Learning Loss ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

ไทยจัดสรรงบประมาณ ‘อนุบาล’ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ไม่ใช่แค่ผลประเมินคะแนนสอบระดับชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถบอกได้ถึงความสามารถการเรียนรู้ของเด็กไทย สิ่งที่นักวิจัยทั่วโลกพบ คือ คะแนนสอบ PISA สามารถอธิบายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวได้ดีกว่าแค่พิจารณาจากปีการศึกษา

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากธนาคารโลก (World Bank) กังวลต่อสถานการณ์การเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss ของเด็กไทย ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ประมาณ 1 ปีการศึกษา เทียบเท่า คะแนน PISA ที่ต่ำกว่าประเทศอื่น 29-30 คะแนน หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง และส่งผลระยะยาวเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น จาก Learning loss จะกลายเป็น Loss Generation ส่งผลกระทบทั้งรายได้แรงงาน และสภาพเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตไปถึง งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุน ระดับอนุบาล และมัธยมศึกษาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทั้ง ๆ ที่ควรจะให้ความสำคัญกับระดับปฐมวัย เช่นเดียวกับระดับมัธยมศึกษา ที่จำเป็นต้องมีบุคลากรเฉพาะทาง เพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนเตรียมต่อยอดไปสู่ระดับอุดมศึกษา โดยมีข้อเสนอสำคัญให้จัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม ไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน เร่งแก้วิกฤตการเรียนรู้ที่ถดถอยให้เร็วที่สุด

PISA 2018 สะท้อนการเรียนรู้เด็กไทยถดถอย 1 ปีการศึกษา

อาจารย์ดิลกะ อธิบายความกังวลผ่าน คะแนน PISA 2018 ที่ใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ ใน 79 ประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กไทย เทียบกับสากลได้ จะสังเกตเห็นว่าคะแนน PISA 2003 ประเทศไทยก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอื่นอยู่แล้ว และยิ่งมีแนวโน้มหนักขึ้น หลังสถานการณ์โควิด19 คะแนน PISA ของเด็กไทยลดลงจาก 420 คะแนน เป็นต่ำกว่า 400 คะแนน

คะแนนที่ลดลง 29-30 คะแนน จะหมายถึงความรู้ถดถอยที่หายไป 1 ปีการศึกษา ยกตัวอย่าง เด็กไทยอยู่ ม.3 ความรู้ความสามารถของเด็กเรา จะเท่ากับ ม.2 ของบางประเทศ สะท้อนปัญหาการแข่งขันที่ไทยไม่สามารถไปต่อได้หากยังไม่แก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยตั้งแต่ตอนนี้

การเรียนรู้ถดถอย สู่ ค่าแรงที่ลดลง 10% กระทบ GDP ลด 0.5% ต่อปี

World Bank ยังประเมินว่า การเรียนรู้ถดถอยส่งผลต่อเงินเดือน หรือ ค่าแรงของเด็กเมื่อถึงเวลาต้องเข้าไปอยู่ใน ตลาดแรงงาน ซึ่งจะหายไปประมาณ 10% ตลอดชีวิต หรือ จนวัยเกษียณ หากพวกเขาต้องเจอกับสภาวะการเรียนรู้ถดถอย เช่น เวลานี้ได้เงินเดือน 15,000 บาท แต่หากไม่มีปัญหาการเรียนรู้ถดถอย เขาอาจมีรายได้ 16,500 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ยังมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่ GDP จะเติบโตต่ำลงประมาณ 0.5% ต่อปี จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนให้แก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยตั้งแต่ในระดับเด็ก ป.1 ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะหากสร้างความสามารถในการเรียนรู้ขยับขึ้นได้อีก 1 ปีการศึกษา หรือเทียบเท่าการมีคะแนน PISA เพิ่มอีก 30 คะแนน จะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ของไทยในระยะยาวเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าปัจจุบัน (present value) ทางเศรษฐกิจมากกว่า 6 เท่าของมูลค่า GDP การทำให้การเรียนรู้ถดถอยหายไป อาจไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่เป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

การเรียนรู้ถดถอยส่งผลต่อ เงินเดือน หรือ ค่าแรง ซึ่งจะหายไปประมาณ 10% ตลอดชีวิต หรือ จนวัยเกษียณ… มีผลกระทบในทางเศรษฐกิจให้อัตราการเจริญเติบโตในระยะยาว ต่ำลงประมาณ 0.5% ต่อปี

การแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย เพียง 1 ปีการศึกษา ของกำลังแรงงานไทยในอนาคต หรือ มีทักษะด้านการคิด (cognitive skills) เทียบเท่าการมีคะแนน PISA เพิ่มอีก 30 คะแนน มีมูลค่าปัจจุบัน (present value) ทางเศรษฐกิจมากกว่า 6 เท่าของมูลค่า GDP

การทำให้การเรียนรู้ถดถอยหายไป อาจไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต…”

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากธนาคารโลก (World Bank)

ไทยจัดสรรงบประมาณ ระดับอนุบาล และมัธยมศึกษา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของเด็กได้ดี คือ การจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม แต่จากการเก็บข้อมูลของ World Bank พบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อ ขณะที่ระดับชั้นอนุบาล หรือช่วงปฐมวัย กลับไม่เคยเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นข้อสังเกตของนักวิจัย คือ เหตุใดประเทศไทยถึงมีค่าใช้จ่ายรายหัวในระดับประถมศึกษา สูงที่สุด เมื่อเทียบกับอนุบาล และมัธยมศึกษา สวนทางกับหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ปฐมวัย และมัธยมศึกษามากกว่า

กราฟิก งบประมาณอุดหนุนรายหัวระดับอนุบาล (สีเหลือง) และระดับชั้นมัธยมศึกษา (สีส้ม) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

นอกจากการอุดหนุนงบประมาณที่เป็นคำถามแล้ว World Bank ยังกังวลเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการทุ่มงบประมาณไปที่โรงเรียนขนาดเล็ก โดยไม่จัดสรรทรัพยากรที่เหมาะ อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. พบว่ามีโรงเรียนในสังกัด 29,466 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนขนาดเล็ก (นร.ไม่ถึง 20 คนต่อชั้นเรียน) 13,715 แห่ง, โรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก 2,759 แห่ง ขณะที่ โรงเรียนขนาดเล็ก อยู่ที่ 140,452 ห้อง แต่มีครูอยู่ที่ 132,157 คน ซึ่งไม่เพียงพอ สะท้อนการจัดสรรครูที่ไร้ประสิทธิภาพ และสถานการณ์จะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นหากเด็กที่มีฐานะยากจนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก อ.ดิลกะ วิเคราะห์ ว่าตัวเลขนี้สะท้อนถึงการแก้ปัญหา และทุ่มงบประมาณไม่ตรงจุด โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรทรัพยากร

เครื่องมือวัดมาตรฐานโรงเรียน FSQI : Fundamental School Quality Levels

ความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การศึกษา และการจัดสรรทรัพยากร ทำให้ภาคีด้านการศึกษาร่วมกันออกแบบเครื่องวัดผลประเมินผลคุณภาพการศึกษาสำหรับโรงเรียนในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “FSQI” หรือ แบบประเมินความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และธนาคารโลก ร่วมออกแบบเพื่อประเมินคุณภาพของโรงเรียนทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่า ผลการประเมินจะช่วยให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาให้แต่ละโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส

โดยเริ่มนำร่องในเครือข่ายโรงเรียนครูรักษ์ถิ่น 275 โรงเรียน กระจายอยู่ 40 กว่าจังหวัด โดยวัดผลครอบคลุม 4 มาตรฐาน 9 ประเด็น 63 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น

  • ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน (School Leadership)
  • ผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)
  • คุณภาพครู (Teacher Quality)
  • โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคของโรงเรียนและการเข้าถึงโรงเรียน (School Infrastructure and Utilities and School Accessibility)
ผลประเมิน FSQL สะท้อนความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียน 3 ระดับ คือระดับต่ำ มาตรฐาน และสูงกว่ามาตรฐาน

กราฟิกนี้สะท้อนผลคะแนนที่วัดได้จากเครื่อง FSQL ซึ่งเป็นผลคะแนนที่ได้จากการวัดผลโรงเรียนนำร่อง 275 โรงเรียน กระจายอยู่ 40 กว่าจังหวัด ยังเห็นความต่างของคุณภาพห้องเรียน และโรงเรียนต่างกันถึง 3 กลุ่ม คือ โรงเรียนที่ได้มาตรฐาน ต่ำกว่ามาตรฐาน และสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งพบว่า โรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีระดับคะแนน ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน, ผลการเรียนรู้, คุณภาพครู, โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคของโรงเรียนและการเข้าถึงโรงเรียน ติดลบ, ต่างจากโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มเกินค่ามาตรฐานซึ่งทุกตัวชี้วัดได้คะแนนสูงทั้งหมด โดยคาดว่าจะขยายผลเครื่องมือนี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการกระจายทรัพยากร และงบประมาณที่เหมาะสมในอนาคต

อ.ดิลกะ ย้ำว่า เพียงแค่การนำร่อง 275 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในชนบททั้งหมด ยังเห็นความต่างกันของโรงเรียนแต่ละแห่งชัดเจน เชื่อว่าหากนำไปใช้วัดโรงเรียนทั่วประเทศ จะได้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์การทางการศึกษา หลังยุคโควิด-19 ที่ World Bank ตั้งข้อสังเกต และเป็นกังวลต่ออนาคตทางการศึกษาเพราะหากไม่เร่งจัดการทรัพยากร และงบประมาณอย่างเหมาะสม นอกจากความเหลื่อมล้ำจะยิ่งห่างออกแล้ว ยังส่งผลเรื้อรังกับอนาคตแรงงาน และเศรษฐกิจของประเทศ อ.ดิลกะ จาก World Bank ย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย แม้จะไม่เห็นผลภายในระยะสั้น แต่หากไม่แก้ไขจะยิ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อ เด็ก และการแข่งขันกับโลกอนาคตอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน