเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นกำลังหลัก ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยแรงงานกลุ่มอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงประเทศไทยที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มีการรายงานข้อมูลว่า ประชากรกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก อาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ตนถือสัญชาติ ทำให้คนกลุ่มนี้อยู่นอกเขตการคุ้มครองกฎหมายของประเทศต้นทาง ทำให้แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้อาจอยู่ในภาวะอ่อนแอและเสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณ เอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น การได้รับสิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และการคุ้มครองทางกฎหมายจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น แม้ในประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลแรงงานทั้งในและต่างประเทศอยู่ แต่ยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพียงพอเพื่อจัดการการย้ายถิ่นที่ถูกกฎหมาย จึงทำให้ภาพของแรงงานที่เดินทางข้ามชายแดน ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน 

หนึ่งกลไกที่สามารถเป็นทางเลือกของแรงงานข้ามชาติได้ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว แต่ไทยยังไม่เข้าร่วม หากยังไม่มีกฎหมายหรือกลไกเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระเบียบ ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติ การลิดรอนสิทธิของแรงงานก็อาจจะยังไม่หายไป ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เป็นกังวล

“อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ พูดถึงการคุ้มครอง การส่งเสริมกระบวนการในการคุ้มครองคู่กันไป โดยตัวกรอบของคนที่ต้องถูกคุ้มครองรวมถึงครอบครัวของคนงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย อนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงสิทธินอกเหนือจากการคุ้มครองทั่วไป ยังอยู่ในมาตรฐานแรงงานสากลอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มเรื่องการใช้ชีวิต เช่น เรื่องการยอมรับครอบครัว และการออกรหัสประจำตัว การประสานงานกับประเทศต้นทางในเรื่องขอเลขประจำตัว เพิ่มเติมขึ้นมาจากสิทธิแรงงานทั่วไป ซึ่งหลัก ๆ ของอนุสัญญานี้พูดถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุ้มครอง ตั้งแต่กระบวนการจัดหางาน การได้มาซึ่งการทำงาน การคุ้มครองในรูปแบบอื่น ๆ และการจัดสวัสดิการให้ใกล้เคียงกับแรงงานในประเทศ”

อดิศร เกิดมงคล
อดิศร เกิดมงคล อยู่ฝั่งซ้ายของภาพใส่เสื้อยืดสีดำ ที่มาภาพ : Adisorn Kerdmongkol

อดิศร อธิบายเพิ่มเติมว่า หลายประเทศที่ให้การรับรองส่วนใหญ่เป็นประเทศส่งออกแรงงานมากกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ ที่รับอนุสัญญาฉบับนี้ เพื่อให้เกิดกลไกคุ้มครองแรงงานของประเทศ หมายความว่า อนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองเพียงแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย แต่หมายถึงคุ้มครองแรงงานไทยที่อยู่ต่างแดนด้วย ดังนั้น กฎหมายสิทธิแรงงานข้ามชาติสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงอนาคตของประเทศไทย

ทำไมไทยยังไม่เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

หนึ่ง รัฐไทยคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อม โดยรัฐอาจมองว่าเกี่ยวโยงกับโครงสร้างของกฎหมายภายในที่จะต้องมีเพื่อรองรับ ซึ่ง อดิศร มองว่ากฎหมายที่เกี่ยวของกับกฎหมายภายในของไทยก็มีความพร้อม เพราะมี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการจ้างงานและจัดหางาน นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ที่ครอบคลุมแรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศ ซึ่งถ้ามองในแง่ของกฎหมายนั้นครอบคลุมอยู่แล้ว และมีกฎหมายที่พูดถึงครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในประเทศไทย เช่น พ.ร.บ.สัญชาติ ที่พูดเรื่องเด็กที่เกิดในประเทศไทย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ที่จะพูดถึงทะเบียนการเกิดและทะเบียนการอยู่ของแรงงานและผู้ติดตามซึ่งค่อนข้างครอบคลุม เพียงแต่ว่ากฎหมายเหล่านี้ถูกวางอยู่กระจัดกระจาย อาจไม่ได้มีการนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง รัฐอาจจะยังไม่ได้เห็นความพร้อมของตัวกฎหมาย 

สอง เป็นภาระผูกพันธ์กับรัฐโดยตรง เพราะเป็นแนวปฏิบัติที่รัฐจะต้องดำเนินการ กำหนดมาตรการและกฎหมายในการคุ้มครอง ซึ่งมองว่า เป็นภาระใหญ่ หากมองความพร้อมของหน่วยงานรัฐยังเป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราพร้อมไหม แต่ถ้าเรามองในเชิงกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีความพร้อม เพราะเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกือบครบทั้งหมด อย่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ที่ดูเรื่องฐานข้อมูลของประชากร เรื่องการเข้า-ออกนอกประเทศ ก็มีกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงาน เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง กลายเป็นความไม่พร้อมเรื่องของการทำงานร่วมกันมากกว่า 

สาม กรอบแนวคิดและมุมมองของรัฐ เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นอุปสรรค เพราะยังมีการปะทะกันของสองแนวคิด ในการออกนโยบายเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลในช่วงนั้น การเมืองในช่วงนั้น จะเทน้ำหนักไปที่ไหน จึงอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ไทยยังไม่รับอนุสัญญาฉบับบนี้ 

อดิศร ยังให้เหตุผลอีกว่า หากร่วมลงนามเข้าร่วมอนุสัญญาฉบับนี้ จะช่วยให้ไทยวางกรอบเพื่อกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งยังมีความเห็นต่างกันระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง รวมถึงคนออกแบบนโยบายที่ยังให้น้ำหนักแตกต่างกันในแต่ละเรื่อง 

โอกาสที่หายไป เมื่อไทยไม่ลงนาม 

หนึ่ง ภาพลักษณ์ไทยในประชาคมโลก ซึ่งทุกครั้งที่มีการหารือกันในเรื่องนี้ หลายประเทศจะตั้งข้อสังเกตและพยายามนำเสนอให้เกิดการแก้ไข คือเรื่องของการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นข้อสงสัยกลาย ๆ ว่าประเทศไทยจะให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติหรือไม่ มีการละเมิดหรือเปล่า

สอง กระทบกับกระบวนการจ้าง เมื่อไม่มีกรอบวิธีการคิดเรื่องสวัสดิการและการคุ้มครองดูแลแรงงานข้ามชาติและครอบครัวอย่างชัดเจน ทำให้กระบวนการจ้างมีความเหลื่อมล้ำ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิด เอาเปรียบแรงงานได้ง่ายมากขึ้น แม้ว่าในกฎหมายไทยจะระบุไว้เรื่องการคุ้มครองก็ตาม แต่เมื่อขาดกลไกและกรอบแนวคิด ก็ทำให้กระบวนการคุ้มครองมีปัญหา 

สาม ผลกระทบต่อการจัดการของภาครัฐ เพราะการจัดการของภาครัฐในปัจจุบันอิงตามตัวกฎหมาย และนโยบายเป็นรายครั้งของประเทศและรัฐบาล ทำให้ทิศทางในแง่การจัดการมีปัญหา และเมื่อเราปฏิเสธเรื่องของการดูแลสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น คนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิเด็ก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้กระบวนการในการจัดการ และการดูแลประชากรของประเทศไทยไมมีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อมิติสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง

อดิศร เกิดมงคล ยืนอยู่ฝั่งซ้ายของภาพ ที่มาภาพ : Adisorn Kerdmongkol

แรงงานข้ามชาติกับการทดแทนแรงงานไทยในสังคมสูงวัย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการการศึกษาของประเทศไทย พบว่า มีภาวะการศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากประชากรเกิดน้อย สะท้อนว่า ในระยะยาวกำลังแรงงานของไทยลดลงแน่ ๆ กำลังแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ที่มีทักษะฝีมือหายไปแน่ ๆ ฉะนั้นไทยจะจัดการตรงนี้อย่างไร ภายใต้ปัญหาที่เรากำลังจะเผชิญหน้าในอนาคต

จากประสบการณ์คนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติและอาศัยอยู่ในสังคมไทย อดิศร มองเห็นปรากฏการณที่อาจเกิดขึ้นนี้ว่ากำลังส่งผลกระทบในไทยในด้านแรงงาน ขณะที่กำลังแรงงานไทยที่ลดลงเรื่อย ๆ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาเพื่อที่ทดแทนกำลังแรงงานที่ไม่สอดรับกับโครงสร้างประชากร ด้วยการสร้างหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานก็ตาม แต่ยังไปได้ช้า หลายกิจการยังคงต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก

หรืออีกวิธี คือการใช้กฎหมายสัญชาติ อดิศร มองว่าฝ่ายนโยบายมีความพยายามทำเรื่องนี้ เช่น กรณีที่เด็กเกิดในไทย เรียนจบปริญญาตรี สามารถขอสัญชาติไทยได้ เป็นทิศทางที่ไทยพยายามจะทำเพื่อดึงคนเข้าสู่ระบบ แต่เมื่อขาดกรอบแนวคิดหรือแนวปฏิบัติ หรือมาตรฐานในการดูแลคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ ทำให้กระบวนการพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังแรงงานสำคัญในอนาคต ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้จำนวน ไม่รู้ความต้องการ และไม่มีแผนในการพัฒนาเขาอย่างเป็นระบบ หรือแม้แต่ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารระบุตัวตนในประเทศไทย

สำหรับต่างประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกับประเทศไทย อย่างญี่ปุ่น อดิศร บอกว่าเขามีกลไกในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย หลายกรอบโมเดล เช่น พยายามเติมคนด้วยการกระตุ้น สนับสนุนให้คนมีลูกเยอะ แต่วิธีการนี้ต้องมองครอบคลุมไปที่เศรษฐกิจ และสวัสดิการที่ดูแลด้วย ขณะที่สิงคโปร์เองก็มีนโยบายจับคู่แต่งงาน ท้ายที่สุดพบว่าคนไม่ทำตาม เพราะมีภาระทางสังคมและเศรษฐกิจตามมาเยอะสำหรับคนมีครอบครัว จึงย้อนถามกลับมาที่ประเทศไทยว่าพร้อมหรือยัง

“ในประเทศไทย ถ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่พร้อมทำเรื่องนี้ วิธีการนี้อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี”

อดิศร เกิดมงคล
อดิศร เกิดมงคล อยู่คนที่ 3 ด้านขวาของภาพ ที่มาภาพ : Adisorn Kerdmongkol

อีกวิธีการที่ใช้คือการพัฒนาคนที่ไม่ได้มีสัญชาตินั้น ๆ โดยให้ที่อยู่อาศัยถาวร เช่น หากมีเด็กเกิดในประเทศนั้น ๆ จะพิจารณากำหนดสถานะให้เป็นพลเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะดึงกำลังแรงงานเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย แต่เมื่อไม่มีกรอบที่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อไม่สามารถวางแผนได้อย่างเป็นระบบ เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เกิดการไกลเข้ามาของแรงงานอย่างไม่เป็นระดับ ทำให้ไทยกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย

ระหว่างส่งเสริมให้คนมีลูก กับการลงนามเข้าร่วมอนุสัญญา อะไรแก้ปัญหาได้ดีและมีความเป็นไปได้เร็วกว่า

“เรื่องการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้มีการพูดถึงมาสักพักแล้ว สิ่งที่รัฐไทยพยายามทำและบอกประชาคมโลกว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการรับอยู่ แต่ผมมองว่า นี่คือการซื้อเวลา ยื้อไปเรื่อย ๆ และเวลาศึกษาความเป็นไปได้คือมองจากมุมรัฐเพียงมุมเดียว ไม่ได้มองจากมุมมองที่หลากหลาย อันนี้อันตราย เพราะท้ายที่สุดเป็นเพียงการซื้อเวลา แล้วปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นถ้าเกิดมีการพิจารณาจะรับหรือไม่รับ ควรจะมีภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนในการศึกษาเพื่อพิจารณาด้วย”

อดิศร เกิดมงคล

ในระยะสั้น อดิศร มองว่า การรับคนที่มีศักยภาพเข้ามาจะทำได้เร็วกว่า เพราะทำได้เลย ในมุมเรื่องของการกระตุ้นพัฒนาประชากรเพิ่มมันใช้เวลาพอสมควร และมีผลกระทบหลายแง่ แต่ท้ายสุดต้องทำคู่กันไป 2 ส่วน

“ส่วนหนึ่งคือการกระตุ้นรัฐบาลใหม่ว่าให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาอีกรอบ ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือการมอง กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกระทรวงเกรด C ทั้งที่มีผลกระทบเรื่องการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว”

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร ทิ้งท้ายว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องสังคมสูงวัย 2 กระทรวงนี้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่พอฟังนโยบายแต่ละพรรคแทบไม่มีใครกล้าออกมาแสดงตัวว่าจะเป็นผู้ดูแลกระทรวงเหล่านี้ เมื่อไม่มี ก็ต้องไปลุ้นกันหลังจัดตั้งรัฐบาลว่าใครจะมาดู คงต้องกระตุ้นพรรคการเมืองว่าเขามีนโยบายเรื่องนี้หรือไม่ ในการรองรับสังคมสูงวัย ในมิติที่เชื่อมโยงกับตลาดของแรงงานข้ามชาติ


หมายเหตุ

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families หรือ CMW) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จากทั้งหมด 9 ฉบับ ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว 7 ฉบับ

  1. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
  2. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC)
  3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
  4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)
  5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD)
  6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)
  7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD)

อีก 1 ฉบับ ที่ไทยได้ลงนามไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี คือ
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)

อ้างอิง

https://bangkok.ohchr.org/wp-content/uploads/2020/01/Ratification-Handbook-Thai.doc

https://humanrights.mfa.go.th/th/humanrights/obligation/international-human-rights-mechanism/

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์