รักตัวเอง…หน้าตาเป็นแบบไหน ?

10 ตุลาคม ของทุกปี สหพันธ์สุขภาพจิตโลก กำหนดให้วันนี้เป็น วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) และในโอกาสที่เพิ่งผ่านพ้นงาน Better Mind Better Bangkok ครั้งที่ 3 ที่ สติแอป (SATI App) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นภายใต้ธีม L.O.V.E เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และวิธีที่จะรักษาสุขภาพใจก่อนภัยมาเยือน

The Active รวบรวมข้อความที่ถูกสื่อสารในงานดังกล่าว ส่งพลังบวกถึงผู้คนที่กำลังเผชิญกับ ความเหงา โดดเดี่ยว หรือรู้สึก แตกต่าง ผ่านประสบการณ์ของนักแสดง ศิลปิน ชื่อดัง ลองดูกันหน่อยว่า L.O.V.E สำหรับพวกเขา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะรักตัวเองได้อย่างไร

L : Loving Yourself: The Art of Self-Care “การรักตัวเอง”

ชวนสำรวจความสำคัญของการดูแลตนเอง และสำรวจว่าการดูแลตัวเองแบบไหนที่จะช่วยสร้างสุขภาพจิตและร่างกายให้ดีได้พร้อมกัน ยิปโซ – อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ นักแสดง อธิบายว่า สิ่งที่ช่วยเธอได้ มาก ๆ ในวันที่แย่ คือ หาจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ ไม่ใช่ผิวที่คล้ำเกินไป ไม่ใช่ร่างกายที่อ้วนเกินไป ไม่ใช่การที่ยังเก่งไม่พอ

ยิปโซ – อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ นักแสดง

แต่จุดอ่อนของเธอมาจากการที่ ให้อำนาจความคิดเห็นของคนอื่นมากเกินไป นั่นคืออุปสรรคตัวจริง เหมือนเวลาเล่นเกมหรือดูอนิเมะ จะมีดีมอน (Demon) ที่เราต้องสู้แล้วไปเจอบอส (Boss) นี่คือตัวบอสที่ขัดขวางเราไม่ให้เรารักตัวเอง หรือไม่ให้เรายอมรับตัวเอง

ยิปโซ บอกอีกว่า คำว่ารักตัวเองในมุมของเธอ คือการหาความสบายใจในตัวเอง เพราะปัจจุบันเรามักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา  

“คำว่ารักตัวเองไม่ต้องแบบตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกอาบในแสงแห่งรักของตัวเองตลอดเวลา แค่ฉันโอเคกับตัวเองที่ออกนอกบ้านแล้วไม่แต่งหน้า หัวยุ่ง ใครมองก็แล้วไง แต่ฉันสบายใจแค่นั้นพอแล้ว”

ยิปโซ – อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์

อย่างไรก็ตาม ยิปโซ ก็ยังมองว่า แต่ละคนก็มีภูมิคุ้มกันทางใจไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องหาให้เจอ ว่า ที่มาที่ไปของสิ่งที่ปิดกั้นความสุข คืออะไร เพื่อที่จะได้ให้อภัยตัวเอง และเดินหน้าต่อ

สอดคล้องกับ ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ที่ยอมรับว่า แม้เป็นคนที่ชอบการแข่งขัน แต่ถึงจะแพ้ก็โอเค ขอแค่ได้แข่งเต็มที่ และยังตระหนักรู้ด้วยตัวเองก็พอแล้ว

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ประเด็นสำคัญคือ เราอยู่ในสังคมที่มีภาพของ ความสมบูรณ์แบบ (Picture Perfect) ต้องสำเร็จที่สุด ต้องเก่งที่สุด ต้องสวยที่สุด มีบรรทัดฐานของสังคมที่กำหนดไว้แล้วเราจะไปถึงตรงนั้น ซึ่งบรรทัดฐานเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างเอามาเป็นที่ตั้งกดดันตัวเอง หรือคนรอบข้าง

“ลักษณะสังคมเอเชียที่เรามักจะบอกว่าต้องหนักกับตัวเองจึงจะสำเร็จ เพราะฉะนั้นบางทีแค่ความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำได้ แต่เรายังมองไม่เห็นว่าเป็นความสำเร็จเลยอ่ะ กลายเป็นเรารู้สึกรักตัวเองได้ยาก ถ้ายึดติดว่าเราต้องเก่งที่สุด ดีสุด สวยที่สุด หล่อที่สุด มันไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงหรอกค่ะ”

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์

O : Opening Hearts: Embracing Social Inclusion “ความรักต่อเพื่อนร่วมโลก”

พูดคุยถึงความสำคัญของการยอมรับการอยู่ร่วมกัน และความหลากหลายที่สามารถส่งเสริมความสามัคคีในสังคมและช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับทุกคน หัวข้อนี้ ศิลปินอย่าง ซิลวี่ – ภาวิดา มอริจจิ เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่เผชิญกับคำว่า ความหลากหลายที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน เช่น รูปร่างหน้าตา สิ่งที่ถูกปลูกฝัง ศาสนาอะไรต่าง ๆ ที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรามีความเหมือนกันคือทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนสิ่งนี้คือสิ่งที่เหมือนกัน จึงควรมีใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างเหล่านั้นจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

ซิลวี่ – ภาวิดา มอริจจิ ศิลปิน

ซิลวี่ เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นบุคคลหลากหลายในแง่ของ LGBTQIAN+ และ ความมั่นใจในรูปร่างที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความสวยของคนส่วนใหญ่ (Beauty Standard) หรือบอกว่าดาราต้องเป็นแบบนั้น เป็นศิลปินต้องทำแบบนี้ ที่ทำให้รู้สึกว่า ต้องวิ่งตามกรอบเหล่านั้น

ทั้งที่จริง ๆ แล้วทุกวันนี้โลกเปิดกว้างมากขึ้นเราเป็นตัวเองได้ และสามารถเป็นอย่างสบายใจมากขึ้นเพราะมี พื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย (Safe Zone) ในการกล้าเป็นตัวเอง ทั้งกับตัวเอง กับสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะพูดถึงประเด็นนี้ และทำอย่างไรให้คนเปิดกว้างได้มากขึ้นอีก

แต่ถึงยังไง ซิลวี่ ก็ยอมรับว่า กว่าที่เธอจะทลายกำแพงของตัวเองได้ ใช้เวลานานเหมือนกัน แต่สิ่งแรกที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้แล้วเพราะเกินจะทนไหว รู้สึกกดดันตัวเองจนไม่มีความสุขที่จะต้องวิ่งตามสิ่งที่คนอื่นอยากให้เป็น โดยเริ่มต้นจากตัวเองเป็นสิ่งแรก คือ แค่รู้สึกอยากรักตัวเอง รักสิ่งที่เป็น ข้อดี ข้อเสีย เพราะเมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นก็รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไร จากนั้นทำสิ่งที่เรากลัวต่อไปเรื่อย ๆ ใช้ความกล้า นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครช่วยหรือไกด์เราได้

“ซิลวี่เป็นหนึ่งในคนที่ลุกขึ้นมารณรงค์ Beauty Standard ในประเทศไทย แต่ต่างประเทศมีมานานแล้ว จนตอนนี้สังคมมีพื้นที่เข้าใจกันมากขึ้น มองเห็นคนที่แตกต่างก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าเราได้ทลายกำแพงต่าง ๆ ออกไป ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความกลัว
และความอยากรักตัวเองให้เป็น”

ซิลวี่ – ภาวิดา มอริจจิ

ซิลวี่ ยังคงคาดหวังให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น มีน้ำใจ และมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ มองว่าเขาเป็นมนุษย์ มีความกลัวคล้าย ๆ กับเรา ทำความเข้าใจหรือมองว่ามีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายไม่ได้เป็นแบบที่เราตัดสิน

สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักจิตวิทยา

ขณะที่ สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักจิตวิทยา และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง บอกว่า ก่อนที่จะไปโอบรับความหลากหลายของคนอื่น อาจจะต้องเริ่มต้นจากตระหนักและโอบรับความหลากหลายของตัวเองก่อน เพราะจริง ๆ แล้ว เรามีหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเอง แล้วเราก็เป็นได้ทุก ๆ ความรู้สึกเลย แค่ตระหนักรู้แล้วยอมรับว่าเราก็มีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ

“ถ้าวันนี้เรารู้สึกว่าฉันยังไม่โอเคกับคนนี้ เราก็แค่รับรู้ว่าเราไม่โอเค ไม่โอเคในเรื่องอะไรก็แค่ไปรับรู้ตรงนั้น เพราะว่าฉันไม่ชอบที่เขาพูดจาแบบนี้ ฉันไม่ชอบที่เขาทำตัวงุ่นง่านในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ต้องยอมรับเรื่องนี้ได้ในทันทีนะ เราแค่ไปในจังหวะของเราที่ละจังหวะ ได้เท่าที่ได้ ถ้ายังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”

สโรชา กิตติสิริพันธุ์

V : Valuing Lives: Understand Well-Being “ความรักในการที่จะมีสุขภาวะชีวิตที่ดี”

พูดคุยถึงแนวคิดและบทบาทสำคัญของสุขภาวะทางจิตในที่มีผลต่อสุขภาพองค์รวม รู้จักวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี

ไมกี้ – ปณิธาน บุตรแก้ว นักแสดง ยอมรับว่า ตัวเองนั้นเคยได้ยินมาตลอดว่าสุขภาพกายดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องสุขภาพจิตดีด้วย จนได้มาทำงานตอนอายุ 18-19 ปี เป็นช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านระหว่างนักเรียนเป็นคนทำงาน พบเจอกับคนหลายคน เจอกับมืออาชีพความกดดันต้องแบกรับอะไรเยอะมาก จนเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพจิตเริ่มไม่แข็งแรง

ไมกี้ – ปณิธาน บุตรแก้ว นักแสดง

ภายใต้ภาพของนักแสดงชื่อดังขวัญใจแฟนคลับ แต่เขากลับสะท้อนอีกด้านของอาชีพนักแสดงที่บางคนอาจจะไม่เข้าใจ รวมถึงตัวเขาเองในการทำงานช่วงแรก โดยก่อนหน้านี้ เคยถึงขั้นไม่มีความสุขถึงขั้นที่ตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากไปทำงาน ก่อนจะได้สิ่งเล็ก ๆ ง่าย ๆ ช่วยเยียวยาจิตใจเอาไว้

“ช่วงแรกผมยังไม่เข้าใจว่าการเป็นนักแสดงคืออะไร จนรับผลกระทบทางจิตใจของตัวละครนั้น ๆ กลับมาด้วย เกือบลืมว่าตัวเองเป็นใคร แล้วผมไม่มีความสุขเลย เราก็เลยกลับมาเล่นกีตาร์ ร้องเพลง พอได้อยู่กับเสียงเพลง เราก็จำได้ว่าเราเป็นคนยังไง แต่ก็ไม่ทิ้งความฝันของเราด้วย”

ไมกี้ – ปณิธาน บุตรแก้ว

E : Enhancing Connection: Fostering Community Support “ความรักที่จะได้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ดี ๆ ในสังคม”

พูดคุยถึงการทำความเข้าใจความเหงาในสังคม และผลกระทบต่อสุขภาพจิต ร่วมค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย และการสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงา

ประเด็นนี้ เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ศิลปิน ในฐานะผู้ก่อตั้งจุดพักใจและนักจิตบำบัด อธิบายถึงการมีความสุขได้ด้วยตัวเอง ว่า บางคนมักจะขออนุญาตคนอื่นมีความสุข เพราะกลัวว่าถ้าเกิดตัวเองมีความสุขมากเกินไปคนอื่นจะหมั่นไส้ กลัวว่าคนจะเหม็นขี้หน้า กลัวว่าตัวเองไม่ดีพอที่จะมีความสุข และควรจะรับสิ่งดี ๆ แล้วบอกว่าทำไมไม่เคยมีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตเลย จริง ๆ แล้วตรงกันข้าม สิ่งดี ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ แต่เพราะเคยชินกับการขอคนอื่นว่าฉันดีพอที่จะมีความสุขหรือยัง เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนดึงตัวเองกลับมาเข้าสู่ยุคที่ไม่ต้องขอนุญาตคนอื่นที่จะรู้สึกตลอดเวลา

เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ศิลปิน/ผู้ก่อตั้งจุดพักใจ และนักจิตบำบัด

สำหรับปัญหาความเหงาโดยเฉพาะคนเมือง เขามองว่า เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องคอยให้คนอื่นมาเติมเต็มช่องว่าง หรือขอร้องให้คนอื่นมารักเรา ขอร้องให้เพื่อนมาอยู่กับเรา ต้องไปในที่ ๆ เสียงดังตลอดเวลา เพราะจะเป็นกับดักที่ทำให้วิ่งหนีจากความเหงาได้ยาก เพราะเมื่อวันที่เราไม่มีเขาคนนั้น หรือสถานที่นั้น ๆ เราจะสามารถอยู่ได้โดยไม่เหงา ๆ ได้หรือไม่ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจได้ว่า Alone but not lonely ฉันสามารถอยู่คนเดียวได้ ถ้าคนเหล่านั้นจากไปฉันก็กลับมาเป็นฉันเหมือนเดิม

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือการที่อยู่กับคน 100 คน แต่ยังรู้สึกเหงาอยู่
นั่นเพราะเราไม่เคยรู้ว่าสุดท้ายแล้วการไม่เหงา การอยู่คนเดียวคืออะไร แต่ถ้าเรามีความสุขด้วยตัวเอง เช่น ฉันมี 100% ถ้ามีคนอื่นเข้ามาก็เป็น 110% ถ้าคนเหล่านี้ต้องจากลาไป ฉันก็กลับมาเป็น 100%
ของฉันเหมือนเดิม แม้เราจะโดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ”

เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

ปิดท้ายกับ นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน และผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานคร สรุปถึงสถานการณ์ความเหงาของคนเมืองที่มีมากขึ้นว่า มีหลายคนที่ทนไม่ไหวจริง ๆ จนกระทบกับสุขภาพจิต จึงอยากบอกว่า คนไหนที่ไม่พร้อมจริง ๆ หาตัวช่วยก่อน มีเพื่อน มีครอบครัว หาคนที่รับฟัง อยู่เคียงข้าง ไม่ตัดสิน สิ่งนี้เยียวยาได้จริง

นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร

แต่ในสังคมที่อาจหาคนรับฟังได้ยาก สติแอพ (Sati App) แอปพลิเคชันที่มีผู้รับฟังที่ผ่านการอบรมก็สามารถเป็นเพื่อนให้กับเราได้ เพราะบางครั้งการโทร. ไปปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตก็โทรติดยาก การมีที่ปรึกษาส่วนตัว มีคนรับฟังเรา บอกความรู้สึกว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เราไปเจออะไรมา เพราะไม่ใช่ชีวิตของเราที่จะต้องมีความสุขตลอดเวลา


รับชมบรรยากาศวงเสวนาในกิจกรรม Better Mind Better Bangkok ครั้งที่ 3 แบบเต็ม ๆ ได้ที่

ช่วงที่ 1 https://www.facebook.com/100064972950664/videos/1062425922552811

ช่วงที่ 2 https://www.facebook.com/100064972950664/videos/1049951349750118

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน